วันอังคาร ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2568
แนวหน้า
  • แนวหน้า
  • หน้าแรก
  • คอลัมน์
    • คอลัมน์วันนี้
    • คอลัมน์ออนไลน์
    • คอลัมน์การเมือง
    • คอลัมน์ลงมือสู้โกง
    • โลกธุรกิจ
    • ผู้หญิง
    • บันเทิง
    • Like สาระ
    • ดูทั้งหมด
  • ข่าวเด่น
  • พระราชสำนัก
  • การเมือง
  • โลกธุรกิจ
  • อาชญากรรม
  • กทม.
  • ในประเทศ
  • เกษตร
  • ต่างประเทศ
  • กีฬา
  • ผู้หญิง
  • บันเทิง
  • ยานยนต์
  • Like สาระ
หน้าแรก / ข่าว Like สาระ
สกู๊ปแนวหน้า : ดึงทุกฝ่ายเปิดใจพูดคุยรู้จักกัน  ทางออกปัญหา‘หาบเร่แผงลอย’

สกู๊ปแนวหน้า : ดึงทุกฝ่ายเปิดใจพูดคุยรู้จักกัน ทางออกปัญหา‘หาบเร่แผงลอย’

วันอาทิตย์ ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566, 06.00 น.
Tag : สกู๊ปแนวหน้า
  •  

“ผมได้ยินเขาบอกว่า ประเทศสิงคโปร์พื้นที่ทั้งหมดเป็นของรัฐ รัฐสามารถทำอะไรก็ได้ จะจัดระเบียบแบบไหนก็ได้ จะสร้างอะไรก็ได้ แต่กรุงเทพฯ เป็นของเอกชน ถ้าเป็นของเอกชนรัฐก็ไม่สามารถบังคับเอกชนได้ว่าถ้าให้เข้าไปอยู่ในพื้นที่ของตลาดเอกชนแล้วบังคับว่าคุณจะจ่ายค่าเช่าถูกๆ ได้ ถ้าหากตลาดเขามีมูลค่า ตลาดเขาดี เขาก็ต้องเพิ่มค่าเช่า ที่บอกว่าคนขายของเล็กๆ น้อยๆ ไม่สามารถจะเข้าได้ อันนี้เป็นข้อเท็จจริง”

เสียงสะท้อนจาก เรวัตร ชอบธรรม ประธานเครือข่ายแผงลอยไทยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ในวงเสวนา “อยู่หรือไปหาบเร่แผงลอยไทย ใครกำหนด?” เมื่อช่วงกลางสัปดาห์นี้ มองนโยบายจากเบื้องบนที่ไม่ตอบโจทย์ชีวิตจริงที่เบื้องล่าง เมื่อผู้มีอำนาจไม่เข้าใจความแตกต่างระหว่างไทยกับสิงคโปร์ในแง่สิทธิการครอบครองและใช้ประโยชน์ที่ดิน จึงเป็นข้อจำกัดหากไทยจะเลียนแบบจัดระบียบหาบเร่แผงลอยแบบสิงคโปร์


ซึ่งบนเวทีนั้น ดร.กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์ อาจารย์ภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เล่าถึงงานวิจัยที่เคยสอบถามผู้ซื้ออาหารแผงลอย (และแม้บางคนในกลุ่มนี้จะไม่ชอบแผงลอยก็ตาม) ว่า เหตุผลที่ซื้อคือมีอาหารให้เลือกหลายอย่าง สะดวกและราคาเข้าถึงได้กลับกันหากสร้างอาคารสูงขึ้นมา ร้านอาหารในอาคารจานละ 70-80 บาท คนทำงานหากจบ ป.ตรี เงินเดือนราว 18,000-20,000 บาท ถามว่าจ่ายบ่อยๆ ไหวหรือไม่

และต้องไม่ลืมด้วยว่า คนที่ทำงานในกรุงเทพมหานคร (กทม.) ส่วนใหญ่มาจากต่างจังหวัด หรือก็คือร้อยละ 70 ของคนที่ทำงานใน กทม. เป็นคนย้ายถิ่นมาจากที่อื่น ซึ่งก็ต้องมาเช่าที่พักใน กทม. นอกจากนั้นยังมีค่าเดินทาง ตนเคยสำรวจพบว่าคนคนหนึ่งมีค่าอาหาร 180 บาทต่อวันและราคานี้เป็นการกินแบบประหยัดค่าเดินทาง 3,000 บาทต่อดือน ลองคิดต่อไปว่าเงินเดือน 2 หมื่นบาท บริษัทไทยให้ได้ประมาณนี้ จะพอเหลือเก็บออมหรือไม่

“การจัดระเบียบผมก็บอกว่าโจทย์กลับมาที่ กทม. จัดระเบียบไม่ใช่ไปเตะเขาออกจากพื้นที่ ซึ่งก็ไม่ถูกอีก คือต้องมานั่งดูว่าสมมุติมันมีประโยชน์กับพื้นที่ของคนในบริเวณนั้นอยู่ ก็ต้องกลับมาดูอีกว่าจะทำอย่างไรได้ไหม? เราเอารถเข็นเป็นศูนย์กลางได้ไหม? เช่น มาออกแบบรถเข็นไม่ให้มันกินพื้นที่ทางเท้าเยอะ จัดอะไรก็ว่าไปซึ่งผมคิดว่ามันมีแนวทางการจัดการที่มากกว่าที่มามองว่าเอาเขาออกอย่างเดียว” ดร.กฤษฎา กล่าว

รศ.ดร.อมร กฤษณพันธุ์ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า หาบเร่แผงลอยเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจนอกระบบ (Informal Sector) ซึ่งไปเชื่อมโยงกับความเหลื่อมล้ำ ไม่ใช่เฉพาะผู้ค้าแต่รวมถึงผู้ซื้อด้วยซึ่งอาจไม่มีเงินมากพอจะจับจ่ายในห้างสรรพสินค้า นอกจากนั้น หากมองคำว่าพื้นที่สาธารณะ จะพบว่าพื้นที่เดียวกันการใช้ประโยชน์ยังแตกต่างกันไปตามช่วงเวลา เช้า-กลางวัน-เย็น

และในเชิงของผังเมือง พื้นที่สาธารณะหากประชาชนเข้าไปใช้อย่างหลากหลายก็จะอยู่ได้ไม่รกร้าง ไม่ใช่ทำเพื่อสวยแค่ให้ถ่ายรูปได้ และการมีคนอยู่พลุกพล่านและสามัคคีกัน คนเหล่านี้ยังช่วยเป็นหูเป็นตาได้แม้บริเวณนั้นจะไม่มีกล้องวงจรปิด (CCTV) เลยก็ตาม ซึ่งพื้นที่สาธารณะของเมืองควรจะเข้าถึงได้ทุกคน ไม่ใช่จะเป็นห้างอย่างเดียวแล้วไม่มองคนรายได้ไม่สูงพอจะจ่ายได้

“อาจจะต้องมาเรียงลำดับ (Priority) ความสำคัญ ในช่วงเวลาและสถานที่ (Timing & Space) ช่วงนั้นอะไรมันสำคัญ
เขาอาจจะไม่ได้ขายตลอด 24 ชั่วโมง หรือรุกล้ำทั้งหมด อีกอันคือเรื่องของผู้มีส่วนได้-เสีย พอมันเปลี่ยนกลไกที่เคยทำให้พื้นที่ตรงนั้นอยู่มันเปลี่ยน พอมันเปลี่ยนรัฐบอกได้ไหมทำไมต้องเปลี่ยน?” รศ.ดร.อมร กล่าว

ผศ.กฤษณะพล วัฒนวันยู อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า เมืองคือที่ที่คนมาอยู่ด้วยกัน จึงมีการทะเลาะเบาะแว้งหรือปะทะกัน แต่ต้องมีพื้นที่ให้คนได้พูดคุยทำความรู้จักและเรียนรู้ร่วมกัน เมืองจึงจะมีชีวิตชีวา
เช่น หากเข้าใจหาบเร่แผงลอยก็จะสามารถออกแบบการจัดระเบียบร่วมกับผู้ค้าได้ซึ่งก็จะดีกับทุกฝ่าย

“ถ้าเราไม่เข้าใจเขา ไม่รู้ว่าเขาเป็นอะไร เขาคือใคร เขาทำอะไร เขามาขายกี่โมง เขาขายเล็ก-ขายใหญ่ ขายอะไรบ้าง ไปเอาของมาจากไหน ขายให้ใคร เราไม่เข้าใจเขาเราออกแบบไปมันก็เป็นเมืองที่ผิดพลาด เป็นเมืองที่ไม่น่าอยู่ มันเหมือนดึงอันนี้ออกแล้วใส่อันนี้เพิ่มแล้วมันจบ ไม่ใช่ เมืองมันมีคนอยู่ก็คือมีชีวิต วิวัฒน์ไป ดี-ไม่ดี อะไรอย่างนี้” ผศ.กฤษณะพล กล่าว

ศ.สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ที่ผ่านมาการแก้ปัญหาของสังคมไทยทำด้วยอำนาจไม่ใช่ด้วยการทำความรู้จักกัน เช่น การยกเลิกจุดผ่อนผัน ถามว่ามีใครรู้บ้างว่าผู้ค้าและครอบครัวจากจุดที่ถูกยกเลิกไปนั้นไปอยู่ที่ไหน มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร แน่นอนไม่มีใครปฏิเสธว่าบ้านเมืองต้องแก้ปัญหาด้วยกฎหมาย แต่การขยายตัวของเมืองไม่ได้ขยายด้วยกฎหมายแต่ด้วยพลังทางเศรษฐกิจและสังคม เช่น ข่าวที่ดินย่านสีลมแพง กรมธนารักษ์ไม่ได้ทำให้ที่ดินแพง เพียงแต่ออกมายืนยันว่าที่ดินตรงนั้นแพงจริง

“หรือต้องเป็นคนรวยเท่านั้นถึงจะมีสิทธิ์ใช้กรุงเทพฯ ได้ อันนี้ก็เป็นคำถามสำหรับบ้านเมืองเรา ที่รู้สึกว่าเราเป็นเจ้าของประเทศร่วมกัน ผมคิดว่าเงื่อนไขแรกคือไม่ยอมทำความรู้จักจริงๆ แต่แก้ปัญหาด้วยเครื่องมือทางนโยบายแบบที่เคยชิน ยิ่งเวลารวมศูนย์อำนาจก็ใช้วิธีรวมศูนย์ เสมือนว่ารวมศูนย์แล้วจะแก้ปัญหา ทุบโต๊ะแล้วจะแก้ปัญหาได้หมด ผมคิดว่าเราสร้างความยากลำบากหรือเคราะห์กรรมให้กับคนไปเท่าไรยังไม่รู้เลย” ศ.สุริชัย กล่าว

รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ในระบบเศรษฐกิจมีความหลากหลาย มีทั้งคนตัวเล็กและตัวใหญ่อยู่ด้วยกัน แต่การปรับตัวนั้นคนตัวเล็กทำได้ยากกว่า เช่น มีข้อจำกัดในการเข้าถึงสินเชื่อหรือขยับขยายกิจการเข้าไปในห้างสรรพสินค้าด้วยตนเอง ดังนั้นหากมองอย่างสร้างสรรค์ก็ควรคิดว่าจะช่วยปรับปรุงพัฒนาคนกลุ่มนี้ได้อย่างไร ซึ่งเมื่อใดก็ตามที่จุดเริ่มต้นในการแข่งขันไม่เท่ากัน ย่อมเป็นหน้าที่ของภาครัฐเข้ามาโอบอุ้มคนเหล่านี้เติบโตขึ้นอย่างสร้างสรรค์และไปต่อได้

“ทำอย่างไรเราจะชวนผู้มีส่วนได้-เสียทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นผู้บริโภคเองที่เขาชอบทานหาบเร่แผงลอย หรือคนที่ไม่สนใจเลยฉันต้องการพื้นที่วิ่งหรือเดินบนฟุตปาธ หรือหาบเร่แผงลอย เอามาคุยกัน เปิดใจที่จะคุยกัน แล้วก็คุยกันในเชิงสร้างสรรค์ว่าเรามีปัญหา เราต้องยอมรับว่าเรามีปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยอย่างมาก แล้วจริงๆ เรายอมรับความหลากหลายบนโลกนี้ขึ้นมาเยอะมาก ไม่ว่าจะความหลากหลายทางเพศ เรื่องสีผิว เรื่องความคิดที่แตกต่าง แล้วทำไมเราไม่เห็นความหลากหลายในแง่ของเศรษฐกิจ” รศ.ดร.กิริยา กล่าว


SCOOP@NAEWNA.COM
 

 

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน

โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น

1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี

3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี

  •  

Breaking News

'รมว.นฤมล'จับมือผู้ประกอบการรับซื้อผลไม้ ย้ำ Fruit Board คุมเข้มสินค้าให้มีมาตรฐาน

ตร.นำตัว'สจ.กอล์ฟ'กับพวกสอบใหม่อีกครั้งหลังให้การวกวน ก่อนส่งฝากขังชั้นศาล

‘ทักษิณ’ยังอยู่! ‘บิ๊กเพื่อไทย’ยันนายใหญ่มีความสุข ไร้กังวลศาลนัดไต่สวน 13 มิ.ย.นี้

‘ชูศักดิ์’บอกอย่าคาดการณ์ล่วงหน้าปม‘ทักษิณ-ฮั้ว สว.’ทำการเมืองถึงทางตัน

Back to Top

ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.naewna.com
webmaster นางสาวอัญชะลี ไพรีรัก
ดูแลรับผิดชอบข่าว/ภาพ/โฆษณา/ข้อมูลอื่นที่เกียวข้องกับเว็บไซต์
กรรมการบริษัทฯ, กรรมการผู้มีอำนาจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าว/ภาพ/ข้อมูลใดๆในเว็บไซต์ทั้งสิ้น

Social Media

  • หน้าแรก |
  • เกี่ยวกับแนวหน้า |
  • โฆษณากับเรา |
  • ร่วมงานกับเรา |
  • ติดต่อแนวหน้า |
  • นโยบายข้อตกลง
Copyright © 2017 Naewna.com All right reserved