การเมืองไทยนับถอยหลังสู่การเลือกตั้งสมาชิก สภาผู้แทนราษฎร (สส.) อย่างเต็มรูปแบบ หลังมีการประกาศยุบสภาไปเมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2566 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ในช่วงก่อนหน้านี้ไม่นานนัก แต่ละพรรคการเมืองก็เริ่มเปิดตัวผู้สมัครของพรรคทั้งแบบบัญชีรายชื่อและแบบแบ่งเขต เดินสายปราศรัยแนะนำตัวและหาเสียงกันไปบ้างแล้ว รวมถึงส่งตัวแทนไปร่วมเวทีที่หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม จัดขึ้นเพื่อให้พรรคการเมืองได้ประกาศมุมมองต่อหลากหลายประเด็น ไม่ว่าการเมือง เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ฯลฯ
ย้อนไปเมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 16 มี.ค. 2566 ที่ผ่านมา มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ องค์กรภาคประชาสังคม (NGO) ที่รณรงค์เรื่องสิทธิของพนักงานบริการทางเพศ และพนักงานในสถานบันเทิง จัดแถลงข่าว “กฎหมายใหม่สำหรับยุคใหม่ของพนักงานบริการ” โดยมีการเปิดเผยจาก จินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ว่าหลังผ่านกระบวนการระดมความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้-เสียทุกฝ่ายอย่างกว้างขวาง ตลอดทั้งปี 2564-2565
ในที่สุด ร่างกฎหมายใหม่ที่เปลี่ยนสาระสำคัญจากการป้องกันและปราบปราม หรือการกำหนดความผิดทางอาญา มาเป็นการคุ้มครองคนทำงานบริการทางเพศสำเร็จออกมาเป็นรูปเป็นร่างแล้ว หลังจากนี้ก็ต้องรอรัฐมนตรี พม. คนใหม่ และรอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่หลังการเลือกตั้ง เนื่องจากตามขั้นตอนคือต้องให้รัฐมนตรีรับรอง จากนั้นเสนอให้ ครม. รับรอง จึงจะนำไปสู่การพิจารณาในรัฐสภาได้ เบื้องต้นคาดว่าขั้นตอนเหล่านี้จะกลับมาดำเนินการต่อได้ประมาณเดือนสิงหาคม 2566
ปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมาย พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 ซึ่งมีบทลงโทษกรณีชักชวนให้ซื้อบริการทางเพศไม่ว่าของตนเองหรือผู้อื่น อาทิ มาตรา 5 (ว่าด้วยการรบเร้าชักชวนต่อหน้าในสถานที่ต่างๆ มีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท) มาตรา 7 (ว่าด้วยการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ผ่านสื่อหรือช่องทางต่างๆ มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน-2 ปี หรือปรับตั้งแต่ 10,000-40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ) แต่อีกด้านหนึ่ง กฎหมายดังกล่าวก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่านอกจากจะแก้ปัญหาการค้าประเวณีไม่ได้แล้ว ยังเพิ่มปัญหา “ส่วย” เข้ามาอีกเรื่องหนึ่งด้วย
ดังนั้นจึงเป็นที่มาของกิจกรรมต่อเนื่องของมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ “คืนงาน คืนคน เปลี่ยนส่วนเป็นภาษีธุรกิจดีไม่สีเทา” เชิญตัวแทนพรรคการเมืองมาร่วมให้มุมมองเกี่ยวกับแนวคิดแก้ไข (หรือยกเลิก) พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 17 มี.ค. 2566 ที่ผ่านมา โดยคาดหวังว่า เมื่อนักการเมืองมองเห็นปัญหาแล้ว จะเข้าไปผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายเปลี่ยนจากการป้องกันและปราบปรามเป็นการคุ้มครองต่อไป
แทนคุณ จิตต์อิสระ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า “กฎหมาย พ.ร.บ.ปราบปรามการค้าประเวณี ที่ใช้อยู่มีความล้าหลัง ที่เห็นชัดสุดคือ ไม่มีการคุ้มครองสวัสดิการพนักงานบริการ อีกทั้งยังมีช่องโหว่ ให้เจ้าหน้าที่รัฐเรียกรับผลประโยชน์” จึงจำเป็นต้องตรากฎหมายขึ้นใหม่ การขายบริการทางเพศต้องไม่ผิดกฎหมายอีกต่อไป แต่อีกสิ่งสำคัญที่ต้องผลักดันคือการสร้างอาชีพ-เพิ่มทักษะ ให้พนักงานบริการสามารถยืนอยู่ได้ด้วยศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เนื่องจากอาชีพนี้มีระยะเวลาประกอบอาชีพไม่ยาวนาน จึงต้องเพิ่มทักษะอาชีพ เช่น ขยับขึ้นมาเป็นเจ้าของกิจการ เป็นต้น
ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า ทางพรรคยินดีและพร้อมที่จะผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้เช่นกัน เนื่องจากเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์โดยตรง มีพนักงานจำนวนไม่น้อย ถูกหลอก บังคับ ให้ขายบริการเพื่อแลกหนี้หนำซ้ำยังไม่มีสวัสดิการ สังคมยังรังเกียจอีก ไม่เท่านั้น ยังเจอเจ้าหน้าที่ฉ้อฉล มาจับมารีดรับส่วยอีก พวกเขาเหล่านี้ทำได้เพียงยอมจำนน ซึ่งถือว่าน่าสงสารมาก “อีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญคืออยากเห็นการป้องกันไม่ให้พนักงานขายบริการ เมื่อถูกจับ จะถูกบันทึกประวัติความผิดอาญา ตรงนี้ต้องไม่มีอีกต่อไปเพราะหากมีการบันทึกคงประวัติไว้ ก็จะส่งผลต่อการไปประกอบอาชีพอื่น” ถือเป็นการละเมิดสิทธิอย่างร้ายแรง
วรนัยน์ วิณิชกะ พรรคชาติพัฒนากล้า กล่าวว่า สิ่งที่เรียกร้องจะไม่มีวันเกิดขึ้นจริง หากนั่งเขียน พ.ร.บ.และวนไป-มาแบบนี้ ทุกอย่างจะเป็นเหมือนเดิมเพราะวัฒนธรรมทัศนคติชายเป็นใหญ่ “ตราบใดผู้บริการยังผิดกฎหมายอยู่ตราบนั้นรายได้ก็จะยังคงมีมหาศาล ไม่มีบ่อนไหน-อาบอบนวดใดที่ไม่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่” หากยังถูกปกครองโดยคนกลุ่มเดิมก็จะไม่มีกฎหมายอะไรปกป้องคุ้มครองเราได้ ดังนั้น หากพรรคได้เสียงเกิน 250 เสียงในสภาสิ่งที่ทุกคนเรียกร้องจะเป็นความจริง
ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ พรรคก้าวไกล ซึ่งตลอดระยะเวลา 4 ปีในฐานะ สส. ชุดล่าสุด ได้ทำหน้าที่เป็นกรรมาธิการพิจารณาแก้ไข พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 กล่าวว่า เรื่องนี้ยังยืนยันจะผลักดันให้ถึงที่สุดแม้จะมีอุปสรรคก็ตาม “การค้าประเวณีไม่ใช่อาชญากรรม และจำเป็นต้องยกเลิกกฎหมายเดิมที่ล้าหลัง ส่วนกฎหมายใหม่จะครอบคลุมทั้งเรื่องสวัสดิการโดยเฉพาะประกันสังคม สถานบริการต้องมีความปลอดภัย ต้องมีการจัดโซนนิ่ง เพื่อจะได้ไม่รบกวนชาวบ้านในพื้นที่” และขอย้ำว่า กรณีพนักงานขายบริการถูกเบี้ยวค่าตัว ไม่ต้องไปร้องต่อศาลแพ่งจนเสียค่าทนาย เพราะสามารถใช้สิทธิศาลแรงงานในการไต่สวนได้เลย
ชุมาพร แต่งเกลี้ยง พรรคสามัญชน กล่าวว่า สิ่งที่พรรคจะทำคือยกเลิกกฎหมายที่เอาผิดในเรื่องการค้าประเวณี โดยที่ไม่ต้องมีกฎหมายอื่นใดมาพ่วง และต้องไปโฟกัสที่กฎหมายแรงงาน อย่าไปนำเรื่องการค้ามนุษย์เข้ามาเกี่ยวกับการทำงานบริการมันคนละส่วนกัน นอกจากนี้ “ยังต้องมีการทำงานในเชิงเยียวยาด้วย โดย ครม. จะต้องทำข้อมูลถึงจำนวนของพนักงานบริการที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีฉบับเก่า” ต้องยกเลิกความผิดทางอาญาและต้องทำงานยกเลิกเรื่องการตีตรา และส่งเสริมให้พนักงานบริการมีความปลอดภัยในชีวิต
ธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ พรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า หากทางพรรคมีตัวแทนเข้าสู่สภา ขอให้คำมั่นว่าจะช่วยยื่นกฎหมายนี้สู่สภาอย่างแน่นอน และแม้จะไม่มีที่นั่งในสภาก็ยังเดินหน้าต่อ โดยผลักดันผ่านแพลตฟอร์มทางสังคม ขณะที่ รักษ์ชาติ วงศ์อธิชาติ พรรคเพื่อชาติ ให้ความเห็นขยายไปถึง “คลิปวีดีโอ” เช่น แพลตฟอร์ม “โอนลี่แฟนส์ (OnlyFanss)” ซึ่งยังมีความผิดทางอาญาและความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จึงควรแก้ไขนำขึ้นมาให้ถูกกฎหมาย รวมถึง “เซ็กซ์ทอยส์” ก็เช่นกัน เพราะถือเป็นอุปกรณ์บำบัดไม่ได้ก่อให้เกิดอาชญากรรม
สำหรับร่างกฎหมายใหม่นั้นมีชื่อว่า “(ร่าง) พ.ร.บ.คุ้มครองการให้บริการทางเพศ พ.ศ....” คาดว่าจะมีการเผยแพร่ต่อสาธารณะในเร็วๆ นี้ ส่วนจะได้รับการผลักดันจนผ่านออกมาบังคับใช้หรือไม่ คงต้องรอดูการทำหน้าที่ของ สส. ชุดถัดไปหลังการเลือกตั้ง!!!
SCOOP@NAEWNA.COM