“ทุเรียนไทย” ตลาดยังไปได้ไกล โดยเฉพาะผลทุเรียนสด และ เมื่อวันนี้คณะนักวิจัยได้สามารถคิดค้นเทคโนโลยีที่ทำให้ทุเรียนมีรสชาติอร่อยมากยิ่งขึ้น เนื้อเนียน เป็นเนื้อครีม ทานแล้วไม่สะดุดโดยเฉพาะสำหรับคนที่ชื่นชอบทุเรียนด้วยแล้ว เรียกว่า เมื่อมาพบทุเรียนเนื้อครีม สามารถทานได้คนเดียวต่อหนึ่งลูก จะว่าหนึ่งพลูต่อคนก็ยังน้อยไป เพราะรสชาติที่อร่อยจนแทบหยุดไม่ได้นี่เอง ทำให้ทุเรียนไทยสามารถสู้กับมูซานคิงของมาเลเซียได้ไม่ยาก ซึ่งต้องติดตามอ่านว่าเจ้าของสวนทุเรียนนำเทคโนโลยีอะไรมาใช้ในการพัฒนาและต่อยอดทุเรียนของพวกเขาให้มีรสชาติอร่อยชนะเลิศได้ขนาดนี้
เกษตรกรชาวสวนทุเรียน แห่ชมเทคโนโลยี “รีบอร์น รูท”
“นายเมธา กสินุรักษ์” เจ้าของสวนมองฆูนุง อำเบตง จังหวัดยะลา เล่าให้ฟังว่า ปัจจุบันชาวสวนทุเรียนต้องหันมาให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีการปลูกทุเรียน เพราะจะเป็นจุดเด่นที่จะทำให้ผลผลิตทุเรียนออกมาดี และ สามารถสู้กับมูซานคิงของประเทศมาเลซียได้ ซึ่งปัจจุบันมาเลเซียกำลังประสบปัญหาโรคเต่าเผาในทุเรียน ทำให้ผลทุเรียนฝ่อ และ ไม่อร่อย โดยเป็นโรคที่ตีคู่กับมาโรคไส้ซึมในทุเรียนที่เกิดในไทย แต่ทางสวนมองฆูนุงได้มีการนำเทคโนโลยี “รีบอร์น รูท” (Reborn Root) เข้ามาใช้ในทุเรียนจำนวน 100 ต้น จากที่มีอยู่ 500 ต้น พบว่า สามารถฟันฝ่าโรคในทุเรียนไปได้ และ ให้ดอกถึง 4 ครั้งต่อปี จากเดิมให้ดอก 2 ครั้งต่อปี
ขณะที่นายชวกร เดโชธรรมสถิต เจ้าของสวนยายช่วยห้วยตาชุ้น อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี ได้เดินหน้ารวมกลุ่มกันทำ “กลุ่มทุเรียนอร่อย” เพื่อสร้างศูนย์รวมความรู้ด้านเทคโนโลยีการปลูก และ เพื่อต่อยอดในช่องทางการจำหน่ายทุเรียนทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยมีแผนจะเปิดกลุ่มอย่างเป็นทางการในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2566 เช่นเดียวกับเจ้าของสวนทุเรียนทุ่งป่าแดง จังหวัดจันทบุรี เล่าว่า การปลูกทุเรียนทุกวันนี้ยังต้องให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีการปลูกทุเรียน เพื่อให้ผลผลิตมีความอร่อย
เจ้าของสวนทุเรียนทั้ง 3 สวน ยังเป็นลูกศิษย์ของ รศ.ดร.วรภัทร วชิรยากรณ์ ผู้บริหารจัดการ โครงการวิจัย เทคโนโลยี “รีบอร์น รูท” (Reborn Root) หรือ ระบบชักนำรากลอย หรือ ภาษาที่เข้าใจง่ายคือเทคนิคการดึงน้ำที่รากมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการปลูกทุเรียน และ เป็นผู้คิดค้นนวัตกรรมการให้น้ำทุเรียนที่เรียกว่า การดูระบบน้ำขึ้นน้ำลงของธรรมชาติ หรือ Basin Fertigation
รศ.ดร.วรภัทรยังได้พาลูกศิษย์และเกษตรกรกว่า 90 ราย ที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี และ ทั่วประเทศ มาลงพื้นที่สวนทุเรียนไฮเปอร์ ตำบลไม้เค็ด อำเภอเมิง จังหวัดปราจีนบุรี ของนายสุชาติ วงษ์สุเทพ เพื่อเจาะลึกถึงวิธีการนำเทคโนโลยีรีบอร์น รูท และ การใช้ระบบให้น้ำต้นทุเรียนแบบตามวันและเวลา โดยคณะนักวิจัยพบว่าการให้น้ำต้นทุเรียนแบบ Basin Fertigation แบ่งเป็น 3 ช่วงเวลา ได้แก่ ช่วงเช้า เวลา 08.00 น. , ช่วงที่สอง เวลา 11.00-12.00 น. และ ช่วงเวลา 13.00-14.00 น. หลังจากนั้นจะให้เวลาต้นทุเรียนสังเคราะห์แสงในช่วงเวลา 16.00 น. เป็นต้นไป เป็นเวลาราวๆ 6-8 ชั่วโมง ซึ่งเทคนิคการให้น้ำแบบนี้จะทำให้ทุเรียนให้ดอกมากกว่าเดิมหลายเท่า
ตลาดทุเรียนไทย ยังสู้มูซานคิงได้สบายๆ
การนำเทคโนโลยีการปลูกทุเรียนด้วยรีบอร์น รูท และ การให้น้ำแก่ต้นทุเรียนด้วยวิธีการใช้หลักคิดการดูน้ำขึ้นน้ำลงตามวิธีธรรมชาติ ทำให้ผลทุเรียนที่ได้ มีรสชาติอร่อย ไม่เป็นเส้น และ มีความเป็นเนื้อครีม เนื้อเนียน เหนียวนุ่ม โดยลักษณะพิเศษตรงนี้สามารถทำให้ทุเรียนไทยก้าวไปอีกหลายระดับ เมื่อต้องเข้าไปแข่งขันกับมูซานคิงของประเทศมาเลเซีย
รศ.ดร.วรภัทรเล่าอีกว่า ปัจจุบันตลาดต่างประเทศยังนิยมบริโภคทุเรียนไทย และ เมื่อนักวิจัยสามารถพัฒนาคุณภาพทุเรียนให้ดีขึ้น ทุเรียนไทยยิ่งเป็นที่ต้องการ โดยไม่ต้องกลัวการแข่งขันของประเทศเพื่อนบ้าน โดยตอนนี้กำลังมีหลายโครงการที่อยู่ในระหว่างการต่อยอดทุเรียนเนื้อครีมอร่อยที่ได้จากเทคโนโลยีรีบอร์น รูท และ การให้น้ำด้วยระบบเบซิ่นฯ ว่าจะสามารถนำเนื้อทุเรียนเหล่านี้มาแปรรูปบนเส้นทานโครงการทุเรียนอร่อยในรูปแบบใดได้บ้าง โดยมีกระทรวงพาณิชย์เป็นหน่วยงานหลักที่ให้โจทย์กับนักวิจัยมาในขณะนี้
สู้กันที่เทคโนโลยีการปลูก คืนชีพสวนทุเรียนมาแล้วทั่วไทย
เทคโนโลยีรีบอร์น รูท ที่ให้ความสำคัญกับรากของทุเรียน ทำให้ รศ.ดร.วรภัทร หรือ เป็นที่รู้จักกันในแวดวงทุเรียนว่าอาจารย์ไก่นั้น มีความสามารถอย่างมากในการแก้ปัญหาสวนทุเรียน เพราะอาจารย์ไก่สามารถตีโจทย์แตกในเรื่องของปัญหาดินในพื้นที่ต่างๆ อาทิ จังหวัดอุดรธานี และ จังหวัดบึงกาฬ ทางอาจารย์ไก่และคณะทีมวิจัยได้มีการไปเผยแพร่องค์ความรู้เหล่านี้ และ สามารถพลิกฟื้นสภาพดินที่ขาดน้ำแห้ง ไม่สามารถปลูกทุเรียนได้ดี ให้สามารถปลูกทุเรียนได้ และ มีผลผลิตที่สู้กับจังหวัดอื่นได้เช่นกัน รวมไปถึงการปรับสภาพดินให้กับพื้นที่อื่นๆในภาคอิสานให้เหมาะกับการทำเกษตรกรรมต่อไป
“ผมนำเทคโนโลยีรีบอร์น รูท นี้ ไปเผยแพร่ให้กับวัดของหลวงตาแยง วัดป่าภูทอก ซึ่งท่านเมตตาให้นำเทคโนโลยีรีบอร์น รูท เข้าไป ก็พบว่า สามารถพลิกฟื้นสภาพดินได้เป็นอย่างดี” รศ.ดร.วรภัทร เล่าให้ฟังอย่างเป็นกันเอง
เพราะฉะนั้น เรื่องทุเรียนยังมีเรื่องราวที่น่าสนุกติดตามอีกมาก และ เมื่อทุเรียนยังมีความอร่อยจนติดอันดับหนึ่งของผลไม้โลก จนขึ้นชื่อว่าเป็น “ราชาผลไม้” ที่ทั่วโลกนิยมทาน ทำให้การพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีการปลูกทุเรียน เพื่อให้ได้ผลทุเรียนที่อร่อยอย่างไม่หยุดยั้ง ยังคงเดินหน้าต่อไปเรื่อยๆ เพราะทุเรียนไทยยังสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยอย่างต่อเนื่องปีละไม่ต่ำกว่าแสนล้านบาท
ไม่เพียงเท่านั้น สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เปิดเผยว่า ในปี 2564 นั้น มีความต้องการของตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะตลาดจีนยังคงมีต้องการทุเรียนไทยเป็นอันดับหนึ่ง ขณะที่ไทยยังมีความสามารถในการผลิตทุเรียนสดและผลิตภัณฑ์รวมกว่า 761,000 ตัน โดยในสัดส่วนนี้เป็นทุเรียนสดกว่า 731,000 ตัน เรียกว่า ทุเรียนสดยังได้รับความนิยมเป็นอันดับหนึ่งในตลาดแบบยาวๆไป เมื่อเทียบกับสัดส่วนทุเรียนแช่งแข็ง ทุเรียนอบแห้ง และ ทุเรียนกวน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี