'ปชน.’เปิดเหตุทำไฟใต้หวนระอุซ้ำ เพราะ‘รัฐบาล’ไม่ชัดเจน‘พูดคุยสันติสุขชายแดนใต้’ หนุนเจรจา ‘BRN’ ชม‘ทักษิณ’ กรุยทางเปิดคอนเนคชั่น แต่ไทยต้องเริ่มด้วยตัวเอง ไม่ใช่ให้ ‘บีอาร์เอ็น-มาเลเซีย’ เป็นผู้กำหนด
เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม2568 เวลา11.00น. ที่รัฐสภา นายรอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กล่าวถึงเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ขณะนี้น่าจะเกิดจากการแก้ปัญหาภาพรวม ยังไม่มีความชัดเจนและมีความลังเลในการกำหนดทิศทาง แม้นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม มีข้อสั่งการให้สภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.)ทบทวนยุทธศาสตร์ ต้องแล้วเสร็จตั้งแต่เดือนม.ค.ที่ผ่านมา2568 แต่ล่วงเลยมาแล้ว พอหลังจากสถานการณ์รุนแรงขึ้น ก็มีการขีดเส้น 7 วัน และวันนี้ก็ผ่านมาแล้วด้วย ขณะที่ข้อเสนอของฝั่งไทย ได้เจรจากับ BRN ก่อนหน้านี้ให้หยุดยิงเพื่อพิสูจน์ความเป็นตัวจริง แต่กลับมีความล้มเหลวเกิดเหตุลอบสังหารตั้งแต่เดือนเมษายน ที่ผ่านมา ส่งผลให้ประชาชน เกิดความไม่สบายใจ จากนั้นสถานการณ์ไต่ระดับ และหากสังเกตดีๆความรุนแรงกำลังทำงาน เพื่อให้เกิดการตอบโต้
"หากความรุนแรงถาโถมลงไปเรื่อยๆ จะทำให้ผู้คนแบกรับความเสี่ยง ดังนั้น จะดำเนินการอะไรต้องเป็นเหตุเป็นผลและมองว่ากระบวนการสันติภาพต้องดันขึ้นจากหลายภาคส่วน ทั้งประชาชนในพื้นที่ชาวมุสลิมและไทยพุทธ รวมถึงอื่นๆ ต่างเรียกร้องให้มีการฟื้นฟูการพูดคุย เพื่อให้มีพื้นที่ทางการเมือง พื้นที่ให้ประชาชนพูดคุยและส่งเสียง และย้ำว่าเรื่องนี้ว่าต้องถกเถียงกันด้วยเสียงประชาชน" นายรอมฎอน กล่าว
เมื่อถามว่านายกรัฐมนตรี ควรเป็นหัวหน้าเจรจาเองหรือไม่ นายรอมฎอน กล่าวว่า หลายปีที่ผ่านมา กระบวนการเริ่มต้นมาตั้งแต่รัฐบาลของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จึงไม่จำเป็นต้องเจรจาเอง แต่ต้องมีส่วนกำกับ ขณะที่รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำหนดระดับ โดยมีคณะกรรมการพูดคุยซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รองลงมาเป็นคณะกรรมการพูดคุยสันติสุข และคณะประสานงานในพื้นที่ แต่เมื่อเข้าสู่รัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสินและน.ส.แพทองธาร ชินวัตร โครงสร้างแบบนี้ไม่มี แต่ให้สมช. ดำเนินการภายในเอง
"ประกอบกับไทย ยังมีข้อกังขาว่า คณะพูดคุยของ BRN เป็นตัวจริงหรือไม่นานแล้ว เรื่องทั้งหมดจึงควรเริ่มต้น จากฉันทานุมัติของแต่ละฝ่าย ที่แต่ละฝ่ายต้องมีการปรับ เพราะสุดท้ายทั้งสองฝ่ายจะพูดคุยกันได้คือต้องยุติสถานการณ์ปรปักษ์หรือหรือการลดความรุนแรงการเผชิญหน้า แม้ต่างฝ่ายต่างดำเนินการแต่สุดท้ายต้องมีองค์ประกอบร่วมกัน" นายรอมฎอน กล่าว
นายรอมฎอน กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมายังไม่ได้มีการกำหนดทิศทาง ตกลงกติกา มีแต่คณะผู้แทนเพื่อสันติภาพเท่านั้นร่างเอกสาร และแผนสันติภาพเท่านั้น และแม้การเรียกร้องให้หยุดความรุนแรงของรัฐบาล ดูเหมือนสมเหตุสมผลแต่ไม่สอดรับกับความเป็นจริง เพราะ BRN ยังคงใช้ความรุนแรงเป็นอำนาจต่อรอง ดังนั้น สิ่งที่ต้องคิด คือต้องเผชิญหน้าดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลต้องคิดคือกำหนดวิธีการ ดำเนินการ เพราะมีความชอบธรรมมากกว่าเนื่องจากไม่ได้ใช้ความรุนแรง
เมื่อถามว่ารัฐบาลจะส่งนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไปพูดคุยกับนายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เพื่อยุติปัญหาเหตุความรุนแรงชายแดนใต้ จะได้ผลหรือไม่ นายรอมฎอน กล่าวว่า ต้องยอมรับว่า การริเริ่มพูดคุยกับมาเลเซีย เกิดจากความสามารถของนายทักษิณ ที่เดินทางไปใช้คอนเนคชั่น นำไปสู่การปูทางพูดคุยสันติภาพ แต่จนถึงปัจจุบันต้องยอมรับว่ามาเลเซียมีความสำคัญ เพราะมีส่วนได้ส่วนเสียทั้งประชากรและภูมิศาสตร์ที่อยู่ใกล้กัน จึงต้องมีการจัดวาง ให้เกิดความเหมาะสม การกันมาเลเซียออกจากกระบวนการแก้ไขปัญหาอาจจะสร้างปัญหามากกว่า และต้องยอมรับว่า ปัจจุบันไทยใช้มาเลเซียเป็นประตูทางเข้า (engage) เพื่อพูดคุยกับ BRN ด้วย แต่สุดท้ายต้องขีดเส้น ใต้ว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องภายในประเทศเรา ต้องริเริ่มด้วยตนเอง ไม่ใช่ให้ BRN หรือมาเลเซีย เป็นผู้กำหนดการพูดคุยหรือการฑูต
นายรอมฎอน ยังกล่าวด้วยว่า ตนพร้อมสนับสนุนรัฐบาล เพื่อเดินหน้าการพูดคุยไปสู่เส้นทางแห่งสันติภาพ - 002
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี