มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง จังหวัดราชบุรี ร่วมสืบสานวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่นชุมชนกะเหรี่ยงบ้านคา
เมื่อวันที่ 31 ส.ค.66 ที่ผ่านมา อาจารย์ ดร.ธนภูมิ ชาติดี คณบดีคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง จังหวัดราชบุรี, นางนภสร โศรกศรี วัฒนธรรมจังหวัดราชบุรี, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปรียาพร ทองผุด อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง และนายนพรัตน์ ธนะชัยศรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (นายก อบต.) บ้านคา ได้จัดโครงการพัฒนาศักยภาพของชุมชนท้องถิ่นในการพัฒนาการพึ่งตนเองและการจัดการตนเอง ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายชุมชนที่ศูนย์สืบสานวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่นบ้านบึงเหนือ ต.บ้านคา อ.บ้านคา จ.ราชบุรี มีผู้นำชุมชน และชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงแต่งกายชุดพื้นถิ่นเข้าร่วม
ภายในงานจัดกิจกรรมผูกข้อมือเรียกขวัญ ด้วยด้ายแดงตามประเพณี "อั้งหมี่ถ่อง" หรือประเพณี "กินข้าวห่อ" ของชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง เปิดแหล่งเรียนรู้ วัฒนธรรมชุมชนให้กับศูนย์สืบสานวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่นกะเหรี่ยงบ้านบึงเหนือจำนวน 7 ฐานประกอบด้วยฐานปักผ้าทอมือกะเหรี่ยง ฐานการเรียนรู้การเล่นสะบ้า ฐานการเรียนรู้การเลี้ยงหมูหลุมและแก๊สชีวภาพ ฐานเรียนรู้วัฒนธรรมและประเพณีกะเหรี่ยง ฐานการเรียนรู้จักสาน ฐานการเรียนรู้อาหาร ขนมพื้นบ้าน ฐานการเรียนรู้ปุ๋ยชีวภาพ สาธิตการทำข้าวห่อ สาธิตการทอผ้ากะเหรี่ยง สาธิตการทำอาหารกะเหรี่ยง การแสดงระบำมาทะ (ระบำทอผ้า) ของนักเรียนโรงเรียนบ้านบึง (สันติมโนประชาสรรค์) ชมดนตรีปล่อยแก่บ้านคา ซึ่งกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายชุมชน เพื่อเป็นการศึกษาศักยภาพ อัตลักษณ์ชุมชนตามกรอบของวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่น และภูมิสังคมของชุมชน
เป็นการจัดกิจกรรมสร้างศักยภาพของชุมชน การถอดบทเรียนของชุมชนต้นแบบและสร้างความตระหนักและจิตสำนึกในการรักษา อนุรักษ์ สืบสานวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ในการพึ่งพาตนเอง ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และภาคีเครือข่ายชุมชนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ทำหน้าที่บูรณาการหน่วยงาน ในพื้นที่เศรษฐกิจและสังคมที่มีความครอบคลุมในประเด็นต่าง ๆ ตามความต้องการของชุมชน
หลังจากช่วงที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ได้เข้ามาร่วมทำงานกับชุมชน นำนักศึกษาจัดทำข้อมูล วิเคราะห์และถอดบทเรียนหลักสูตรการพึ่งพาตนเอง พัฒนาแหล่งเรียนรู้ ฐานเรียนรู้ ส่วนระยะต่อไปจะเป็นการนำองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น พัฒนาเป็นนวัตกรรมการเรียนรู้ เพื่อเชื่อมโยงถ่ายทอดไปสู่โรงเรียนในพื้นที่ โดยมีศูนย์การเรียนรู้สืบสานวัฒนธรรมภูมิปัญญากะเหรี่ยง กลุ่มสตรีบ้านคา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาราชบุรี เขต 1 สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด อำเภอบ้านคา องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านคา โรงเรียนบ้านบึง (สันติมโนประชาสรรค์)
อาจารย์ ดร.ธนภูมิ ชาติดี คณบดี คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง กล่าวว่า มหาวิทยาลัยฯได้จัดกิจกรรมที่ชุมชนบ้านบึงเหนือครั้งนี้ เพื่อให้ชุมชนได้พึ่งพาอาศัยตนเองเป็นหลัก น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ ก่อให้เกิดประโยชน์กับชุมชนและได้ยกเอาระบบวัฒนธรรมเป็นตัวตั้ง เพื่อให้ชาวบ้านได้ร่วมสืบสาน สืบทอดให้วัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวบ้านได้อยู่ยั่งยืน ส่วนกิจกรรมต่อไปนั้นจะได้นำเอาวัฒนธรรมไปขยายสู่ชุมชนในด้านการศึกษาต่อ โดยเฉพาะการศึกษาภาคบังคับในชั้นประถมศึกษา ซึ่งได้เล็งเห็นว่าวัฒนธรรมเป็นตัวยึดโยงกับวิถีชีวิตชุมชน ดังนั้นจะทำอย่างไรไม่ให้วัฒนธรรมสูญหายไป จึงต้องปลูกฝังเยาวชนรุ่นใหม่ในโรงเรียนต่าง ๆ บริเวณชุมชนแห่งนี้ และจะเตรียมขยายไปอีกหลายพื้นที่ในอนาคตด้วย - 003
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี