เส้นทางที่หนึ่งดีเป็นที่จดจำอย่างไร เส้นทางที่สองก็มีให้ประทับใจได้ไม่แพ้กัน สำหรับทริปท่องเที่ยวจังหวัดบึงกาฬ ไปสัมผัสวิถีชุมชน ชมธรรมชาติ ตามเส้นทาง OTOP นวัตวิถี โดยในเส้นทางที่สองนี้ เราได้เดินทางกันไปที่ อำเภอบึงโขงหลง อำเภอเซกา อำเภอพรเจริญ และอำเภอโซ่พิสัย
เราออกเดินทางกันตั้งแต่เช้า ก้าวแรกสู่จังหวัดบึงกาฬ ปลุกร่างกายให้พร้อมกันการไปตะลุยถิ่นอีสานกัน ไปที่สถานที่แรก ชุมชนบ้านท่าลี่ ม.14 ต.โซ่ อ.โซ่พิสัย หมู่บ้านท่ามกลางธรรมชาติ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำสงคราม ซึ่งเป็นแม่น้ำสายสำคัญของภาคอีสาน เข้ามาถึงเราก็สัมผัสได้กับลมเย็นจากแม่น้ำที่พัดโชยเข้ามาทักทาย โดยช่วงเวลาที่น้ำขึ้นชาวบ้านจะออกมาหาปลาด้วย ยอใหญ่ อุปกรณ์ขึ้นชื่อของที่นี่ ซึ่งปลาที่จับได้ก็มีหลากหลายชนิด ชาวบ้านก็จะนำไปประกอบอาหารทานในครัวเรือนและส่งขาย หากนักท่องเที่ยวสนใจก็มีสาธิตการยกยอให้ได้ชมด้วย ส่วนในช่วงเวลาที่น้ำแห้งเราก็จะพบกับแก่งหินสวยเหมาะสำหรับการถ่ายรูป เปลี่ยนให้เป็นโลเคชั่นสุดชิคได้
สำหรับสินค้า OTOP ขึ้นชื่อของที่นี่คือ ปลาส้ม ผ้าซิ่นไหม กล้วยฉาบ ซึ่งเราได้นั่งสามล้อไปเยี่ยมชมกรรมวิธีการผลิตตามบ้านต่างๆ อาทิ กลุ่มทอผ้าที่ได้พบกับแม่ใหญ่ที่กำลังขะมักเขม้นกับการงานตรงหน้า แต่ไม่ลืมที่จะต้อนรับขับสู่พวกเราด้วยรอยยิ้มและภาษาถิ่นอย่างอบอุ่น ก่อนที่จะไปชมโอ่งหมักปลาร้า ปลาส้มที่กลายมาเป็นเมนูสุดอร่อยให้ได้รับประทาน ว่าแล้วก็ไม่รอช้านั่งซาเล้งกลับมาที่ศาลาเอนกประสงค์ริมแม่น้ำ เพื่อล้อมวงทานอาหารกลางวันแบบขันโตกกัน แน่นอนว่าเมนูหลักคือปลาที่จับมาได้สดๆ จากแม่น้ำ นำมาทำเป็นเมนูต่างๆ อาทิ ปลาส้ม ลาภปลาตองกราย ปลาทอด ต้มส้มปลา กินพร้อมข้าวเหนียวร้อนๆ พอดีคำแซ่บอีหลี!! และยังมีการแสดงเซิ้งประจำถิ่นให้ได้ชมกันอย่างเพลิดเพลินอีกด้วย
เมื่อท้องอิ่มก็มีแรงที่จะไปตะลุยสถานที่ต่อไป เราได้เดินทางไปกันที่ พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต หมู่บ้านขี้เหล็กใหญ่ ต.หนองพันทา อ.โซ่พิสัย หมู่บ้านเล็กๆ ที่เงียบสงบรายล้อมด้วยทุ่งนา เป็นที่ตั้งของบ้านไม้เก่าแก่อายุกว่า 60 ปี สถานที่เรียนรู้วิถีชีวิตชาวอีสานแบบแท้ๆ ซึ่งเดิมเคยเป็นที่อยู่อาศัยของผู้ก่อตั้ง คุณสุทธิพงษ์ สุริยะ (ขาบ) ฟู้ดสไตลิสต์ชื่อดัง ก่อนที่จะปรับเปลี่ยนมาเป็นพิพิธภัณฑ์แบบร่วมสมัย ภายในบ้านประดับไว้ด้วยภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ทั่วทุกมุม เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่มีต่อประชาชนชาวอีสาน ส่วนอีกฝั่งของบ้านมีการนำข้าวของเครื่องใช้มาจัดตกแต่งเป็นครัวแบบอีสานในอดีตให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ "บ้าน" จริงๆ
อีกหนึ่งไฮไลท์ที่ไม่ควรพลาดเมื่อมาเยือนถิ่นนี้คือ สตรีทอาร์ตสีสันสดใส รูปพญานาคในแบบต่างๆ ที่ถูกเนรมิตขึ้นตามบ้านเรือนจำนวน 20 กว่ารูป เหมาะแก่การแวะชมถ่ายรูปและซึมซับบรรยากาศความเป็นอยู่ภายในชุมชนไปพร้อมๆ กัน นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมอื่นๆ ให้นักท่องได้ร่วมกิจกรรมอีกด้วย ข้อมูลเพิ่มเติมที่ พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต
เข้าสู่วันที่สองของการเดินทาง วันนี้เราตื่นกันตั้งแต่เช้าเพื่อเดินทางไปชื่นชมความงามของดอกบัวแดง เราไปกันที่ บ้านคำสมบูรณ์ ม.3 ต.บึงโขงหลง อ.บึงโขงหลง อากาศเช้านี้กำลังเย็นสบายมีกลิ่นอายฤดูหนาวให้ได้สัมผัสแบบบางเบา เมื่อไปถึงเราก็ใส่เสื้อชูชีพล่องเรือออกไปชมบัวกันในทันที สาเหตุที่เราต้องเดินทางกันมาตั้งแต่เช้าเพราะว่า ดอกบัวจะบานในช่วงกลางคืนจนถึงช่วงสายๆ ของวันเท่านั้น พอแดดเริ่มแรงเต็มที่ดอกบัวก็หุบตามธรรมชาติ ช่วงเช้าจึงเป็นเวลาที่เหมาะสมในการชมดอกบัวมากที่สุด ระหว่างล่องเรือระยะเวลา 45 นาที เราก็ทานข้าวเหนียวหมูทอดห่อใบตองไปพลางๆ พร้อมชมวิวทิวทัศน์อันแสนเงียบสงบริมสองฝั่ง สูดอากาศบริสุทธิ์กันอย่างเต็มปอด เพียงไม่นานก็จะเริ่มเห็นทุ่งดอกบัวสีแดงลอยอยู่ไกลๆ ชวนตื่นเต้น เมื่อมาถึงจุดไฮไลท์เรือก็หยุดเครื่องให้นักท่องเที่ยวได้ชมและถ่ายภาพกันอย่างเต็มที่
ภาพที่ปรากฏตรงหน้าคือ ดอกบัวสีแดงบานสะพรั่ง อวดโฉมอย่างภาคภูมิเป็นลานกว้างทั่วผืนน้ำ หันไปทางไหนก็อร่ามไปด้วยบัวสีแดง พอสายๆ พระอาทิตย์ก็สาดแสงสะท้อนผืนน้ำ กลายเป็นกระจกที่มีภาพภูเขาและเหล่าดอกบัวแดงบานสะพรั่ง งดงามจนเกินคำบรรยาย อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ความงามนี้จะน่าจับต้องจับจองเพียงใด นักท่องเที่ยวทั้งหลายก็ไม่ควรที่จะเด็ดถอนขึ้นมา ดอกไม้จะสวยงามที่สุดเมื่อได้อยู่บนต้นของมัน พึงถนอมไว้ให้ผู้อื่นได้ชมไปนานๆ
เมื่อเก็บภาพกันได้เต็มที่แล้ว เราก็ล่องเรือกลับมาที่ บ้านคำสมบูรณ์ หมู่บ้านที่ตั้งอยู่ริมฝั่งบึงโขงหลง ไปชม OTOP ของดีของที่นี่กันต่อ สินค้ามีทั้งผ้าทอที่ดัดแปลงเป็นกระเป๋าและพวงกุญแจสุดน่ารัก ชาใบม่อนที่ชาวบ้านปลูกไว้ตามริมรั้วนำมาตากแห้งและคั่วเองทุกขั้นตอนจนกลายเป็นชาคุณภาพดีบรรจุซองพร้อมชง น้ำเสาวรสจากต้นที่ชาวบ้านนำพันธุ์มาเพาะปลูกริมรั้วถึงเวลาออกผลผลิตก็นำมาทำเป็นเครื่องดื่มขาย ไข่เค็ม ไม้กวาด เสื่อกก ฝีมือของชาวบ้านขนานแท้ ถูกใจสายช็อปแน่นอน
เวลาก็ล่วงเลยมาใกล้เที่ยงแล้ว เรามุ่งหน้าไปหาของอร่อยทานกัน มื้อนี้ขอฝากท้องไว้ที่ บ้านสุขสาคร ม.4 ต.ดอนหญ้านาง อ.พรเจริญ หมู่บ้านที่มีดีทั้งแหล่งท่องเที่ยว อาหารการกิน ผลิตภัณฑ์ OTOP โดยก่อนที่จะได้ลิ้มรสกับข้าวฝีมือของแม่ๆ เรามารู้จักบ้านสุขสาครแบบเบื้องต้นกันก่อน ที่นี่มีชื่อเสียงเรื่องความงามของบัวริมบึง ดอกบัวสีชมพูจะเริ่มบานอวดโฉมนักเที่ยวอย่างเต็มที่ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนไปจนถึงเมษายน บนพื้นที่กว่า 500 ไร่ มีเรือพายให้บริการนักท่องเที่ยวได้ชมความงามอย่างใกล้ชิดและช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมไปในตัว จากนั้นเราก็ไปสักการะหลวงพ่อธัญญา ที่วัดธัญญาราษฎร์บำรุง วัดคู่บ้านคู่เมือง เมื่อถึงงานประเพณีต่างๆ ชาวบ้านก็จะมารวมตัวกันที่เพื่อจัดงานบุญร่วมกัน
สำหรับของดีของถิ่นนี้ ชาวบ้านได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากดอกบัว อาทิ สบู่จากจุกบัวช่วยบำรุงผิวพรรณจากคอลลาเจนที่อัดแน่น ชากลีบบัวสีชมพูสวยดีต่อสุขภาพ และยังมีสเปรย์ไล่ยุงที่ทำจากตะไคร้หอม ขนมทองม้วนรสหวานมัน ผ้าทอลายพื้นถิ่น สินค้าทุกชิ้นรับรองคุณภาพโดยพ่อใหญ่แม่ใหญ่ที่ผลิตเองกับมือ
และแล้วก็ถึงเวลาที่รอคอยกับมื้อเที่ยงที่เสริ์ฟมาแบบขันโตกอีสาน ชูเมนูเด็ดอย่าง แกงส้มมหัศจรรย์หนองเลิง ซึ่งมีหน้าตาเหมือนแกงสายบัวทั่วไป แตกต่างกันตรงที่ใส่มะขามเปียกแทนมะดัน ตามด้วยปลาส้ม ไข่เจียว ลาภ ส้มตำที่รสชาตินัวแบบอีสานแท้ๆ เป็นอีกหนึ่งมื้ออร่อยสบายกระเพาะ
หลังจากเที่ยวสัมผัสวิถีชุมชน เราก็ต้องไปเที่ยวชมแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติกันบ้าง สถานที่ไหนที่เขาว่าดีเราต้องไปชมให้เห็นกับตา น้ำตกถ้ำพระ บ้านถ้ำพระ ต.โสกก่าม อ.เซกา เป็นหนึ่งในจุดหมายที่ว่านี้ ตัวน้ำตกตั้งอยู่บนภูเขาหินทรายขนาดใหญ่ บริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว การเดินทางต้องจอดรถยนต์ไว้ด้านนอก แล้วลงเรือล่องเข้าไปที่ตัวน้ำตก จากนั้นก็เดินเท้าต่อไปอีกประมาณ 500 เมตร ก็จะพบกับตัวน้ำตกที่แบ่งออกเป็น 3 ชั้น ด้านหนึ่งมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่บริเวณชะง่อนผา ความสวยงามของที่นี่แตกต่างกันออกไปในแต่ละฤดู ช่วงฤดูฝนซึ่งเป็นช่วงที่น้ำเยอะที่สุดนักท่องเที่ยวสามารถเลือกลงเล่นน้ำตามจุดต่างๆ ได้ตามใจชอบ วิวทิวทัศนรายล้อมด้วยป่าไม้เขียวชะอุ่มชวนสดชื่น ช่วงฤดูร้อนหรือฤดูหนาวที่มีน้ำน้อยกว่า เราจะได้พบกับใบไม้เปลี่ยนสี แก่งหินสวยกว้างใหญ่เหมาะแก่การถ่ายรูปสุดเท่ ได้ความสนุกสนานและความสวยงามไปคนละแบบ
การเดินทางท่องเที่ยวจังหวัดบึงกาฬของเราได้เดินทางมาถึงที่สุดท้ายแล้ว ในเช้าวันที่สามเราได้เดินทางมาที่ บ้านหนองหิ้ง ม.2 ต.ท่ากกแดง อ.เซกา พ่อใหญ่แม่ใหญ่ให้การต้อนรับเราด้วยพวงมาลัยคล้องคอและรำเต้ยกลองยาวม้วนซื่นหลายหลายจนผู้เขียนอดใจไม่ไหว ขอร่วมเซิ้งไปกับแม่ๆ ด้วยคน เรียกได้ว่าบันเทิงกันตั้งแต่ก้าวแรกที่มาถึงหมู่บ้านเลยทีเดียว ไม่เพียงเท่านี้หลังจากฟังประวัติความเป็นมาของหมู่บ้านแล้ว ก็มีการแสดงสุดมันให้ได้ชมอีก 2 ชุด ซึ่งม้วนซื่นสวยงามไม่แพ้ลำเต้ยกลองยาวเลยทีเดียว จากนั้นพ่อใหญ่ก็นำขบวนรถซาเล้งมาจอดรอรับพร้อมที่จะพาพวกเราชาวคณะไปชมหมู่บ้านโอทอปตามบ้านต่างๆ กัน
โดยบ้านแรกเป็นบ้านทอเสื่อกก ทอเสื่อผือ ซึ่งแต่ละผืนมีลวดลายละเอียดงดงามมาก เมื่อสอบถามแม่ใหญ่ได้ความว่าอาชีพนี้มีมานานแล้ว เป็นอาชีพเสริมที่อยู่คู่หมู่บ้านมานาน ส่วนลวดลายกรรมวิธีการทอเสื่อก็สืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่น วัตถุดิบที่ใช้ต้นกกชาวบ้านจะปลูกตามบ้าน ส่วนต้นผือจะขึ้นเองตามธรรมชาติมีเยอะในช่วงเดือนธันวาคมไปจนถึงเดือนเมษายน เมื่อกกและผือมีอายุลำต้นเหมาะสมแล้ว ชาวบ้านก็ตัดนำมาตากแห้งและย้อมสีเตรียมเข้าสู่กระบวนการทอต่อไป
จากนั้นขึ้นรถซาเล้งไปบ้านกลุ่มจักสานกันต่อ มีพ่อใหญ่แม่ใหญ่นั่งสาธิตวิธีการสานได้ชม พร้อมนำผลิตภัณฑ์ที่เป็นชิ้นสมบูรณ์ออกมาโชว์ด้วย บ้านหลังต่อไปเราไปชมกลุ่มผ้าทอมือ ซึ่งผลผลิตแต่ละชิ้นผ่านการคิดและออกแบบมาเป็นอย่างดี สังเกตได้จากสีสันและลวดลายที่โดดเด่นมีเอกลักษณ์ ชาวบ้านเองก็นำผ้ามาตัดเย็บเป็นชุดสวมใส่ในงานต่างๆ สะท้อนให้เห็นถึงความภูมิใจในวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของตน ยินดีที่จะนำเสนอให้เป็นที่รู้จักของโลกภายนอก
นอกจากสินค้าโอทอปคุณภาพเยี่ยมแล้ว หมู่บ้านแห่งนี้ยังเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงอีกด้วย มีการทำเกษตรผสมผสานตามตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 เราได้ไปตะลุยบ่อเลี้ยงกบที่ชาวบ้านเพาะพันธุ์ขาย บ่อเลี้ยงปลาหลายชนิด มีไก่เดินหาอาหารอยู่รอบๆ ไกลออกไปเป็นทุ่งข้าวมีเหลืองอร่าม พ่อใหญ่เล่าให้ฟังว่า ชาวบ้านที่นี่มีอาชีพเกษตรกรเป็นหลัก ทำนา ปลูกพืชตระกูลแตง มีบ่อน้ำขนาดใหญ่ ห้วยหนองหิ้ง ไว้ใช้ตลอดทั้งปี จึงทำให้ที่นี่ไม่เคยเจอกับภัยแล้งเลย
ทัวร์ซาเล้งของเรายังไม่จบเพียงเท่านี้ พ่อใหญ่ได้พาเราไปชมต้นโพธิ์ใหญ่อายุ 700 ปี และต้นจำปาลาวอายุ 400 ปี กันที่วัดแสงอุทัย วัดประจำหมู่บ้านและเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนที่นี่ และไปชมสะพานหนองหิ้งที่ก่อสร้างใกล้เสร็จเตรียมเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ให้นักท่องเที่ยวได้มาเที่ยวชมถ่ายรูปกันเป็นการปิดท้ายทัวร์สามล้อนี้
มาถึงถิ่นนี้เราไม่พลาดที่จะชิมอาหารพื้นบ้าน วันนี้ชาวบ้านเตรียมเมนู ปลาเผา ส้มตำ ต้มข่าไก่บ้าน ไก่ทอด และที่เด็ดสุดของมื้อยกให้ ปลาร้าบอง รสชาติแบบอีสานแท้ ปั้นข้าวเหนียวร้อนๆ จิ้มพอดีคำอร่อยจนอยากยกครกทองคำให้ เปิ่บจนพุงกางก็มีของหวานไว้ล้างปากกับเมนูกล้วยบวชชีและกล้วยฉาบ เครื่องดื่มสมุนไพรน้ำอัญชันอร่อยครบจบประทับใจเป็นมื้อที่ยอดเยี่ยมมาก จากนั้นเราก็ไปช็อปของสินค้าโอทอปติดไม้ติดมือไปเป็นของฝากกันคนละหลายชิ้น ก่อนที่โบกมือลาหมู่บ้านแห่งนี้ ไปพร้อมกับเสียงกลองยาว
แนวหน้าพาเที่ยวพาไปตะลุยบึงกาฬเกือบทั่วทุกมุม ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ตราตรึงใจผู้เขียนเมื่อมาเยือนถิ่นนี้คือ ความน่ารัก ความใจดีของชาวบ้าน เพียงเราไปเยือนพวกเขาต่างต้อนรับเราด้วยความอบอุ่น หันไปทางไหนก็เจอแต่รอยยิ้มจริงใจจากทุกคน ของกินอร่อยมีให้กินไม่ขาด ความสนุกสนานไม่มีเว้น นับว่าเป็นมนเสน่ห์ของแดนดินถิ่นอีสานนี้ อีกทั้งความสวยงามของธรรมชาติที่ยังไม่บอบช้ำ เชื่อว่าใครมาเยือนก็ต้องหลงรัก จนอยากกลับมาเที่ยวอีกครั้ง ทริปนี้จึงเป็นทริปที่เต็มอิ่มในทุกๆ ด้าน อยากชวนให้ทุกคนมาสัมผัสด้วยตนเอง ครั้งหน้าแนวหน้าพาเที่ยวจะไปเยือนถิ่นใด อย่าลืมติดตามกัน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี