“โรคอ้วนมีผลกระทบต่อสภาพของจิตใจ สังคมและสติปัญญาของเด็ก โรคอ้วนในเด็กทำให้เป็นผู้ใหญ่อ้วนได้ถึง 5 เท่า มีความสัมพันธ์กับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง มีการศึกษาพบว่าผู้ป่วยเบาหวาน 31% เคยเป็นเด็กอ้วนมาก่อน และผู้ป่วยความดันโลหิตสูง 22% เคยเป็นเด็กที่มีภาวะอ้วนมาก่อน สุดท้ายเรื่องเด็กอ้วนก็เป็นภาระทางเศรษฐกิจของประเทศไทยด้วย ซึ่งมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดกับโรคอ้วน ใช้ในการดูแลสุขภาพ และในการสูญเสียจากการตายก่อนวัยอันควรของเด็ก ก็คือประมาณ 12,000 ล้านบาท”
ภาสกร สุระผัด นักวิชาการสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กล่าวในการบรรยายหัวข้อ “การขับเคลื่อนนโยบายการควบคุมการตลาดอาหารสำหรับเด็กบนฐานความรู้ (Evidence-based policy)” จัดโดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2566 ถึงปัญหา “โรคอ้วนในเด็ก” ซึ่งสถานการณ์โภชนาการเด็กในกลุ่มประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ประเทศไทยทั้งอยู่ในระดับกลางๆ ไม่ว่าจะเป็นภาวะแคระแกร็น (Stunting) ผอมเกินไป (Wasting) น้ำหนักเกิน (Overweight) และโลหิตจาง (Anaemia)
แต่หากเจาะจงไปที่สถานการณ์โรคอ้วนโดยเฉพาะ “ไทยนั้นติด 1 ใน 3 ของอาเซียนที่มีปัญหาเด็กอ้วนและน้ำหนักเกิน” โดยภาวะน้ำหนักเกินนั้นไทยครองอันดับ 3 ร่วมกับสิงคโปร์ ในขณะที่มาเลเซียอยู่อันดับ 1 และบรูไนตามมาเป็นอันดับ 2 นอกจากนั้นข้อมูลจากคลังข้อมูลสุขภาพ ซึ่งรวบรวมโดยกระทรวงสาธารณสุข (ปรับปรุง ณ วันที่ 28 เม.ย. 2565) พบว่าเด็กไทยมีแนวโน้มอ้วนขึ้นต่อเนื่องในทุกช่วงอายุ
ไล่ตั้งแต่วัย 0-5 ขวบ เพิ่มจาก 8.9 ในปี 2557 เป็นร้อยละ 13.6 ในปี 2565 ขณะที่วัย 6-14 ปี เพิ่มจากร้อยละ 3.6 ในปี 2557 เป็นร้อยละ 10.4 ในปี 2565 ซึ่งแม้จะมีช่วงที่สถิติลดลงบ้างในช่วงปี 2563-2564 แต่ในปี 2565 ก็กลับมาเพิ่มอีกครั้ง ส่วนเยาวชนอายุ15-18 ปี ในปี 2563 อยู่ที่ร้อยละ 18.5 แม้จะลดลงในปี 2564 อยู่ที่ร้อยละ 11.9 แต่ก็เพิ่มขึ้นในปี 2565 มาอยู่ที่ร้อยละ 13.5
ทั้งนี้ ข้อมูลสถิติสาธารณสุข (ฉบับปี 2563) พบว่า โรคมะเร็งจะเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของคนไทย รองลงมาคือโรคหลอดเลือดสมอง อันดับ 3 โรคปอดอักเสบ อันดับ 4 โรคหัวใจขาดเลือด อันดับ 5อุบัติเหตุบนท้องถนน และอันดับ 6 โรคเบาหวาน โดยโรคในอันดับ 1 อันดับ 2 อันดับ 4 และอันดับ 6 นั้นอยู่ในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ซึ่งส่วนใหญ่เชื่อมโยงกับโรคอ้วน
คำถามต่อมาคือ “อะไรทำให้เด็กไทยอ้วน?” ซึ่งด้านหนึ่งก็เป็นเรื่องกรรมพันธุ์ แต่อีกด้านคือปัจจัยอื่นๆ อีกมากมาย เช่น พฤติกรรมการออกกำลังกายหรือกิจกรรมทางกาย พฤติกรรมการบริโภคที่ไม่สมดุลกับการใช้พลังงาน โดยเฉพาะ “การบริโภคอาหารประเภทหวาน-มัน-เค็มมากเกินไป” เช่น ในกรณีของเด็กจะเป็นเรื่องของขนมขบเคี้ยวและน้ำอัดลมหรือเครื่องดื่มรสหวาน โดยมี “สิ่งแวดล้อมคอยกระตุ้นการบริโภค” เช่น การโฆษณา
ทั้งนี้ ผลการสำรวจพบว่า 1 ใน 3 ของเด็กไทยดื่มนมรสหวาน กินขนมขบเคี้ยวและดื่มน้ำอัดลมหรือเครื่องดื่มรสหวานทุกวัน นอกจากนั้น 2 ใน 5 ของเด็กไทย ยังบริโภคอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ด (Fast Food) อย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ อนึ่ง หากนำผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่จำหน่ายในไทยไปเทียบกับเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก (WHO) และเกณฑ์ประเมินเพื่อขอรับรองเครื่องหมายทางเลือกสุขภาพ (Healthier Choice Logo) บนฉลากสินค้า พบว่า มากกว่าร้อยละ 80 ของผลิตภัณฑ์ไม่ผ่านเกณฑ์ หมายถึงมีปริมาณไขมัน น้ำตาลและโซเดียมสูงกว่าเกณฑ์
“แล้วจะแก้ปัญหาภาวะอ้วนในเด็กได้อย่างไร?” หากไปดู “กรอบการดำเนินงานเพื่อยุติภาวะอ้วนในเด็กระดับโลก (Ending Childhood Obesity)” ที่เสนอมาตั้งแต่ปี 2559 จะมี 6 มาตรการคือ 1.ส่งเสริมการบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ 2.ส่งเสริมกิจกรรมทางกาย 3.ดูแลตั้งแต่ระยะก่อนตั้งครรภ์และขณะตั้งครรภ์ 4.ดูแลโภชนาการและกิจกรรมทางกายในวัยเด็กเล็ก 5.การดูแลสุขภาพ โภชนาการ และกิจกรรมทางกายสำหรับเด็กวัยเรียน และ 6.การจัดการควบคุมน้ำหนักสำหรับเด็กและวัยรุ่น
ที่ผ่านมาประเทศไทยดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับการการจัดการโรคอ้วน การส่งเสริมการรอบรู้ อาหารกลางวันส่งเสริมกิจกรรมทางกายในเด็ก ให้เด็กออกกำลังกายในโรงเรียน มีพ.ร.บ.นมผง ออกมาควบคุมการตลาดนมผม มีแนวทางเวชปฏิบัติในการจัดการเด็กอ้วน ดังตัวอย่างของโครงการ “หวานน้อยสั่งได้” ซึ่งมีชาวต่างประเทศมาดูงานแล้วมองว่านี่คือความแตกต่างของไทย ที่เดินเข้าร้านค้าแล้วสั่งเมนูใส่น้ำตาลน้อยได้ แต่ “นโยบายควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่ม” ยังเป็นสิ่งที่ประเทศไทยขาด
“กลยุทธ์ทางการตลาดเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิดต่อการตัดสินใจซื้อและบริโภค ไม่ใช่เฉพาะของเด็กแต่จริงๆ เป็นทุกคนทั่วไปเลยด้วยซ้ำ แต่กลยุทธ์การตลาดปัจจุบันโดยเฉพาะอาหารหวาน-มัน-เค็มสูงๆ มักมุ่งเป้าไปยังเด็ก เพื่อที่จะเพิ่มความชื่นชอบและมีผลต่อการตัดสินใจซื้อของเด็ก เช่นฉลากบรรจุภัณฑ์รูปการ์ตูนต่างๆ รูปดารา การจัดโปรโมชั่นลดแลกแจกแถม ชิงโชคชิงรางวัล การสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ในแหล่งศูนย์รวมเด็ก และการโฆษณาทั้งออนไลน์และออฟไลน์” ภาสกร กล่าว
อีกประเด็นที่ต้องทำความเข้าใจ “ทำไมต้องเน้นปกป้องเฉพาะเด็ก?” เรื่องนี้อธิบายได้ด้วยการศึกษาด้านพัฒนาการตามวัย ซึ่งพบว่า เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ดุลพินิจยังไม่สมบูรณ์ เด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี ไม่มีความสามารถในการตีความเจตนาทางการตลาดที่โน้มน้าวจิตใจ ส่วนวัยรุ่นอายุ 13-18 ปี มักถูกชักจูงจากแบรนด์ของผลิตภัณฑ์และของสมนาคุณ เนื่องจากลักษณะนิสัยหุนหันพลันแล่น ตัดสินใจไว โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นที่มีกำลังซื้อและจ่ายด้วยตนเอง ดังนั้น หากไม่มีการควบคุมการตลาด เด็กก็จะมองการบริโภคอาหารแบบนี้ว่าเป็นเรื่องปกติและเกิดโรคอ้วนขึ้น
เมื่อดูมาตรการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง พบการห้ามโฆษณาอาหารสำหรับเด็กทารก ผลิตภัณฑ์นมต้องใช้นักแสดงที่อายุมากกว่า 3 ปีขึ้นไป การแสดงฉลาก GDA ที่ต้องระบุข้อความ บริโภคแต่น้อยและออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ หรือผลิตภัณฑ์นม ฉลากต้องมีข้อความ ควรกินอาหารหลากหลายครบ 5 หมู่ในสัดส่วนที่เหมาะสมเป็นประจำ เป็นต้น รวมไปถึงการเก็บภาษีน้ำตาล แต่สิ่งที่ควรทำต่อไปคือออกกฎหมายมาเพื่อควบคุมการตลาดโดยเฉพาะกับเด็กและเยาวชนเป็นการเฉพาะ
โดยประโยชน์ที่ได้รับนั้นไล่เป็นทอดๆ ตั้งแต่ 1.เด็กและเยาวชน ลดการพบเห็นการทำการตลาดที่กระตุ้นความอยากบริโภคอาหารหวาน-มัน-เค็ม นำไปสู่การลดการซื้อและการบริโภค ซึ่งหมายถึงลดโอกาสการเป็นโรคอ้วน 2.ภาคอุตสาหกรรม ปรับสูตรผลิตภัณฑ์ให้ดีต่อสุขภาพมากขึ้น 3.ประชาชนทั่วไป มีโอกาสเข้าถึงผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพ และ 4.ภาครัฐ ลดภาระค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคอ้วนรวมถึงลดความสูญเสียก่อนวัยอันควร!!!
SCOOP@NAEWNA.COM