วันพุธ ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2568
แนวหน้า
  • แนวหน้า
  • หน้าแรก
  • คอลัมน์
    • คอลัมน์วันนี้
    • คอลัมน์ออนไลน์
    • คอลัมน์การเมือง
    • คอลัมน์ลงมือสู้โกง
    • โลกธุรกิจ
    • ผู้หญิง
    • บันเทิง
    • Like สาระ
    • ดูทั้งหมด
  • ข่าวเด่น
  • พระราชสำนัก
  • การเมือง
  • โลกธุรกิจ
  • อาชญากรรม
  • กทม.
  • ในประเทศ
  • เกษตร
  • ต่างประเทศ
  • กีฬา
  • ผู้หญิง
  • บันเทิง
  • ยานยนต์
  • Like สาระ
หน้าแรก / ข่าว Like สาระ
รายงานพิเศษ : ‘สาธารณสุขเมืองหลวง’  หนุน2จุดเพิ่มประสิทธิภาพ

รายงานพิเศษ : ‘สาธารณสุขเมืองหลวง’ หนุน2จุดเพิ่มประสิทธิภาพ

วันอังคาร ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2566, 06.10 น.
Tag : สาธารณสุขเมืองหลวง
  •  

สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล จัดบรรยายพิเศษเรื่อง “อยากเพิ่มประสิทธิภาพงานบริการสาธารณะทางการแพทย์ ผู้บริหารองค์กรควรให้ความสำคัญในเรื่องใด?” เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2566 ที่ผ่านมา ณ สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล (ศาลายา) โดยผู้บรรยายคือ บุรเทพ โชคธนานุกูล นักวิชาการประจำสถาบันฯ ซึ่งมีความสนใจศึกษาด้านการบริหารงานภาครัฐ และจบปริญญาเอกด้านรัฐประศาสนศาสตร์

การบรรยายครั้งนี้สรุปความจากงานวิจัยระดับปริญญาเอก โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก เรื่อง “อิทธิพลของประสิทธิภาพการให้บริการสาธารณะที่มีต่อปัจจัยพฤติกรรมองค์การของบุคลากรทางการแพทย์ สำนักการแพทย์กรุงเทพมหานคร” ตีพิมพ์ในวารสารการจัดการสมัยใหม่ ปีที่ 20 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2565) เริ่มจากการฉายภาพสภาพสังคมในกรุงเทพฯ ซึ่งการให้บริการทางการแพทย์ในเมืองหลวงแห่งนี้ค่อนข้างวิกฤต


กล่าวคือ “ความเป็นเมืองขยายตัวขึ้น” นอกจากกรุงเทพฯ แล้วยังรวมถึงจังหวัดปริมณฑลรอบข้างด้วย เพราะแหล่งงานขนาดใหญ่อยู่ในย่านนี้ จึงดึงดูดผู้คนจากทั่วประเทศให้อพยพย้ายถิ่นเข้ามาแสวงหาโอกาส นอกจากนั้น “ประเทศไทยยังเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัย” ประชากรวัยเกษียณเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จากปัจจัยทั้ง 2 ส่วนส่งผลให้ “ความต้องการบริการทางการแพทย์เพิ่มสูงขึ้นในขณะที่บุคลากรที่มีจำกัด” เห็นได้จากโรงพยาบาลหลายแห่งมีผู้มารับบริการจำนวนมากจนมีสภาพแออัด หรือบางครั้งก็ต้องจองคิวล่วงหน้าหลายเดือนกว่าจะได้รับการตรวจรักษา

ขณะเดียวกัน “งบประมาณรัฐก็มีจำกัด” นำไปสู่คำถามว่า “แล้วจะใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ไปในด้านใด
จึงจะเกิดประสิทธิภาพการทำงานบริการสาธารณะมากที่สุด?” 
โดยงานวิจัยใช้กลุ่มตัวอย่าง 460 คน
จากบุคลากรทางการแพทย์ 8 วิชาชีพ ใน รพ.สังกัดสำนักการแพทย์ กทม. 9 แห่ง สรุปได้ว่า 
ประสิทธิภาพการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ กทม. ได้รับอิทธิพลจาก “พฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์กร” มากที่สุด ส่วนอันดับ 2 คือ แรงจูงใจบริการสาธารณะ อันดับ 3 ความผูกพันต่อองค์กร และอันดับ 4 ความพึงพอใจในงาน

โดยการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์กร หมายถึงการแสดงออกที่เป็นประโยชน์ต่อองค์กร ไม่หวังผลรางวัล สนับสนุนสังคมและช่วยเหลือเพื่อนร่วมงานรวมถึงมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา อนึ่ง เมื่อวิเคราะห์ตัวชี้วัดย่อย ประกอบด้วย การให้ความช่วยเหลือ การคำนึงถึงผู้อื่น ความอดทนอดกลั้น ความสำนึกต่อหน้าที่ และการให้ความร่วมมือ พบว่า “การให้ความช่วยเหลือ” เป็นตัวชี้วัดที่ส่งผลกับเรื่องนี้มากที่สุด

“การใช้ความช่วยเหลือ ผมอยากจะเริ่มต้นอย่างนี้ ลองนึกดูสภาพปัจจุบัน โรงพยาบาลของรัฐหลายแห่งมีข้อจำกัดเยอะมาก งบประมาณก็จำกัด เวลาทำงานก็จำกัด ยิ่งเฉพาะเรื่องคนมีจำกัดมาก กระบวนการก็ยังติดอยู่ในความเป็นระบบราชการ สิ่งเหล่านี้กระทบต่อประสิทธิภาพการให้บริการประชาชน การช่วยเหลือในหน่วยงานทั้งในระดับของเพื่อนร่วมงาน และระดับผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชา จึงเป็นสิ่งสำคัญ จากการวิจัยพบว่าสิ่งที่คนให้ความสำคัญ เช่น การสอนงาน การถ่ายทอดประสบการณ์ในการทำงานระหว่างรุ่นพี่-รุ่นน้อง ผู้อาวุโส-ผู้เยาว์วัย

สิ่งเหล่านี้จะช่วยทำให้การบริการเกิดประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการให้กำลังใจ การมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา บางครั้งเราไม่สามารถแก้ปัญหาหน้างานในเฉพาะบางวิชาชีพที่มีความแตกต่างกันได้ เพียงแค่พูดให้กำลังใจสนับสนุนในเชิงบวก หรือถ้าเป็นไปได้ ในระดับผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชา ลงมาร่วมรับฟัง-รับรู้ปัญหาหน้างานในเชิงปฏิบัติ เข้าใจและร่วมกันแก้ไขปัญหา สิ่งเหล่านี้คือการให้ความช่วยเหลือ ถึงเป็นประเด็นสำคัญในการทำให้คนมีประสิทธิภาพในการให้บริการทางการแพทย์มากขึ้น” บุรเทพ กล่าว

จากข้อค้นพบข้างต้น การใช้งบประมาณจึงควรนำไปส่งเสริมกิจกรรมเพื่อให้คนในองค์กรเกิดจิตสำนึกที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลกันเป็นข้อแรก เพราะส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานมากที่สุด จากนั้นหากยังมีงบฯ เหลือ “แรงจูงใจบริการสาธารณะ” จึงเป็นข้อต่อมาเพราะเป็นปัจจัยอันดับ 2 ที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน โดยแรงจูงใจบริการสาธารณะ หมายถึง การทำสิ่งที่ดีแก่ผู้อื่น สร้างเสริมสังคมให้อยู่ดีมีสุข ทำงานเพื่อให้คนในสังคมได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญของภาครัฐ เพิ่มคุณค่าในงานและมุ่งมั่นให้บริการสาธารณะ

เมื่อวิเคราะห์ตัวชี้วัดย่อย ประกอบด้วย การเสียสละตนเอง การมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะ การคำนึงถึงผลประโยชน์ของสาธารณะ/การตระหนักต่อหน้าที่พลเมืองที่ดี และความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น พบว่า “การเสียสละตนเอง” เป็นตัวชี้วัดที่ส่งผลกับเรื่องนี้มากที่สุด เช่น คนทำงานในโรงพยาบาลมักไม่มีเวลาพักที่แน่นอนตายตัว อาทิ หากเป็นงานอื่นๆ อาจมีช่วงพักเที่ยง เวลา 12.00-13.00 น. ชัดเจน แต่งานโรงพยาบาลจะดำเนินการต่อเนื่องโดยบุคลากรแบ่งทีมสลับกันไปพัก แม้บุคลากรจะหิวข้าว แต่ลองนึกถึงอารมณ์คนไข้ มารอยื่นบัตรตั้งแต่ 6 โมงเช้า กว่าจะได้บริการ บางคนอาจจะตรวจ 11 โมง เขาก็มีความลำบากในส่วนนี้เหมือนกัน

“ผมเชื่อว่าถ้าวันนี้องค์กรมีเงิน 1 ก้อน และอยากจะลงทุนทำอะไรที่เห็นภาพชัดเจนของพฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีต่อองค์กรในเรื่องการให้ความช่วยเหลือ อันนี้ลงเงินก่อนเป็นอันดับที่ 1 แต่ถ้ายังมีเงินเหลือแล้วทำอีกเรื่องหนึ่งต่อได้
ก็คือมาเสริมแรงจูงใจบริการสาธารณะในเรื่องที่ว่าจะทำอย่างไรให้คนในองค์กรเสียสละตนเอง ไม่มองภาระงานที่ทำแค่เพียงความรับผิดชอบที่มาปฏิบัติตามหน้าที่ แต่ต้องตระหนักรู้ได้ว่าตนเองมีความสำคัญต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของคนอื่นๆ ในสังคม”
 บุรเทพ ระบุ

ในตอนท้ายของการบรรยาย บุรเทพ ฝากข้อคิดว่า 1.หากไม่มีการสนับสนุนที่ถูกจุดจะส่งผลเสียต่อองค์กร หากผู้บริหารองค์กรดำเนินการแบบโยนเงินเข้าไปในทุกกิจกรรม ก็จะเป็นการทำทุกเรื่องแต่ไม่เห็นผลแม้แต่เรื่องเดียว นำไปสู่การสูญเสียกำลังใจของบุคลากรก่อนจะจบลงตามที่ปรากฏเป็นข่าวว่ามีบุคลากรทางการแพทย์ไม่น้อยขอลาออก ทั้งที่อีกมุมหนึ่งคนเหล่านี้ทำงานกันอย่างมุ่งมั่นมาก เห็นได้จากช่วงที่เกิดสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 หลายคนต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อเนื่องยาวนานไม่มีโอกาสกลับบ้านไปพบหน้าครอบครัว

2.การพัฒนาใน 2 ส่วน (การเป็นสมาชิกที่ดีขององค์กร-แรงจูงใจบริการสาธารณะ) ช่วยส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ในองค์กร นำไปสู่การมีส่วนร่วมต่อองค์กร เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ และลดความขัดแย้งภายในองค์กร ซึ่งคำว่า “นวัตกรรม” ไม่จำเป็นต้องนึกถึงสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นเทคโนโลยีไฮเทคล้ำอนาคตเสมอไป แต่อาจเป็นเพียงการค้นพบวิธีการทำให้งานประจำที่ทำอยู่สะดวกรวดเร็วขึ้นก็ได้

“ถ้าหากเราหว่านเงินทำทุกเรื่องแล้วมันสะเปะปะไม่ตรง เราอาจจะต้องมาหาโมเดลบางอย่างที่อาจจะตรงใจกว่าที่ทำทุกๆ เรื่อง” บุรเทพ กล่าวทิ้งท้าย

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน

โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น

1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี

3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี

  •  

Breaking News

ตั้งรางวัลนำจับ 5 หมื่น โจรชิงทองเมืองอุดรธานี 18 วันยังไร้วี่แวว

ระทึก! รถบรรทุกสาร CO2 รั่วไหลพวยพุ่งสีขาวเป็นทางยาว ก่อนขึ้นเขาโทน

หนุ่มป่วยจิตเวชใช้เชือกผูกนิ้วเท้าลั่นไก ใส่หน้าผาตัวเองดับคาเล้าไก่

สกัดยึดยาไอซ์ครึ่งตันมูลค่าพันล้าน เครือข่ายว้าแดง กลางเมืองเชียงราย

Back to Top

ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.naewna.com
webmaster นางสาวอัญชะลี ไพรีรัก
ดูแลรับผิดชอบข่าว/ภาพ/โฆษณา/ข้อมูลอื่นที่เกียวข้องกับเว็บไซต์
กรรมการบริษัทฯ, กรรมการผู้มีอำนาจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าว/ภาพ/ข้อมูลใดๆในเว็บไซต์ทั้งสิ้น

Social Media

  • หน้าแรก |
  • เกี่ยวกับแนวหน้า |
  • โฆษณากับเรา |
  • ร่วมงานกับเรา |
  • ติดต่อแนวหน้า |
  • นโยบายข้อตกลง
Copyright © 2017 Naewna.com All right reserved