“โครงการหลวง” เป็นโครงการส่วนพระองค์ใน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการส่งเสริมการปลูกพืชเมืองหนาวแก่ชาวเขา เพื่อเป็นการหารายได้ทดแทนการปลูกฝิ่น ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2512 ซึ่งปัจจุบันโครงการหลวง อยู่ในพื้นที่ 6 จังหวัด ภาคเหนือ คือ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน พะเยา แม่ฮ่องสอน และตาก มีสถานีวิจัยหลัก 4 สถานี และสถานีส่งเสริมปลูกพืชทดแทนฝิ่น เรียกว่า ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง จำนวน 35 ศูนย์
โดยทาง ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ได้พาพวกเราทีมข่าว “แนวหน้าออนไลน์” เยี่ยมชมโครงการหลวงในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ เพื่อสัมผัสแหล่งที่มาและต้นกำเนิดของผลิตผลที่มีคุณภาพจากสถานที่ต่างๆ เมื่อไปถึง จ.เชียงใหม่ เราก็ตรงไปที่ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่แฮ อ.แม่แจ่ม เพื่อชมสวนลูกพลับ ซึ่งสถานที่แห่งนี้ขึ้นชื่อมากๆ สำหรับการปลูกลูกพลับ เพราะลูกพลับกลายเป็นพืชเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของโครงการหลวงแม่แฮ
“นายศิริชัย แซ่เจียม” หัวหน้าศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่แฮ ได้พาทีมงานเดิมชมและชิมผลของลูกพลับ ซึงพลับเจริญเติบโตและให้ผลผลิตดีในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 800 เมตรขึ้นไป พลับหวานต้องการความหนาวเย็นเพียงพอพื้นที่ต้องมีความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,000 เมตรขึ้นไปพื้นที่แห้งแล้งสามารถปลูกพลับได้ พันธุ์พลับที่ปลูกในประเทศไทยมีหลายพันธุ์ ที่สำคัญได้แก่ พันธุ์ Xichu หรือ P2 เป็นพลับฝาดนำพันธุ์มาจากประเทศไต้หวัน ผลมีรูปทรงเหลี่ยมค่อนข้างแบน ผลผลิตมีคุณภาพดี สีเหลืองสม่ำเสมอทั้งผล หลังจากขจัดความฝาดแล้วเนื้อผลยังรักษาความกรอบได้ดี พันธุ์ Fuyu เป็นพลับหวานนำพันธุ์มาจากหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกกา ผลทรงกลมค่อนข้างแบน มีสีเหลืองพันธุ์ Hyakume เป็นพลับหวาน สีเนื้อไม่คงที่ ดอกที่ผสมเกสรและติดเมล็ดเนื้อจะเป็นสีน้ำตาล รสหวานไม่ฝาด ถ้าไม่ติดเมล็ดเนื้อสีเหลือง ผลพลับจะเก็บเกี่ยวได้ในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน นอกจากรับประทานสดแล้ว พลับสามารถนำไปแปรรูปเป็นพลับแห้งได้ พันธุ์ที่ใช้ทำพลับแห้ง ได้แก่ พันธุ์ P1,P3,P4, chiya,Tarenashi และ Nightingde”
จากนั้นเดินทางไปเยี่ยมชมหัตถกรรมบ้านป่าเกี๊ยะน้อย ในพื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่แฮ เริ่มก่อตั้งปี 2556 โดยมี "นางสาวจินตนา ขจรขจายกิตติ" เป็นประธานกลุ่ม ความถนัดภายในกลุ่ม ทอ ปัก ถัก ย้อมสี และตัดเย็บ ปัจจุบันมีสมาชิก 27 คน ประกอบด้วย เยาวชน สตรี และผู้สูงวัย สร้างแบรนด์ 2 แบรนด์ ได้แก่ แบรนด์ TAPOKI เป็นแบบดั้งเดิม ทอมือ และแบรนด์ Karenchic แบรนด์ร่วมสมัยเป็นการนำเอาผ้าทอในชุมชนแปรรูปเป็นสินค้าร่วมสมัย แต่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ของชนเผ่า สินค้าในปัจจุบันได้แก่ ย่าม ผ้าถุง เสื้อ ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ ผ้าโพกหัว ผ้ารองจาน ผ้าปูโต๊ะ พวงกุญแจ ชุดเสื้อผ้าร่วมสมัย
“ศิรินทร์ทิพย์ ยิ่งสินสัมพันธ์” สมาชิกกลุ่มหัตถกรรมบ้านป่าเกี๊ยะน้อย เล่าให้ฟังว่า “กลุ่มของเราเป็นกลุ่มกะเหรียงปกาเกอะญอ ในชุมชนเป้นพื้นที่เกษตรกรรมของโครงการหลวง และนคิดว่าบางครั้งราคาผลผลิตไม่เพียงพอ จึงมานั่งพูดคุยกันว่าใครมีฝีมือในด้านไหน เพื่อหาราวยได้เสริมให้กับครอบครัว ผลงานส่วนใหญ่ของเราจะทำตามออเดอร์ของกลุ่มลูกค้าเป็นงานแฮนด์เมด โครงการหลวงเข้ามาพัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูงได้ประมาณ 10 ปีแล้ว”
มุ่งหน้าไปต่อกันที่ “สวนกุหลาบหลวง” ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเริง ต.บ้านปง อ.หางดง เป็นแหล่งรวบรวมและเรียนรู้สายพันธุ์กุหลาบ กว่า 200 สายพันธุ์ เช่น Miniature Rose , Midnight Blue Rose , Pink Peach Rose , Bevelry Rose เป็นต้น และสิ่งที่ห้ามพลาดมาที่นี่ต้องมาชิมอาหาร เครื่องดื่ม ที่รังสรรค์จากผลผลิตโครงการหลวงทุ่งเริง อาทิ น้ำผักโครงการหลวงปั่น น้ำกุหลาบ เค้ก เป็นต้น
เมื่อดื่มด่ำกับบรรยากาศในสวนกุหลาบเสร็จ เราก็เดินทางต่อไปยัง “ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวงชนกาธิเบศรดำริ” อ.เมือง เพื่อชมการเพาะเนื้อเยื้อและขยายพันธุ์การผลิตต้นแม่พันธุ์มันเทศปลอดโรคไวรัส ด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ ทำให้สามารถแก้ปัญหาโรคไวรัสในมันเทศ ที่เกิดจากการใช้ยอดพันธุ์จากต้นแม่ซ้ำๆ เป็นเวลานานนอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงพันธุ์พืชด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ เพื่อลดการนำเข้า เก็บรักษา และเพาะขยายพันธุ์พืชพระราชทาน พันธุ์พืชเพื่อการวิจัยและพัฒนาอาชีพเกษตรกร รวมทั้งพันธุ์พืชในการปลูกสร้างป่าในโครงการสวมหมวกให้ดอยของโครงการหลวง
โดยเฉพาะ “เอเดลไวส์” ดอกไม้สายใยรัก จากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีพระราชทานแก่คนไทยโครงการหลวงได้นำไปวิจัย ทดสอบ ขยายพันธุ์ และปลูกเลี้ยง โดยเริ่มดำเนินการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ และพัฒนาสูตรอาหารที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตในสภาพปลอดเชื้อ ที่แผนกเทคโนโลยีชีวภาพทางด้านพืช มูลนิธิโครงการหลวง และต่อยอดขยายผลสู่งานผลิตของสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ ขยายพันธุ์โดยการทดลองผสมเกสรดอกเอเดลไวส์จากในแปลงจนติดเมล็ด ทำให้ได้ต้นพันธุ์ที่มีรากแข็งแรง สามารถปรับตัวให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมได้ดี
และเข้าพักผ่อนกันที่ "โรงแรมราชพฤกษ์เพลช" และรับประทานที่ "ครัวโครงการหลวง" โดยอาหารจานแรกถูกเสิร์ฟโดย "คาเวียร์ ไส้อั่ว ชาสมุนไพรสด น้ำเสาวรส" จานที่2 สลัดอะโวคาโด จานที่ 3 ซุปข้าวโพด จานที่ 4 ข้าวกล้องธัญพืช แกงฮังแลหมู ยำยอดชาเห็ดหอม และจานที่5 อะโวคาโดน้ำกะทิ ทาร์ตฟักทอง คุกกี้กุหลาบ ข้าวแต๋นมาการอง น้ำกุหลาบเลมอน
เช้าอีกวันพร้อมเดินทางไป “โครงการหลวงม่อนเงาะ” เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่มีงานวิจัยและพัฒนา ทำจัดแปลงทดสอบสาธิตในพันธุ์กล้วยไม้ชนิดต่างๆ ที่โดดเด่นไม่ว่าจะเป็น รองเท้านารี ซิมบีเดียม แวนด้า คาลล่าลิลลี่ เป็นต้น จนในปี พ.ศ.2556 ได้เริ่มทำการวิจัยและพัฒนา “วานิลลา” และได้เริ่มทำอย่างจริงจังในปี พ.ศ.2558 วานิลลาเป็นเป็นพืชเครื่องเทศที่ฝักเมื่อบ่มแล้วมีกลิ่นหอม มีถิ่นกำเนิดแถบอเมริกากลางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศแม็กซิโก เป็นพืชที่จัดอยู่ในวงศ์กล้วยไม้ (ORCHIDACEAE) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Vanilla fragrans (Salish) Ames ซึ่งมีมากกว่า 100 ชนิด ที่นิยมปลูกคือ แพลนิโฟเลีย (Planifolia) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ทางการค้าของโลก และวานิลลายังถือเป็นพืชที่มีมูลค่าเป็นอันดับ 2 ของโลก จนได้รับฉายาว่าเป็นทองคำสีเขียวเพราะว่ามูลค่าของวานิลลานั้นจะใกล้เคียงกับราคาของทอ
และสถานที่ที่มาแล้วต้องไปนั้นคือ “ไร่ชาลุงเดช” โดย “นายเดช รังสี” เจ้าของไร่ชาลุงเดช ได้พาเดินชมไร่ชาและสาธิตการเก็บชาให้ดู และเผยเคล็ดลับการเก็บยอดชาที่มีคุณภาพดีนั้น ต้องเก็บยอดที่มี 3 ใบ ถึงจะทำให้ชามีรสชาติที่ดี “โครงการหลวง” เริ่มเข้าส่งเสริมการปลูกชามาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2539 มีเป้าหมายเพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรบนพื้นที่สูง ด้วยการดำเนินงานที่ครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ซึ่งได้แก่ การพัฒนาและส่งเสริมการปลูกชาที่ได้รับรองมาตรฐานทั้ง GAP และเกษตรอินทรีย์ การแปรรูปและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ชา ตลอดจนการจัดการตลาดชาเพื่อสร้างรายได้คืนสู่เกษตรกร
“นายอภิสิทธิ์ อุ่นพินิจ” หัวหน้าศูนย์พัฒนาโครงการหลวงม่อนเงาะ เล่าให้ฟังว่า ผลงานวิจัยที่สำคัญ ได้แก่ การคัดเลือกกลุ่มพันธุ์ชาจีนที่เหมาะสมกับพื้นที่สูง ซึ่งเป็นพันธุ์ที่เกษตรกรปลูกในปัจจุบัน และการพัฒนากระบวนการแปรรูปชาชนิดต่างๆ โดยเฉพาะการพัฒนาการแปรรูปเพื่อแก้ไขปัญหา “ชาอัสสัม” หรือ “ชาป่า” ซึ่งเป็นชาพื้นเมืองที่มีราคาตกต่ำจากการจำหน่ายเป็นเมี่ยงหมัก จากการวิจัยทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ ชาเขียวอัสสัมแบบอบไอน้ำ ที่สามารถสร้างจุดเด่น และความแปลกใหม่ของชาอัสสัมให้มีคุณค่ามากขึ้น ส่งผลให้ผืนป่าได้รับการอนุรักษ์ จากการปลูกชาร่วมกับป่า
“ปัจจุบันโครงการหลวงส่งเสริมเกษตรกรปลูกชาจำนวนกว่า 200 ราย พื้นที่ 680 ไร่ ใน 10 ศูนย์/สถานี ชาของเกษตรกรโครงการหลวงได้ถูกนำมาวิจัยและพัฒนาเพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จำหน่ายหลากหลายประเภทกว่า 5 ชนิด อาทิ ชาขาว ชาเขียว ชาอู่หลง ชาแดง และชาดำ และแปลงชาของลุงเดชก็เป็นแปลงของเกษตรอีกหนึ่งตัวอย่างที่ได้ปลูกชาของโครงการหลวงมาตั้งแต่แรกเริ่ม” หัวหน้าศูนย์พัฒนาโครงการหลวงม่อนเงาะ กล่าว
อย่างไรก็ตาม "งานโครงการหลวง54" จะจัดขึ้นในวันที่ 4-14 สิงหาคม 2566 ชั้น 1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งมีผลผลิต-ผลิตภัณฑ์ และอาหาร จากโครงการหลวงมาวางจำหน่าย อาทิ ข้าวโพดหวานสองสี , คาร์เวียร์ , เมล่อน 4 สายพันธุ์ โดยเฉพาะเมล่อนสีทอง , มะเขือเทศเชอร์รีเหลือง , มะเดื่อฝรั่ง , ชาเขียวอบข้าวกล้องคั่ว , ข้าวกล้องดอยผสมคีนัว , ชาขาวกระป๋อง , Delight Tea Gift set (ชาเขียว ชาแดง ชาอู่หลงก้านอ่อน) , วนิลลา , เอเดลไวส์ กระถาง , เครื่องแต่งกายจากเส้นไยกัญชงผสมฝ้าย สไตล์วัยรุ่น เป็นต้น.-008