“อาหาร” ถือเป็นปัจจัยสำคัญอันดับต้นๆ ที่จะกำหนดว่าสุขภาพของเราจะเป็นอย่างไร ดังคำกล่าวที่ว่า“You are what you eat” หรือ “กินอะไรก็เป็นอย่างนั้น” ที่แม้จะผ่านมายาวนานแค่ไหน ประโยคนี้ก็ยังคงเป็นความจริงอยู่เสมอ
ส่วนในเรื่องความปลอดภัยของอาหารนั้น การลงมือประกอบอาหารด้วยตนเอง เป็นวิธีที่เราสามารถไว้วางใจได้ดีที่สุด แต่หลายคนอาจไม่สะดวกที่จะจัดการกับเรื่องดังกล่าวได้ และต้องพึ่งพาการรับประทานอาหารนอกบ้านเป็นประจำ
แล้วจะทำอย่างไรให้การรับประทานอาหารนอกบ้านเกิดความปลอดภัยอย่างที่เราต้องการได้
ดร.ณัจยา แก้วนุ้ย ผู้จัดการโครงการส่งเสริมความมั่นคงทางอาหาร และอาหารปลอดภัยฯ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยถึงการทำงานด้านอาหารปลอดภัยว่า เกิดจากปัญหา 3 เรื่องหลัก คือ 1.แนวโน้มของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น มะเร็ง ความดันเบาหวาน สูงขึ้นทุกขณะ สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมการกิน และอาจเลือกแหล่งที่มาของวัตถุดิบไม่ได้ มีการปนเปื้อนสารเคมี 2. เด็กกับผู้สูงอายุจำนวนมากมีภาวะทุพโภชนาการ และ 3. การจัดงาน เช่น เทศกาลอาหาร มักมีธุรกิจแอลกอฮอล์เข้ามาด้วย
โครงการและแคมเปญรณรงค์ต่างๆ จึงเกิดขึ้น เช่น “โครงการพัฒนาต้นแบบความมั่นคงทางอาหารของโรงเรียนและชุมชน” แคมเปญ “อร่อยได้ไร้แอลกอฮอล์” ตลอดจนช่วยขับเคลื่อนโครงการย่อย อาทิ เด็กไทยแก้มใส เด็กไทยไม่กินหวาน ตลาดสีเขียว ฯลฯ
ล่าสุด ในปี 2566 ร้านอาหารอาหารต้นแบบ ที่เข้าหลักเกณฑ์ “Safety food star” นำร่องใน 13 จังหวัดทั่วทุกภูมิภาค จำนวน 100 ร้าน ภาคใต้ที่จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี สงขลา สตูล ภาคเหนือ ที่จังหวัดเชียงราย อุตรดิตถ์ พะเยา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จังหวัดสุรินทร์ ภาคตะวันออก ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ภาคตะวันตก ที่จังหวัดราชบุรี และจังหวัดเพชรบุรี ส่วนภาคกลาง ที่กรุงเทพฯ และจังหวัดปทุมธานี
ดร.ณัจยา กล่าวถึงร้านอาหารปลอดภัยต้นแบบ ที่เข้าหลักเกณฑ์ “Safety food star” ว่า ได้ขอความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เจ้าหน้าที่เทศบาลในพื้นที่ ประธานชมรม/สมาคม ช่วยคัดเลือกร้านอาหารจังหวัดละ 8-10 ร้าน โดยมีเกณฑ์การคัดเลือกอยู่ประมาณ 11 ข้อ เช่น ต้องมีป้าย Clean Food Good Taste ของกรมอนามัย ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีเมนูอาหารเพื่อสุขภาพ มีอ่างล้างมือ มีห้องน้ำสะอาดพร้อมใช้ผ่านการอบรมด้านสุขาภิบาลอาหาร ไม่บรรจุในภาชนะโฟม และต้องอยู่ในชมรมหรือสมาคมที่เป็นเครือข่ายเอื้อประโยชน์กันได้ ซึ่งร้านที่ถูกคัดเลือกนำร่องจะได้รับสัญลักษณ์ “Safety food star”
“อย่างที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา พื้นที่เศรษฐกิจและมีแหล่งท่องเที่ยว ทางโครงการฯ โดยสมาคมการค้าธุรกิจอาหาร เป็นองค์กรหลักในการคัดเลือก ได้ร้านอาหารปลอดภัยต้นแบบมาจำนวน 5 ร้าน 1 ใน 5 ร้าน เช่น ร้านครัววิวเขา มีเมนูสุขภาพ อย่างยำผักกูด และเมี่ยงปลากะพง” ดร.ณัจยา ระบุ
ดร.ณัจยา กล่าวด้วยว่า ร้านอาหารปลอดภัยต้นแบบ หนึ่งในเงื่อนสำคัญ คือต้องมี “เมนูชูสุขภาพ” เพื่อไว้บริการผู้บริโภคที่ห่วงใยสุขภาพ
สำหรับร้านอาหารที่ไม่ผ่านเกณฑ์ส่วนใหญ่พบปัญหา เช่น ตามกฎกระทรวงสาธารณสุขปี 2561 ให้ผู้ปรุงอาหารและผู้สัมผัสอาหาร ต้องผ่านการอบรมหลักสูตรสุขาภิบาลอาหาร แต่ในทางปฏิบัติการอบรมยังไม่ได้กระจายครอบคลุมเต็มพื้นที่ เพราะกระทรวงสาธารณสุขส่งมอบให้ท้องถิ่นจัดการอบรม ท้องถิ่นบางแห่งอาจยังไม่พร้อม
ขณะเดียวกัน ป้าย Clean Food Good Taste ของบางร้านหมดอายุ ยังไม่ได้มีการต่ออายุ บ้างติดเรื่องการใช้ภาชนะโฟมบรรจุอาหาร เป็นต้น
ส่วนในเรื่องของการต่อยอด และการประเมินติดตามร้านอาหารนำร่องว่าปฏิบัติตาม หรือหย่อนยานหรือไม่ ดร.ณัจยากล่าวว่า เป็นภารกิจต่อจากนี้ โดยทาง
โครงการฯ จะเข้าไปดูต้องแก้ไขปัญหาตรงไหน อย่างไรบ้างพร้อมกันนั้นจะทำอย่างไรให้คนที่ได้รับสัญลักษณ์ไปแล้ว สามารถสื่อสารให้ผู้มาใช้บริการ และสาธารณชนรับรู้ในวงกว้าง โดยเฉพาะการทำให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจในการเลือกใช้บริการในร้านอาหารนั้นๆ
“ปัจจุบันมีข่าวว่า กรมอนามัยอยู่ในช่วงReBrand มาตรฐาน Clean Food Good Taste ซึ่งจะมีการบูรณาการเกณฑ์มาตรฐานเมนูชูสุขภาพ รวมถึง Safety food star เข้าไปด้วย”ดร.ณัจยา กล่าว
ทางด้าน นายวิทูรย์ อินทร์จันทร์ นายกสมาคมการค้าธุรกิจอาหาร กล่าวถึงสัญลักษณ์ “Safetyfood star” เป็นการบูรณาการทำงานร่วมกัน ระหว่าง กรมอนามัย สมาคมการค้าธุรกิจอาหาร และโครงการอาหารปลอดภัย สนับสนุนโดย สสส. ซึ่งร้านอาหารที่ผ่านเงื่อนไข นอกจากมีเมนูชูสุขภาพ ลดหวาน มัน เค็ม มีเมนูเฉพาะกลุ่ม เฉพาะวัย รวมทั้งต้องเป็นสมาชิกของสมาคม หรือชมรมอาหารของท้องถิ่นนั้นๆ
“ร้านอาหารปลอดภัย โครงการฯ ตั้งเป้าขยายไม่ต่ำกว่าปีละ 20 เปอร์เซ็นต์ ในพื้นที่เดิมก่อน ซึ่งปีนี้ทำโครงการนำร่องก่อน หวังให้สังคมเกิดการรับรู้เรื่อง Safety food และประเมินผลตอบรับจากผู้ประกอบการร้านอาหารในโครงการฯ” นายกสมาคมการค้าธุรกิจอาหาร กล่าวทิ้งท้าย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี