ประวัติศาสตร์‘สนามหลวง’จากเปิดโล่งถึงล้อมรั้ว พื้นที่ชีวิต..แหล่งรวมหลากกิจกรรมทั้ง‘ราษฎร์-รัฐ’
เรียกว่า “ไม่เคยแผ่ว” เลยจริงๆสำหรับ “พรรคก้าวไกล”
ที่เสนออะไรออกมามักเป็นการ “เรียกแขก” สร้างกระแส-ปั่นดราม่าให้สังคมไทยตลอด
ล่าสุดกับ “ศึกชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.” ที่ตัวแทนของพรรคอย่าง “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” ลงทุนลาออกจาก ส.ส. มาลงชิงชัยในสนามท้องถิ่นของเมืองหลวง ชูไอเดีย...
“เลิกล้อมรั้วสนามหลวง”!!!
คืนพื้นที่ให้ทำกิจกรรมต่างๆ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจและสังคมได้อย่างเสรี
“คำว่าหลวง หมายถึงเป็นของประชาชน ใช้เงินภาษีประชาชน เช่นถนนหลวง ไฟหลวง สนามหลวงจึงเป็นสนามของประชาชน ต้องให้ประชาชนได้ใช้อย่างสะดวกไม่ปิดกั้น หากผมเป็นผู้ว่าฯ สนามหลวงจะเปิดใช้งานอย่างมีชีวิตชีวาเหมือนที่เคยเป็น เอารั้วกั้นออกให้หมด เปิดให้ประชาชนทำได้ทุกอย่างที่ถูกกฎหมาย ตั้งแต่เล่นว่าว ดูดวง ออกกำลัง ไปจนถึงกิจกรรมทางการเมือง” วิโรจน์ กล่าว
ในด้านหนึ่ง ท่าทีของตัวแทนพรรคก้าวไกล ถูกนำไปตีความว่าต้องการ “กระทบชิ่ง” อะไรหรือไม่!?!?!
เนื่องจากจุดยืนของพรรคนับตั้งแต่ยุคของอนาคตใหม่ค่อนข้างชัดเจนว่าไปทางนั้นตลอด แต่อีกด้านหนึ่งเรื่องของความเหมาะสมในการใช้สอยพื้นที่ท้องสนามหลวง ก็เคยเป็นข้อถกเถียงกันมาหลายยุคสมัย สนามหลวงผ่านมาแล้วทั้งยุคตลาดนัด สถานที่ค้างแรมราคาถูก แหล่งรวมคนจร ตำนานผีขนุน แลนด์มาร์คทางการเมือง จนกระทั่งมีการล้อมรั้ว
“สนามหลวง” หรือท้องสนามหลวง เป็นพื้นที่ที่อยู่คู่กับกรุงเทพฯ มาตั้งแต่ยุคแรกๆของการก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ เดิมถูกเรียกว่า “ทุ่งพระเมรุ” เป็นที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ กระทั่งในปี 2398 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเป็นท้องสนามหลวง เนื่องจากชื่อทุ่งพระเมรุนั้นไม่เป็นมงคล
เดิมสนามหลวงนั้นมีลักษณะเป็นที่ดินแบบทุ่งที่สามารถทำการเกษตรได้ ซึ่งในช่วงที่ไม่มีการจัดพิธีใดๆมักถูกปล่อยให้เป็นพื้นที่รกร้างว่างเปล่า
กระทั่งในสมัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) โปรดเกล้าฯ ให้มีการทำนาหลวง ด้านหนึ่งเพื่อแสดงแก่แขกบ้านแขกเมืองที่มาเยือนว่าแผ่นดินไทย (หรือสยาม)นั้น อุดมสมบูรณ์ มีไร่นามากมายแม้แต่ในบริเวณใกล้กับพระบรมมหาราชวัง และอีกด้านหนึ่งยังเป็นการเตรียมความพร้อมด้านเสบียงอาหารอันเป็นปัจจัยสำคัญของบ้านเมืองด้วย
สนามหลวงถูกปรับปรุงจากพื้นที่ที่ใช้ผสมผสานกันระหว่างพื้นที่จัดงานพิธีกับพื้นที่การเกษตร เป็นพื้นที่สำหรับจัดงานพิธีหรือกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะ เกิดขึ้นครั้งแรกในสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) โปรดเกล้าฯ ให้ปรับปรุงพื้นที่ให้มีความราบเรียบ และขยายพื้นที่ให้กว้างขวางขึ้น โดยในปี 2425 สนามหลวงถูกใช้เป็นสถานที่จัดงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 100 ปี
ในปี 2440 เมื่อ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ กลับจากประพาสยุโรป สโมสรน้ำเค็มศึกษา สมาคมของข้าราชการและนักเรียนที่เคยไปทำงาน ศึกษา หรือเดินทางไปยุโรป ได้ร่วมกับเจ้าของคอกม้าต่างๆ จัดแข่งม้าเทียมรถขึ้น เพื่อเป็นการต้อนรับและถวายความจงรักภักดี โดยปรับปรุงพื้นที่ท้องสนามหลวงให้กลายเป็นสนามแข่งม้าชั่วคราว
หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองจากจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในปี 2475 สนามหลวงยังคงเป็นพื้นที่ศูนย์กลางของการจัดกิจกรรมสำคัญของประเทศไทย (หรือสยาม) เรื่อยมา อาทิ งานฉลองรัฐธรรมนูญ ครั้งแรกที่สนามหลวง จัดขึ้นในวันที่ 10 ธ.ค. 2475 ซึ่งเป็นวันที่ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับทางการเป็นฉบับแรก ภายในงานมีการออกร้านขายสินค้าของหน่วยงานราชการและห้างร้านเอกชน มีการแสดงมหรสพ เช่น โขน ลิเก ละคร งิ้ว ภาพยนตร์ ประกวดนางสาวสยาม ประกวดเรียงความ และประกวดประณีตศิลปกรรม
จุดประสงค์สำคัญของงานฉลองรัฐธรรมนูญ จัดขึ้นเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รู้จัก เทิดทูน และเข้าใจความหมายของรัฐธรรมนูญและหลัก 6 ประการ ดังนั้นการออกร้านแสดงสินค้าในงานฉลองรัฐธรรมนูญ ห้างร้านต่างๆ จะต้องจัดซุ้มอาคารภายใต้แนวคิดเพื่อการเสริมสร้างความเข้าใจที่ดีต่อรัฐธรรมนูญ สิ่งที่ขาดเสียไม่ได้คือ สัญลักษณ์แทนรัฐธรรมนูญและหลัก 6 ประการ เช่น รัฐธรรมนูญจำลอง เสา 6 เสา ธง 6 ผืน เป็นต้น
สนามหลวงยังเคยถูกใช้เป็น “ตลาดนัด” โดยเริ่มต้นในปี 2491 ตามนโยบายของ จอมพล ป. (แปลก) พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ที่ต้องการฟื้นฟูเศรษฐกิจและการทำมาหากินของประชาชน หลังได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (ปี 2484-2488) ก่อนจะย้ายไปอยู่ที่พระราชอุทยานสราญรมย์ เพราะทางการต้องการใช้พื้นที่สนามหลวง
อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่เวลานั้น กระทรวงการต่างประเทศ ตั้งอยู่ในพระราชวังสราญรมย์ จึงมีเรื่องร้องเรียนจากข้าราชการที่ได้รับผลกระทบ เช่น กลิ่นจากสินค้าต่างๆ ที่นำมาขาย ตลอดจนต้นไม้ยังถูกทำลายจากการจัดการที่ไม่ถูกสุขลักษณะ อาทิ ทิ้งน้ำร้อนหรือน้ำล้างภาชนะใส่ เป็นต้น
แม้ในปี 2500 จะมีการย้ายตลาดออกมาด้านนอก ก็ยังมีการปลูกเพิงจนเกิดภาพที่ไม่สวยงาม ทำให้ในปี 2501 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ตัดสินใจให้ย้ายตลาดกลับมาที่สนามหลวงตามเดิม ต่อมารัฐบาลมีแผนปรับปรุงสนามหลวงให้เป็นสวนสาธารณะสำหรับพักผ่อนหย่อนใจ อีกทั้งต้องเตรียมการจัดงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ในปี 2525 ทำให้ในปี 2521 พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ นายกฯ ขณะนั้น เริ่มแผนการย้ายผู้ค้าจากสนามหลวงไปยังพื้นที่ใหม่ข้างสวนสาธารณะจตุจักร
ช่วงแรกๆ ต้องเผชิญกับการต่อต้านจากผู้ค้าอย่างต่อเนื่อง กระทั่งย้ายได้สำเร็จในดือน ม.ค. 2525 ปิดตำนานตลาดนัดสนามหลวงอย่างเป็นทางการ และเปิดตำนานบทใหม่อย่างตลาดนัดจตุจักร ที่มีชื่อเสียงมาจนถึงปัจจุบัน
หลังงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี เป็นต้นมา สนามหลวงหรือท้องสนามหลวง ถูกใช้จัดกิจกรรมทั้งของภาครัฐและภาคเอกชน เช่น การแข่งขันกีฬาพื้นบ้าน (โดยเฉพาะ “การเล่นว่าว” นั้นเป็นไฮไลท์ประจำงานของทุกปี) การจัดคอนเสิร์ต รวมไปถึงกิจกรรมทางการเมือง ชนิดที่เรียกได้ว่าใครจะชุมนุมประท้วงเรื่องใดต้องมาเริ่มตั้งขบวนกันที่นี่ หรือเมื่อจะมีการเลือกตั้ง ก็มักจะมีการขอตั้งเวทีปราศรัยของพรรคการเมืองเช่นกัน
ส่วนในช่วงที่ไม่มีการจัดงาน สนามหลวงเป็นที่รวมของ “คนจร” ทั้งที่เป็นคนไร้บ้าน (คนเร่ร่อน) และคนจากต่างจังหวัดที่มาทำธุระในกรุงเทพฯ แต่ไม่อยากเสียเงินแพงๆ ไปเช่าโรงแรมนอน ก็สามารถเช่าเสื่อนอนในบริเวณสนามหลวงได้ ไปจนถึง “ผีขนุน” หรือหญิงขายบริการทางเพศ ที่ออกมาหาลูกค้าในยามค่ำคืน
สนามหลวงถูก “ล้อมรั้ว” ในปี 2553 เมื่อทาง กรุงเทพมหานคร (กทม.) ในยุคสมัยของผู้ว่าฯ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ลงมือจัดระเบียบอย่างจริงจัง ตั้งแต่การห้ามนำรถมาจอด ห้ามคนไร้บ้านอยู่อาศัย ส่วนผู้ค้าแผงลอยที่เคยมาอาศัยพื้นที่สนามหลวงค้าขายก็ได้รับคำแนะนำให้ไปหาพื้นที่ค้าขายในบริเวณใกล้เคียง จากนั้นมีการปรับปรุงทัศนียภาพในรูปแบบสวนสาธารณะ ทั้งสนามหญ้า ทางเดิน ม้านั่ง อาคารอำนวยการของเจ้าหน้าที่ กทม. และติดตั้งกล้องวงจรปิด ส่วนรั้วที่ติดตั้งก็เป็นรั้วเหล็กโปร่งที่มีล้อสามารถเลื่อนเข้า-ออกได้ ก่อนจะกลับมาเปิดให้บริการประชาชนในปี 2554 โดยมีเวลาเปิด-ปิดตามปกติ คือ 05.00-22.00 น.
“การล้อมรั้วสนามหลวงโดย กทม. กลายเป็นข้อถกเถียงตลอดมา” ระหว่าง...
“ฝ่ายสนับสนุน” ที่มองว่าเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย เพราะที่ผ่านมาพื้นที่สนามหลวงเต็มไปด้วยสิ่งไม่ดีไม่งามต่อทัศนียภาพและบางครั้งยังก่อความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้สัญจรไป-มา เช่น การรวมตัวมั่วสุมดื่มสุราจนมึนเมา คนไร้บ้าน การขายบริการทางเพศ ประกอบกับพื้นที่ยังชำรุดทรุดโทรมจากผู้ใช้งานทั้งทำการค้าและหลับนอนค้างแรม ทั้งที่สนามหลวงนั้นขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานมาตั้งแต่ปี 2520 แล้ว
“ฝ่ายคัดค้าน” ที่เห็นว่าการล้อมรั้วทำให้ผู้ใช้บริการรถเมล์ลำบาก เช่น พื้นที่ทางเท้าสำหรับยืนรอไม่เพียงพอ อีกทั้งในช่วงที่สนามหลวงปิดทางเข้า-ออก ไม่ว่าด้วยสาเหตุใดก็ตาม ประชาชนที่ต้องการเดินจากป้ายรถเมล์บริเวณตรงข้ามมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) มาที่ป้ายรถเมล์ฝั่งตรงข้ามศาลฎีกา ต้องเดินอ้อมเป็นระยะทางไกลตามเส้นรอบวงของสนามหลวงแทนที่จะเดินตรงข้ามฝั่ง
ขณะที่ประเด็นการจัดระเบียบคนไร้บ้าน ถูกมองว่าเป็นเพียงการย้ายปัญหาจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง เห็นได้จากหลังสนามหลวงถูกล้อมรั้ว คนไร้บ้านจำนวนมากก็พากันไปอยู่อาศัยที่บริเวณสถานีรถไฟหัวลำโพง จึงไม่ใช่การแก้ปัญหาแบบยั่งยืน
ในศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. หนล่าสุดนี้ เมื่อ “วิโรจน์ ก้าวไกล” เปิดประเด็นทวงคืนสนามหลวงขึ้นมา เชื่อได้ว่าข้อถกเถียงข้างต้นคงถูกนำมาพูดถึงกันอีกครั้ง!!!
-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-
บรรยายภาพ
ภาพ 01 : เรือนซุ้มไม้ไผ่ขนาดใหญ่สำหรับจัดงานแสดงให้ผู้คนได้เข้ามาขมสิ่งแปลกๆ จากทั่วแคว้นแดนสยาม ณ ท้องสนามหลวง ในงานสมโภชกรุงครบรอบ 100 ปี พ.ศ. 2425
ที่มา : ห้องสมุดมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช https://library.stou.ac.th/odi/som-pote-rat-ta-na-ko-sin/P03.html
ภาพ 02 : งานฉลองรัฐธรรมนูญ
ที่มา : พิพิธภัณฑ์รัฐสภา https://parliamentmuseum.go.th/ar63-feast.html
ภาพ 03 : ตลาดนัดสนามหลวง
ที่มา : นิตยสารสารคดี https://www.sarakadeelite.com/pic-talks/sanam-luang-in-the-past/
ภาพ 04 : “ว่าว” การละเล่นคู่สนามหลวง
ที่มา : วารสารวัฒนธรรม โดยกระทรวงวัฒนธรรม http://article.culture.go.th/index.php/layouts-modules-positions/3-column-layout-6/259-2021-07-07-16-22-54
ภาพ 05 : MV เพลง “คนขายฝัน” ซึ่งใช้ภาพประกอบจากมหกรรมคอนเสิร์ต “ถูกใจคนไทย ร่วมใจใช้สินค้าถูกกฎหมาย” จัดโดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา จัดขึ้นในปี 2545 ณ ท้องสนามหลวง
ที่มา : ยูทูปช่อง “Sekloso Channel” https://www.youtube.com/watch?v=NijRah2U9HU
ภาพ 06 : “คนจรนอนเสื่อ” หนึ่งในภาพที่ผู้ผ่านไป-มาแถวสนามหลวงยุคหนึ่งต้องเคยพบเห็น
ที่มา : เฟซบุ๊กแฟนเพจ “เครือข่ายคนไร้บ้าน” https://www.facebook.com/Homeless.network59/photos/a.316869538671506/316869502004843
ภาพ 07 : 24 มี.ค. 2565 วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. (ขวาสุด) ยืนอยู่หน้ารั้วเหล็กล้อมสนามหลวง ในการลงพื้นที่สนามหลวง ประกาศนโยบายรื้อรั้วและเปิดให้ประชาชนเข้าไปใช้ประโยชน์ได้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : 'วิโรจน์'บุกสนามหลวง ลั่นจะคืนพื้นที่ให้ปชช. รื้อรั้ว-เปิดทำกิจกรรมทางการเมือง https://www.naewna.com/politic/643525
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี