สตรีอำนาจเจริญ ยิ้ม ทำผลิตภัณฑ์จากผ้าขาวม้า ขาย เงินไหลเข้าชุมชน กระเป๋าตุงถ้วนหน้า
19 มีนาคม 2566 เมื่อเอ่ยถึงผ้าขาวม้า ทุกคนจะนึกถึงผ้าทอมือรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง 80 x 200 เซนติเมตร ฝีมือการทอจะเป็นลวดลายตารางเล็กๆหรือลวดลายตาลายสก๊อต และถือว่า เป็นอาภรณ์สารพันประโยชน์ สำหรับเพศชาย เช่น ใช้นุ่งอาบน้ำ เช็ดตัว คลุมศรีษะกันแดด ทำเปลนอน ผูกเอว เป็นต้น
กลุ่มสตรีชาวนาอำนาจเจริญ จึงได้นำเอาผ้าขาวม้ามาแปรรูป กลายเป็น ผลิตภัณฑ์สินค้า หลากหลายชนิด ออกวางจำหน่าย ด้วยรูปลักษณ์แปลกสวยงาม เด่นสะดุดตา แถมทนทาน อีกต่างหาก จึงเป็นที่ต้องการของผู้นิยมสินค้าพื้นเมือง สินค้าท้องถิ่น เป็นย่างมาก โดยซื้อไปใช้ ไปเป็นของฝาก ของที่ระลึก เงินไหลเข้าชุมชน ใช้สอยไม่ขัดสน มีความสุขถ้วนหน้าอีกด้วย
นางสาว ธนิดา พูนจิตร อายุ 49 ปี อยู่บ้านเลขที่ 100 หมู่ที่ 1 ต.นาแต้ อ.เมืองอำนาจเจริญ จ.อำนาจเจริญ ผู้ก่อตั้ง แบรนด์ นุชบา แปรรูป ผ้าขาวม้า กล่าวว่า เกษตรกรปลูกข้าวได้ผลผลิตไม่เต็มที่ เพราะสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง บางปีฝนไม่ตกตามฤดูกาล จึงอยากให้ชาวนาผู้ปลูกข้าวมีรายได้เสริม จึงได้จัดตั้งกลุ่มผ้าขาวม้า นุชบา แปรรูป OTOP ขึ้น เมื่อปี 2558 โดยเข้าไปส่งเสริมสนับสนุนแม่บ้านชาวนา ทำการผลิตสินค้าจากผ้าขาวม้า
เช่น กระเป๋าหลากหลายชนิด เสื้อผ้า ทำตามใบสั่งลูกค้า เรียกว่า ผลิตภัณฑ์ผ้าขาวม้า ทำขายทุกอย่าง ที่โดดเด่น ก็คือ พวงมาลัยกร ซึ่งที่นี่ ทำจากผ้าขาวม้า ออกมาสวยงาม ทนทาน แปลก สะดุกตา เป็นที่สนใจผู้พบเห็นยิ่งนัก ทำให้ขายดีและโด่งดังมาก เพราะพวงมาลัยกร เมื่อคลี่ออกเป็นผ้าขาวม้า จะใช้ประโยชน์ได้มากมาย ซึ่งจะแตกต่างจาก พวงมาลัย ดอกไม้ ซึ่งไม่กี่วัน เหี่ยวเฉาแห้งไปตามเวลา
ที่ผ่านมา มีใบสั่งทำเข้ามามากกว่าสินค้าอื่น และที่ภาคภูมิใจมากที่สุด เมื่อวันที่ 13 เม.ย.61 วันสงกรานต์ ได้นำ“พวงมาลัยกร ทำจากผ้าขาวม้า” ไปมอบให้กับ พล.เอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และได้รับคำชมเชย ยกย่องว่าเป็นงานฝีมือจากภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่สวยงามมาก และมีการประชาสัมพันธ์ ให้มีการช่วยเหลือส่งเสริมสนับสนุน สินค้าจากกลุ่มแม่บ้าน ให้มีความเข้มแข็งยั่งยืน
นางสาวธนิดา พูนจิตร ผู้ก่อตั้งแบรนด์นุชบา กล่าวว่า ที่นี่ให้การสนับสนุน ส่งเสริมเกษตรกรชาวนาทั้ง 7 อำเภอได้แก่ อ.เมืองอำนาจเจริญ,เสนางคนิคม,ลืออำนาจ,หัวตะพาน,ปทุมราชวศา,ชานุมาน และพนา ด้วยการทอผ้าขาวม้าจากอุปกรณ์ทอผ้าจากภูมิปัญญาชาวบ้าน เริ่มจาก ปลูกต้นฝ้าย กลายเป็นเส้นด้ายและนำมาทอเป็นผ้า โดยใช้กี่ทอผ้า เป็นผ้าเมตร ส่งมาที่กลุ่มฯ ซึ่งภายในที่ทำการกลุ่ม จะแบ่งการทำงานเป็นแผนก
เช่น ออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ทันสมัยหรือทำตามใบสั่งลูกค้า, ตัดเย็บ,คัดเลือกและตรวจสอบสินค้าก่อนจะส่งให้ลูกค้าหรือนำไปวางจำหน่ายตามศูนย์จำหน่ายสินค้าสำคัญๆ ในพื้นที่และต่างจังหวัด ราคาเริ่มต้นที่ 15 บาทขึ้นไป โดยเฉพาะ ช่วง โควิด 19 ระบาด หน้ากากอนามัยทำจากผ้าขาวม้า ด้วยรูปแบบ ลวดลาย ที่แปลกและทันสมัย ขายดีมาก
นางสาวธนิดา พูนจิตร ผู้ก่อตั้ง นุชบา แปรรูป ผ้าขาวม้า กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการลงพื้นที่ติดตามการทำงานของสมาชิกกลุ่ม ซึ่งส่วนใหญ่ จะเป็นผู้สูงอายุทำการทอผ้าขาวม้าส่งให้กลุ่ม เพราะว่ามีเวลาว่าง ประกอบกับมีความชำนาญเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ที่สำคัญมีใจรัก ที่ต้องการอนุรักษ์งานทอผ้าขาวม้าให้อยู่ยั่งยืน และมีหลายคน บอกสอนลูกหลานให้รู้จักวิธีทอผ้าขาวม้าให้สามารถทำเองได้ ส่วนคนหนุ่มสาววัยแรงงาน จะทำนาปลูกข้าว และมีบางคน ทอผ้าขาวม้าขาย เป็นอาชีพหลัก ส่วนการทำนาปลูกข้าว เป็นอาชีพเสริม พอได้มีข้าวกิน ไม่ต้องไปซื้อข้าวตลาด เพื่อประหยัดเงิน
นางสาวธนิดา พูนจิตร ผู้ทำให้ชาวนาไม่ว่างงาน มีเงินใช้ กล่าวทิ้งท้ายว่า เพียงชั่วระยะเวลาไม่กี่ปี ผลิตภัณฑ์ผ้าขาวม้า แปรรูป ภายใต้ชื่อ นุชบา สร้างชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วประเทศ มีใบสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เงินไหลเข้าชุมชนกว่า 1 ล้านบาท/เดือน ส่งผลให้เศรษฐกิจดี มีความสุขถ้วนหน้าอีกด้วย.012