(ต่อจากตอนที่แล้ว) หลังจากออกพรรษาประมาณเดือนธันวาคม 2482 หลวงปู่เจี๊ยะ ตัดสินใจเข้าไปกราบลาพระอาจารย์กงมา เพื่อเดินทางไปหาท่านพระอาจารย์มั่นที่เชียงใหม่
*ตัดนิวรณ์มุ่งภาคเหนือ
เมื่อแน่ใจในตนเอง จึงไม่ปริปากบอกใคร เพราะถ้าบอก เขาก็จะพากันห้ามปราม กลัวว่าอุปนิสัยของท่านจะอยู่กับท่านหลวงปู่มั่น ไม่ได้ แม้แต่พระอาจารย์กงมา ตนก็ไม่ได้บอกเรื่องภายในจิต เพราะคิดว่า ถ้าบอกเล่าถวายท่าน ท่านก็คงไม่เชื่อ เพราะตนบวชยังไม่นาน
"อีกทั้งสมัยนั้นเราดื้อมาก ดื้อมากขนาดไม่มีใครจะเชื่อว่า เราภาวนาดีได้ จึงตั้งใจไว้ว่า จะมาเล่าให้ท่านพระอาจารย์มั่นฟัง ตั้งแต่วันที่ภาวนาจนจิตรวมครั้งใหญ่แล้ว
การจากบ้านเกิดไปหาพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโตครั้งนี้ พระอาจารย์กงมาเป็นห่วงว่า กิริยาตามแบบของท่านจะทำให้อยู่กับพระอาจารย์มั่นไม่ได้
“ครูอาจารย์ที่นั่นก็ดี ผมไม่ได้ประมาณในคุณธรรมแม้นิด แต่ที่นี่มันใกล้บ้าน ใกล้พ่อแม่ญาติพี่น้อง มีอะไรก็เรียกหา เรียกใช้ได้ง่ายๆ มันสะดวกเกี่ยวกับเรื่องทางโลก แต่ไม่สะดวกในทางการประพฤติธรรม แม้แต่โยมแม่ทราบว่าจะไป เหตุเพียงแค่นี้ก็ร้องห่มร้องไห้กันแล้ว ภาระกังวลนี่แหละ มันจึงเป็นเหมือนนิวรณ์คอยกางกั้น การไปไกลๆจากบ้าน ถ้าเกิดความลำบากอย่างน้อยธรรมชาติ มันคงช่วยดัดนิสัยผมได้บ้าง ผมก็คิดอย่างนี้”
เมื่อหลวงปู่เจี๊ยะท่านพูดขึ้นอย่างนั้น พระอาจารย์กงมาจึงพูดขึ้นว่า “ท่านเจี๊ยะ...ถ้าท่านได้อะไรดีๆ ก็นำมาสอนผู้เฒ่าบ้างเน้อ”
หลังจากกราบลาท่านอาจารย์กงมาแล้ว หลวงปู่เจี๊ยะก็ไปบอกลาโยมพ่อโยมแม่และพี่สาวตลอดจนญาติๆ พ่อแม่ร้องไห้โฮกันใหญ่ เพราะหลวงปู่ท่านอยู่บ้านไม่เคยลำบาก พ่อแม่ไม่เคยบังคับให้ทำงาน งานทั้งหมดหลวงปู่ท่านยินดีทำเอง โยมแม่ก็พูดขึ้นว่า “กินก็เป็นคนกินยากจะไปได้ยังไง? ลูก“ โยมแม่พูดขึ้นพร้อมทั้งน้ำตา เพราะในบรรดาลูกๆ พ่อแม่รักหลวงปู่เจี๊ยะที่สุด
ก่อนวันออกเดินทาง หลวงปู่เจี๊ยะก็เข้าไปกราบลาท่านพ่อลี เมื่อกราบเรียนท่านว่าจะไปหาท่านพระอาจารย์มั่นเท่านั้นแหละ ท่านพ่อลีก็พูดเสียงดังลั่นเลยว่า “มันต้องอย่างนี้สิ... มันต้องอย่างนี้สิ ลูกศิษย์ตถาคต”
แล้วท่านพ่อลีก็ให้โอวาทว่า “การไปหาครูบาอาจารย์ต้องปฏิบัติตัวให้ดี และเอาให้ถึงธรรมให้ได้ ท่านพระอาจารย์มั่นเป็นพระแท้ พระจริง เราต้องทำตัวเราให้ถึงความจริงทั้งที่ท่านสอน ถ้าเราไม่จริง เราจะไปปลอมปนอยู่กับท่านไม่ได้ เพราะของจริงกับของปลอม มันแยกแยะออกได้ ของสะอาดกับของสกปรก เราจะเอามาปนกันไม่ได้
ความสะอาดก็คือความสะอาด ความสกปรกก็คือความสกปรก เราไปหาท่าน เราต้องเป็นแบบท่าน และพยายามทำให้ถึงธรรมอย่างที่ท่านเห็น แล้วเราก็จะกลมกลืนในสายทางแห่งธรรมอันเดียวกัน การอยู่กับท่านก็จะได้ผลที่สุดเป็นที่หมาย”
*ตามหาบุพพาจารย์
หลวงปู่เจี๊ยะท่านกล่าวว่า การได้ฟังโอวาทท่านพ่อลีเช่นนั้น ก็ยิ่งทำให้ใจมันไขว่คว้าในเป้าหมายคือ “ท่านพระอาจารย์มั่น” ยังไงต้องถึงท่านที่เป็นพระอรหันต์ให้ได้
พอถึงวันออกเดินทาง หลวงปู่ท่านก็มาขึ้นเรือที่ท่าแฉลบ พร้อมกับพระอาจารย์เฟือง โชติโกสหธรรมิก และท่านพ่อลี ที่จะเดินธุดงค์ไปอินเดีย ทั้งหมดไปขึ้นที่ท่าราชวงศ์ พักอยู่ที่กรุงเทพฯประมาณ ๒๐ วัน ขึ้นรถไฟเดินทางไปที่เชียงใหม่ ถึงเชียงใหม่แล้วนั่งสามล้อต่อไปที่วัดเจดีย์หลวง พักอยู่ที่วัดเจดีย์หลวงประมาณ 4 วัน
ตอนออกเดินทางมาจากกรุงเทพฯมีปัจจัยอยู่เพียง ๗ บาท จ่ายค่ารถ จ่ายค่าสามล้อหมดพอดี ไปพักอยู่วัดเจดีย์หลวง ได้พบกับพระมหาเสงี่ยม สนทนากันแบบเพื่อนผู้ร่วมประพฤติพรหมจรรย์พูดจาถูกกัน
ท่านเห็นว่าตนไม่มีเงิน ค่ารถ จึงชักชวนให้อยู่ก่อน ท่านนิมนต์ให้อยู่วันพระ เพราะวันพระที่จะถึงท่านจะเป็นองค์แสดงธรรม ญาติโยมคงจะถวายกัณฑ์เทศน์ โดยตามปกติแล้วในวันพระ ทุกวันพระ พระที่เทศน์จะได้ปัจจัยที่โยมถวาย 80 สตางค์ พอท่านได้ปัจจัย ท่านก็นำมาถวายเป็นค่ารถในการเดินทาง
พักที่วัดเจดีย์หลวงพอสมควรแล้ว ก็ออกเดินทางไปเชียงดาว แล้วธุดงค์ต่อไปทางปางแดงเป็นป่าอยู่ในกลางหุบเขา พักที่ป่าแดงพอสมควรแล้วก็ออกเดินทางไปตามหุบผาป่าเขา อันสลับซับซ้อน จนทะลุถึงอำเภอพร้าว พักอยู่ตามป่าที่อำเภอพร้าว เพื่อสอบถามว่าท่านพระอาจารย์มั่นพักอยู่ที่ไหน จนได้เค้าว่าชื่อวัดรร้างป่าแดง
*พบพระอาจารย์ครั้งแรก
ในระหว่างเดินทางไปหาท่านพระอาจารย์มั่นนั้น หลวงปู่เจี๊ยะท่านต้องเดินทางด้วยความยากลำบากด้วยความเหน็ดเหนื่อย เรียกได้ว่า ทุกข์ทรมานที่สุดในชีวิตการเดินทาง เพราะไม่เคยเดินเท้าเปล่าข้ามป่าเขาลำเนาจุดหมายอยู่ที่ใดก็แน่นอน อา เท่านั้น ส่วนร่างกายเต็มที่ พระอาจารย์มั่นเป็นพันๆหมื่นๆครั้ง
เมื่อเดินทางถึงบ้านแม่กอย ถามคนเขาบอกว่า ท่านพักอยู่ที่วัดร้างป่าแดง ก็รีบเร่งเดินทางเข้าไป กระหายใครเห็น ใคร่สนทนา มากกว่าการกระหายน้ำ ลืมความเหน็ดเหนื่อย
มุ่งตรงเข้าไปยังวัดร้างป่าแดง พบกระท่อมน้อยๆ มุ่งหญ้าคา ฝาขัดแตะและใบไม้ พื้นไม้ไผ่ ดูๆ ในสถานที่น่าจะมีพระอยู่กันหลายองค์ เพราะสะอาดสะอ้านเหลือประมาณ
เมื่อเดินเข้าไปตรงกระท่อม หลังที่มองเห็นก่อนหน้านั้น พบพระรูปหนึ่งรูปร่างเล็กๆ ลักษณะองอาจ เป็นเถระรูปร่างสันทัด ผิวดำแดง นั่งห่มจีวรเปิดไหล่ แสดงอาการให้เห็นว่ารอใครบาง คน อย่างเห็นได้ชัด ท่านนั่งอยู่บนแคร่น้อยๆ ใช้ไม้ไผ่ขัดแตะ เอาหญ้าคามุงกั้นฝาเป็นฟาก หันหน้ามาทางที่จะเดินเข้าไป แสดงว่าสนใจในคนที่มา แต่ไม่แสดงออกทางคำพูด แต่เป็นกริยาที่รับกัน
หลวงปู่เจี๊ยะกล่าวว่าใจในขณะนั้น น้อมนึกขึ้นมาทันทีว่า “นี่แหละหลวงปู่มั่น” และนึกต่อไปอีกว่า “ท่านคงรู้วาระจิตของเราเป็นแน่แท้ จึงมานั่งรอ พระเถระรูปที่นั่งอยู่นี้ ต้องเป็นท่าน อาจารย์มั่น จะเป็นองค์อื่นไปไม่ได้” จึงตรงดิ่งเข้าไปกราบท่าน ตามความกระหายใคร่จะกราบนมัสการ
ขณะที่หลวงปู่เจี๊ยะเข้าไปหาท่านหลวงปู่มั่นนั้น ท่านเข้าไปแบบจู่โจม คิดว่าต้องไม่ใช่ใครที่ไหน ที่สามารถรู้เหตุการณ์ในอนาคตได้ว่าใครจะไปจะมา ต้องเป็นท่านพระอาจารย์มั่นอย่างแน่นอน
เข้าไปถึงก็หมอบเข้าไปกราบ ท่านหลวงปู่มั่นจึงถามขึ้นว่า “มาจากไหน”
“มาจากจันทบุรี อยู่กับท่านอาจารย์กงมาและท่านอาจารย์ลี” หลวงปู่เจี๊ยะกราบเรียนหลวงปู่มั่น
“ท่านลี ท่านกงมา อ้อ! นั่นลูกศิษย์เรา” หลวงปู่มั่นพูดแบบอุทานเหมือนว่า รู้และเข้าใจในวิถีความเป็นมาเป็นไปของท่านหลวงปู่เจี๊ยะ
จากนั้นเมื่อได้โอกาสอันควร หลวงปู่เจี๊ยะจึงกราบเรียนเล่าเรื่องที่ภาวนา ที่จิตเป็นไปให้ท่านหลวงปู่มั่นฟังสั้นๆ เป็นใจความว่า “ครูบาอาจารย์ กระผมพิจารณากาย จนใจนี้มันขาดไปเลย”
หลวงปู่มั่นท่านนิ่งฟังเฉย นิ่งเงียบไม่คัดค้านในสิ่งที่หลวงปู่เจี๊ยะเล่าถวายแม้แต่คำเดียว หลวงปู่เจี๊ยะจึงเรียนถามท่านต่อไปอีกว่า “ครูบาอาจารย์...จะให้ผมทำอย่างไรต่อ” ท่านตอบสั้นๆ แต่เป็นที่พอใจตรงใจ “ให้ทําอย่างเดิมนั่นแหละ ดีแล้ว”
*ศูนย์กลางพระอริยเจ้า
วัดที่ท่านพระอาจารย์มั่นพักจำพรรษาอยู่ขณะนั้น คือวัดร้างป่าแดง เป็นวัดอยู่กลางป่ากลางทุ่ง มีชาวบ้านอยู่ 6 หลังคาเรือน บ้านห่างจากวัด ประมาณ 500 เมตร กุฏิครูบาจารย์ ท่านมุงด้วยใบตองตึง พื้นเป็นฟากไม้ไผ่ รูปลักษณ์เป็นทรงพื้นเมืองทางเหนือ
เรื่องธรรมเรื่องวินัยครูบาอาจารย์มั่นท่านละเอียดเป็นที่สุด แม้แต่ต้นไม้ประดับประดา ปลูกให้มีดอกออกผลสวยงาม ท่านไม่ให้ปลูกภายในวัด ถ้าเป็นพระ ท่านว่าเป็นพระเจ้าชู้ พระขุนนาง ชอบสวยงาม ชอบสะดวกสบาย แต่ภายในหัวใจไม่มีอรรถธรรมแม้แต่น้อย ต้นไม้งามเท่าไหร่ ใจมันก็เสื่อมจากทางจงกรม นั่งสมาธิเท่านั้น
ขณะที่ท่านพระอาจารย์มั่นมาพักพำนักปฏิบัติธรรม ณ วัดร้างป่าแดงแห่งนี้ ได้มีลูกศิษย์ของท่านที่เป็นพระกรรมฐานเดินทางตามมา เพื่อรับการอบรมทางด้านจิตตภาวนาโดยสม่ำเสมอมิได้ขาด เช่น พระอาจารย์เทสก์ เทสรํสี พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ พระอาจารย์พรหม จิรปุญฺโญ พระอาจารย์แหวน สุจิณฺโณ พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร พระอาจารย์สิม พุทฺธาจาโร ฯลฯ
สำหรับหลวงปู่เจี๊ยะ หลังจากเดินทางมาขอฝากตัวเป็นศิษย์ ได้รับฟังโอวาทจากท่านพระอาจารย์มั่นเป็นที่ซาบซึ้งแล้ว ทั้งหลวงปู่เจี๊ยะและท่านพ่อเฟื่องต่างก็เข้าสู่ที่พักด้วยใจที่แข็งแกร่ง แต่ด้วยอากาศที่หนาวเหน็บเข้าไปภายในนั้น ทำให้เนื้อตัวสั่นเทา มีแต่เพียงจีวรบางๆ เป็นที่ห่อหุ้มร่างกาย
เมื่อตกดึกๆ นอนไม่หลับ จึงเดินเข้าไปหาท่านเฟื่อง แล้วกระซิบท่านเบาๆ อันเป็นการหยั่งเชิงดูหมู่เพื่อน ว่าจะเป็นไปอย่างไร คิดอย่างไร ว่า “เฟื่องเว้ย... หนาวเว้ย...กลับบ้านดีกว่า...” หลวงปู่เจี๊ยะเล่าว่า ท่านเฟื่องนิ่งเฉย ไม่ตอบแต่อย่างใด ส่วนภายในใจของตนนั้น ก็ไม่ได้ถอยแต่อย่างใดเช่นเดียวกัน
*ฟ้าผ่าใจรับอรุณ
พอรุ่งเช้าวันใหม่ มองเห็นลายมือพอรู้ มองดูชายหญิงพอออกว่าเป็นชายหรือหญิง มองต้นไม้ออกว่าเป็นต้นไม้อะไร ก็ออกจากที่พัก อันเป็นเพิงเล็กๆ มุงด้วยใบตอง มีหลังคาพอกันน้ำค้าง ที่นอนก็เป็นแคร่ไม้ไผ่โยกเยกๆ เดินมากระท่อมน้อยอันเป็นศาลาหอฉัน
พอท่านพระอาจารย์มั่นเห็นหน้าหลวงปู่เจี๊ยะเท่านั้นแหละ เหมือนดั่งว่าสายฟ้าฟาดลงบนกระหม่อมทันที “คนทะลงทะเลไม่มีความอดทน ไป...ไป ไม่มีใครอาราธนามาที่นี่”
หลวงปู่มั่นท่านพูดเสียงดุดัง นัยน์ตากกราดกร้าวเหมือนพญาเสือโคร่งใหญ่ เป็นกิริยาที่หมู่แมวๆ ต้องหมอบคลาน ก้าวขาก็ไม่ออก หลวงปู่เจี๊ยะกล่าวว่าเรื่องวาระจิตนี่ ท่านรู้ทุกอย่าง จะพูดจะคิดอะไร อยู่กับท่านต้องระวัง ประมาทไม่ได้เป็นบาปใหญ่ เพราะท่านเป็นพระอรหันต์ เมื่อตั้งสติไว้ กำหนดไว้ได้แล้วค่อยก้าวเท้าเดินต่อไปด้วยความนอบน้อม
คำพูดของท่านเพียงเท่านั้นล่ะ มันวนเวียนอยู่ในใจ จะคิด" อะไร จะพูดอะไร เหมือนถูกคนสะกดบังคับให้ต้องเป็นไปตามแบบของท่าน ก็ได้แต่เพียงเตือนตนไว้ในใจว่า “เอาละนะ เจอของจริงแล้ว ระวังตัวให้ดี”
จากนั้นมาท่านหลวงปู่มั่นก็เมตตาใช้ทำนั่นทำนี่ ดูแลอุปัฏฐากใกล้ชิดท่าน จิตใจก็ค่อยคุ้นๆ กับท่าน ทำให้รู้สึกสบายใจขึ้นบ้าง
หลวงปู่ท่านกล่าวว่า การที่ได้อยู่กับพระที่สมบูรณ์ทั้งความรู้ ภายใน และความประพฤติ นับว่าเป็นโชคอย่างมหาศาล การอยู่การฉัน ก็นับว่าลำบากมากในสายตาของชาวโลก แต่ถ้าเป็นนักธรรมถือว่าสมบูรณ์พอดีๆ
จากนั้นไม่นาน ฟันของท่านพระอาจารย์มั่นจึงหลุดขณะที่ใช้ไม้สีฟัน ท่านพระอาจารย์มั่นมอบไว้ให้หลวงปู่เจี๊ยะ เก็บรักษาไว้อย่างดี
ซึ่งภายหลังหลวงปู่ได้เป็นผู้นำในการสร้างเจดีย์ เพื่อบรรจุพระทันตธาตุของท่านพระอาจารย์มั่น ชื่อว่า ภูริทัตตเจดีย์ ตั้งอยู่ที่วัดป่าภูริทัตตปฏิปทาราม ต.คลองควาย อ.สามโคก จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นวัดที่หลวงปู่เจี๊ยะอยู่พักจำพรรษาในบั้นปลายชีวิต
*ติดตามอุปัฏฐากพระอาจารย์มั่น
ด้วยท่านพระอาจารย์มั่นรับนิมนต์ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์(อ้วน ติสฺโส) วัดบรมนิวาส กรุงเทพฯ หลังจากที่พักอยู่ที่วัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่ ๖-๗ คืน ก็ต้องเดินทางเข้ากรุงเทพฯ โดยมีหลวงปู่เจี๊ยะ ติดตามอุปัฏฐากด้วยความยินดียิ่ง
พอรถไฟถึงกรุงเทพฯ ก็เข้าพักที่วัดบรมนิวาส ตามคำสั่งทางโทรเลขของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ หลวงปู่เจี๊ยะก็จัดแจงที่พัก จัดน้ำใช้ น้ำฉัน น้ำปั่น น้ำสรงให้สมควรและถูกตามอัธยาศัยของท่านหลวงปู่
ในระยะที่พักที่นั้นปรากฏว่า มีคนมาถามปัญหากับท่าน และมีผู้นิมนต์ให้รับภัตตาหารที่บ้านมาก
หลวงปู่เจี๊ยะเป็นพระติดตามอุปัฏฐากท่านพระอาจารย์มั่นมาโดยตลอด เมื่อท่านเดินทางมาพักอยู่กรุงเทพฯ มีผู้มาอารธนานิมนต์ให้ไปฉันในบ้านเสมอ แต่ท่านขอผ่านเพราะไม่สะดวกต่อการปฏิบัติต่อสรีระกิจประจำวันหลังจากฉันเสร็จแล้ว
พักอยู่กรุงเทพฯ พอสมควรแก่กาลแล้ว ท่านหลวงปู่มั่นก็เริ่มพาออกเดินทางมาพักโคราช ตามคำอาราธนาของคณะศรัทธาชาวนครราชสีมา โดยพักที่วัดป่าสาละวัน ขณะพักอยู่นั้นก็มีท่านผู้สนใจ มาถามปัญหาหลายราย มีผู้คนเลื่อมใสท่านมาก ท่านเป็นผู้มีธรรมะ เป็นวิหารธรรม ช่างสังเกตพินิจพิจารณา อย่างบางทีปลอดผู้คนตอนพลบค่ำ ท่านเข้าไปทำวัตรปฏิบัติ เมื่อเห็นอะไรก็จะแสดงออกมาสอน เราในแง่แห่งธรรมเสมอ เราก็เซ่อซ่าๆ ซุ่มซ่ามอยู่แล้ว จึงถูกท่านดัดอยู่เป็นประจำ
“ทุกวันท่านต้องมีเรื่องดุเรา เพราะท่านเป็นนักปราชญ์ ส่วนเราเป็นผู้ไปศึกษากับท่านผู้เป็นปราชญ์ใหญ่ จึงถูกท่านโขกสับขับไล่อยู่เรื่อยๆ สำหรับปัญหาธรรมนั้นไม่ว่าท่านไปพักที่ไหน คนมาเรียน ถามมิได้ขาด แต่มิได้จดจำได้ทุกบททุกบาท
หลวงปู่มั่นพักนครราชสีมาพอสมควร แล้วก็พาหลวงปู่เจี๊ยะ ออกเดินทางต่อไปจังหวัดอุดรธานี มาถึงขอนแก่น มีพี่น้องชาวขอนแก่นไปรับท่านที่สถานีคับคั่ง และพร้อมกันอาราธนาท่านให้ลงแวะพักที่ขอนแก่นก่อน แล้วค่อยเดินทางต่อไปอุดรฯ แต่ท่านไม่อาจแวะตามคำนิมนต์ได้ จึงพากันพลาดหวังไปบ้างในโอกาสที่ควรจะได้นั้น
...........................
ตามรอยพระอริยะเจ้า! "หลวงปู่เจี๊ยะ จุนโท" พระผู้เป็นดั่งผ้าขื้ริ้วห่อทอง คัดลอกจากหนังสือ "ตามรอยพระอริยเจ้าหลวงปู่เจี๊ยะ จุนโท วัดป่าภูริทัตตปฏิปทาราม อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี" ท่านคือสมณะสงฆ์สายป่าผู้เป็นผ้าขี้ริ้วห่อทองของแม่ทัพกรรมฐานแห่งสยาม : ดำรงธรรม เรียบเรียง
(ติดตามตอนต่อไป)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี