เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2568 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พลเอก ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พร้อมด้วย พลเอก อุกฤษฎ์ บุญตานนท์ รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด และคณะ เดินทางเยือนสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม อย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 4 - 5 กรกฎาคม 2568 โดยได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากกองทัพเวียดนาม
ในการนี้ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้เข้าสักการะและวางพวงมาลา ณ อนุสรณ์สถานทหารกล้าบั๊กเซิน และสุสานประธานโฮจิมินห์ เพื่อแสดงความเคารพต่อประวัติศาสตร์และเกียรติยศของประเทศเวียดนาม ก่อนจะเข้าร่วมพิธีตรวจแถวกองทหารเกียรติยศ ณ กระทรวงกลาโหมเวียดนาม ซึ่งจัดขึ้นอย่างสมเกียรติ สะท้อนถึงมิตรภาพและความสัมพันธ์ทางทหารที่แน่นแฟ้นระหว่างสองประเทศ
จากนั้น ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้เข้าร่วมการหารือทวิภาคีกับ พลเอก เหงวี๋ยน เติน เกือง ประธานคณะเสนาธิการทหาร กองทัพเวียดนาม โดยทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับสถานการณ์ในโลกและในภูมิภาค รวมถึงประเด็นความมั่นคงร่วมกัน อาทิ ความตึงเครียดในพื้นที่ทางทะเล ความร่วมมือในกรอบอาเซียน ความท้าทายด้านชายแดนของประเทศในอาเซียน กลุ่มอาชญากรรมข้ามชาติ
ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้กล่าวเน้นย้ำ
- ชื่นชมจิตวิญญาณของบรรพบุรุษชาวเวียดนามที่เสียสละแม้ชีวิตในการปกป้องประเทศ คำกล่าวที่อนุสรณ์สถานโฮจิมินห์ ที่กล่าวว่า “ไม่มีสิ่งอื่นใดที่มีค่าไปกว่า อิสรภาพและเสรีภาพ” นับว่าสำคัญยิ่งต่อความรักชาติของชาวเวียดนาม
- สถานการณ์โลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีความอ่อนไหวสูง เราจะต้องติดตามและเรียนรู้ร่วมกัน
- ไทยมุ่งมั่นในการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคผ่านกรอบความร่วมมือระดับภูมิภาคต่างๆ - ไทยสนับสนุนแนวทางของอาเซียนในการแก้ปัญหาความไม่สงบในประเทศเมียนมา และต้องร่วมมือกันในการปราบปรามยาเสพติด/การค้ามนุษย์/การหลอกลวงทางเทคโนโลยี (scam center)
- สถานการณ์ชายแดน ไทยมีจุดยืนในการปกป้องอธิปไตยจากการรุกรานและคุ้มครองรักษาความปลอดภัยให้พี่น้องประชาชนตามแนวชายแดนซึ่งเป็นผืนแผ่นดินในราชอาณาจักรไทยมาโดยตลอด ไทยจะไม่รุกรานประเทศอื่น (non-aggression) และจะตอบโต้การรุกรานเท่าที่จำเป็น (proportional response) ฝ่ายไทยเสนอที่จะคลี่คลายสถานการณ์ผ่านขั้นตอนของการปรับลดกำลังเผชิญหน้าและนำอาวุธยิงระยะไกลกลับสู่ที่ตั้งปกติ ดำรงการเจรจาในลักษณะทวิภาคีระดับพื้นที่และระดับกระทรวงกลาโหม ดำรงความสัมพันธ์ของประชาชนทั้งสองประเทศตามแนวชายแดนเพื่อความผาสุขของทั้งสองประเทศ
- ไทยและเวียดนาม เคยมีบทบาทที่สำคัญในประเทศเพื่อนบ้านเพื่อยุติความรุนแรงภายใน ช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมต่อผู้ลี้ภัยสงคราม (humanitarian assistance) ก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน สนับสนุนการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยภายใต้การกำกับดูแลของสหประชาชาติ (UN) และส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นซึ่งเป็นบทบาทที่น่ายกย่องเพราะเป็นความร่วมมือที่นำสันติภาพมาสู่ภูมิภาคนี้
- ขอให้เวียดนามร่วมมือ ในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะ scam center
- ชื่นชมการพึ่งพาตนเองในเรื่องอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของเวียดนาม
- สนับสนุนการแลกเปลี่ยนการเยือน การฝึกศึกษา การฝึกร่วมทาง บก/เรือ/อากาศ การลาดตระเวนร่วม การแลกเปลี่ยนข่าวกรอง
ในโอกาสนี้ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด รับฟังความคิดเกี่ยวกับประสบการณ์ของกองทัพเวียดนามที่ผ่านช่วงเวลาแห่งความขัดแย้งมาอย่างยาวนานถึง 40 ปี ได้แสดงความยินดีในวาระครบรอบ 50 ปีของการรวมชาติ กล่าวชื่นชมต่อหลักนโยบายป้องกันประเทศ “4 ไม่” ของเวียดนาม ซึ่งประกาศในสมุดปกขาวด้านความมั่นคงปี 2019 โดยการไม่เข้าร่วมกลุ่มพันธมิตรทางทหารกับต่างชาติ , การไม่เข้าข้างฝ่ายใดเพื่อเป็นปรปักษ์กับประเทศที่สาม , การไม่ยินยอมให้มีฐานทัพต่างชาติในประเทศเพื่อโจมตีอีกประเทศหนึ่ง และการไม่ใช้กำลังข่มขู่ประเทศอื่นในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งสะท้อนจุดยืนที่มุ่งรักษาสันติภาพ ความเป็นกลาง และเสถียรภาพของภูมิภาคอย่างยั่งยืน หากไทยและเวียดนามยึดถือหลักการนี้ร่วมกันอย่างมั่นคง ก็จะช่วยส่งเสริมความสงบสุข ความไว้วางใจ และความมั่นคงร่วมกันในภูมิภาคได้เป็นอย่างดี
ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ยังได้กล่าวชื่นชมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของเวียดนาม โดยเฉพาะความก้าวหน้าในด้านเทคโนโลยีความมั่นคงที่ทันสมัยของ บริษัทViettel (ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กระทรวงกลาโหมเวียดนาม) พร้อมแสดงความประสงค์ที่จะเสริมสร้างความร่วมมือด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมระหว่างกองทัพทั้งสองประเทศ ไทยและเวียดนามยังมีความร่วมมือทางทหารในระดับเหล่าทัพอย่างต่อเนื่อง อาทิ การประชุมฝ่ายเสนาธิการระดับอาวุโส (Senior Staff Talk : SST) การแลกเปลี่ยนนายทหาร การใช้เครื่องบินฝึกแบบเดียวกันระหว่างกองทัพอากาศ และการลาดตระเวนร่วมตามแนว KC-Line ระหว่างกองทัพเรือปีละ 2 ครั้ง ซึ่งล้วนเป็นกลไกที่ช่วยเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและความมั่นคงร่วมกัน
ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ยังได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของความเป็นเอกภาพของอาเซียน (ASEAN Centrality) ท่ามกลางการแข่งขันของมหาอำนาจ พร้อมผลักดันให้มีการจัดการประชุมคณะกรรมการความร่วมมือระดับสูงไทย-เวียดนาม (High-Level Committee: HLC) ในระดับผู้บัญชาการทหารสูงสุด ภายในปีนี้ เพื่อยกระดับกลไกความร่วมมือด้านกลาโหมให้มีความชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ยังได้กล่าวเชิญเวียดนามเข้าร่วมการประชุม Chief of Defence Forces (CHOD) Conference 2025 ซึ่งประเทศไทยและสหรัฐอเมริกาจะเป็นเจ้าภาพร่วมกัน ระหว่างวันที่ 25 - 29 สิงหาคม 2568 ณ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พร้อมทั้งได้เชิญประธานคณะเสนาธิการทหาร กองทัพเวียดนาม เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในโอกาสอันเหมาะสม เพื่อสานต่อความร่วมมือและกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองกองทัพให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
ในวันเดียวกัน ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้พบปะหารือกับ นางสาวอุรวดี ศรีภิรมย์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย และคณะผู้ช่วยทูตทหารไทยประจำเวียดนาม ประกอบด้วย พันเอก อนุพนธ์ นาคสุทธิ์ ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารบก นาวาเอก วรุณ วีระกุล ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารเรือ และ นาวาอากาศเอก ปริญ ยงปิยานนท์ ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารอากาศ โดยได้หารือข้อราชการเกี่ยวกับบทบาทของคณะผู้แทนทางทหารไทยในเวียดนาม ตลอดจนแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านความมั่นคงในภูมิภาค ซึ่งถือเป็นโอกาสอันดีในการรับฟังข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ประจำพื้นที่โดยตรง อันจะช่วยสนับสนุนการดำเนินนโยบายด้านความร่วมมือระหว่างสองกองทัพให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดยังได้พบปะและพูดคุยกับนายทหารนักเรียนไทยที่กำลังศึกษาภาษาเวียดนาม เพื่อสอบถามถึงความเป็นอยู่ การเรียนรู้ และประสบการณ์ด้านวัฒนธรรม ประกอบด้วย นาวาโท วัฒนา เฉิดวาสนา ศึกษาในหลักสูตรปริญญาโทภาษาเวียดนาม จ่าเอก นริศ โตวิเศษ สิบเอก กีรติ รัตนภักดิ์ และ สิบเอก สหรัฐ มาลีหวล ซึ่งทั้งสามกำลังศึกษาในหลักสูตรปริญญาตรีภาษาเวียดนาม ทั้งนี้ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดได้กล่าวให้กำลังใจแก่นายทหารนักเรียนทุกนาย พร้อมเน้นย้ำถึงความสำคัญของการเรียนรู้ด้านภาษาและวัฒนธรรม เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจและความร่วมมืออันแน่นแฟ้นระหว่างกองทัพไทยกับกองทัพเวียดนามในอนาคต
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี