“ต้องยอมรับว่าลุงตู่ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของพรรครวมไทยสร้างชาติ โดยเฉพาะการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา แต่จริงๆตอนตั้งพรรคเราตั้งมาก่อนลุงตู่มานะ พอลุงตู่มากระแสขึ้น แต่ถามว่าวันนี้สิ่งที่ไปคือตัวลุงตู่ท่านไม่ต้องการทำการเมืองต่อท่านก็ลาออกจากทุกตำแหน่งในพรรครวมไปถึงสมาชิกพรรค แต่ท่านเองก็ยังส่งกำลังใจให้กับพรรค กับคนในพรรคอยู่ตลอด
แล้วสิ่งที่ยังอยู่กับพรรคก็คืออุดมการณ์ คือจิตวิญญาณของลุงตู่ยังอยู่กับพรรคเรียกได้ว่าเกือบ 100% แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม ความที่รวมไทยสร้างชาติเราต้องพยายามปรับให้พรรคไม่เป็นเพียงพรรคเฉพาะกิจที่เคยถูกปรามาสไว้ก่อนเลือกตั้ง เราต้องเป็นพรรคหลักในอนาคต ซึ่งพรรคหลักจะอยู่ได้ไม่ได้อยู่ด้วยการพึ่งพากระแสเฉพาะตัวบุคคล แต่เราเองก็ต้องสร้างจุดยืนแล้วก็สื่อสารกับประชาชน”
เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวในรายการ “แนวหน้า Talk” ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” วันที่ 28 พ.ย. 2566 ซึ่งมี ปรเมษฐ์ ภู่โต ทำหน้าที่ดำเนินรายการ ถึงทิศทางของพรรคที่จะต้องเดินต่อแม้ไม่มี “ลุงตู่-บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาชูโรงนำพรรคอีกต่อไป หลัง พล.อ.ประยุทธ์ ได้ประกาศวางมือทางการเมืองไปเมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2566 หรือเกือบ 2 เดือน นับจากวันที่ 14 พ.ค. 2566 ที่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) โดยพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ สส. ในสภาเป็นอันดับ 5 จำนวน 36 คน
ซึ่งแม้จะไม่มี พล.อ.ประยุทธ์ แต่ทีมงานหลักๆ ของพรรคก็ยังอยู่กันครบ และหลังเลือกตั้งตนก็ทำงานไม่หยุดเพราะด้วยความที่เป็นพรรคใหม่ก็ต้องสื่อสารให้มาก เพราะคนในพรรคมาจากต่างที่กันก็ต้องใช้เวลาปรับเข้าหากัน เช่น หลังจัดตั้งรัฐบาล บางคนได้เป็นรัฐมนตรีก็คงถูกใจ แต่คนที่ไม่ได้เป็นก็อาจเสียใจ อย่างตนไม่ได้เป็นเพราะยังมีคดีความต้องต่อสู้อยู่ ก็ต้องพูดคุยกัน แต่ทุกวันนี้ทุกคนมีความมั่นใจในทิศทางของพรรค และให้คำมั่นกันว่าจะทำงานให้พรรคต่อไปเพื่อให้พรรคเติบโตขึ้น
แน่นอนว่าการจะเปลี่ยนแปลงทันทีแบบกลับหลังหัน 180 องศา คงทำไม่ได้ ซึ่งสิ่งที่ทำให้คนรักและศรัทธาในตัว พล.อ.ประยุทธ์ ก็จะต้องถูกนำมาเติมให้เป็นบุคลิกของพรรค นั่นคือ “การทำงานด้วยความสุจริต ซื่อสัตย์ต่ออุดมการณ์ของตนเอง และมีความจริงใจโดยเอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้งแม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์” สิ่งนี้จะเป็นฐานและตัวตนที่พรรคจะต้องสร้างขึ้นมา แต่ด้านประสิทธิภาพการทำงานและด้านการสื่อสารในยุคนี้ก็ต้องปรับปรุงให้ดีขึ้น
กับคำถามเรื่องบทเรียนจากการเลือกตั้งปี 2566 ซึ่งต้องยอมรับ พรรคก้าวไกลเป็นพรรคการเมืองที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด โดยนอกจากความโดดเด่นในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) สร้างกระแสความนิยมแล้วยังมีจุดยืนของพรรคที่ชัดเจน แล้วบทบาทหรือจุดยืนของพรรครวมไทยสร้างชาติควรจะเป็นอย่างไร เรื่องนี้เอกนัฏ ให้ความเห็นว่า หากมองแบบแยกแถบสี (Spectrum) ทางการเมือง จะเห็นภาพชัดว่าพรรครวมไทยสร้างชาติมีจุดยืนค้ำจุดสถาบันหลักของชาติ และยืนเคียงข้าง พล.อ.ประยุทธ์ ตลอดมา แน่นอนว่าอยู่ตรงข้ามกับพรรคก้าวไกล
“วิธีการนำเสนอ (ของพรรครวมไทยสร้างชาติ) บางคนบอกขวาตกขอบไปหรือเปล่า? ทีนี้เราก็พยายามขยับเข้ามาตลาดตรงกลางมากขึ้น จุดยืนเรื่องของเศรษฐกิจ เรื่องของวัฒนธรรม-สังคม ในส่วนของรวมไทยสร้างชาติ ผมว่าค่อนข้างชัดเจนนะ เราไม่ไปหมกมุ่นอยู่กับนโยบายประชานิยมสุดโต่ง ดันรัฐสวัสดิการเต็มรูปแบบ แบบที่ก้าวไกลเขาทำหรือพรรคอื่นเขาโฆษณา
เราส่งเสริมเรื่องการค้าเสรี สร้างศักยภาพ สร้างขีดความสามารถให้กับเศรษฐกิจของประเทศ วางรากฐานทั้งในเรื่องที่จับต้องได้ ถนนหนทางที่ลุงตู่ทำ รวมไปถึงกฎหมายซึ่งผมเรียกว่าเป็น Soft Infrastructure (โครงสร้างพื้นฐานอย่างอ่อน) ที่สำคัญของประเทศ ผมว่าจุดยืนเราค่อนข้างชัดเจนนั่นคือเหตุผลว่าทำไมการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาถึงแม้เป็นการเลือกตั้งครั้งแรก เราก็ได้มา 4.7 ล้านคะแนน ถ้านับในส่วนคะแนนบัญชีรายชื่อมาเป็นอันดับ 3 แต่ส่วนที่เราต้องพัฒนาเพิ่มขึ้นไปผมว่าเราก็มีโอกาส” เอกนัฏ กล่าว
เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ ยืนยันว่า ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2566 บุคลิกและจิตวิญญาณของ พล.อ.ประยุทธ์ นั้นขายได้ในระดับหนึ่ง แต่มีคนกลุ่มหนึ่งเข้าใจผิด เพราะด้วยความที่อยู่กับ พล.อ.ประยุทธ์ มา8-9 ปี ก่อนเลือกตั้งจึงเกิดความรู้สึกอยากเปลี่ยน แต่สำหรับตนมองว่าเป็นความคิดชั่ววูบ คือไม่ได้ไม่ชอบแต่อาจรู้สึกว่าพอได้แล้ว แต่เมื่อการเลือกตั้งผ่านพ้นไป จะเห็นว่าสิ่งที่มีอยู่ทุกวันนี้เป็นผลงานของ พล.อ.ประยุทธ์ ดังนั้นพรรครวมไทยสร้างชาติก็ต้องรักษาจิตวิญญาณ วิธีคิดและวิธีการทำงานของ พล.อ.ประยุทธ์ ไว้เป็นแนวทางของพรรค
ขณะที่นโยบายด้านต่างๆ แม้ปัจจุบันเส้นแบ่งอุดมการณ์หรือจุดยืนของพรรคการเมืองจะคลุมเครือไม่ได้ชัดเจนอย่างในอดีต แต่ก็ยังพอแบ่งได้คร่าวๆ เช่น ด้านความเป็นชาตินิยม ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ซึ่งแต่ละพรรคต้องแสดงจุดยืนของตนเองให้ชัดเจน สำหรับพรรครวมไทยสร้างชาติ เรื่องชาตินิยมคงไม่ต้องอธิบายเพราะพรรคมีจุดยืนปกป้อง 3 สถาบันหลักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นที่ชัดเจนอยู่แล้วส่วนจุดยืนด้านเศรษฐกิจและสังคม จริงๆ หากอ่านนโยบายให้ดีก็จะเห็นชัด แต่ก็ต้องการนำเสนอให้ชัดเจนขึ้น
อนึ่ง “กระแสการเมืองในยุคปัจจุบันเปลี่ยนแปลงเร็วมาก” เช่น ก่อนการเลือกตั้งในปี 2562 จะมีใครบ้างที่เชื่อว่าผลการเลือกตั้งครั้งนั้น พรรคเกิดใหม่ถึง 2 พรรค คือพรรคพลังประชารัฐกับพรรคอนาคตใหม่ จะได้ สส. จำนวนมาก ส่วนการเลือกตั้งปี 2566ก่อนการเลือกตั้งคงไม่มีใครเชื่อว่าพรรคก้าวไกลจะมาเป็นอันดับ 1แม้กระทั่งพรรครวมไทยสร้างชาติที่ลงสนามเลือกตั้งครั้งแรกก็ถูกมองว่าคงไม่ได้ สส. แบบแบ่งเขตแม้แต่คนเดียวถึงจะอาศัยกระแสของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ตาม แต่สุดท้ายก็ได้ สส. มาหลายพื้นที่ อย่างภาคใต้ที่มีเจ้าภาพแข็งก็ยังเอาชนะมาได้
ดังนั้น “การคาดการณ์ผลการเลือกตั้งครั้งต่อไปจึงไม่ใช่เรื่องง่าย” ซึ่งพรรคการเมืองอาจมีจำนวนน้อยลง แต่พรรคที่ยังอยู่จะมีขนาดเป็นอย่างไรและมีใครบ้างก็เป็นเรื่องที่ต้องแข่งขันกันและต้องรอประเมินกันต่อไป แต่ตนเชื่อว่าพรรครวมไทยสร้างชาติจะอยู่ในกลุ่มนั้นอย่างแน่นอนและจะต้องโตขึ้นด้วย เพราะแม้กระแสจะคาดเดาลำบาก แต่การทำงานสามารถทำได้ เช่น การตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาลชุดปัจจุบันก็เพื่อสร้างหลักประกัน 2 เรื่อง คือไม่แก้ไขหรือยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญในลักษณะแก้ไขทั้งฉบับ
“พอเข้ามาได้รับมอบหมายให้ดูแล 4 กระทรวง วันนี้เราก็สร้างผลงาน ในส่วนของการเมืองก่อนการเลือกตั้งครั้งที่แล้วเรามีเวลาเพียงไม่กี่เดือนในการเตรียมความพร้อม การจัดตัวผู้สมัคร การจัดตั้ง การวางแผนการทำงาน สร้างคะแนนนิยมในพื้นที่ เที่ยวนี้เราจะมีเวลานานกว่าเดิม เราก็ทำอยู่ทุกวัน ผมเชื่อว่าเราโตขึ้นแน่นอน เที่ยวนี้ 36 (จำนวน สส.) เที่ยวหน้าเป็นไปได้เราอยากขยับขึ้นมา อย่างน้อยที่สุด 60-70 โดยที่กระแสเป็นสิ่งที่ประเมินยาก ใครจะไปรู้ เกิดก่อนเลือกตั้งสัก 4 เดือน 5 เดือน มันคลิกขึ้นมา มันก็มีโอกาสก้าวกระโดดเป็นพรรคใหญ่ได้” เอกนัฏ กล่าว
ส่วนประเด็นอิทธิพลของสื่อสังคมออนไลน์กับการสร้างกระแสทางการเมือง ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากกับผู้สมัครรับเลือกตั้ง สส. แบบแบ่งเขตอย่างมาก หลายคนแม้เคยเป็น สส. และทำงานในพื้นที่มาต่อเนื่องแต่ก็ยังแพ้ เรื่องนี้ เอกนัฏ ให้ความเห็นว่า เป็นเรื่องของ “จังหวะ” อย่างการเลือกตั้งทั้งปี 2562 และ 2566 สื่อสังคมออนไลน์มีอิทธิพลค่อนข้างมากโดยเฉพาะในเขตเมือง อย่างกรุงเทพฯ-ปริมณฑล หรือเมืองในภาคตะวันออก ไม่ว่าผู้สมัคร สส. จะทำงานหนักขนาดไหน ลงพื้นที่ทุกวัน หรือมีบ้านใหญ่สนับสนุน แต่ถึงเวลากลับแพ้กระแสของพรรคก้าวไกล
อย่างไรก็ตาม “การมีกระแสไม่ได้แปลว่าจะต้องยั่งยืน” แม้การเลือกตั้งปี 2566 จะเป็นแบบหนึ่ง แต่การเลือกตั้งครั้งต่อไปก็ไม่จำเป็นต้องเป็นแบบเดียวกัน อย่างเท่าที่ตนเคยพูดคุยกับประชาชนที่เลือก สส. ตามกระแสหรือตามสื่อสังคมออนไลน์ หลายคนเริ่มรู้สึกผิดหวัง เพราะก่อนเลือกตั้งความคาดหวังไว้สูงมาก แต่เอาเข้าจริง สส. ที่เลือกมากลับไม่เคยลงพื้นที่ไปรับฟังปัญหาของประชาชนคนในพื้นที่ ดังนั้น “ผลงานที่จับต้องได้ในโลกความจริงจึงสำคัญ” อย่าไปหลงระเริงแต่กับการสร้างกระแสบนโลกออนไลน์
ขณะที่คำถามว่าจะมีอะไรหยุดกระแสของพรรคก้าวไกลได้บ้าง ตนมองว่าก็ต้องไปดูผลประกอบการของพรรคก้าวไกลเองด้วย ว่าการที่ได้ สส. จำนวนมากที่สุดถึง 150 คน หลังจากนั้นเป็นอย่างไรบ้าง แต่ก็ต้องบอกว่า “สิ่งที่พรรคก้าวไกลทำผิดพลาด” อาทิ1.การเลือกไปสุดทางกับเรื่องมาตรา 112 โดยไม่ยอมถอย ทำให้ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้กับ 2.การมากับกระแสไม่ได้หมายความว่าจะเป็นตัวจริง เห็นได้จากในเวลาต่อมาหลายคนเกิดปัญหาและต้องออกจากพรรคไป ซึ่งพรรคก็ต้องพิสูจน์ให้สังคมเห็นว่าการประกอบร่างของพรรคและอนาคตนั้นยั่งยืนหรือไม่
อีกด้านหนึ่ง มักมีการพูดกันว่า “วิถีการเมืองของชาวกรุงเทพฯ นิยมเลือกพรรคการเมืองแบบเปลี่ยนไป-มา” เช่น ก่อนหน้านี้ก็นิยมพรรคประชากรไทย จากนั้นก็เป็นพรรคพลังธรรม พรรคไทยรักไทย และพรรคประชาธิปัตย์ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม “หากพรรคได้รับความนิยมใกล้เคียงกันมากๆตัวตัดสินจะอยู่ที่ผู้สมัคร สส. ของแต่ละเขต” และกระแสเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไป-มา บางยุคที่พอกระแสไปสุดโต่งแต่คนเลือกแล้วผิดหวังก็อาจกลับไปเลือก สส. ที่เกาะติดพื้นที่ ทำงานเป็นชิ้นเป็นอันจับต้องได้ หรือเลือกอย่างใช้เหตุผลแทนที่การใช้อารมณ์
“ขณะนี้เท่าที่ผมสัมผัสได้ ก่อนหน้านี้ก้าวไกลได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มเด็กไปจนถึงอายุผมว่าเผลอๆ สี่สิบกว่าด้วยซ้ำ ตอนนี้ Aged Gap (ช่วงอายุ) สามสิบถึงสี่สิบกว่า เริ่มรู้สึกถอยจากการตัดสินใจเดิม เพราะว่าไปดูเรื่องพฤติกรรม อย่างกรณีการคุกคามทางเพศ หรือเรื่อง ม.112 สุดโต่งมันไม่ปรากฏก่อนเลือกตั้ง มันเพิ่งมาหลังเลือกตั้ง แน่นอนพอสิ่งเหล่านี้ออกมามันก็ทำให้ส่งผลกระทบต่อคะแนนนิยมกับฐานเสียงในกลุ่ม ก็ต้องเปิดมา แต่ฐานเสียงกลุ่มนี้พอออกจากพรรคลำดับ 1 คราวที่แล้วคือก้าวไกล จะไปพรรคไหนคราวนี้ก็ต้องมาดูแล้ว ถามว่าจะไปเพื่อไทยไหมผมว่าก็ยังไม่ชัดเจน หรือจะไปที่ไหนอันนี้ก็ต้องมาแข่งกัน”เอกนัฏ ระบุ
แต่สำหรับพรรครวมไทยสร้างชาติเอกนัฏ ตอบอย่างไม่อ้อมค้อมว่า “คนส่วนใหญ่ที่เลือกพรรครวมไทยสร้างชาติคือผู้สูงอายุ เพราะทนต่อกระแสความเบื่อ”ซึ่งคราวที่แล้วเป็นเรื่องน่าเสียดาย ทั้งๆ ที่พล.อ.ประยุทธ์ มีผลงานมากมาย และวันนี้พอไม่มี พล.อ.ประยุทธ์ คนก็เริ่มโหยหา เพราะสิ่งที่มีอยู่วันนี้ก็เป็นผลงานของท่าน เพียงแต่ก่อนจะมีการเลือกตั้งเมื่อเดือน พ.ค. 2566 เกิดความรู้สึกที่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ อยู่มานาน 8-9 ปี แล้วอยากเปลี่ยน
ดังนั้นแล้ว พรรครวมไทยสร้างชาติจะได้ฐานคะแนนเสียงที่มีความมั่นคงก็คือผู้สูงอายุ แต่ตนคิดว่าเมื่อการเลือกตั้งผ่านไป วันนี้ตลาดเปิด เป็นโอกาสให้พรรคได้เข้าถึงกลุ่มคนที่มีอายุต่ำลงไป แน่นอนว่าวิธีการสื่อสารต้องเปลี่ยน แต่ตนยังเชื่อในจุดยืนแบบที่พรรคเป็น โดยช่วงเลือกตั้งเห็นว่ามีการอาศัยเกาะกระแสความเปลี่ยนแปลงนำหน้า ทุกคนต้องการเปลี่ยนแปลง อยากได้สิ่งที่ดีขึ้น ทุกคนเห็นปัญหาหมด
แต่คำตอบที่ผ่านการนำเสนอของพรรคที่ได้คะแนนสูง ให้พูดกันตรงๆ คือพรรคก้าวไกล ตนมองว่าก็ยังไม่ใช่ เช่น ไปบอกให้ทำแบบที่แทบจะเหมือนรัฐสวัสดิการ เพิ่มเงินผู้สูงอายุเป็น 3,000 บาทต่อเดือน ตนเห็นว่าไม่ใช่ แต่เห็นว่าประเทศไทยต้องเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ต้องลงทุนกับโครงสร้างพื้นฐาน ต้องปรับแก้กฎระเบียบต่างๆ ให้ทันสมัย และอำนวยต่อการทำมาค้าขาย
ส่วนการเข้าร่วมกับรัฐบาลชุดปัจจุบัน พรรครวมไทยสร้างชาติมีจุดยืน 1.ไม่ยุ่งกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 2.ไม่เอาพรรคก้าวไกล 3.การแก้รัฐธรรมนูญต้องไม่ยุ่งกับหมวด 1 - หมวด 2 และ 4.ต้องไม่มีเรื่องทุจริตประพฤติมิชอบ ซึ่งเมื่อเข้ามาพรรคก็ได้รับมอบหมายงานใน 4 กระทรวง อาทิ กระทรวงพลังงาน จะเห็นว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวง คือ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ก็ทำงานสานต่อจากที่พล.อ.ประยุทธ์ เคยทำไว้ และกระทรวงอื่นๆก็เช่นกัน ต่อไปก็จะมีการสื่อสารออกมา
ทั้งนี้ อะไรที่คิดว่าไม่ควรทำเราก็สื่อสาร แต่ทำแบบมีมารยาทคือพูดกันตรงๆ ตัวต่อตัว แต่การสื่อสารออกสื่อไปยังสาธารณชนก็ต้องรักษามารยาทในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล แต่การเป็นพรรคร่วมนั้นมีข้อดี 1.มีโอกาสได้ทำงานกับ 2.เป็นหลักประกัน ซึ่งหากไม่มีพรรครวมไทยสร้างชาติ บางเรื่องที่เรากังวลอาจถูกดำเนินการไปแล้วก็ได้ เช่น มาตรา 112 หรือเรื่องแก้รัฐธรรมนูญที่ตอนแรกบอกจะแก้ทุกข้อปัจจุบันก็เงียบไปแล้ว
“เรายังต้องส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ยังต้องเพิ่มศักยภาพขีดความสามารถของทรัพยากรมนุษย์ในประเทศ ดึงนักลงทุนเข้ามาใหม่ๆ เอาองค์ความรู้ใหม่ๆ มีหลายเรื่องที่ต้องทำที่ไม่ใช่เอาเงินไปแจกเป็นประชานิยมและเพิ่มในส่วนของสวัสดิการ ผมว่าคำตอบมันต้องใช่ด้วยนะ แล้วการเปลี่ยนแปลงที่จะได้มันต้องทำการบ้าน มีการวางแผน ต้องใช้ประสบการณ์ในการทำและดำเนินการ ผมยังคิดว่าพรรครวมไทยสร้างชาติยังให้คำตอบที่พรรคอื่นยังไม่ให้ ผมยังมีความรู้สึกแบบนั้น” เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติกล่าว
หมายเหตุ :สามารถติดตามรายการ “แนวหน้า Talk” ดำเนินรายการโดย บุญยอด สุขถิ่นไทย ได้ผ่านทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ ช่วงหัวค่ำโดยประมาณ!!!
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี