วันพฤหัสบดี ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2568
แนวหน้า
  • แนวหน้า
  • หน้าแรก
  • คอลัมน์
    • คอลัมน์วันนี้
    • คอลัมน์ออนไลน์
    • คอลัมน์การเมือง
    • คอลัมน์ลงมือสู้โกง
    • โลกธุรกิจ
    • ผู้หญิง
    • บันเทิง
    • Like สาระ
    • ดูทั้งหมด
  • ข่าวเด่น
  • พระราชสำนัก
  • การเมือง
  • โลกธุรกิจ
  • อาชญากรรม
  • กทม.
  • ในประเทศ
  • เกษตร
  • ต่างประเทศ
  • กีฬา
  • ผู้หญิง
  • บันเทิง
  • ยานยนต์
  • Like สาระ
หน้าแรก / ข่าว Like สาระ
รายงานพิเศษ : ชำแหละโครงสร้างราคาน้ำตาล ต้นทุนที่ผู้บริโภคแบกรับ

รายงานพิเศษ : ชำแหละโครงสร้างราคาน้ำตาล ต้นทุนที่ผู้บริโภคแบกรับ

วันจันทร์ ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2566, 07.45 น.
Tag : ราคาน้ำตาล
  •  

เป็นเรื่องวุ่นๆ กันมาตั้งแต่ช่วงปลายเดือนต.ค. 2566 เมื่อมีข่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) จะพิจารณาปรับขึ้นราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานอีกกิโลกรัม (กก.)ละ 4 บาท และกรมการค้าภายในต้องออกมาเบรกตามด้วยวันที่ 30 ต.ค. 2566 ในการประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ได้กำหนดให้น้ำตาลทรายเป็นสินค้าควบคุม โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542

ในวันที่ 31 ต.ค. 2566 ซึ่งราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ “ประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 67 พ.ศ.2566 เรื่อง การกำหนดสินค้าควบคุมเพิ่มเติม” และมีผลบังคับใช้ในทันทีนั้น ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงมาตรการที่จะออกตามมาหลังจากประกาศฉบับนี้มีผลบังคับใช้ คือ 1.กำหนดราคาจำหน่ายหน้าโรงงาน ที่กิโลกรัม (กก.) ละ 19 บาท สำหรับน้ำตาลทรายขาว และ กก. ละ 20 บาท สำหรับน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ และควบคุมราคาจำหน่ายปลีก กก.ละ 24 บาท สำหรับน้ำตาลทรายขาว และ กก.ละ 25 บาท สำหรับน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์


กับ 2.ควบคุมการส่งออกตั้งแต่ 1 ตันหรือ 1,000 กก.ขึ้นไป โดยต้องขออนุญาตจากคณะอนุกรรมการที่จะจัดตั้ง โดยมีเลขาธิการ สอน.เป็นประธาน มีรองอธิบดีกรมการค้าภายใน เป็นรองประธาน มีตัวแทนจาก สอน. เป็นเลขานุการ และตัวแทนกรมการค้าภายใน เป็นผู้ช่วยเลขานุการ ซึ่งจะทำหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการในการกำกับดูแลต่อไป เพื่อให้น้ำตาลทรายมีเพียงพอใช้ในประเทศ และไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกน้ำตาลทรายของไทย

ขณะที่ความเคลื่อนไหวโดยเฉพาะกลุ่ม “ชาวไร่อ้อย” ต่อท่าทีของรัฐบาล ในวันที่ 1 พ.ย. 2566 มนตรี เลาหศักดิ์ประสิทธิ์ นายกสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 6 เปิดแถลงข่าว ระบุว่า กรณี สอน. ปรับราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานอีกกิโลกรัมละ 4 บาท มีที่มาจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล (กอน.) ที่พิจารณาแล้วเห็นว่าสถานการณ์น้ำตาลโลกในปัจจุบันมีราคาที่สูงกว่าประเทศไทยจำนวนมาก โดยขณะที่ในประเทศไทยจำหน่ายน้ำตาล20-23 บาท แต่ราคาของตลาดโลกจำหน่ายในราคากิโลกรัมละ 40-50 บาท

นอกจากนั้น ประมาณปี 2560/2561 ประเทศไทยได้ถูกประเทศบราซิล ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของโลกได้ร้องในเรื่องของราคาน้ำตาลของประเทศไทย ที่รัฐบาลได้เข้าไปอุดหนุนราคาน้ำตาลช่วยเหลือชาวไร่จนทำให้เกิดผลกระทบต่อการจำหน่ายน้ำตาลในตลาดโลก รัฐบาลจึงได้ปล่อยให้ราคาอ้อยและน้ำตาลลอยตัวมา 3-4 ปี ส่งผลให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยต้องแบกรับภาระการขาดทุนมาโดยตลอด ขณะที่ล่าสุด แนวทางการปรับราคาน้ำตาล 4 บาทนั้นเป็นการแบ่ง 2 จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักๆ คือ

“ส่วนที่ 1” เงินจำนวน 2 บาทแบ่งให้กับกองทุนน้ำตาล 2 บาท และ “ส่วนที่ 2” อีก 2 บาทเป็นการช่วยเหลือก็ช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่แบกรับปัญหา โดยเฉพาะต้นทุนการผลิตหรือการปลูกอ้อยมีราคาที่สูงมาเป็นเวลานานดังนั้นหากไม่มีการปรับตัวตามที่มติของ กอน.แต่เพื่อนบ้านใกล้เคียงเรานั้นมีราคาน้ำตาลทรายสูงกว่าของประเทศไทย ก็จะส่งผลให้น้ำตาลทะลักออกสู่ประเทศเพื่อนบ้านแบบผิดกฎหมาย และในอนาคตน้ำตาลทรายในไทยก็จะขาดตลาด ซึ่งการหารือของ 4 องค์กรหลักของชาวไร่อ้อย มีมติให้ปิดโรงงานน้ำตาล ในวันที่ 5 พ.ย. 2566

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 2 พ.ย. 2566 มีการแต่งตั้งคณะทำงานบริหารความสมดุลในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ตามคำสั่งกระทรวงพาณิชย์ ที่ 877/2566 ประกอบด้วยผู้แทนหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมการค้าภายใน กรมการค้าต่างประเทศ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย) ร่วมกับ ตัวแทนเกษตรกรชาวไร่อ้อย เพื่อหาทางออกในเรื่องนี้

กระทั่งได้ข้อสรุปและกลายเป็นมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 14 พ.ย. 2566 ว่า“ให้ปรับราคาจำหน่าย ณ หน้าโรงงาน ราคาน้ำตาลทรายขาว จากเดิม กิโลกรัมละ 19.00 บาท เป็น กิโลกรัมละ 21.00 บาท และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ จากเดิม กิโลกรัมละ 20.00 บาท เป็น กิโลกรัมละ 22.00 บาท สำหรับราคาจำหน่ายปลีกเห็นควรมีราคากำกับดูแลที่เหมาะสม” ซึ่ง ภูมิธรรม รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ชี้แจงในวันที่ 15 พ.ย. 2566 ระบุ คณะทำงานบริหารความสมดุลในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เห็นว่า การเพิ่มราคา 2 บาท สมเหตุสมผลกับต้นทุนของชาวไร่อ้อย

เว็บไซต์ statista.com แพลตฟอร์มออนไลน์สัญชาติเยอรมนี ซึ่งรวบรวมข้อมูลและจัดอันดับในเรื่องต่างๆ รอบโลก ระบุ ประเทศชั้นนำด้านการปริมาณการผลิตน้ำตาล ในฤดูกาลผลิต 2566-66 (Sugar production worldwide in 2022/23, by leading country) โดยหากไม่นับรวมสหภาพยุโรป (EU) ซึ่งมีฐานะเป็นกลุ่มประเทศ จะพบว่า บราซิล ครองแชมป์ประเทศที่มีผลผลิตน้ำตาลในตลาดโลกมากที่สุด ถึง 38.05 ล้านตัน รองลงมาคือ อินเดีย 32 ล้านตันขณะที่อันดับ 3 ก็คือประเทศไทย 11.04 ล้านตันอันดับ 4 จีน 9 ล้านตัน และอันดับ 5 สหรัฐอเมริกา 8.42 ล้านตัน

แต่ล่าสุด ในช่วงปลายเดือน ก.ย. 2566 ชาติที่เป็นรองแชมป์ส่งออกน้ำตาลอย่าง อินเดีย ได้ประกาศงดส่งออก โดยรายงานข่าว India to ban sugar exports in new season beginning October โดย นสพ. Mint สื่อท้องถิ่นของอินเดีย เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2566 ระบุว่า อินเดียอาจเริ่มบังคับใช้มาตรการจำกัดการส่งออกน้ำตาลอย่างเข้มงวด ในฤดูกาล 2566-67 ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2566 เป็นต้นไป ซึ่งจะถือเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี ที่แดนภารตะใช้ยาแรงระดับนี้เนื่องจากฝนทิ้งช่วง ทำให้ผลผลิตอ้อย อันเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตน้ำตาลมีจำนวนลดลง

รายงานของสื่ออินเดียยังระบุด้วยว่า ราคาน้ำตาลทั่วโลกสูงขึ้นเนื่องจากความกังวลปัญหาอากาศแห้งแล้งกว่าปกติซึ่งเชื่อมโยงกับปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) น่าจะทำให้ผลผลิตน้ำตาลจากประเทศชั้นนำอย่างเช่นอินเดียและไทยลดลง จากนั้นรายงานข่าว India extends curbs on sugar exports to calm domestic prices โดยสำนักข่าวรอยเตอร์ส ในวันที่ 18 ต.ค. 2566 ได้ระบุว่า อินเดียขยายระยะเวลาการบังคับใช้มาตรการจำกัดการส่งออกน้ำตาลไปต่างประเทศ ยาวข้ามจากเดือน ต.ค. 2566 ออกไปอีก เพื่อบรรเทาผลกระทบจากปัญหาราคาน้ำตาลในประเทศเพิ่มสูงขึ้น

ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาล

กลับมาที่ประเทศไทย รศ.ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ เคยอธิบายกลไกราคาน้ำตาลในไทย ไว้ในบทความ “ลอยตัวราคาน้ำตาล ลอยคอผู้บริโภคให้เสียเปรียบซ้ำซาก” ที่เผยแพร่ใน “แนวหน้า” ทั้งฉบับหนังสือพิมพ์และเว็บไซต์ เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2560 ว่า นับตั้งแต่ที่มีการเกิดขึ้นของ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ระบบการขายผลผลิตน้ำตาลของไทย ได้แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ

1.ส่วนที่ส่งออกต่างประเทศ จะขายไปตามราคาตลาดต่างประเทศ มีขึ้น-ลง กับ 2.ส่วนที่ขายในประเทศ บรรดาโรงงานน้ำตาลที่รัฐจำกัดจำนวนไว้ มีอยู่ราว 40 กว่าโรง ได้รวมหัวกันคล้ายๆ โอเปก (OPEC-กลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน) แล้ว “คำนวณปริมาณน้ำตาลที่จะปล่อยขายในประเทศเพื่อควบคุมให้มีจำนวนจำกัด” แล้วจัดสรรโควตาให้แต่ละโรงงานน้ำตาลตกลงกันว่า “ห้ามปล่อยเกินจำนวนที่จำกัดไว้” จึงทำให้ราคาขายน้ำตาลในประเทศสูงขึ้น

“ทั้งหมดนี้เป็นไปตาม พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ทำให้การรวมหัวกันถูกกฎหมาย ที่ผ่านมา รัฐบาลในแต่ละยุคก็จะประกาศราคาขายน้ำตาลในประเทศเพื่อเป็นตัวนำ เช่น ราคาขายปลีก 13 บาทต่อ กก., 15 บาท, 18 บาท หรือ 20 บาทเป็นต้น ที่ผ่านมา ราคาน้ำตาลในตลาดโลกอยู่ในระดับต่ำและราคาที่โรงงานน้ำตาลไทยขายให้ต่างประเทศส่วนมากก็จะต่ำกว่าราคาในประเทศ นั่นแสดงว่า ผู้บริโภคภายในประเทศต้องกล้ำกลืนฝืนกินน้ำตาลราคาแพงกว่าตลาดต่างประเทศอยู่เกือบตลอดเวลา

เมื่อโรงงานน้ำตาลได้รับผลประโยชน์จากการขายภายใต้ระบบการแบ่งแยกตลาดดังกล่าว ก็จะเอารายรับจากการขายน้ำตาลในประเทศ มาบวกรวมกับรายรับจากการขายต่างประเทศ แล้วแบ่งปันผลประโยชน์ให้ค่าวัตถุดิบ ค่าอ้อย แก่ชาวไร่อ้อย 70% โดยที่ฝ่ายโรงงานเอาไป 30% เรียกกันว่า ระบบ 70/30 ส่วนที่เป็น 70%นั้น ก็จะเอาไปคำนวณเพื่อจ่ายเป็นอ้อยต่อตันอีกในภายหลัง” รศ.ดร.เจิมศักดิ์ กล่าวไว้ในบทความ

บทความของ รศ.ดร.เจิมศักดิ์ ยังตอบคำถามด้วยว่า “ทำไมบรรดาผู้ใช้น้ำตาลในประเทศ จึงไม่โวยวาย?” ซึ่งนั่นเป็นเพราะ “บรรดาโรงงานน้ำตาล 40 กว่าโรง ได้มีการจัดสรรปริมาณน้ำตาลพิเศษ ในราคาพิเศษ ให้แก่โรงงานน้ำหวาน น้ำอัดลม ขนมหวาน ฯลฯ ทำให้ผู้ใช้น้ำตาลรายใหญ่ในประเทศสมประโยชน์ไปด้วย เพราะได้ใช้น้ำตาลราคาต่ำพิเศษ” แตกต่างจากผู้บริโภครายย่อย ซึ่งแต่ละคนซื้อคนละ 1-2 กิโลกรัม กระจายกันไป ประกอบกับในอดีต การจะมีข้อมูลราคาน้ำตาลในประเทศเทียบกับราคาต่างประเทศก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ที่ผ่านมาจึงไม่เคยมีใครส่งเสียงดังโวยวาย

ขณะที่แนวคิดเรื่องการลอยตัวราคาน้ำตาล โดยปกติ การจะปล่อยลอยตัวตามกลไกราคาตลาดโลก ย่อมเป็นของที่ดี ไม่น่าจะมีอะไรขัดข้อง แต่หากเข้าใจเบื้องลึกปูมหลังเกี่ยวกับพฤติกรรมและโครงสร้างการตั้งราคาน้ำตาลในอดีตจนถึงปัจจุบัน จะเข้าใจว่า หากปล่อยลอยตัวราคาน้ำตาล ฝ่ายโรงงานน้ำตาลและชาวไร่อ้อยจะได้ประโยชน์ ดังนั้นหากจะปล่อยลอยตัวรัฐก็จำเป็นต้องกำหนดหลักประกันแก่ผู้บริโภคในประเทศด้วย

“ถ้าวันนี้ลอยตัวขึ้นไปตามราคาตลาดโลก ในอนาคตวันข้างหน้า ถ้าราคาน้ำตาลในต่างประเทศตกลงมา ผู้บริโภคไทยจะต้องได้กินน้ำตาลราคาถูกตามตลาดโลกด้วย มิใช่ว่าระบบกลไกแบบเดิมๆ ที่ยังคงอยู่ ถึงเวลาราคาในตลาดโลกลดลง ราคาในประเทศยังค้างเติ่งเหมือนเดิม ดังนั้น เพื่อเป็นหลักประกันความเป็นธรรมดังกล่าว รัฐจำเป็นต้องดำเนินการเปิดเสรีนำเข้าน้ำตาล และเปิดเสรีโรงงานน้ำตาลในประเทศ เพื่อให้ระบบมีการแข่งขันและเป็นธรรมแก่ผู้บริโภค” รศ.ดร.เจิมศักดิ์ ทิ้งท้ายในบทความ

ล่าสุด รศ.ดร.เจิมศักดิ์ ได้กล่าวถึงเรื่องนี้อีกครั้งในรายการ “เศรษฐกิจติดบ้าน” ทางสถานีโทรทัศน์ ThaiPBS จำนวน 2 ตอน ออกอากาศวันที่ 28 และ 29 พ.ย. 2566 ว่า หากมองแบบเศรษฐศาสตร์พื้นๆ เมื่อราคาน้ำตาลในตลาดโลกสูงขึ้น ราคาน้ำตาลที่ขายในประเทศก็ควรจะสูงขึ้นไปด้วย แต่อ้อยกับน้ำตาลมีความพิสดาร โดยหากมองย้อนไปในอดีต แม้จะเป็นช่วงที่ราคาน้ำตาลลดต่ำลง ผู้บริโภคในประเทศไทยก็ยังคงต้องซื้อน้ำตาลในราคาสูง แต่ปัจจุบันเมื่อราคาน้ำตาลในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ผู้บริโภคในประเทศก็อาจต้องบริโภคน้ำตาลในราคาสูงขึ้นไปอีก

เหตุที่โครงสร้างราคาน้ำตาลของไทยดูแปลกๆ เช่นนี้ รศ.ดร.เจิมศักดิ์ เล่าว่า ต้องย้อนไปเมื่อ 50-60 ปีก่อน มีความขัดแย้งระหว่างเกษตรกรชาวไร่อ้อยกับผู้ประกอบการโรงงานแปรรูปอ้อยเป็นน้ำตาล ในประเด็นราคาซื้อ-ขายอ้อย ถึงขั้นเข้ามาชุมนุมประท้วงในกรุงเทพฯ เพื่อให้รัฐบาลช่วยหาทางออก จากนั้นในปี 2518 สมัยรัฐบาลนายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ออกมาตรการให้โรงงานรับซื้ออ้อยในราคา 330 บาท/ตัน ซึ่งเป็นราคาที่โรงงานยืนยันว่าขาดทุน โดยรัฐจะใช้งบประมาณจ่ายเงินอุดหนุนส่วนต่างที่ขาดทุนนั้นให้กับโรงงาน

กระทั่งในปี 2527 สมัยรัฐบาลนายกฯ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งขณะนั้นประเทศไทยมีโรงงานน้ำตาล 46 แห่ง และทั้งหมดเป็นของกลุ่มทุนเพียงไม่กี่ราย จึงเกิดแนวคิดให้ฝ่ายผู้ประกอบการโรงงานกับเกษตรกร ตกลงแบ่งผลประโยชน์จากการขายผลผลิตน้ำตาล โดยอยู่ที่เกษตรกรร้อยละ 70 และผู้ประกอบการโรงงานร้อยละ 30 แต่ละฝ่ายก็นำรายได้ในภาพรวมนี้ไปแบ่งกันภายในกลุ่มของตน และนี่คือที่มาของ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527

อีกด้านหนึ่ง ฝ่ายเกษตรกรเองก็มีการรวมตัวกัน โดยเกษตรกรรายใหญ่จะเป็น “หัวหน้าโควตา” รวบรวมอ้อยจากเกษตรกรรายย่อยมาส่งเข้าแปรรูปในโรงงาน เนื่องจากโรงงานจะไม่รับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรรายย่อยโดยตรงเพราะต้องการตัดปัญหาความไม่สม่ำเสมอ (ส่งอ้อยมาก-น้อย หรือช้า-เร็ว) แน่นอนว่าก็ไม่ต่างจากฝ่ายโรงงาน ที่หัวหน้าโควตานั้นก็มีเพียงไม่กี่รายในแต่ละจังหวัดหรือเขต เกิดเป็นชมรม สมาคม หรือสมาพันธ์ชาวไร่อ้อยขึ้น

“โรงงานเขามีค่าเกี๊ยว ก็คือเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำที่โรงงานให้กับหัวหน้าโควตา แล้วหัวหน้าโควตาไปปล่อยต่อให้ลูกไร่ในอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นมาอีกหน่อย เพราะอะไรโรงงานถึงกล้า เพราะหัวหน้าโควตารู้อยู่แล้วว่าอ้อยที่ชาวไร่รายเล็กรายน้อยจะขายมันไม่ใช่อ้อยที่คนกิน มันเป็นอ้อยที่เอาไปหีบ อย่างไรก็ต้องเข้าโรงงาน หัวหน้าโควตาก็เลยมีร้านขายข้าวสาร ปุ๋ยยาฆ่าแมลง แล้วมาเอาไปได้ไม่ต้องจ่ายเงิน ลงบัญชีไว้ พอถึงเวลาเก็บเกี่ยวเมื่อไรก็หักบัญชี นี่คือระบบ” รศ.ดร.เจิมศักดิ์ ระบุ

รศ.ดร.เจิมศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า และแม้ในเวลาต่อมา ประเทศไทยจะยกเลิกระบบแบ่งโควตาน้ำตาลส่งออกกับน้ำตาลบริโภคในประเทศ หรือก็คือประกาศลอยตัวราคาน้ำตาลตามตลาดโลก เนื่องจากแรงกดดันจากการร้องเรียนของ บราซิล ต่อองค์การการค้าโลก (WTO) แต่ในทางปฏิบัติ กลุ่มโรงงานน้ำตาลและชาวไร่อ้อยก็ยังคงร่วมมือกันต่อไปเพื่อให้ปริมาณน้ำตาลสำหรับตลาดในประเทศไม่มากเกินไปเพื่อให้ราคายังคงสูงเช่นเดิม

ทั้งนี้ “ปัจจุบัน คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล (กอน.) ไม่มีอำนาจกำหนดราคาน้ำตาลในประเทศ แต่อาศัยการกล่าวอ้างว่า หากไม่กำหนดจะไม่สามารถคำนวณราคาอ้อยในเบื้องต้นได้” ซึ่งมีผลต่อชาวไร่อ้อย เพราะตามระบบการแบ่งผลประโยชน์ 70 : 30 กว่าที่จะได้เงินก็ต้องรอเคลียร์บัญชีสรุปยอดต่างๆ ใช้เวลากันตลอดทั้งปี เกษตรกรไม่ต้องการรอนานขนาดนั้น จึงต้องคำนวณราคาเบื้องต้นของอ้อยในแต่ละปี จึงเป็นที่มาของราคาน้ำตาลทราย 19-20 บาท ขณะที่กลุ่มโรงงานและเกษตรกรก็ควบคุมปริมาณน้ำตาลของตลาดในประเทศเพื่อให้ราคาสูงขึ้น

แต่การที่กระทรวงพาณิชย์พยายามเข้ามาควบคุมราคาเพื่อไม่ให้กระทบกับผู้บริโภคมากเกินไปก็อาจไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก เพราะเมื่อตลาดโลกราคาน้ำตาลสูง ผู้ผลิตก็อยากให้น้ำตาลที่ขายในประเทศขายได้ราคาสูงเช่นกัน ท้ายที่สุดก็อาจเกิด “ตลาดมืด” ขึ้นได้ กล่าวคือ หากไปดูตามร้านค้าโดยทั่วไปจะไม่พบน้ำตาลทรายวางขาย แต่จะมีแหล่งที่รับรู้กันอย่างไม่เป็นทางการ (เช่น หลังร้าน) ว่ามีน้ำตาลทรายขาย (และแน่นอนว่าราคาสูงกว่าที่รัฐควบคุม)

“ทางออก” ของเรื่องนี้ซึ่งรัฐสามารถทำได้ รศ.ดร.เจิมศักดิ์ กล่าวไว้ 2 วิธี 1.หนามยอกเอาหนามบ่ง ในเมื่อที่ผ่านมาช่วงที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกต่ำลง กลไกความร่วมมือระหว่างโรงงานกับชาวไร่อ้อยทำให้ราคาน้ำตาลในประเทศสูงขึ้นผ่านการควบคุมปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดในประเทศ ดังนั้นเมื่อราคาน้ำตาลในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น ก็ต้องใช้กลไกเดียวกันควบคุมไม่ให้มีการแห่ส่งออกน้ำตาลไปต่างประเทศให้ได้ด้วย หรือ 2.กำหนดกรอบราคาขั้นสูง-ขั้นต่ำของน้ำตาล โดยหากราคาสูงหรือต่ำกว่ากรอบนี้รัฐจะเข้าแทรกแซงเพื่อรักษาเสถียรภาพของราคา

“รัฐบาลสามารถกำหนดได้ว่าราคาน้ำตาลขั้นสูง-ขั้นต่ำแค่นี้ ถ้าราคามันวิ่งอยู่ในขั้นสูง-ขั้นต่ำ รัฐบาลไม่ยุ่ง ไม่เก็บภาษีส่งออก ปล่อยตามสบาย เมื่อใดก็ตามที่ราคามันสูงเกินขั้นสูง เราเก็บเพื่อกดลงมาไม่ให้ผู้บริโภคตาย แล้วเงินนั้นก็เอามาช่วยเวลาที่น้ำตาลมันตกต่ำกว่าข้างล่าง (ขั้นต่ำ) ถ้าสูงเกินเราเก็บ-ถ้าต่ำเกินเราแถม เพื่อเป็นเสถียรภาพของราคา สามารถทำได้แล้วไม่ต้องไปยุ่งว่าจะไปกำหนดราคาขายปลีก ควบคุมราคาแล้วมันก็เกิดตลาดมืด-เกิดลักลอบส่งออก” รศ.ดร.เจิมศักดิ์ กล่าว

รายงาน “แนวโน้มธุรกิจ/อุตสาหกรรม ปี 2566-2568: อุตสาหกรรมน้ำตาล” ของศูนย์วิจัยกรุงศรี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงจำนวนโรงงานน้ำตาลซึ่งรับแปรรูปผลผลิตจากอ้อย (Sugarcane Pressed) ณ ฤดูกาลผลิต 2564-65 (2021-22) ว่า มีจำนวน 57 โรง ในจำนวนนี้ กลุ่มบริษัทน้ำตาลไทยรุ่งเรือง (TRR) มีมากที่สุด 10 โรง ตามมาด้วย กลุ่มมิตรผล 7 โรง อันดับ 3 กลุ่มท่ามะกา (KSL) 5 โรง อันดับ 4 วังขนาย 4 โรง

อันดับ 5 มีเท่ากัน 2 ราย คือ ไทยเอกลักษณ์ (KTIS) กับ ชลบุรี กรุ๊ป คริสตอลลา (Cristalla) รายละ 3 โรง อันดับ 6 มีเท่ากัน 8 ราย คือ โคราชกรุ๊ป (KI), ครบุรีกรุ๊ป, ไทยกาญจนบุรี (TSM), น้ำตาลและอ้อยตะวันออก (ES), บ้านโป่งกรุ๊ป, กลุ่มมิตรเกษตร (MK), ราชบุรีกรุ๊ป และ ระยองกรุ๊ป รายละ 2 โรง นอกจากนั้นยังมีผู้ประกอบการอิสระรายอื่นๆ อีกรวมกัน 9 โรง

นี่คือ “โจทย์ใหญ่” ที่ท้าทายความสามารถของรัฐบาล “เสี่ยนิด” เศรษฐา ทวีสิน ที่ประกาศมุ่งทำงานแก้ไขปัญหาค่าครองชีพของประชาชน ว่าจะทำอย่างไรให้ราคาน้ำตาล (ซึ่งก็เป็นสินค้าอุปโภค-บริโภคสำคัญ) ลงตัวรับได้กันทุกฝ่าย ทั้งเกษตรกรชาวไร่อ้อยผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาล และผู้บริโภค!!!

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน

โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น

1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี

3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี

  •  

Breaking News

'ช่อง3'ร่วมมือ 'สภากาชาดไทย'เดินหน้ารณรงค์ให้คนไทยบริจาคโลหิต

'ไก่ วรายุฑ'ขอ'ตั้น พิเชษฐไชย'ออกอากาศ เราแต่งงานกันเถอะ!พร้อมเผยเหตุผลขายคฤหาสน์150ล้านไม่ได้

‘ทภ.2’ขอความร่วมมืองดเผยแพร่ภาพ-วิดีโอปฏิบัติการทางทหาร

‘อิ๊งค์’ยินดีฟังความเห็น‘ทักษิณ’ ประกาศ‘สงครามว้า’

Back to Top

ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.naewna.com
webmaster นางสาวอัญชะลี ไพรีรัก
ดูแลรับผิดชอบข่าว/ภาพ/โฆษณา/ข้อมูลอื่นที่เกียวข้องกับเว็บไซต์
กรรมการบริษัทฯ, กรรมการผู้มีอำนาจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าว/ภาพ/ข้อมูลใดๆในเว็บไซต์ทั้งสิ้น

Social Media

  • หน้าแรก |
  • เกี่ยวกับแนวหน้า |
  • โฆษณากับเรา |
  • ร่วมงานกับเรา |
  • ติดต่อแนวหน้า |
  • นโยบายข้อตกลง
Copyright © 2017 Naewna.com All right reserved