โคราชเดือดปะทุชาวบ้าน 3 ตำบล อ.สูงเนิน ฮือประท้วงต้องการตอม่อรถไฟรางคู่ ไม่เอาคันดิน “เตรียมบุกฟ้อง ลุงตู่ ที่หน้าย่าโม” ชี้ทำวิถีชีวิตเปลี่ยนกระทบเศรษฐกิจชุมชนแบ่งเมืองเป็น 2 ฝั่ง แกนนำลั่นกระทบหลายด้านกับวิถีชีวิตประชาชน ล่าสุดน้ำท่วมใหญ่บ้านเรือนและพื้นที่นาเสียหายยับ วอนเจ้ากระทรวงเห็นใจชาวบ้านที่เดือดร้อนจากเมกะโปรเจครัฐบาล
7 กุมภาพันธ์ 2566 ที่หน้าตลาดสดเทศบาลตำบลกุดจิก อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา ได้มีพี่น้องประชาชนพ่อค้าแม่ค้าชาวบ้านผู้ประกอบการ นักเรียนจาก 2 โรงเรียน กำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงกว่า 200 คน
นำโดย น.ส.จันทินา อัครปรีดี ตัวแทนราษฏรผู้ได้รับผลกระทบ ได้รวมตัวกันเรียกร้องถึงความเดือดร้อนพร้อมถือป้ายประท้วงบริเวณคันดิน 3 จุด ประกอบด้วยคันดินบริเวนใต้ถนนวงแหวนทางเลี่ยงเมืองนครราชสีมา , ที่คันดินหน้าอุโมงค์ทางลอดรถจักรยายนต์ หน้าโรงเรียน และหน้าตลาดสด
ถือป้ายข้อความว่า พวกไม่เอาคันดิน , เราไม่เอาคันดิน เราจะเอาตอม่อ , พวกเราชาวตำบลกุดจิก ตำบลโค้งยาง ตำบลนากลาง ไม่เอาคันดอิน ยกระดับเท่านั้น , ความฉิบหายกำลังมาเยือน มันสะเทือนทั้งตำบล เป็นต้น พร้อมทั้งชูมือตะโกนคำว่า พวกเราไม่เอาคันดิน พวกเราจะเอาตอม่อ เป็นระยะๆ
นอกจากนี้ยังได้ขึ้นไปยืนประท้วงกันบนรางรถไฟด้วย โดยมีเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการก่อสร้างขัยรถคอยสังเกตุการณ์การชุมนุมอย่างใกล้ชิด โดยมีนายวัธวุฒิ คลาดสูงเนิน นายก อบต.กุดจิก พร้อมเจ้าหน้าที่ได้ร่วมชุมนุมเรียกร้องให้หยุดดำเนินการก่อสร้างโครงการดังกล่าว เนื่องจากพี่น้องประชาชนชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน โดยในครั้งนี้ได้มีผู้แทนศูนย์ดำรงธรรมได้เชิญตัวแทนบริษัทฯที่ดำเนินการก่อสร้างโครงการดังกล่าวเข้าชี้แจงข้อเท็จจริงกับประชาชน
น.ส.จันทินา อัครปรีดี ตัวแทนราษฎรผู้ได้รับผลกระทบ เปิดเผยว่า จากกรณีที่การรถไฟแห่งประเทศไทยมีการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงช่วง กุดจิก-โคกกรวด ตัดผ่านพื้นที่ตำบลกุดจิก โดยการก่อสร้างเป็นคันทางรถไฟระดับดินทั้งหมด เป็นระยะทาง 9.5 กิโลเมตร ซึ่งผู้รับเหมาคือบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ได้เข้าพื้นที่และเริ่มดำเนินการก่อสร้างมาตั้งแต่เดือน พ.ค.2564 ปรากฏว่าการก่อสร้างดังกล่าวได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำรงชีวิตของชุมชน
ทั้งเรื่องปัญหาน้ำท่วมหนักบ้านเรือนราษฏร และพื้นที่ทางการเกษตรของชาวบ้านได้รับความเสียหาย เนื่องจากการก่อสร้างคันดินของโครงการดังกล่าวส่งผลให้การระบายน้ำล่าช้า ในด้านเศรษฐกิจจะทำให้วิถีชีวิตของประชาชนในชุมชนตำบลกุดจิกต้องเปลี่ยนไป เพราะทางรถไฟระดับคันดินจะแบ่งชุมชนออกเป็นสองฝั่ง ยากต่อการพัฒนาความเจริญ ระดับคุณภาพชีวิตลดลง เพิ่มระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการ ส่งผลทำให้เศรษฐกิจค้าขายภายในชุมชนตกต่ำ
ขณะเดียวกันการก่อสร้างทางระดับคันดินยังทำให้เส้นทางคมนาคมในเขตชุมชนหลายจุดเปลี่ยนแปลงจากเดิม พื้นผิวจราจรคับแคบ และจุดสะพานกลับรถที่อยู่ระยะไกลทำให้การติดต่อสัมพันธ์ระหว่างผู้คนสองฝั่งทางรถไฟเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพิ่มระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง นอกจากนี้ในชุมชนบ้านกุดจิกยังมีโรงเรียนระดับประถม มัธยม ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก รวม 4 แห่งคือ โรงเรียนบ้านกุดจิก(รัชชุศิริอนุกูล), โรงเรียนกุดจิกวิทยา, โรงเรียนบ้านสลักใด, ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลกุดจิก ที่ตั้งอยู่ทั้งสองฝั่งทางรถไฟ
เมื่อมีการก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงตัดผ่าน โดยการก่อสร้างแบบถมคันดินและสะพานทางข้ามที่สูง ทำให้ทางรถไฟสายดังกล่าวแยกชุมชนออกเป็น 2 ฝั่ง ซึ่งส่งผลกระทบด้านการศึกษา เช่น ผู้ปกครอง และเด็กนักเรียนที่เดินทางสัญจร ส่งบุตรหลานไปโรงเรียน ส่วนใหญ่จะเป็นเด็ก สตรี และผู้สูงอายุ ทำให้ได้รับความลำบาก เส้นทางการเดินทางสัญจรเปลี่ยนแปลงไป
น.ส.จันทินา กล่าวอีกว่า ปัญหาดังกล่าวนี้เกิดจากการทำประชาพิจารณ์ที่ไม่โปร่งใส หน่วยงานรัฐไม่ได้เผยแผ่ข้อมูลข่าวสารของโครงการให้กับประชาชนทราบเท่าที่ควร และชาวบ้านทั้งหมดไม่เคยได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ประชุมหารือ รวมถึงการทำประชาพิจารณ์ อีกทั้งการรถไฟแห่งประเทศไทย ก็ไม่เคยแจ้งถึงรูปแบบของการก่อสร้าง สำรวจความคิดเห็น หรือรับฟังความเห็นของประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง
ด้านนายวัธวุฒิ คลาดสูงเนิน นายก อบต.กุดจิก หนึ่งในแกนนำ กล่าวว่า พวกเราได้รวบรวมรายชื่อชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบที่เกิดจากการก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูง โดยมีความประสงค์ คือ 1. ขอให้การรถไฟแห่งประเทศไทยระงับการดำเนินการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง สัญญาที่ 3-4 ช่วงกุดจิก-โคกกรวด เป็นระยะทาง 9.5 กิโลเมตร และขอคืนพื้นที่ถนนเดิมให้แก่ประชาชน 2. ขอให้ดำเนินการปรับเปลี่ยนรูปแบบการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงระดับดิน เป็นยกเสาสูง (ตอม่อ) เท่านั้น หากหน่วยงานภาครัฐยังนิ่งเฉยเราจะมีการยกระดับการเรียกร้องต่อไป
ขณะที่ที่ห้องประชุมสำนักงานเทศบาลตำบลกุดจิก อ.สูงเนินฯ ดร.ภัทรพล บัญชาจารุรัตน์ นายกเทศมนตรีตำบลกุดจิก ได้เปิดพื้นที่สาธารณะในการร่วมหาทางออกกับปัญหาก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา และรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ กรณีรูปแบบการก่อสร้างจากคันดินเป็นการยกระดับแบบตอม่อ และชี้แจงความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างดังกล่าว
โดยมีนายกฤษณธร เลิศสำโรง นายอำเภอสูงเนิน พร้อมด้วย ปลัดอาวุโสอำเภอสูงเนิน ปลัดอำเภอสูงเนิน นายสุวัฒน์ กันภูมิ หัวหน้าแผนกบริหารงานทั่วไป การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนครราชสีมา , นายวัธวุฒิ คลาดสูงเนิน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลกุดจิก ชาวบ้านกุดจิก ชาวตำบลโค้งยาง
ดร.ภัทรพล บัญชาจารุรัตน์ นายกเทศมนตรีตำบลกุดจิก กล่าวว่าก่อนหน้านี้ที่ปรึกษาโครงการไม่ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงในระหว่างประชาพิจารณ์โครงการมีส่วนร่วมทั้งหมด เมื่อทราบรูปแบบที่ชัดเจนเป็นคันดินปิดเมือง เหมือนถูกปิดกั้นความเจริญ กลายเป็นอ่างกระทะขนาดใหญ่รองรับมวลน้ำที่เกิดปัญหาน้ำท่วม ซึ่งคันดินสูงประมาณ 2 เมตร เปรียบเสมือนกำแพงกั้นไม่ตอบโจทย์ความสะดวก ความปลอดภัย เสมือนการแบ่งแยกชาวบ้านที่อยู่สองข้างทางรถไฟออกจากกัน ส่งผลต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่ผ่านมาพวกเราได้ตระเวนยื่นหนังสือร้องเรียนทุกหน่วยงาน รอเพียงผู้ใหญ่พิจารณาช่วยเหลือเป็นรูปธรรม ล่าสุด ได้ยื่นหนังสือขอคุ้มครองจากศาลปกครอง ระงับการก่อสร้างชั่วคราว
“ขอให้เป็นทางรถไฟยกระดับแบบตอม่อ ไม่เอาคันดิน และขอให้เร่งปรับปรุงถนน เพราะผลกระทบจากการก่อสร้าง ทำให้น้ำท่วมไร่นาชาวกุดจิก เดือดร้อน ปัญหาฝุ่น ถนนพัง”
ด้านนายสุวัฒน์ กันภูมิ หัวหน้าแผนกบริหารงานทั่วไป การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า ที่ประชุมวันนี้ก็จะส่งเข้าสู่กระบวนการ ใครพูดอะไร ต้องการอะไร ก็จะนําไปสู่ที่ประชุมจะได้หารือร่วมกัน ในเรื่องการก่อสร้างตามความเป็นจริง และความเป็นจริงในอนาคต ซึ่งทางพวกผมไม่ขัดข้องอะไร เพียงแต่วันนี้ต้องยอมรับ ท่านนายกฯ กุดจิก ช่วยเหลือชาวบ้านอย่างเต็มที่ ถ้าทางศาลไม่ให้การคุ้มครองชั่วคราวก็คงจะระงับไม่ได้ แต่ถ้าศาลให้คุ้มครองชั่วคราวก็จะเป็นไปตามที่ผมเสนอไป
“เราต้องยอมรับตามกติกาของประเทศ ไม่งั้นสังคมก็จะเกิดความวุยวาย ผมทําหน้าที่ในฐานะเจ้าหน้าที่คนหนึ่ง ซึ่งได้มาควบคุมงานก่อสร้างตามสัญญาที่เซ็นจากการรถไฟ บริษัทควบคุมการก่อสร้างที่ปรึกษามาควบคุมตามการรถไฟ ทุกคนทำตามหน้าที่ พวกผมก็ทําตามหน้าที่ ท่านนายกฯก็ทําตามหน้าที่ ท่านนายอําเภอก็ทําหน้าที่ พี่น้องประชาชนก็ทำตามหน้าที่ ทุกคนทำตามหน้าที่มาช่วยกันระดมความคิด วันนี้แล้วออกมาเป็นบันทึกที่ประชุม แล้วเราก็นำมาเป็นข้อสรุปกันอีกครั้ง”
ด้านตัวแทนศูนย์ดำรงธรรม จังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่าประโยชน์ของโครงการเป็นสิ่งที่ดี แต่เมื่อการก่อสร้างมีผลกระทบต่อชุมชนต่อชาวบ้านทางจังหวัดก็รับเรื่องมาประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมหาทางออกในการแก้ไขปัญหา ซึ่งขบวนการนี้ ล่าสุด อยู่ระหว่างยื่นศาลปกครองคุ้มครองชั่วคราว
นอกจากนี้ แกนนำชาวบ้านได้ฝากหนังสือร้องเรียนผ่านตัวแทนศูนย์ดำรงธรรม จังหวัดนครราชสีมา ถึงนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม , พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ ประธานคณะกรรมาธิการคมนาคม วุฒิสภา , นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ฯลฯ ขอให้ผู้มีอำนาจพิจารณาทบทวนปรับรูปแบบการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา และรถไฟทางคู่ ช่วงตำบลกุดจิก จากคันดินเป็นตอม่อ และสะท้อนความเดือดร้อนหากทางรถไฟยังทำเป็นคันดิน
ทั้งนี้ น.ส.จันทินา อัครปรีดี ตัวแทนราษฎรผู้ได้รับผลกระทบ พร้อมด้วยพี่น้องประชาชนชาวบ้านในพื้นที่ 3 ตำบลได้ทราบข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีกำหนดกาณณ์จะลงพื้นที่ จ.นครราชสีมา ในวันที่ 18 ก.พ. 2566 นี้ ที่จะเดินทางไปกรามสักการะอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ชาวบ้านเตรียมที่จะเดินทางรอที่หน้าอุสาวรีย์ท้าวสุรนารี เพื่อไปยื่นหนังสือขอให้พิจารณาทบทวนปรับรูปแบบการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา และรถไฟทางคู่ ช่วงตำบลกุดจิก จากคันดินเป็นตอม่อ และสะท้อนความเดือดร้อนหากทางรถไฟยังทำเป็นคันดิน.012
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี