อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ เตรียมจัดงานสืบสานประเพณีตีผึ้งร้อยรัง ในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 5 ระหว่างวันที่ 3-5 เม.ย.66 เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมวิถีพื้นถิ่น และเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว คาดจะมีรายได้จากการจำหน่ายน้ำผึ้งเดือน 5 ไม่ต่ำกว่า 3-4 แสนบาท
วันที่ 25 มี.ค.66 นายบุญเต็ม กัลยาพานิช นายอำเภอบ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ เปิดเผยว่า ในช่วงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 5 เม.ย.66 ทางอำเภอบ้านกรวด ร่วมกับ ทต.บึงเจริญ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เตรียมจัดงานสืบสานประเพณีตีผึ้งร้อยรัง 15 ค่ำ เดือน 5 ของหมู่บ้านสายตรีพัฒนา 3 ต.บึงเจริญ อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์
เนื่องจากที่บริเวณต้นไทรใหญ่ขนาด 15 คนโอบ สูงไม่ต่ำกว่า 50 เมตร ที่ยืนต้นเด่นเป็นสง่า ตั้งอยู่ใจกลางหมู่บ้านสายตรี พัฒนา 3 ม.10 ต.บึงเจริญ อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ ได้มีผึ้งหลวงรวมกว่า 100 รัง มาอาศัยทำรังอยู่ตามกิ่งไม้ของต้นไทร จนได้รับการยกย่องให้เป็น แหล่งท่องเที่ยวแบบวิถีธรรมชาติ ที่หาชมได้ยาก และถือเป็นจุดที่ผึ้งมาทำรังอยู่รวมกันมากที่สุด แห่งหนึ่งในประเทศไทยอีกด้วย
ทั้งนี้ ก่อนจะมีการปีนขึ้นไปเก็บน้ำผึ้ง ในวันที่ 5 เม.ย. ช่วงเช้าจะมีการจัดพิธีบวงสรวง “ศาลเจ้าปู่ตา บุญมาร้อยรัง” สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านในพื้นที่ ให้ความเคารพนับถือ เพื่อขอขมาตามความเชื่อที่ได้ล่วงเกินในการปีนขึ้นไปเก็บน้ำผึ้ง เพราะเชื่อว่าท่านคอย ปกปัก รักษา ดูแลต้นไทรใหญ่ และผึ้งร้อยรังแห่งนี้อยู่ ด้วยการรำบวงสรวง
จากนั้น ในช่วงเวลากลางคืนจะเป็นวิธีการปีนขึ้นไปเก็บน้ำผึ้ง จากคนในชุมชนที่มีความชำนาญเป็นอย่างดี โดยจะใช้มีดตัดเอา เฉพาะบริเวณหัวน้ำผึ้ง แล้วปล่อยรังและนางพญาไว้ เพื่อเป็นการอนุรักษ์รังผึ้ง ให้ สามารถกลับมาทำรังได้เหมือนเดิม ก่อนจะนำน้ำผึ้งลงมาด้านล่าง เพื่อกรองเอาเฉพาะหัวน้ำผึ้ง ด้วยผ้าขาวบางแล้วนำบรรจุใส่ขวด ไว้เตรียมจำหน่ายให้กับประชาชนแลบะนักท่องเที่ยวผู้สนใจ ที่ได้มีการจองคิวข้ามปีกันเลยทีเดียว ซึ่งคาดว่าปีนี้น่าจะได้น้ำผึ้งประมาณ 1,500 ขวด และจะสร้างรายได้ให้กับชุมชนไม่ต่ำกว่า 3-4 แสนบาท
ด้านนายมังกร จีนเทา อดีตผู้ใหญ่บ้าน ม.10 หมู่บ้านสายตรี พัฒนา 3 ม.10 ต.บึงเจริญ อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ ผู้ที่นำขึ้นปีนไปเก็บน้ำผึ้ง บอกว่าตั้งแต่เริ่มมีการก่อตั้งหมู่บ้านขึ้นมา ระหว่างปี พ.ศ.2522-2523 พบว่า ได้มีผึ้งหลวงเริ่มเข้ามาอาศัยทำอยู่เบื้องต้นประมาณ 4-5 รัง และปีต่อๆมาก็เริ่มมีผึ้งหลวงเข้ามาทำรังเพิ่มจนมีจำนวนมากถึงกว่า 100 รัง ซึ่งแต่ก่อนชาวบ้านในพื้นที่ต่างคนต่างขึ้นไปเก็บเอาน้ำผึ้ง
ดังนั้น เพื่อเป็นการอนุรักษ์ และรักษาผึ้งหลวงให้คงอยู่กับพื้นที่ต่อไป ทางหมู่บ้านจึงได้ทำการประชาคม เพื่อออกกฎข้อห้ามไว้ ส่วนการขึ้นไปเก็บเอาน้ำผึ้ง ได้ให้มีตัวแทนของหมู่บ้านเป็นผู้ขึ้นปีนไปเก็บเอาน้ำผึ้งเพียงปีละครั้ง เพื่อเป็นการอนุรักษ์ไว้ เพื่อความยั่งยืนตามความเชื่อ ที่ว่าน้ำผึ้งเดือน 5 นั้นเป็นน้ำผึ้ง ที่ดีที่สุดโดยจะทำการปาดเอาเฉพาะหัวน้ำผึ้ง เพื่อที่จะได้ไม่รบกวนตัวผึ้ง และผึ้งก็จะสามารถขยายพันธุ์อยู่ได้อีก จึงทำให้มีผึ้งหลวงมาอาศัยทำรังอยู่จนถึงปัจจุบัน และพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวแบบวิถีธรรมชาติ - 003