ชาว ต.โคกสมบูรณ์ จัดงานประเพณีบุญบั้งไฟ ประจำปี 2565 สืบสานขนบธรรมเนียมประเพณีวิถีชีวิตชาวอีสานบุญเดือนหก จุดบั้งไฟบูชาพญาแถน พร้อมกราบสักการะขอพรหลวงปู่บุญธรรม สิ่งศักดิ์คู่บ้าน คู่เมือง เพื่อความเป็นสิริมงคล และขอให้ฝนตกต้องตามฤดูกาลก่อนจะลงทำนาปี
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 5 มิ.ย.65 ที่วัดสระแคนนามล บ้านนามล ต.โคกสมบูรณ์ อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธานเปิดการแสดงดนตรี ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมงานประเพณีบุญบั้งไฟ ประจำปี 2565 ซึ่งองค์การบริหารส่วนตำบลโคกสมบูรณ์ ร่วมผู้นำชุมชน และประชาชนทั้ง 9 หมู่บ้านจัดขึ้น เพื่อสืบสานขนบธรรมเนียมประเพณีบุญเดือนหก หรือบุญบั้งไฟ บูชาพญาแถน พร้อมทั้งนำพุทธศาสนิกชนและประชาชนเข้ากราบสักการะหลวงปู่บุญธรรม สิ่งศักดิ์คู่บ้าน คู่เมืองของชาวตำบลโคกสมบูรณ์ เพื่อความเป็นสิริมงคลและขอให้ฝนตกต้องตามฤดูกาลก่อนจะลงทำนาปี โดยมีนายสุวรรณ ระวิชัย นายก อบต.โคกสมบูรณ์ นายคงเดช เฉิดสถิต สจ.อำเภอกมลาไสย พร้อมด้วยผู้นำหมู่บ้าน ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใกล้เคียง และประชาชนเข้าร่วม
นายสุวรรณ ระวิชัย นายก อบต.โคกสมบูรณ์ อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า งานประเพณีบุญบั้งไฟของตำบลโคกสมบูรณ์เป็นการร่วมกันสืบสานประเพณีบุญเดือนหกตามฮีต 12 ของชาวอีสาน ที่มีการจุดบั้งไฟขึ้นไปบูชาพญาแถนเป็นความเชื่อของชาวอีสาน ซึ่งพื้นที่ตำบลโคกสมบูรณ์เป็นพื้นที่นอกเขตชลประทานต้องรอให้ฝนตกลงมาชาวบ้านถึงจะทำนาได้ การจัดงานบุญบั้งไฟ จึงเป็นกิจกรรมที่ชาวตำบลโคกสมบูรณ์ยึดถือปฏิบัติสืบทอดกันมาทุกปี เพื่อเป็นการส่งสัญญาณขอให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ให้มีน้ำใช้ในการอุปโภค บริโภค และการเกษตร โดยในปีนี้จัดขึ้นในรอบเกือบ 3 ปี เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมามีสถานการณ์โรคโควิด-19 จึงไม่สามารถจัดได้ และในปีนี้นอกจากจะมีขบวนฟ้อนรำ ขบวนแห่บั้งไฟ และการรำบวงสรวงแล้ว ยังมีประชาชนเข้ากราบสักการะหลวงปู่บุญธรรม สิ่งศักดิ์คู่บ้าน คู่เมืองของชาวตำบลโคกสมบูรณ์ เพื่อความเป็นสิริมงคลและขอให้ฝนตกต้องตามฤดูกาลก่อนจะลงทำนาปีอีกด้วย ในส่วนของบั้งไฟที่เป็นไฮไลต์ของงานปีนี้มีบั้งเข้ามาร่วมจุดบูชาทั้งบั้งไฟหมื่น บั้งไฟแสน และบั้งไฟล้านรวมแล้วมากว่า 100 บั้ง
ด้านนายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า สำหรับประเพณีบุญบั้งไฟนอกจากจะเป็นส่งเสริมสนับสนุนและอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามของท้องถิ่นแล้ว ยังเป็นการเสริมสร้างความรักความสามัคคีของคนในชุมชน รวมทั้งเป็นการสร้างความสนุกสนานรื่นเริงของคนในชุมชนให้เกิดความผ่อนคลายก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงการทำนา โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีสถานการณ์โรคโควิด-19 แพร่ระบาดเกิดขึ้น หลายพื้นที่ได้รับผลกระทบไม่สามารถจัดงานได้ ซึ่งในปีนี้กลับมาจัดงานได้อีกครั้ง ถือเป็นการเตรียมความพร้อมจากโรคโควิด-19 เข้าสู่โรคประจำถิ่น และทำให้ประชาชนได้เรียนรู้ปรับตัวในการดำเนินชีวิตอย่างปกติให้ได้.-008
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี