ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวทั่วโลกในหลายแง่มุม หนึ่งในนั้นคือ “แสงสียามราตรี (Nightlife)” การสังสรรค์หลังพระอาทิตย์ตกดิน อาทิ รายงานข่าว 10 hottest party destinations in the world : Thesecities offer the best nightlife and musicfestivals เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2566 โดยสถานีโทรทัศน์ CNBC TV18 ของอินเดีย ระบุว่า เมืองหลวงของไทยอย่างกรุงเทพฯ อยู่ในอันดับ 5 ของโลก เป็นรองเพียงเกาะไอบีซาของสเปน, เมืองริโอ เดอ จาเนโร ของบราซิล, กรุงเบอร์ลินของเยอรมนี และเมืองนิวออร์ลีนส์ สหรัฐอเมริกา
เช่นเดียวกับ ranker.com เว็บไซต์จัดอันดับเรื่องราวต่างๆ รอบโลก ที่เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2552 ในหัวข้อ The Best Countries for Nightlife ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2566 ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 6 ของโลก เป็นรองเพียงสเปน กรีซ เนเธอร์แลนด์ เลบานอนและญี่ปุ่น หรือหากย้อนไปในช่วงที่สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ยังรุนแรง ในช่วงต้นปี 25563-ปลายปี 2564 ซึ่งมีการใช้มาตรการล็อกดาวน์อย่างเข้มข้นเพื่อควบคุมโรค ก็มีรายงานในปี 2564 ว่า มูลค่าความเสียหายของการสั่งปิดสถานบันเทิงนั้นสูงถึงกว่า 1 แสนล้านบาท
ดังนั้นจึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า “แสงสียามราตรีคือหนึ่งในพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจ” นำมาสู่ข้อเรียกร้อง “ขยายเวลาเปิดสถานบันเทิง” ซึ่งเคยมีข้อเสนอนี้มาตั้งแต่ปี 2562 สมัยที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ยังมี พิพัฒน์ รัชกิจประการ เป็นเจ้ากระทรวง โดยย้ำว่า “ขยายเป็นบางพื้นที่เฉพาะย่านท่องเที่ยวไม่ใช่ทุกจังหวัดหรือทั้งจังหวัด” ท่ามกลาง “แรงต้านจากภาคประชาสังคม” ที่มองว่า “รัฐไม่ควรส่งเสริมธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และอบายมุขเพราะจะส่งผลกระทบต่อสังคมแบบได้ไม่คุ้มเสีย” ก่อนที่เรื่องจะเงียบไปหลายปีในช่วงโควิด-19 ระบาด
เมื่อสถานการณ์โรคร้ายคลี่คลายลงมาตรการควบคุมโรคถูกยกเลิก การใช้ชีวิตของคนทั่วไปกลับมาเป็นปกติอีกครั้ง ประเด็นขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงถึงตี 4 ก็ถูกนำกลับมาพูดถึงอีกครั้งทั้งฝ่ายหนุนและค้าน โดยรัฐบาลชุดปัจจุบันภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ได้เปิดเผยเมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2566 ว่า “กรุงเทพฯ-ชลบุรี-เชียงใหม่-ภูเก็ต” จะเป็น 4 จังหวัดนำร่อง
หลังทราบข่าวข้างต้น ผู้สื่อข่าวภูมิภาค ได้ลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็น อาทิ ที่ จ.เชียงใหม่ วมินทร์ (สงวนนามสกุล) ผู้ประกอบการร้านอาหาร มองว่า “การขยายเวลาเปิดเพียงอย่างเดียวยังเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ” เพราะแม้จะเปิด-ปิดสถานบันเทิงได้ถึงตี 4 แต่ก็ยังมีกฎหมายเรื่องของการออกใบอนุญาต ซึ่งเป็นกฎหมายเก่าตั้งแต่ปี 2509 รวมถึงยังมีเรื่องอื่นๆ ที่ต้องแก้ไขไปพร้อมกัน
“การที่ออกกฎให้ปิดตี 4 ได้นั้น ถือว่าเป็นเรื่องดีในภาคธุรกิจและเศรษฐกิจ แต่อยากเสนอให้แก้เรื่องข้อกฎหมายหลักก่อน คือ การปิดสถานบันเทิงและงดจำหน่ายเครื่องดื่มในวันสำคัญ เหมือนกับประเทศญี่ปุ่นที่เปิดตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งเค้าทำแบบนั้นได้เพราะเค้าเข้มงวดข้อกฎหมาย อย่างเมาแล้วขับ ขณะเดียวกันระบบขนส่งมวลชนจะต้องรองรับหลังเที่ยงคืนขึ้นไปด้วย เพราะต่างจังหวัดขนส่งน้อยและถ้าเรียกแท็กซี่ก็แพงหูฉี่” วมินทร์ กล่าว
เจ้าของร้านอาหารรายนี้ กล่าวต่อไปว่า การนำร่องพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ถือเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะเป็นหนึ่งในเมืองท่องเที่ยวสำคัญของไทย เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจซึ่งไม่ใช่แค่สถานบันเทิง แต่ยังรวมถึงร้านอาหารอย่าง ร้านข้าวต้ม หรือแม้แต่ตลาดกลางคืนก็ได้รับประโยชน์ด้วย แต่ควรแก้กฎหมายเรื่อง ลุกขึ้นเต้น 3(4) ซึ่งก็ทำให้พนักงานได้รายได้ตามรายชั่วโมงเพิ่มขึ้น รวมถึงกฎหมายอื่นๆ ที่เก่าใช้มานาน เพราะหากไม่แก้ก็จะเป็นช่องโหว่ให้เกิดการทุจริตได้
นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่ควรหมั่นตรวจตราเรื่องยาเสพติด อาวุธ รวมถึงขนส่งที่เรียกเก็บนักท่องเที่ยว เพราะแท็กซี่หลายพื้นที่มักจะไม่กดมิเตอร์ แต่ใช้ราคาเหมาแทน ส่วนการเปิดให้แสดงความคิดเห็น ภาครัฐควรคัดกรองผู้ประกอบการเข้าไปนำเสนอความคิดเห็นด้วย เพราะต้องยอมรับว่า คนที่ไม่สนับสนุนส่วนใหญ่เค้าได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจ อย่างเช่น ครอบครัวเกิดอุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับ ดังนั้นควรชี้แจงให้ชัดเจน
“การเปิดปิดสถานบันเทิงก็เพื่อให้ภาคเศรษฐกิจขยายตัว แต่สุดท้ายก็อยู่ที่ผู้บังคับใช้กฎหมายที่จะทำให้กฎหมายเข้มงวดขึ้นและดูศักดิ์สิทธิ์ในสายตาประชาชน และประชาสัมพันธ์ให้นักเที่ยวนักดื่มหันมาใช้รถขนส่งมวลชนกันให้มากขึ้น ควรนำร่องจังหวัดที่นักท่องเที่ยวสูงๆ ก่อน และค่อยขยายไปยังจังหวัดต่างๆ และร้านค้าควรรองรับรถแท็กซี่เพื่อให้เข้ารับลูกค้าภายในร้านของคุณได้ด้วย ซึ่งจะลดอัตราการเมาแล้วขับได้” วมินทร์ ระบุ
ขณะที่ จ.ชลบุรี สถานที่ตั้งของเมืองท่องเที่ยวระดับโลกอย่าง “พัทยา” ซึ่ง นายกสมาคมนักธุรกิจและการท่องเที่ยวเมืองพัทยา บุญอนันต์ พัฒนสิน ให้ความเห็นว่า การขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงถึงตี 4 ด้านหนึ่งเป็นนโยบายที่ดี สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจและภาคการท่องเที่ยวอย่างชัดเจน แต่อีกด้านก็ต้องมีการควบคุมสถานบันเทิงแต่ละประเภทให้ชัดเจน รวมถึงบางพื้นที่เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยประชาชนก็ต้องการพักผ่อน นโยบายควรชัดเจนเพื่อให้เกิดความสมดุลได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย
“ส่วนใหญ่สถานบันเทิงในเมืองพัทยา อยู่ในช่วงถนนวอล์กกิ้งสตรีท และถนนพัทยาใต้ ส่วนผับเปิดหรือผับโอเพ่น ควรจะมีการควบคุมเสียง ซึ่งในปัจจุบันก็อยู่ตามแหล่งที่พักอาศัย ถึงจะเปิดถึงตี 4 ได้ ก็ไม่อยากให้ไปกระทบกับคนอื่น และอยากให้มีนโยบายดูแลเกี่ยวกับเยาวชน เกี่ยวกับอาวุธปืน เกี่ยวกับยาเสพติด รวมทั้งเรื่องเสียงที่รบกวนผู้พักอาศัยบริเวณดังกล่าว หากสามารถควบคุมได้โซนนิ่งเล็กๆ อาจขยายเป็นโซนนิ่งใหญ่ๆได้ต่อไป”บุญอนันต์ กล่าว
นายกสมาคมนักธุรกิจและการท่องเที่ยวเมืองพัทยา กล่าวต่อไปว่า ในเบื้องต้นผู้ประกอบการทั้ง 2 ฝั่ง คือฝั่งสถานบันเทิงกับฝั่งที่พัก อยู่ระหว่างรอความชัดเจนของนโยบายที่รัฐจะประกาศออกมา ซึ่งจากการที่กำหนดวันเริ่มขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงถึงตี 4 คือวันที่ 16 ธ.ค. 2566 ก็ยังไม่เห็นมาตรการควบคุมว่าจะมีอะไรบ้าง เช่น การเปิดผับถึงตี 4 ได้ จะต้องมีหลักเกณฑ์และขั้นตอนอย่างไร ในการที่จะสามารภเปิดได้โดยโปร่งใส่ เพราะจะดีกับทั้งผู้ประกอบการที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย รวมถึงผู้บังคับใช้กฎหมาย
“ตอนนี้ทางผู้ประกอบการ ที่ได้เปิดถึงตี 4 ทุกคนแฮปปี้แล้ว ส่วนฝั่งโรงแรมที่พักก็ติงมาเรื่องเสียงอย่าให้เสียงมารบกวนแขกที่มาพักในโรงแรม รวมทั้งการดูแลเรื่องความปลอดภัยเพราะบางครั้งอาจมีคนขาดสติจากคนเมา ซึ่งเรื่องดังกล่าวมีทั้งข้อดีและข้อเสีย หากสามารถควบคุมได้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการท่องเที่ยวและภาพลักษณ์ที่ดีของเมืองพัทยา” บุญอนันต์ ฝากทิ้งท้าย
นิราช/นันทพล ทิพย์ศรี, ศุภรักษ์ จิรกิจญาดา
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี