“ทานยาครบโดสตามแพทย์สั่ง หมั่นออกกำลังกาย ทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพตัวเอง” นี่คือความคาดหวังเล็กๆ ของบุคลากรทางการแพทย์ ที่มีต่อผู้ป่วยในการให้ร่วมมือรักษาโรค เพื่อให้การรักษานั้นเป็นไปอย่างราบรื่นและลดอันตรายที่เกิดขึ้นจากการรักษาได้ ซึ่งตรงกับแนวคิด “Engaging Patients for Patient Safety” หรือ “การมีส่วนร่วมของผู้ป่วยเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย” เพื่อหวังให้เกิดการมีส่วนร่วมในการสร้างความปลอดภัย และลดข้อผิดพลาดทางการแพทย์ที่มีโอกาสเกิดขึ้น
เนื่องในวันแห่งความปลอดภัยของผู้ป่วยโลก ครั้งที่ 5 (The 5th World Patient Safety Day) และ วันแห่งความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุขของประเทศไทย ครั้งที่ 7 (The 7th Thailand Patient and Personnel Safety Day) เมื่อ 17 กันยายน 2566 ที่สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) (The Healthcare Accreditation Institute) หรือ HA จัดขึ้นพร้อมกับหลายประเทศทั่วโลก ตามประกาศขององค์การอนามัยโลก (WHO)
แพทย์หญิงปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) กล่าวว่า การมีส่วนร่วมในการสร้างความปลอดภัยนั้นไม่เพียงเฉพาะแพทย์บุคลากรสาธารณสุข แต่หมายรวมไปถึงประชาชน ผู้ป่วยและญาติ ซึ่งที่ผ่านมาเราได้ใช้หลักการของ 2P Safety นั่นคือ ผู้ป่วยและบุคลากรปลอดภัย แต่ในครั้งนี้เราพร้อมที่จะขับเคลื่อนก้าวสู่3P Safety ที่เพิ่มในเรื่องของประชาชนทุกคนปลอดภัยเข้ามาด้วย จึงประกาศเป็นนโยบายว่า การขับเคลื่อนเรื่องของ 2P Safety ในระดับโลกมีมาตั้งแต่ ค.ศ. 2002 เรายังคงพบว่าระบบบริการสุขภาพยังคงมีความไม่ปลอดภัยเกิดขึ้นอยู่
หนึ่งในประเด็นสำคัญคือในปี ค.ศ. 2014 ไทยเราได้ขับเคลื่อนเรื่อง Patients for Patient Safety โดย การรับฟังความเห็นจากผู้ป่วย (Share) การสร้างเครือข่าย (Chain) การเพื่อนำมาสู่การพัฒนาระบบบริการสุขภาพให้มีความปลอดภัย (Shape)และรอให้เห็นการเปลี่ยนแปลง (Change) ทำให้ประเทศไทยเรามีกลุ่ม Patients for Patient Safety มีเครือข่ายการทำงานภาคประชาชน มีแกนนำผู้ป่วยโรคต่างๆ ที่มาช่วยกันพัฒนาระบบบริการอย่างมีส่วนร่วม โดยได้มีการวางยุทธศาสตร์สำคัญคือการสร้างความตระหนักรู้ การให้ความรู้สร้างความเข้าใจว่าทุกคนมีความสำคัญต่อระบบบริการสุขภาพอย่างไร การสื่อสารจากผู้ป่วยให้แพทย์ได้ทราบข้อมูลพื้นฐาน รวมทั้งการสร้างความร่วมมือมีการออกแบบคำถาม ที่เหมาะสมในการใช้ถามผู้ป่วย รวมไปถึงการสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้ป่วย ครอบครัว ชุมชน เครือข่ายภาคประชาสังคมต่างๆ
“อย่าลืมถามหมอ และอย่าลืมบอกหมอ ผู้ป่วยสามารถเป็นส่วนหนึ่งที่จะถามแพทย์ได้ว่า เราทานยาอะไร จะเกิดผลอย่างไรมีโรคประจำตัวอะไร แพ้ยาอะไร หรือแม้กระทั่งถามว่า หมอล้างมือหรือยัง ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้เกิดความปลอดภัยในระบบบริการสุขภาพ ยกตัวอย่างเช่น ทำอย่างไรให้ผู้ป่วยเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างความปลอดภัย ง่ายๆ เลยถ้าเราเป็นประชาชนเรารู้ว่าตัวเองแพ้ยาอะไร เรารู้หมู่เลือดของตัวเอง เรารู้โรคประจำตัวของตัวเองซึ่งข้อมูลเหล่านี้แพทย์และพยาบาลต้องซักประวัติอยู่แล้ว แต่มันสามารถทำให้เกิดขึ้นในเชิงระบบได้ แต่หากเราในฐานะผู้ป่วยเป็นผู้ให้ข้อมูลเองตั้งแต่แรก ก็จะมีส่วนช่วยไม่ให้เกิดการแพ้ยาซ้ำ การกินยาผิดพลาด” แพทย์หญิงปิยวรรณ กล่าว
นายแพทย์กิตติ โล่สุวรรณรักษ์
นายเอกวัฒน์ สุวันทโรจน์ ประธานชมรมผู้ป่วยโรคเลือดออกง่ายฮีโมฟีเลียแห่งประเทศไทย กล่าวในฐานะผู้แทนผู้ป่วยและประชาชนว่า เขาป่วยเป็นโรคฮีโมฟีเลีย หรือ โรคเลือดไหลไม่หยุดซึ่งเป็นโรคหายากโรคหนึ่ง เป็นมาตั้งแต่กำเนิด การเกิดมาแล้วมีโรคติดตัวมันเป็นเหมือนโชคชะตา และเคยเกิดคำถามว่าทำไมโรคนี้ถึงเกิดขึ้นกับตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายคนที่ป่วยโรคทางพันธุกรรมคงมีคำถามเช่นเดียวกัน ซึ่งคำถามเหล่านี้อยู่มานานมาก และไม่อยากที่จะยอมรับ จนกระทั่งได้มารู้จัก “Patients Safety”
“ผมรู้เรื่องโรคที่ผมเป็นมากที่สุด ถามอะไรมาผมตอบได้หมด ขนาดหมอที่รักษาตั้งแต่เด็กยังไม่รู้เท่า เพราะเชื่อว่าหมอไม่รู้ความรู้สึกตอนที่เลือดออกในข้อมันเจ็บนั้น เจ็บอย่างไรหมออธิบายไม่ได้ แต่มีคนป่วยโรคเดียวกันเล่ากับผมว่าตอนที่เจ็บเขาอยากจะตัดส่วนนั้นออกไปเลย ซึ่งเป็นอย่างนั้นจริงๆ ความรู้สึกนี้ไม่มีใครเข้าใจ เท่ากับผู้ป่วยด้วยกัน Patients Safety ทำให้เกิดกลุ่มผู้ป่วยขึ้นมา” นายเอกวัฒน์ กล่าวและว่า เมื่อ 40 ปีก่อนพ่อแม่เลี้ยงตนมาโดยไม่รู้ข้อมูลโรคนี้เลย แต่ปัจจุบันเรามีชุดข้อมูล มีองค์ความรู้ที่จะเป็นคู่มือสำคัญในการดูแลผู้ป่วย และค้นพบได้ว่าโรคฮีโมฟีเลียที่เขาบอกจะตายตั้งแต่อายุ 20 ปี ก็สามารถมีอายุยืนได้ ถ้าเราดูแลตัวเอง
นอกจากการสร้างความร่วมมือแล้ว “นวัตกรรม”ก็นับเป็นอีกส่วนสำคัญที่จะช่วยให้เกิดความปลอดภัย โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ระบบบริการสาธารณสุขมีทรัพยากรอย่างจำกัด โดยมีการนำเสนอนวัตกรรมทางการแพทย์ทั้งหมด 10 ผลงานที่ผ่านเข้ารอบจาก 24 นวัตกรรม ที่ผ่านการนำเสนอจากเวที เวทีประชุมวิชาการประจำปี HA National Forum ครั้งที่ 23 โดยมี 3 ผลงานที่ได้รางวัลชนะเลิศใน 3 ประเภท ได้แก่ 1. รางวัล The Best of Care Blood transfusion Safety: Patient Identify โดยโรงพยาบาลสุรินทร์ 2. รางวัล The Best of Change โรคประจำตัวของฉัน โดย โรงพยาบาลค่ายนวมินทราชินี จ.ชลบุรี และ 3. รางวัลThe Best 0f Collaboration and Network ศูนย์ปันสุข ร่วมกับเครือข่าย ดูแลต่อเนื่องทุกกลุ่มวัยใกล้บ้าน ใกล้ใจ โดย โรงพยาบาลคูเมือง จ.บุรีรัมย์
แพทย์หญิงปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ
นายแพทย์กิตติ โล่สุวรรณรักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลคูเมือง จ.บุรีรัมย์ กล่าวถึงนวัตกรรม ศูนย์ปันสุข ร่วมกับเครือข่าย ดูแลต่อเนื่องทุกกลุ่มวัยใกล้บ้าน ใกล้ใจ ว่าจุดเริ่มต้นของการพัฒนา คือ จ.บุรีรัมย์ มีปัญหาคล้ายๆ กับในหลายพื้นที่ คือจำนวนผู้สูงอายุเยอะขึ้น ซึ่งมีเครือข่ายที่ร่วมกันทำงานอยู่แล้ว ได้นำเอากลุ่มประชากรที่อยู่ในความดูแล ที่มีจำนวนมากที่สุดคือกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มาจัดการก่อน ทั้งในรูปแบบ Intermediate Care (IMC), Long-Term Care (LTC) และ Palliative Care (PC) โดยพยายามสรุปภาพออกมาว่า มีกำลังคนและบุคลากรอยู่จุดไหนบ้าง มีโรคอะไรบ้าง เพื่อจัดการทรัพยากรต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม และพบปัญหาว่าการทำงานและข้อมูลไม่เชื่อมโยงกัน
นายแพทย์กิตติ กล่าวต่อว่า เราได้นำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์ ออกแบบ และตั้งเป้าหมายในแต่ละกลุ่มที่เราต้องการ ได้แก่ ด้านผู้ป่วยและผู้รับบริการที่เขาต้องได้ระบบการดูแลต่อเนื่อง ได้ประโยชน์ตามสิทธิ ด้านบุคลากร ที่ต้องช่วยลดภาระงาน ต้องได้เห็นข้อมูล ต้องวิเคราะห์ข้อมูล เยี่ยมบ้านได้ครบตามเกณฑ์ และด้านองค์กรและเครือข่าย ที่ต้องมีข้อมูลการบริการที่จำเป็น สามารถดูแลประชาชนได้ทั่วถึง ลดค่าใช้จ่ายในการดูแล ขยายผลในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มอื่น เกิดเป็น แอปพลิเคชั่น Palliative Pansuk, IMC Pansuk, LTC Pansuk และ LAO Pansuk ที่ทำงานเชื่อมโยงกัน ทำให้สามารถเห็นคนไข้ในทุกมิติ
โดยใช้หลักการที่ผู้ใช้งานผู้ปฏิบัติออกแบบร่วมกันโดยใช้แนวคิด Human Factor Engineering และ Design Thinkingในการออกแบบแอปพลิเคชั่น ออกแบบระบบ วางระบบและทดลองใช้งาน และมีช่องทางให้ผู้ป่วยสามารถรายงานเราได้ และมีการให้ยืนยันการส่งต่อข้อมูลให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตามหลักการ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA)
เอกวัฒน์ สุวันทโรจน์
“จุดเด่นของแอปพลิเคชั่น คือ การใช้สัญลักษณ์เพื่อให้เห็นความแตกต่างชัดเจน แสดงความเร่งด่วนในการติดตามเยี่ยมบ้านตามระดับอาการของผู้ป่วย มีการจัดลำดับ โดยมีทีมสหวิชาชีพร่วมออกแบบข้อมูลที่ต้องการใช้งานในแอปพลิเคชั่น ส่วนทีมโปรแกรมก็พัฒนาตาม ทำให้แอปพลิเคชั่นใช้ง่าย มีการคำนวณให้ มีดักจับการกรอก
ข้อมูลผิดพลาด ขณะที่แอปฯ ของ อปท.จะเน้นไปที่ข้อมูลการเยี่ยมบ้าน อาชีพ รายได้ สวัสดิการ พบว่า สามารถลดการซ้ำซ้อนในการทำงานได้ ผู้ป่วยเข้าถึงบริการได้ง่ายขึ้น” นายแพทย์กิตติ กล่าว
นอกจากนี้ ยังมีนวัตกรรมเพื่อความปลอดภัยผู้ป่วยอีก 7 ผลงานที่ได้รับรางวัล Rising Star ประกอบด้วย 1. NAH SurvivingSepsis โรงพยาบาลค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จ.พิษณุโลก 2. Application Rayong network alert SOS Scorefor sepsis โรงพยาบาลระยอง 3. Smart Central Monitoring(การพัฒนาระบบตรวจสอบและติดตามอุณหภูมิและความชื้นตู้เย็นแช่ยาและเวชภัณฑ์ผ่านระบบ Smart CentralMonitor) โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย 4. EMAR on view chart โรงพยาบาลสุรินทร์5.Smart MED-Admin in IPD โรงพยาบาลค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จ.พิษณุโลก 6. Vachira Phuket PatientIdentification and Care Process Managementโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต 7. Surin In Sight Application“ให้คนไข้อยู่ในสายตาเรา” โรงพยาบาลสุรินทร์
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี