พบภาพจิตรกรรมฝาผนังใน 'โบสถ์มหาอุตม์' วัดหน่อพุทธางกูร เมืองขุนแผน สร้างสมัย ร.3 แสดงเรื่องพุทธประวัติ ทศชาติชาดกฯ ชำรุดทรุดโทรม เจ้าอาวาสวอนกรมศิลปากรเข้ามาดูแล
31 ต.ค.61 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่าภายในโบสถ์มหาอุตม์ วัดหน่อพุทธางกูร ต.พิหารแดง อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี ที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 ภายในมีภาพจิตกรรมฝาผนังที่บอกเรื่องราวในพุทธศาสนา มีทั้งทศชาติชาดก พุทธประวัติ เทพยดาต่างๆ และเรื่องในไตรภูมิ แต่ปัจจุบันได้ถูกลมถูกฝนทำให้ภาพได้รับความเสียหาย เป็นที่น่าเสียดาย
เมื่อผู้สื่อข่าวไปตรวจสอบ โดยพระครูปลัดพุทธิวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดหน่อพุทธางกูร ต.พิหารแดง อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี เปิดเผยว่า อุโบสถหลังนี้ถือว่าเก่าแก่สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ปลายกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น เรียกว่า "โบสถ์มหาอุตม์" ซึ่งมีประตูเข้าด้านเดียว ภายในมีภาพจิตกรรมฝาผนัง ถือเป็นทศชาติชาดก เป็นเรื่องราวในพุทธศาสนา พุทธประวัติ เทพยดาต่างๆ และเรื่องราวในไตรภูมิ ซึ่งเป็นที่นิยมโดยทั่วไปในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
ส่วนด้านบนเป็นท้าวจุฬามณี ซึ่งสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้วได้เอาอัฐิพระพุทธเจ้าไปไว้ที่นั้น แต่ปัจจุบันได้ถูกลมถูกฝน ทำให้ภาพเสียหาย เป็นที่น่าเสียดายมาก เพราะทางวัดได้เปิดทุกวันเพื่อให้ประชาชนเข้ามาศึกษาหาความรู้
พระครูปลัดพุทธิวัฒน์ กล่าวต่อว่า เคยแจ้งไปที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มาซ่อมแซมภาพดังกล่าว และได้อานิสงส์จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่พระองค์ท่านครองราชย์ครบ 60 ปี วัดใดที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์หรือโบราณสถานวัตถุตั้งแต่ 100 ปีขึ้นไปจึงได้รับการบูรณะ แต่เพียงด้านนอก ส่วนด้านในเนื่องจากเมื่อก่อนหลังคารั่วจึงทำให้น้ำไหลลงมาทำให้ภาพเสียหายอย่างที่เห็น จึงอยากให้กรมศิลปากรเข้ามาดูแลซ่อมแซม เพราะถือเป็นมรดกล้ำค่าที่ควรให้ลูกหลานไว้ศึกษา
พระครูปลัดพุทธิวัฒน์ กล่าวต่ออีกว่า ภาพจิตรกรรมที่อุโบสถวัดหน่อพุทธางกูร เป็นจิตกรรมแบบไทย ระบายสีแบบเรียบด้วยสีสันสดใสแล้วตัดเส้น ภายนอกอาคารปัจจุบันเหลือหลักฐานที่ซุ้มประตูทางเข้า ซึ่งน่าจะเขียนยังไม่เสร็จเพราะยังปรากฎภาพร่างลายเส้นดินสอดำ เขียนเป็นภาพต้นนารีผล
ส่วนภายในอุโบสถเขียนที่ผนังทั้งสี่ด้าน เรื่องพุทธประวัติ ทศชาติชาดก พระเจดีย์จุฬามณี และเทพชุมนุม จึงสันนิษฐานได้ว่าอุโบสถดังกล่าวน่าจะสร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายเนื่องจากลักษณะของฐานที่แอ่นโค้งแบบท้องเรือสำเภา อันเป็นรูปที่นิยมมากในสมัยอยุธยาตอนปลาย ส่วนผู้เขียนคือ นายคำ ช่างหลวงที่ถูกกวาดต้อนมาจากเวียงจันทน์เมื่อคราวกบฏอนุวงศ์ อย่างไรก็ตามอยากให้กรมศิลปากรเข้ามาซ่อมแซมเพื่อให้อนุชนรุนหลังได้ศึกษาหาความรู้
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี