“จริงๆ เราก็พูดมานานแล้วว่าเราเกิดน้อย – อายุยืน แต่ไม่ใช่น้อยธรรมดา ตอนนี้น้อยมากๆ ประเทศไทยเราตอนนี้ผู้หญิงคนหนึ่งโดยเฉลี่ยมีลูกเหลือแค่คนเดียว ซึ่งต่ำแค่ไหน? ก็คือเกาหลี (ใต้) เลยนะ ติดๆ สิงคโปร์ แซงญี่ปุ่นไปเรียบร้อยแล้ว ฉะนั้นที่เห็นว่าญี่ปุ่นกับเกาหลีกำลังประสบปัญหารุนแรงในเรื่องสังคมสูงวัย เราไปไกลทันเขาแล้ว เพราะฉะนั้นเราทำงานด้วยความเร็วแบบเก่าไม่ได้อีกแล้ว”
ศ.ดร.วิพรรณ ประจวบเหมาะ วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บรรยายในเวที “สานพลังไทยรับมือสังคมสูงวัยไปด้วยกัน (Smart Aging Society : Together , We can)” ในมิติสังคมและสุขภาพ ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และภาคีเครือข่ายหลายองค์กร เมื่อช่วงปลายเดือน เม.ย. 2568 ที่ผ่านมา ถึงสถานการณ์ “สังคมสูงวัย” หรือโครงสร้างประชากรที่สัดส่วนของผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สวนทางกับประชากรวัยเด็กและวัยทำงานที่มีแนวโน้มลดลง
ที่น่าห่วงคือ “ประชากรเกิดน้อยแถมยังด้อยคุณภาพ” เช่น มีการวิเคราะห์ว่าเด็กไทยใช้เวลาในการเรียนถึง 12 ปี แต่มีความรู้จริงๆ เพียง 8 ปี ขณะที่ผลผลิตที่ได้กลับมายังคิดเป็นเพียงร้อยละ 60 ของทรัพยากรที่ลงทุนไป การสอบวัดผลต่างๆ เด็กไทยก็มักได้คะแนนต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานเสมอ โดยเฉพาะทักษะการอ่านซึ่งสัมพันธ์กับการคิดวิเคราะห์ อีกทั้งยังเข้าทำนอง “คนพร้อมไม่ท้อง..คนท้องไม่พร้อม” จากสถิติ “แม่วัยใส” หรือสาววัยรุ่น – วัยเรียนที่ตั้งครรภ์โดยไม่พึงประสงค์ที่ยังค่อนข้างสูง สวนทางกับคนอีกกลุ่มหนึ่งที่แต่งงานช้าและเลือกที่จะไม่มีลูก
อีกปัจจัยหนึ่งที่สังคมไทยเผชิญคือ “เดอะแบก” หมายถึงประชากรวัยทำงานที่ต้องแบกภาระเลี้ยงดูทั้งพ่อแม่ที่แก่ชราและลูกที่กำลังเกิดและเติบโต ซึ่งการต้องเผชิญสภาพแบบนี้ทำให้หลายคนเลือกที่จะไม่มีลูก ดังที่เกิดขึ้นมาแล้วในประเทศอย่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ที่มาตรการกระตุ้นการเกิดใช้ไม่ได้ผล อนึ่ง “ผู้หญิงมีแนวโน้มต้องแบกภาระมากกว่าผู้ชาย” จากการถูกคาดหวังให้ต้องทำได้ทั้งงานนอกบ้านและหน้าที่ในครัวเรือน
“จากที่ไปอยู่กับ พม. (กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) มาเป็นช่วงปีกว่า ความรุนแรงในครอบครัวเป็นปัญหาหลักที่มีการรายงานเข้ามาเป็นปัญหาเร่งด่วน อีกอย่างที่เราเห็นคือครอบครัวเองปัจจุบันเลี้ยงตัวเองยังไม่ได้ ก็ไม่สามารถพัฒนาคนรุ่นใหม่ให้เป็นคนที่มีคุณภาพได้เช่นกัน แล้วก็ที่เราเจออีกกลุ่มหนึ่งก็คือต้องดูแลผู้สูงอายุที่ติดเตียงด้วย ก็กลายเป็นว่าถ้าติดเตียง 1 คนก็จนไป 2 รุ่น อันนี้ก็น่าห่วงเหมือนกัน” ศ.ดร.วิพรรณ ระบุ
มีการคาดการณ์กันว่า อีกประมาณ 10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะเข้าสู่ภาวะ “สังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super Aged Society)” หมายถึงสังคมนั้นมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ตั้งแต่ร้อยละ 28 หรือมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป ตั้งแต่ร้อยละ 21 ของประชากรทั้งหมด ขณะที่เมื่อปี 2567 ที่ผ่านมา ไทยมีสัดส่วนผู้สูงอายุแตะระดับร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ เข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ซึ่งหมายถึงสังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ตั้งแต่ร้อยละ 20 - 27 หรือมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป ตั้งแต่ร้อยละ 14 - 20 ของประชากรทั้งหมด
ศ.ดร.วิพรรณ กล่าวต่อไปว่า “สัดส่วนประชากรวัยทำงานที่จะดูแลผู้สูงอายุมีแนวโน้มลดลง” ปัจจุบันอยู่ที่ผู้สูงอายุ 1 คน จะมีคนวัยทำงาน 3 คนดูและ ไม่ว่าจะในฐานะลูกหลานที่ดูแลโดยตรงหรือในฐานะพลเมืองที่เสียภาษีให้รัฐนำไปจัดทำสวัสดิการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่ในปี 2587 จะลดลงเหลือผู้สูงอายุ 1 คน มีคนวัยทำงานเพียง 1.5 คนดูแล ที่ยิ่งน่ากังวลคือกลุ่ม “เตี้ยอุ้มค่อม” คนวัยทำงานที่อายุแตะ 50 ปี ตนเองใกล้จะกลายเป็นผู้สูงวัยแล้วแต่ก็ยังต้องดูแลพ่อแม่ที่อายุ 80 ปีขึ้นไป
เมื่อหันไปมองระบบของภาครัฐ “สวัสดิการและหลักประกันมีแนวโน้มล้มละลาย” เช่น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ที่มีการคำนวณว่า ในปี 2566 ใช้งบประมาณไป 7.7 หมื่นล้านบาท แต่หากเพิ่มเป็นการจ่ายให้กับผู้สูงอายุทุกคนในอัตราคนละ 1,000 บาทต่อเดือน คาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าจะใช้งบฯ ถึง 1.89 แสนล้านบาท หรือหากเพิ่มเป็น 3,000 บาทต่อเดือน จะใช้สูงถึง 5.68 แสนล้านบาท หรือหลักประกันสุขภาพ หากในอีก 5 ปีข้างหน้า มีจำนวนผู้สูงอายุแตะระดับ 15 ล้านคน จะมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 5.9 หมื่นล้านบาท เป็นต้น
“เราหวังพึ่งระบบประกันทั้งหมดยาก แต่ถามว่าให้ผู้สูงอายุพึ่งตนเองได้ไหม? จากข้อมูลที่เห็น บอกให้ผู้สูงอายุส่งเสริมการทำงาน เราส่งเสริมมามากกว่า 2 ทศวรรษแล้วมั้ง? พูดถึงเรื่องนี้ แต่ถามว่าผู้สูงอายุได้มีโอกาสทำงานเพิ่มขึ้นไหม? ถ้าดูเรื่องอัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานแทบจะไม่กระดิกเลย คือเหมือนเดิม ส่งเสริมไปก็ไม่มีใครรับผู้สูงอายุเข้าทำงาน อีกส่วนหนึ่งที่เห็นชัดก็คือกลุ่มที่ทำงาน ถ้าดู 60 ปีขึ้นไป ตั้งแต่ปี 2552 เทียบกับ 2565 ส่วนใหญ่ก็อยู่ในแรงงานภาคนอกระบบอีกเช่นเดิม ฉะนั้นหมายความว่ารายได้ก็ไม่มั่นคง” ศ.ดร.วิพรรณ กล่าว
อีกความเปลี่ยนแปลงที่พบเห็นในระยะหลังๆ คือ “วัยพึ่งพิงที่มีผู้ดูแลไม่ครบถ้วนสมบูรณ์” ทั้งเด็กที่จำนวนไม่น้อยอยู่กับแม่หรือพ่อเลี้ยงเดี่ยว เช่นเดียวกับผู้สูงอายุที่พบการอยู่เพียงลำพังทั้งแบบคนเดียวหรือกับคู่ชีวิตวัยเดียวกันเพิ่มขึ้น ในส่วนนี้ที่น่าห่วง “ในปี 2593 คาดว่าจำนวนผู้สูงอายุกลุ่มติดเตียงจะแตะหลักล้านคน” คำถามสำคัญคือแล้วใครจะเป็นผู้ดูแล?
เมื่อไปดูเรื่อง “สภาพแวดล้อม” ก็พบว่า “ไม่เอื้อต่อการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ” อย่างในเมืองจะเห็นทางเท้าชำรุด สะพานลอยซึ่งเป็นบันไดสูงชันผู้สูงอายุเดินขึ้น – ลงลำบาก ครั้นจะเดินข้ามถนนก็เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุถูกรถเฉี่ยวชน หรือแม้กระทั่งในบ้านของตนเอง ข้อมูลจากการศึกษาเมื่อปี 2560 พบว่า ผู้สูงอายุทั่วประเทศ มีเพียงร้อยละ 3.4 เท่านั้นที่อยู่อาศัยในบ้านที่มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม และเมื่อดูเป็นรายพื้นที่ แม้กระทั่งเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ ยังอยู่ที่เพียงร้อยละ 7.3 เท่านั้น ส่วนภาคอื่นๆ ที่เหลือ อยู่ระหว่างร้อยละ 2.9 – 4.6
ยิ่งไปกว่านั้น รายงาน Global Climate Risk Index ยังชี้ว่า “ไทยติด 1 ใน 10 ประเทศความเสี่ยงสูงจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ (Climate Change)” ประชากรกลุ่มเปราะบาง (ซึ่งผู้สูงอายุเป็นหนึ่งในนั้น) จะยิ่งเสี่ยง เพราะมีศักยภาพจำกัดที่จะป้องกันตนเองจากภัยบิติต่างๆ รวมถึง “ช่องว่างระหว่างวัย” ผู้สูงอายุตามไม่ทันความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี เช่น มีผู้สูงอายุร้อยละ 58.3 ใช้อินเตอร์เน็ต ซึ่งน้อยกว่ากลุ่มเด็กและเยาวชน (อายุ 6 - 24 ปี) ที่ใช้อินเตอร์เน็ตสูงถึงร้อยละ 98.2 หรือผู้สูงอายุกับคนรุ่นใหม่มีทัศนคติและค่านิยมต่างกัน
“เวลาพูดถึงสังคมหลายคนมองแต่ผิวๆ แต่จริงๆ แล้วเกิดน้อยอายุยืน คนเรามีชีวิตที่ยืนยาวขึ้นด้วย ชีวิตรุ่นใหม่ไม่เหมือนเดิม ไม่ใช่เกิดมาแล้วเรียนหนังสือเสร็จแล้วก็ไปทำงาน เกษียณแล้วตาย ตอนนี้ไม่ใช่! รุ่นใหม่เขาต้องเปลี่ยนแปลงให้ทันกับศตวรรษที่ 21 ฉะนั้นก็ต้องมีทั้งทำงานไป กลับไปเรียนใหม่ มาทำงานต่อ ระบบตรงนี้สังคมไทยมีรองรับได้หรือยัง?
เช่นมองว่าเรียนจบ ม.2 นะอยากไปทำสตาร์ทอัพแล้วอยากกลับมาเรียนใหม่ จะเข้ามาอยู่ตรงไหนของระบบ? ซึ่งไม่ใช่ง่ายๆ ที่จะเข้ามาได้ ฉะนั้นตอนนี้เรื่องของระบบกาคิดในทางสังคมต้องมองเป็นแบบตลอดช่วงชีวิต (Life Course Perspective) ไม่ใช่มองแค่ตัดขวางเป็นช่วงๆ แต่ต้องมองดูยาวตลอดชีวิต แล้วก็สังคมหลากหลายวัย หลากหลายรุ่น ก็น่าจะมีความขัดแย้งกันหรือมุมมองที่แตกต่างกันมากยิ่งขึ้นด้วย” ศ.ดร.วิพรรณ อธิบาย
ในช่วงท้ายของการบรรยาย ศ.ดร.วิพรรณ กล่าวถึงข้อเสนอ “นโยบายที่ต้องเร่งทำทันที” 5 ข้อ ประกอบด้วย 1.เสริมพลังวัยทำงาน ตั้งตัวได้ สร้างและดูแลครอบครัวได้ และพร้อมที่จะสูงอายุอย่างมีคุณภาพในอนาคต 2.เพิ่มคุณภาพและผลิตภาพของเด็กและเยาวชน เด็กน้อยแต่เปี่ยมด้วยคุณภาพ 3.สร้างพลังผู้สูงอายุ ผ่อนหนักให้เป็นเบา พลิกวิกฤตทางประชากรให้เป็นโอกาส 4.เพิ่มโอกาสและสร้างเสริมคุณค่า ของผู้พิการและกลุ่มเปราะบางหรือผู้ขาดโอกาส และ 5.สร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่เหมาะสม เพื่อพัฒนาความมั่นคงของครอบครัว
โดยทั้ง 5 ข้อ เป็นแนวทางที่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และมีมติเห็นชอบในวันที่ 2 เม.ย. 2567 และหลังจากนั้นทาง พม. ได้บูรณาการข้อมูลกลุ่มเปราะบาง แต่ความท้าทายคือ “จะรวมข้อมูลจากทุกกระทรวงได้อย่างไร?” โดยเฉพาะข้อกังวลเรื่องกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ดังนั้นก็ถึงเวลาต้องทบทวน หากการใช้ข้อมูลเป็นไปเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนก็ควรให้ใช้ได้ รวมถึง “จะทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงได้อย่างไร?” เพราะการดูแลคนนั้นเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง
“แนวคิดในการทำตอนนี้ ถ้าท่านอยากจะให้เป็นพฤฒพลังไปจนบั้นปลายของชีวิต มันต้องมองในทุกมิติแบบองค์รวม ไม่สามารถแยกส่วนได้ แล้วก็ต้องทำทันทีแบบบูรณาการด้วย ที่บอกแล้วว่าจับมือไว้แล้วก็ต้องวิ่งไปด้วยกัน ไม่ใช่จับไว้เฉยๆ แล้วก็ไม่ไป ยื้อกันไป – มา วิ่งไปในทิศทางเดียวกันด้วย” ศ.ดร.วิพรรณ กล่าวในตอนท้าย
SCOOP.NAEWNA@HOTMAIL.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี