ถ้า “ขจัดความยากจน” ได้มากเท่าไหร่ ฐานแห่งความมั่นคงทางเศรษฐกิจของไทยก็จะทวีความมั่งคั่งและยั่งยืนไปด้วย เราจึงนำเสนอ “รายงานพิเศษ ชุด “เกษตรคนเมืองขจัดความยากจน” (Urban Agriculture to eradicating proverty) ตอน 4 “ขจัดความยากจน” ฐานแห่งเศรษฐกิจไทยที่มั่นคง
ปัญหาความยากจนของแกษตรกรไทย คือ การติดบ่วงหนี้สินภาคครัวเรือน และ ลามเข้าไปในหนี้เกษตรกร เมื่อเวลาที่เกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศ สนใจจะลงทุนด้านเทคโนโลยีการเกษตร ก็ปรากฏว่า ต้องชะงักด้วยเงินทุนที่มีอยู่ในมืออย่างจำกัด ไม่สามารถลงทุนด้านปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ (AI : Artificial Intelligence) ในพื้นที่การเกษตรได้ เพราะการลงทุนด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีต่างๆ มีต้นทุนอย่างน้อยจำนวนหลายหมื่นบาทเป็นเงินลงทุนเริ่มต้นด้านฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์ โดยทางออกระยะสั้น ที่พอทำได้ก่อนเพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงเทคโนโลยีด้านการเกษตรอย่างทั่วถึง ภาครัฐอาจจะต้องตั้งงบประมาณเพื่อสนับสนุน (SUBSIDIZE) ให้เกษตรกร เช่น ถ้าเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ ที่เอื้อต่อภาคเกษตรมีค่าลงทุน 50,000 บาท ภาครัฐอาจจะต้องซับซิไดซ์ให้เหลือต้นทุนเพียง 10,000 บาทต้นๆ ซึ่งการซับซิไดซ์นี้ ไม่ใช่เป็นการกู้เงิน หรือ สำรองจ่ายให้เกษตรกร แต่ต้องเป็นการซับซิไดซ์ในรูปแบบการลงทุนระยะสั้น เพื่อผลระยะยาวที่จะตามมาในอนาคต เปรียบเสมือนเป็นการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา เพื่อลดความเหลื่อมล้ำที่สะสมมาอย่างยาวนาน
ตัวอย่าง “จีน” ใช้เงินลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาจำนวนมาก ในช่วงที่เข้าสู่แผนการเดินหน้า “ขจัดความยากจน” ในประเทศ โดย “จีน” เรียกปรากฎการณ์ช่วงที่ต้องลงทุนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำนี้ว่า “ปรากฎการณ์ปฏิกิริยาหน้าผา”
หนังสือ “คำสำคัญเพื่อเข้าใจประเทศจีน” ฉบับขจัดความยากจนอย่างตรงจุด ตีพิมพ์โดยกรมกิจการและจำหน่ายหนังสือภาษาต่างประเทศแห่งประเทศจีน (CIPC), สถาบันวิจัยประเทศจีนและโลกร่วมสมัย (ACCWS), สถาบันวิจัยการแปลแห่งประเทศจีน (CATL) และ ศูนย์วิจัย “หนี่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ไทย-จีน (CTC) ระบุว่า ในภาคปฏิบัติของยุทธการขจัดความยากจน ผู้บริหารในบางพื้นที่มีการยกระดับค่าชี้วัดมาตรฐานในการช่วยเหลือผู้ยากจนขึ้นไป ไม่ว่าจะมีความจงใจหรือไม่จงใจก็ตาม
สำหรับค่ามาตรฐานชี้วัดการตรวจสอบผลดำเนินงานที่ตั้งขึ้นโดยผู้บริหารท้องถิ่น สูงกว่ามาตรฐาน “2 หมดห่วง 3 หลักประกัน” อย่างชัดเจน การปฏิบัติเช่นนี้ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำอย่างมากด้านการดูแล เอาใจใส่ระหว่างครัวเรือนผู้ยากจนกับครัวเรือนที่ไม่ยากจน จนก่อเกิด “ปรากฎการณ์ปฏิกิริยาหน้าผา”
ในหนังสือนี้ยังระบุว่า บางพื้นที่ถึงกับก่อหนี้เปล่าๆ เพื่อขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ชนบทที่ยากจน บางหมู่บ้านยากจนทุ่มงบก้อนโตถึงครั้งละ 10-20 ล้านหยวนจีน ก่อให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างหมู่บ้านยากจนกับหมู่บ้านไม่ยากจน ที่เรียกว่า “ปรากฏการณ์ปฎิกิริยาหน้าผา”
สำหรับปัญหาต่างๆเหล่านี้ในปี ค.ศ.2018 คณะกรรมการกลางของพรรคฯ และ รัฐบาลได้ประกาศใช้บทบัญญัติ “ความเห็นและข้อชี้แนะจากคณะกรรมการกลางของพรรคและสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการคว้าชัยชนะในยุทธการขจัดความยากจน” ซึ่งมีข้อกำหนดอย่างชัดเจนคือ การขับเคลื่อนยุทธการขจัดความยากจนนั้น ต้องประมาณตนก่อนแล้วค่อยดำเนินการ ไม่ควรจะลดระดับค่าชี้วัด และไม่ควรเพิ่มระดับมาตรฐานค่าชี้วัดโดยพลการ ซึ่งก่อให้เกิดเป้าหมายที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง พึงหลีกเลี่ยงการตกลงไปใน “หลุมพรางรัฐสวัสดิการ” ป้องกัน “โรคแทรกซ้อน” ที่เกิดจากความเหลื่อมล้ำระหว่างการปฏิบัติดูแลหมู่บ้านที่ยากจนกับหมู่บ้านที่ไม่ยากจน หรือการดูแลครัวเรือนยากจนกับครัวเรือนไม่ยากจน ซึ่งเรียกว่า “ปรากฏการณ์ปฏิกิริยาหน้าผา”
สำหรับในประเทศไทยนั้น มีกำแพงที่แน่นหนาในการจะต้องทุบออกไปเพื่อ “ขจัดความยากจน” นั่นคือ ปัญหาคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย ซึ่งมีการคอร์รัปชั่นในทุกหย่อมหญ้า ทำให้แม้ว่าจะมีแผนนโยบายแห่งชาติด้านต่างๆดีเพียงใด แต่ยังสามารถทำได้ยาก เพราะปัญหาคอร์รัปชั่นที่สะสมมาอย่างยาวนาน โดยหากงบประมาณที่จะลดความเหลื่อมล้ำไปสู่เกษตรกรไทยเกิดขึ้นจริง แต่เม็ดเงินจริงจะไปถึงมือเกษตรกรเต็มเม็ดเต็มหน่วย รวมไปถึงการทำให้เกษตรกรเข้าถึงเม็ดเงินลงทุนด้านนวัตกรรมการเกษตรอย่างทั่วถึง และ เป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือไม่ นี่คือกำแพงอันสำคัญที่ทำให้ “การขจัดความยากจน” ในไทยยังเป็นเพียงนามธรรม และ ยังไม่สามารถเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมได้
เพราะปัจจุบัน “ภาคเอกชนไทย” เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ก็พบว่า “ภาคเอกชน” ต้องแบกภาระอย่างหนักในค่าใช้จ่ายรอบด้านอย่างมีนัยยะสำคัญต่อการคอร์รัปชั่น และ การคอร์รัปชั่นส่งผลทุกองคาพยพ โดยเฉพาะด้าน “การขจัดความยากจน” เพื่อมีเป้าหมายให้ฐานรากทางเศรษฐกิจของไทยเกิดความมั่นคง และ เชื่อมโยงกับการทำให้ประชาชนทั่วประเทศเข้าถึง “เกษตรคนเมือง” ซึ่งเป็นการกระทำที่มีผลในทุกมิติแบบ 360 องศา ทั้งในมิติทางด้านสังคม, เศรษฐกิจ, อาชญากรรม, ศาสนาและวัฒนธรรม และ ฯลฯ
จากข้อมูลของวิกิพีเดียระบุว่า ในปี พ.ศ. 2558 มีเกษตรกรไทย จำนวน 25.07 ล้านคนคิดเป็นร้อยละ 38.14 ของประชากรทั้งประเทศ ส่วนเศรษฐกิจไทยเป็นเศรษฐกิจกำลังพัฒนาแบบผสมและเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ และ เมื่อปี 2561 มีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศในรูปตัวเงิน (ราคาตลาด) เป็นอันดับที่ 25 ของโลก มีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศที่ความเท่าเทียมกันของอำนาจซื้อ (พีพีพี) เป็นอันดับที่ 20 ของโลก นับว่าใหญ่สุดเป็นอันดับสองของอาเซียน มีอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 1.1%
สำหรับภาคอุตสาหกรรมและบริการเป็นภาคหลักในผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของไทย โดยภาคอุตสาหกรรมเป็นสัดส่วน 39.2% ของจีดีพี ภาคเกษตรกรรมเป็นสัดส่วน 8.4% ของจีดีพี น้อยกว่าภาคการขนส่งและการค้า ตลอดจนการสื่อสาร ซึ่งเป็นสัดส่วน 13.4% และ 9.8% ของจีดีพีตามลำดับ ภาคก่อสร้างและเหมืองแร่เป็นสัดส่วน 4.3% ของจีดีพี ภาคอื่น (ซึ่งรวมภาคการเงิน การศึกษา โรงแรมและร้านอาหาร) เป็นสัดส่วน 24.9% ของจีดีพี โทรคมนาคมและการค้าบริการกำลังกำเนิดเป็นศูนย์กลางการขยายอุตสาหกรรมและการแข่งขันทางเศรษฐกิจ
ส่วนเมื่อ 14 ปีที่แล้ว หรือ ในปี 2551 ประเทศไทยส่งข้าวออกคิดเป็นประมาณ 33% ของการค้าข้าวทั่วโลก และ ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกยางรายใหญ่ที่สุดของโลก และเป็นผู้ส่งออกอาหารรายใหญ่อันดับ 5 ของโลก โดยในปี พ.ศ. 2560 ประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออกเป็นอันดับที่ 21 ของโลก และมีมูลค่าการนำเข้าเป็นอันดับที่ 25 ของโลก ซึ่งประเทศคู่ค้าหลัก ได้แก่ ประเทศจีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ออสเตรเลีย ฮ่องกง และ เกาหลีใต้
ตัวเลขเหล่านี้มีความเคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลงตลอด โดยเฉพาะหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และ ปัจจัยด้านราคาพลังงานทั่วโลกที่มีความเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่สูงขึ้น แต่ท่ามกลางวิกฤตการณ์เหล่านี้ประเทศไทยยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ด้วยรากฐานความเป็น “เมืองเกษตรกรรม” ซึ่งเสมือนเป็นแหล่งมั่นคงทางอาหาร รวมทั้งการดำเนินชีวิตของผู้คนที่น้อมนำแนวทางปรัชญา “เศรษฐกิจ” พอเพียงมาใช้ในวงกว้างมากขึ้น
แต่ประเทศไทยก็ยังต้องพบกับกำแพงอันหนาแน่นที่ก่อตัวอย่างสะสมมานาน นั่นคือ ปัญหาคอร์รัปชั่น ซึ่งหากทุบกำแพงปัญหาคอร์รัปชั่นลงได้อย่างน้อย 50% ของที่เป็นอยู่ การดำเนินการเพื่อ “ขจัดความยากจน” เพื่อต่อยอดในการสร้างเศรษฐกิจไทยที่มั่นคงก็จะมีความเป็นรูปธรรม สามารถจับต้องได้ และ ลดความเหลื่อมล้ำของผู้คนในสังคมซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรกรรม
ขอบคุณข้อมูล
https://th.wikipedia.org/wiki/
หนังสือ “คำสำคัญ เพื่อเข้าใจในประเทศจีน” ฉบับขจัดความยากจนอย่างตรงจุด