27 กุมภาพันธื 2566 อำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ ติดกับ ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) โดยมีแม่น้ำโขงขวางกั้น เป็นเขตแดนธรรมชาติ ระยะทางร่วม 50 กิโลเมตร ด้วย ภาษา วัฒนธรรม ประเพณีที่เหมือนกัน ทำให้ประชาชนทั้ง 2 ประเทศ ข้ามไปมาหาสู่กัน ทั้งค้าขาย ท่องเที่ยว แรงงาน เรียกว่าเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันมาช้านาน
เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว สร้างรายได้เข้าท้องถิ่น จังหวัดอำนาจเจริญ จึงได้มีการจัดงาน ประเพณีแห่ยักษ์คุ ประจำปี พ.ศ. 2566 ขึ้น ในระหว่างวันที่ 3 - 5 มีนาคม พ.ศ. 2566 ณ บริเวณหน้าเทศบาลตำบลชานุมาน อำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ เป็นงานประเพณีแห่ยักษ์ หนึ่งเดียวในโลก
กิจกรรมในงานประกอบด้วย ขบวนแห่ยักษ์คุ การประกวดขบวนแห่ยักษ์และธิดายักษ์ การแสดง แสง สี เสียง ตำนานยักษ์คุชานุมาน หมู่บ้านยักษ์ กิจกรรมพาแลง การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน ศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กิจกรรมปั่นจักรยานชมเมืองเล่าเรื่องชานุมาน การแข่งขันตกปลานานาชาติกลางแม่น้ำโขง ณ บริเวณแก่งหินขัน ตำบลโคกสาร อำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ การประกวดธิดาชานุมาน การประกวดส้มตำลีลา การประกวดเต้นยักษ์คุแด๊นช์ การแสดงศิลปินพื้นบ้านราชินีหมอลำแห่งลำน้ำโขง(คุณแม่อังคนางค์ คุณไชย) การแสดงนักร้องชื่อดัง
นอกจากนี้ ยังมีตลาดโบราณ การออกร้านจำหน่ายสินค้า OTOP ผลิตภัณฑ์ชุมชนของดีเมืองอำนาจเจริญ สินค้าราคาถูก ยักษ์คุแลนด์ เครื่องเล่น สวนสนุก ร้านขายสินค้าโรงงาน และ กิจกรรมอื่นๆอีกมากมาย
สำหรับ ประเพณีแห่ยักษ์คุ ตามตำนานที่เล่าสืบต่อกันมาว่า ณ ริมฝั่งแม่น้ำโขง เขตประเทศ สปป.ลาว ตรงข้ามกับที่ว่าการอำเภอชานุมาน(หลังเก่า) มีปราสาทหิน และมียักษ์ตนหนึ่งมานั่งลงกราบไหว้บริเวณใกล้ฝั่งเขตไทย รอยคุกเข่า และรอยนั่ง ปรากฏเป็นบึงเล็กๆอยู่ ชาวบ้านจึงตั้งชื่อชุมชนว่า บ้านยักษ์คุ “คุ” แปลว่า คุกเข่า
ต่อมา เมื่อ 90 ปีที่ผ่านมา ทางราชการของลาวได้ส่งนักศึกษาเข้ามาศึกษาวิชาการในไทย เมื่อจบกลับประเทศ ในขณะนั้น เป็นเวลาที่ฝรั่งเศสเข้ายึดครองประเทศลาว บุคคลนี้จึงเกิดความไม่ชอบฝรั่งเศส จึงสร้างบ้านเรือนที่บ้านยักษ์คุ และขอพึ่งพระโพธิสมภาร และได้บรรดาศักดิ์เป็น “พระประจญจาตุรงค์ “ และตั้งชื่อชุมชนว่า “เมืองชานุมานมณฑล” ขึ้นตรงต่อ มณฑลอุบลราชธานี
ยักษ์คุเป็นความเชื่อตามตำนานปรัมปราชาวชานุมาน เกี่ยวกับเรื่องทศกัณฐ์ พระลักษณ์ พระราม อัตลักษณ์ท้องถิ่นที่มีอยู่แห่งเดียวในประเทศไทย ยังมีหลักฐานปรากฏบริเวณริมแม่น้ำโขง อำเภอชานุมาน เป็นบ่อน้ำ 3 บ่อ เชื่อว่า เกิดจากการกระทำของยักษ์คุหรือยักษ์อยู่ในท่านั่งคุกเข่า จึงกลายเป็นวัฒนธรรมโดดเด่นของจังหวัดอำนาจเจริญ
จึงขอเชิญชวนนักท่องเที่ยว ร่วมค้นหา และศึกษาประวัติศาสตร์ ตำนานความเป็นมาของยักษ์คุหนึ่งเดียวในโลก ที่ จังหวัดอำนาจเจริญ ในงานประเพณีแห่ยักษ์คุจังหวัดอำนาจเจริญประจำปี 2566 ในระหว่างวันที่ 3 - 5 มีนาคม พ.ศ. 2566 ณ บริเวณหน้าเทศบาลตำบลชานุมาน อำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ จะทำให้ท่านประทับใจไปอีกนาน.012
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี