ขึ้นชื่อว่า“ยาเสพติด”ภัยร้ายคุกคามชีวิตมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นประเภทไหนก็ตาม จะมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันก็คือ ถ้าได้ลอง“เสพ”แล้วก็จะ“ติด” ตามชื่อที่ถูกตั้งขึ้นมาแบบตรงตัวเลย แม้ว่าผู้เสพหน้าใหม่จะพลาดพลั้งไปลองแค่ครั้งเดียวหรือไม่กี่ครั้งก็อาจกลายเป็นทาสของมันไปเลยก็ได้
บางคนอาจจะลองใช้สิ่งเสพติดที่ดูแล้วมีอันตรายไม่มาก ก่อนจะลุกลามไปสู่ประเภทที่อันตรายมากขึ้นกว่าเดิมในท้ายที่สุด ดังนั้น สิ่งสำคัญคือจะต้องไม่ไปยุ่งเกี่ยวข้องแวะกับสิ่งเสพติดตั้งแต่แรก
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย จัดเวทีการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อเสริมศักยภาพและสนับสนุนชุมชนท้องถิ่น ในการเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมการบริโภคบุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้า อย่างยั่งยืน เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา โดยมีตัวแทนภาคีเครือข่ายทั่วประเทศเข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อนำไปปรับใช้กับพื้นที่ของตนเอง
นายพิทยา จินาวัฒน์ กรรมการบริหารแผน คณะที่ 1 สสส. เปิดเผย ถึงสถานการณ์เสพติด ในกลุ่มเยาวชน โดยย้ำว่า บุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ถือเป็นประตูที่นำไปสู่ยาเสพติดผิดกฎหมายชนิดอื่นๆ พร้อมแชร์ประสบการณ์ส่วนตัวในวัยหนุ่มที่เคยใช้ชีวิตกับปัจจัยเสี่ยง แต่ตัดสินใจเลิกเพราะตระหนักได้ว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพและเป็นห่วงคนในครอบครัว
นายพิทยากล่าวว่า แม้ปัจจุบันสถานการณ์สูบบุหรี่จะลดลง แต่ “บุหรี่ไฟฟ้า” เป็นเรื่องใหม่ที่น่ากังวล เนื่องจากกลายความนิยมที่อันตรายในกลุ่มเยาวชน ด้วยรูปลักษณ์ที่ดึงดูด คล้ายของเล่น มีการตลาดแฝงผ่านโซเชียลมีเดีย และถูกเข้าใจผิดว่า “อันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวนธรรมดา” ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะงานวิจัยจำนวนมากชี้ชัดถึงผลกระทบต่อปอด สมอง และพัฒนาการของเด็ก
“ได้เข้ามามีบทบาทสนับสนุนการรณรงค์และป้องกัน โดยเน้นการป้องกันต้นน้ำ ผ่านการเสริมศักยภาพเครือข่าย ทั้งภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาสังคม ให้ทำหน้าที่ ตาสับปะรดเฝ้าระวังสินค้าใหม่ เทคนิคการตลาด และกลไกการเข้าถึงของเด็กและเยาวชน” นายพิทยา กล่าว
นายพิทยา กล่าวว่า บทบาทขององค์กรปกครองท้องถิ่น ถือว่าเป็น “ด่านหน้า” ที่รู้ปัญหาของพื้นที่ดีที่สุด และต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนได้ พร้อมเรียกร้องให้ช่วยกันผลิตสื่อรณรงค์ที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะเยาวชน ด้วยภาษาและรูปแบบที่เข้าใจง่าย ภายใต้การสนับสนุนข้อมูลและผู้เชี่ยวชาญจาก สสส. และย้ำว่า “บุหรี่ไฟฟ้าไม่ใช่แค่เรื่องสุขภาพ แต่เป็น บทพิสูจน์ความเข้มแข็งของท้องถิ่น และความสามารถของสังคมไทยในการปกป้องอนาคตของเยาวชนจากภัยเสพติดรูปแบบใหม่”
ขณะที่ นายแพทย์ชัย กฤติยาภิชาตกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมยาสูบ กล่าวว่า ถึงการขับเคลื่อนประเด็นผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในภาคปฏิบัติ โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง และ Ottawa Charter ยุทธศาสตร์ที่จะช่วยขับเคลื่อนงาน อปท. ให้เกิดประสิทธิภาพ ซึ่งในอดีตคนมักจะมองว่าการควบคุมบุหรี่เป็นเรื่องของโรงพยาบาล หรือ กระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น แต่จากการลงพื้นที่ทำงานร่วมกับ อปท. ทำให้เห็นภาพตรงกันว่า อปท. มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพของประชาชน เพราะ อปท.อยู่ใกล้ชิดชุมชนมากที่สุด มีโอกาสสร้างความเข้าใจที่ลึกซึ้ง และสามารถออกแบบกิจกรรมให้เหมาะสมกับบริบทได้จริง
“เรื่องบุหรี่ไม่ใช่เรื่องสุขภาพโดยตรง ไม่เหมือนผู้ป่วยติดเชื้อแล้วเป็น แต่บุหรี่เป็นเรื่องที่มีปัญหา ทั้งเรื่อง สังคมสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สารพัดที่เกี่ยวข้อง องค์การอนามัยโลก (WHO) จึงต้องเสนอองค์การสหประชาชาติ ซึ่งดูทุกเรื่องของทุกประเทศทั่วโลก ว่าต้องอาศัยทุกภาคส่วน ต้องอาศัยกลไกในทุกๆ ด้านมาช่วยกัน เมื่อปี 2554 ในที่ประชุมผู้นำทุกประเทศ รวมทั้งไทยด้วย ตกลงกันว่า เราจะต้องลดการตายจาก NCDs ลงให้ได้ 25% ภายในปี 2568 ซึ่งเป้าหมายของ อปท. คือการลดการสูบบุหรี่” นายแพทย์ชัย กล่าว
นายแพทย์ชัย ได้อธิบายถึง Ottawa Charter คือ แนวคิดหลัก 5 ด้าน ที่ อปธ. สามารถนำมาประยุกต์ใช้ ได้แก่
1.การกำหนดนโยบายสาธารณะที่ส่งเสริมสุขภาพ เช่น การออกข้อบัญญัติ อปท. ในการจำกัดการสูบบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะ หรือการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนกิจกรรมปลอดบุหรี่
2.การสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ เช่น การติดป้ายเขตปลอดบุหรี่ในสถานที่ต่างๆ การจัดสภาพแวดล้อมโรงเรียนหรือวัดให้เป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่จริง
3.การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน เช่น การตั้งชมรมเยาวชนปลอดบุหรี่ หรือกลุ่มแม่บ้านรณรงค์ไม่ให้ลูกหลานเข้าถึงบุหรี่
4.การพัฒนาทักษะส่วนบุคคล ผ่านกิจกรรมอบรมให้ความรู้ การสื่อสารในรูปแบบต่างๆ ให้คนในชุมชนมีความสามารถในการป้องกันตนเองจากภัยของบุหรี่
5.การปรับระบบบริการสุขภาพให้ตอบสนองประชาชนมากขึ้น เช่น การร่วมมือระหว่าง รพ.สต. กับ อปท. ในการเยี่ยมบ้านผู้ป่วยเรื้อรังที่ยังสูบบุหรี่ เพื่อให้คำปรึกษาและช่วยเลิกบุหรี่อย่างต่อเนื่อง
“การสร้างพื้นที่ปลอดบุหรี่ไม่ใช่แค่การห้ามสูบ แต่คือการสร้างวัฒนธรรมใหม่ที่ทุกคนในชุมชนมีส่วนร่วม ยิ่งมีคนเห็นด้วยมากเท่าไร พลังการเปลี่ยนแปลงก็จะมากขึ้นตามไปด้วย อปท. จำนวนไม่น้อยที่มีจุดเริ่มต้นเล็กๆ เช่น การไม่รับของขวัญปีใหม่จากบริษัทบุหรี่ หรือการประกาศเขตปลอดบุหรี่รอบวัด แล้วค่อยๆ ขยายผลออกไปสู่ตลาด โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก และพื้นที่ส่วนรวมอื่นๆ ซึ่งทั้งหมดนี้คือกระบวนการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนจากฐานราก” นายแพทย์ชัย กล่าว
นางสวาท โกชุม นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลสันนาเม็ง อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า เทศบาลได้จัดสรรงบประมาณเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน โดยจัดตั้งสภาเด็กและเยาวชนตำบลสันนาเม็ง เพื่อทำหน้าที่เป็นพลังขับเคลื่อนการเรียนรู้และสื่อสารเรื่องพิษภัยของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเยาวชน ขยายผลไปสู่โรงเรียนและชุมชน พร้อมประกาศขอความร่วมมืองดสูบบุหรี่ในสถานที่ราชการ และจัดทำ MOU กับผู้นำชุมชนให้งานมงคลและงานศพเป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่และแอลกอฮอล์
นอกจากนี้ยังร่วมมือกับร้านค้าในพื้นที่ทำ MOU ไม่จำหน่ายบุหรี่ให้กับเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ส่งผลให้เห็นการลดลงของการสูบบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะอย่างชัดเจน อีกหนึ่งกลไกสำคัญคือการใช้ สภาเด็กและเยาวชน และ อาสาสมัครสาธารณสุขน้อย (อสส.น้อย) ที่เป็นแกนกลางในการสร้างบทสนทนาในครอบครัวเกี่ยวกับพิษภัยของบุหรี่ ช่วยลดช่องว่างระหว่างวัย และสร้างวัฒนธรรมใหม่ในชุมชน
“ความสำเร็จครั้งนี้เกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้ง อสม. ผู้นำชุมชน เด็กและเยาวชน ผู้สูงอายุ กลุ่มสตรี แม่บ้าน และเครือข่ายภาคประชาชนที่ลุกขึ้นมาร่วมกันป้องกันภัยจากยาสูบ เราใช้สื่อหลากหลาย ทั้งออนไลน์ ป้ายประกาศ จดหมายข่าว รวมถึงจัดเวทีประชาคมอย่างสม่ำเสมอ” นางสวาท กล่าว
นางสวาทกล่าวอีกว่า ในระบบบริการสุขภาพ เทศบาลได้ยกระดับบริการในพื้นที่ให้ครอบคลุมทั้งเชิงป้องกันและการรักษา โดยจัดคลินิก NCDs ให้คำปรึกษาเลิกบุหรี่ทุกวันจันทร์ และจัดตั้งคลินิกเลิกบุหรี่โดยแพทย์แผนไทย ที่ศูนย์บริการสาธารณสุขของเทศบาล พร้อมใช้ระบบ JHCIS คัดกรองผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง (COPD) และผู้ติดสุราเรื้อรัง รวมถึงมีระบบส่งต่อกรณีเลิกบุหรี่ไม่สำเร็จไปยังโรงพยาบาลสันทราย ผลการดำเนินงานตลอดช่วงที่ผ่านมา มีผู้สามารถเลิกบุหรี่ได้สำเร็จแล้วถึง 40 ราย
นับเป็นผลลัพธ์ที่ชี้ให้เห็นถึงพลังของการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเชิงสุขภาวะอย่างยั่งยืนในระดับท้องถิ่น
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี