ปลอมทั้งนั้น! ห่วงปชช.ถูกหลอกซ้ำซ้อน ตำรวจย้ำไม่มีนโยบายเปิดเพจเฟซบุ๊กรัลแจ้งความมิจฉาชีพออนไลน์
วันที่ 13 มีนาคม 2567 ภาคีโคแฟค (ประเทศไทย) ร่วมกับหลายองค์กร จัดอบรมโครงการ “Fact-checker หญิงไทยใจทันสื่อ” ที่ Clazy Cafe The Season Mall BTS สนามเป้า เมื่อวันที่ 12 มีนาคม โดยเชิญ พ.ต.ต.วีระพงษ์ แนวคำดี สารวัตรกลุ่มงานป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยี กองบังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) มาบรรยายเรื่อง “รู้ทันมิจฉาชีพออนไลน์ อย่าเพิ่งเชื่อ อย่าเพิ่งแชร์ อย่าเพิ่งโอน” โดย พ.ต.ต.วีระพงษ์ ได้แนะนำวิธีการดูว่าเพจเฟซบุ๊กใดเป็นเพจจริง หรือเพจใดเป็นเพจต้องสงสัยว่าอาจเข้าข่ายเพจปลอม
กล่าวคือ บนหน้าเพจให้เลือกหมวด “เกี่ยวกับ” ตามด้วย “ความโปร่งใสของเพจ” จะเห็นวันที่ตั้งและเปลี่ยนชื่อเพจ รวมถึงประเทศที่อยู่ของแอดมินหรือผู้ดูแลเหตุ ซึ่งเพจที่มีลักษณะน่าสงสัย เช่น การเปลี่ยนชื่อไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกันเลย ดังกรณีที่ดาราดัง ชาคริต แย้มนาม ออกมาเปิดเผยว่าถูกปลอมเพจไปแอบอ้างหลอกขายทุเรียน โดยเมื่อเข้าไปดูพบว่า เพจปลอมนั้นเคยตั้งเป็นชื่ออื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับชาคริต แย้มนาม และกิจการสวนทุเรียนหรือขายทุเรียน
ในขณะที่เมื่อไปดูเพจจริงของ วุฒิธร มิลินทจินดา หรือวู้ดดี้ พิธีกรชื่อดัง เจ้าของรายการเกิดมาคุย ซึ่งเปิดมานานกว่า 10 ปี แม้จะเปลี่ยนชื่อเพจมาแล้วหลายครั้ง แต่ทุกครั้งล้วนเป็นชื่อตนเองบ้าง ชื่อตนเองบวกชื่อรายการบ้าง ไม่มีชื่ออื่นที่แปลกออกไป นอกจากนั้น หากแป็นเพจปลอมก็มักจะพบว่า ตัวเพจอ้างทำธุรกิจในไทย แต่แอดมินทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดอยู่ต่างประเทศ อีกทั้งจำนวนยอดผู้ติดตามเพจก็รับประกันไม่ได้ว่าเป็นเพจจริงหรือปลอม เพราะเพจเฟซบุ๊กสามารถซื้อ-ขายกันได้ ที่ผ่านมาก็มีคนที่ทำเพจให้มียอดผู้ติดตามมากๆ แล้วก็ขายให้ผู้อื่นนำไปใช้ต่อ
“แต่จะบอกว่า ณ ปัจจุบันนี้ คนร้ายไปปิดข้อมูลชื่อกับคนจัดการเพจเรียบร้อยแล้ว แต่อยากจะบอกว่าถ้าของจริงไม่ปิด เพราะอะไร? เพราะมันคือความเชื่อมั่นของลูกค้า ของจริงไม่ปิด เหมือนท่านขายของมาเป็นสิบๆ ปี ท่านจะบอกหรือว่าขายเมื่อวาน? มันไม่ใช่! คนขายของท่านสังเกตดู ในเพจคนขายของ ขายของราคา 5 บาท เขาก็โพสต์สลิป ขายของได้ 10 บาท เขาก็โพสต์สลิป เพื่ออะไร? คือเขาสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า ว่า 5 บาท 10 บาทเขาก็ขาย ส่งจริง! เห็นไหมครับ? นี่คือเครดิต” พ.ต.ต.วีระพงษ์ กล่าว
พ.ต.ต.วีระพงษ์ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนั้นให้สังเกตเครื่องหมายถูกสีฟ้า หรือ Meta Verify ซึ่งหมายความว่าเพจนั้นได้รับการรับรองจากเมตา ผู้ให้บริการเฟซบุ๊กว่าเป็นเพจจริง และเครื่องหมายดังกล่าวต้องอยู่ต่อท้ายชื่อเพจเท่านั้น เพราะมีมิจฉาชีพใช้วิธีตัดต่อภาพ นำเครื่องหมายถูกสีฟ้าไปตัดต่อใส่ไว้ในรูปโปรไฟล์ของเพจ และที่ต้องระวังคือ เพจปลอมจะมีการซื้อโฆษณา กลายเป็นเมื่อถูกเพจปลอมหลอกแล้วพิมพ์คำค้นหาว่าถุกหลอกแล้วทำอย่างไร ก็จะเห็นเพจรับแจ้งความร้องทุกข์ออนไลน์ปลอมขึ้นมาลำดับแรกๆ ทำให้หลงเชื่อถูกหลอกซ้ำซ้อนอีก
ซึ่งต้องย้ำว่า ทางตำรวจไม่มีนโยบายเปิดเพจเฟซบุ๊กสำหรับรับแจ้งความกรณีถูกหลอกลวงโดยมิจฉาชีพออนไลน์ โดยผู้ตกเป็นเหยื่อถูกหลอกโอนเงินไปแล้ว ให้โทรศัพท์ไปที่สายด่วนตำรวจไซเบอร์ 1441 เท่านั้น หรือหากยังโทร 1441 ไม่ติด ก็ให้โทรไปที่ธนาคารก่อนเพื่อให้อายัดบัญชี แล้วจะได้ Bank Case ID มาจากธนาคาร สำหรับนำไปกรอกข้อมูลในเว็บไซต์ https://thaipoliceonline.go.th/ ซึ่งเป็นระบบรับแจ้งความสำหรับคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีของ สตช. หรือเดินทางไปแจ้งความเองก็ได้ที่สถานีตำรวจ
“ถ้าท่านโทรได้ Bank Case ID แล้ว ท่านต้องไปแจ้งความภายใน 72 ชั่วโมง พอท่านแจ้งความภายใน 72 ชั่วโมง พนักงานสอบสวนจะแจ้งธนาคารไปว่า Bank Case ID นี้มาแจ้งความแล้ว หลังจากที่ธนาคารได้รับการตอบรับจากผู้เสียหาย ธนาคารจะอายัดบัญชีต่ออีก 7 วัน เพื่อที่จะรอหมายอายัดถาวรจากตำรวจ ต้อง 72 ชั่วโมงนะ แต่ถ้าเผื่อไม่ทัน 72 ชั่วโมง ไม่มีปัญหา ท่านก็ยังแจ้งความได้อยู่ แต่ธนาคารเขา Hold (หยุด) ไว้ได้ 72 ชั่วโมง” พ.ต.ต.วีระพงษ์ กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี