สกสว.จับมือภาคีเปิดพื้นที่สนทนา ‘ปลดล็อค! เพื่ออากาศสะอาด’ ถกงานวิจัยไทย-กุญแจสู่มาตรการอากาศสะอาดแก้วิกฤต PM2.5
สกสว.จับมือชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม สมาคมนักข่าวและนักหนังสือพิมพ์ฯ จัดงาน TSRI Talk ‘ปลดล็อค! เพื่ออากาศสะอาด’ ระดมสมองนักวิจัย หน่วยบริหารจัดการทุน หน่วยงานบริษัทเอกชน ประชาชน ภาคประชาสังคม และอนุกมธ.พิจารณาแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองและมลพิษทางอากาศถอดรูปแบบเส้นทางการใช้วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมพัฒนามาตรการอากาศสะอาดสร้างผลกระทบแก้วิกฤต PM2.5
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม สมาคมนักข่าวและนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดกิจกรรมTSRI Talk สนทนาออนไลน์ “ปลดล็อค! เพื่ออากาศสะอาด”From Output to Impact : ระบบวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมไทยกับการแก้วิกฤตฝุ่น PM2.5 เพื่อเป็นพื้นที่ในการสื่อสารสนทนา และระดมสมองถอดรูปแบบ4 ผลงานวิจัยเด่นสัญชาติไทยที่ถูกใช้งานจริงในระดับจังหวัด รวมถึงลดการปลดปล่อยมลพิษอากาศและ PM2.5 ปกป้องประชาชนจากการรับสัมผัสฝุ่นพิษเพื่อเสนอเป็นแนวทางการผลักดันให้งานวิจัยและนวัตกรรมอื่นๆของไทยสามารถพัฒนาเป็นมาตรการอากาศสะอาดที่สร้างผลกระทบได้โดยมีหน่วยบริหารจัดการทุน (สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ) หน่วยงานราชการ (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ และศูนย์อนามัยที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่) บริษัทเอกชน (กลุ่มมิตรผล) ประชาชน (เกษตรกรไร่อ้อยจังหวัดสิงห์บุรี) ภาคประชาสังคม (สภาลมหายใจ จังหวัดเชียงใหม่) และคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองและมลพิษทางอากาศสภาผู้แทนราษฎร ร่วมเสวนา
สำหรับงานวิจัยเด่นที่ถูกนำมาวิเคราะห์เส้นทางสู่การสร้างผลลัพธ์ผลกระทบประกอบด้วย
1) DustBoy เครื่องวัดฝุ่น PM2.5 และ PM10 ราคาถูก (ไม่เกิน 10,000 บาท) ที่มีความแม่นยำกว่าร้อยละ85 เมื่อเทียบกับเครื่องวัดฝุ่นที่ต้องซื้อมาจากต่างประเทศ (กว่า 1ล้านบาท)ซึ่งถูกติดตั้งแล้วกว่า 400 จุดทั่วประเทศช่วยให้ประชาชนกว่า 300,000 คนวางแผนหลีกเลี่ยงการรับสัมผัสฝุ่นพิษในชีวิตประจำวัน
2) FireD แอปพลิเคชั่นการจองเผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่ใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์คาดการณ์การฟุ้งกระจายของฝุ่นจากการเผาล่วงหน้า 3 วันเพื่อการตัดสินใจเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการกำจัดเชื้อเพลิงในพื้นที่ ทำให้คณะทำงานระดับจังหวัดของเชียงใหม่มีข้อมูลในการอนุมัติให้เกษตรกรสามารถเผาเศษวัสดุเหลือใช้โดยเกิดฝุ่นฟุ้งกระจายน้อยที่สุด ในปี 2564 แอปพลิเคชั่นดังกล่าวเป็นหนึ่งปัจจัยที่ช่วยลดจุดความร้อนในจังหวัดเชียงใหม่ได้กว่าร้อยละ60
3) สิงห์บุรีโมเดล โมเดลนำร่องการใช้ Open Government ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการร่วมกับส่วนราชการและภาคเอกชนจังหวัดสิงห์บุรีเพื่อใช้นวัตกรรมและมาตรการจูงใจทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนที่ร้อยเรียงเป็นห่วงโซ่ของมาตรการในการลดการเผาไร่อ้อย ก่อนตัดส่งเข้าโรงงานน้ำตาลให้ได้ร้อยละ90อันเป็นการลดการปลดปล่อย PM2.5 และมลพิษอากาศที่แหล่งกำเนิด
4) นวัตกรรมรถตัดอ้อย ของบริษัท น้ำตาลมิตรผล สิงห์บุรี ที่เกษตรกรสามารถใช้ตัดอ้อยสดในไร่ของตัวเอง และยังรับตัดอ้อยของเพื่อนเกษตรกรในพื้นที่โดยไม่ต้องเผา ทำให้ขายอ้อยได้ราคาดีและมีค่าใช้จ่ายในการเก็บเกี่ยวลดลงกว่าร้อยละ50 เมื่อเทียบกับแรงงานคน นวัตกรรมนี้ใช้งานจริงและช่วยลดการปลดปล่อย PM2.5 ในพื้นที่มาแล้วกว่า 4 ปี
โอกาสนี้ รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวถึง “บทบาทของ สกสว.กับ วิกฤตมลพิษอากาศ PM2.5” ว่ากว่า4 ปีที่ผ่านมา 7 จังหวัดของประเทศมีค่าความเข้มข้นของ PM2.5 เฉลี่ยรายวันเกินค่ามาตรฐานความปลอดภัยระหว่างร้อยละ 25-50 ของเวลาใน 1 ปีโดยปี2563 ค่าฝุ่นเกินค่าที่ยอมรับได้ 112 วันต่อปี และปี 2564 กรุงเทพฯ ถูกจัดอันดับเป็นเมืองที่มีมลพิษมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ก่อนหน้านี้เมื่อพูดถึงการแก้ปัญหาฝุ่นละออง เราอาจใช้วิธีการสังเกต มองท้องฟ้า แต่ปัจจุบันองค์ความรู้ทำให้เกิดนวัตกรรมและเครื่องมือวัดค่าฝุ่น ซึ่งเราล้วนทราบกันดีว่าปัญหาฝุ่นเกินค่ามาตรฐานเกิดจากสภาพแวดล้อม ที่มีมนุษย์เป็นผู้สร้าง ทั้งแหล่งกำเนิดมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม การคมนาคม (จากข้อมูลพบว่าไทยมีรถยนต์มาตรฐานต่ำที่ผลิตควันดำกว่า 10 ล้านคัน) รวมทั้งการเผาของภาคเกษตร ที่ล้วนเกิดจากกระบวนการผลิตและการบริโภคของมนุษย์ทั้งสิ้น
ดังนั้น การแก้ปัญหาจึงควรมองกลับไปทั้งระบบ ทั้งพฤติกรรมการผลิตและการบริโภค เวทีครั้งนี้จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่ทุกภาคส่วนและสื่อมวลชนจะได้บูรณาการการทำงาน เพื่อแก้ปัญหาอากาศของประเทศไทย โดย สกสว. เล็งเห็นว่าเครื่องมือด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของประเทศ ทั้งการจัดทำแผนวิจัย การจัดสรรงบประมาณ ตลอดจนการมีระบบติดตามผลและการทำงานร่วมกันกับหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรม โดยเฉพาะสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ที่ถือเป็นฟันเฟืองสำคัญ ในการบริหารจัดการงานวิจัยทางด้านฝุ่น เพื่อหนุนเสริมการแก้ปัญหานี้อย่างยั่งยืน
ด้าน ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญระดับสูง สกสว. และคณะอนุกรรมาธิการสภาฯ ด้านแก้ไขปัญหา PM 2.5 ฉายภาพว่าหากทบทวนมาตรการของประเทศอื่นๆ อย่างสหรัฐอเมริกา จะพบว่าประเทศเหล่านั้นประสบความสำเร็จในการสร้างอากาศดีให้ประชาชนด้วยมาตรการอากาศสะอาด เพื่อเป็นกฎระเบียบในการรักษาสภาพอากาศของประเทศ โดยกว่าที่มาตรการนี้จะคลอดออกมาต้องใช้องค์ความรู้จากงานวิจัยและนวัตกรรมมาหนุนเสริม เพื่อให้ปกป้องประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประเทศไทยมีองค์ความรู้ด้านการวิจัยการแก้ปัญหานี้อย่างมากมายแต่ยังไม่ถูกนำไปพัฒนาเป็นมาตรการต่างๆอย่างจริงจัง ดังนั้นจึงมองว่าข้อเสนอแนะการเพิ่มศักยภาพของงานวิจัยและนวัตกรรมไทยเพื่อการแก้ไขปัญหา PM2.5 และมลพิษอากาศ มี 4 ประเด็นสำคัญ คือ
1.มาตรการสำหรับกฎหมายอากาศสะอาดของประเทศไทยเป็นหัวใจของความสำเร็จแค่การมีกฎหมายอากาศสะอาดอย่างเดียวไม่เพียงพอ แต่ต้องมีมาตรการที่ดีมีประสิทธิภาพและอิงวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม
2.งานวิจัยควรเน้นการสนับสนุนการออกแบบมาตรการ การวิเคราะห์ประสิทธิภาพ การติดดามประเมินผลของมาตรการในการบรรลุเป้าหมายของอากาศสะอาด
3.การเชื่อมโยงงานวิจัยกับมาตรการในกฎหมายอากาศสะอาดที่จะมีในอนาคตจะทำให้ผลผลิตงานวิจัย นำไปสู่ผลลัพธ์และผลกระทบ ได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชนที่ต้องปฏิบัติตามมาตรการทางกฎหมายดังกล่าว และต้องการงานวิจัยเพื่อช่วยในการดำเนินมาตรการให้ประสบความสำเร็จ
4.ตัวชี้วัดผลการดำเนินงานของระบบ ววน. ควรมุ่งสนับสนุนเทคโนโลยี นวัตกรรม การบริหารจัดการให้กฎหมายอากาศสะอาดสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่ใช่เป้าหมายและผลสัมฤทธิ์สำคัญในการบรรลุเป้าหมายอากาศสะอาดโดยตรง เนื่องจาก ววน.เปรียบเสมือนหน่วยสนับสนุนเครื่องมือการทำงานให้หน่วยงานด่านหน้าที่สำคัญทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงภาคประชาชนให้สามารถบริโภคได้อย่างยั่งยืน โดยต้องทำงานบนฐานข้อมูลและองค์ความรู้ ประเทศไทยต้องเรียนรู้ว่ามาตรการแบบใดดีที่สุดจากต่างประเทศที่เคยประสบความสำเร็จมาแล้วนำมาใช้แล้วเหมาะสมกับบ้านเรา
ขณะที่ ดร.ขวัญฤดี โชติชนาทวีวงศ์ ผู้แทนสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวเสริมว่า นอกเหนือจากการใช้องค์ความรู้จากงานวิจัยไปผลักดันให้เกิดกฎหมายแล้ว ควรมีกลไกเชื่อมต่อการใช้ประโยชน์ การนำมาตรการต่างๆที่ภาครัฐมีอยู่แล้วตอนนี้ แต่ยังขาดการนำไปใช้ การติดตามประเมินผลมาตรการที่เพียงพอเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งเช่นกัน
ส่วน นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.)กล่าวว่ากฎหมายอาจไม่สำคัญเท่ามาตรการและการปฏิบัติจริง ถ้าแต่ละฝ่ายเห็นพ้องร่วมกันและรู้ว่าแต่ละคนมีบทบาทการทำงานในส่วนไหนเพื่อแก้ปัญหาก็จะส่งผลสำเร็จมากขึ้น นอกจากนี้สิ่งสำคัญที่เป็นแรงกระตุ้นในสังคมได้ คือ การแจ้งเตือนตัวเลขที่ชัดเจนว่าหลังจากนำงานวิจัยเชิงนวัตกรรมและงานวิจัยเชิงนโยบายไปปฏิบัติจริง คุณภาพอากาศดีขึ้นเพียงใด ค่าฝุ่นลดลงแล้วมากน้อยพียงใด มีปริมาณผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจลดลงเท่าใด สื่อสารให้ประชาชนได้ทราบว่าสิ่งเหล่านี้มันคือเรื่องเชื่อมโยงที่ใกล้ตัวเขา จะทำให้สังคมตระหนักรู้มากขึ้น ทั้งนี้ข้อมูลการถกประเด็นครั้งนี้ถือเป็นสารตั้งต้นสำคัญทั้ง สกสว.และทุกภาคส่วน เพื่อแก้ไขปัญหาPM2.5 และผลักดันให้เกิดมาตรการสะอาดขึ้นมาอย่างเป็นรูปธรรมและดำเนินการใช้จริงอย่างมีศักยภาพต่อไป
-(016)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี