ยังคงอยู่กับการบรรยายข้อค้นพบจากงานวิจัยของ ศยามล เจริญรัตน์ รองผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการประชุมเชิงปฏิบัติการนำเสนอผลงานวิจัย เพื่อสนับสนุนงานด้านลดอุปสงค์ยาเสพติด ครั้งที่ 1 จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เมื่อเดือน มี.ค. 2567 ที่ผ่านมา โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เราได้นำเรื่องเล่าจากงานวิจัยเกี่ยวกับ “การใช้สารเสพติดในกลุ่มแรงงานนอกระบบในเขตเมือง” มานำเสนอ (หน้า 5 ฉบับวันเสาร์ที่ 30 มี.ค. 2567)
ส่วนฉบับนี้จะเป็นเรื่องราวว่าด้วย “การพัฒนาตัวเครื่องมือวัดคุณภาพชีวิตของผู้เสพยา” โดย ศยามล ฉายภาพความสำคัญของการพัฒนาเครื่องมือนี้ ว่า ปัญหายาเสพติดถูกยกเป็นวาระแห่งชาติและดำเนินมาตรการต่างๆ มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน แต่ดูเหมือนจะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ โดยเฉพาะในกลุ่ม “ผู้เสพ” ที่เมื่อถูกจับกุมดำเนินคดีก็เกิดปัญหาเรือนจำแออัด-นักโทษล้น ต่อมาเมื่อปรับนโยบายสู่การ “มองผู้เสพเป็นผู้ป่วย” ให้นำตัวไปบำบัดรักษา แต่ก็มีคำถามตามมาว่าบำบัดแล้วดีขึ้นจริงหรือไม่?
“บำบัดแล้วคุณภาพชีวิตดีขึ้นจริงไหม? เขากลับมาอยู่ในสังคมได้จริงหรือเปล่า? เวลาโดนจับเป็นผู้เสพก็จะโยนเข้าบำบัด พอบำบัดแล้วคาดว่าต้องมีอะไรดีๆ เกิดขึ้น แต่คำถามคือมันไม่มีการวัดเลยที่ผ่านมาว่ามันดีหรือไม่ดีจริง มันแค่วัดว่าผ่านการบำบัดแล้วสถานการณ์สุขภาพจิต-สุขภาพกายดีขึ้น แต่คุณภาพชีวิตเขาดีขึ้นจริงหรือเปล่า อันนี้เป็นคำถามของเรา” ศยามล กล่าว
สิ่งที่อยากได้จากงานวิจัยนี้คือ สามารถรับรู้ปัจจัยที่นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้ที่เคยใช้ยาเสพติด นำไปสู่การพัฒนานโยบายแบบบูรณาการและเป็นนโยบายที่ยั่งยืน โดยศึกษากลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ (ต่างจากเรื่องแรงงานนอกระบบที่ศึกษาเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล) แบ่งเป็น 4 ภาค (เหนือ-ตะวันออกเฉียงเหนือ-กลาง-ใต้) แยกพื้นที่เมือง-ชนบท และกลุ่มที่ผ่านกับไม่ผ่านกระบวนการบำบัดรักษา
จากการสำรวจแบบวัดที่เกี่ยวข้อง พบคำถามแยกได้ถึง 7 เรื่อง คือ 1.ข้อมูลทั่วไป 2.ภาพรวม (ความพอใจกับชีวิต) 3.ร่างกาย (สุขภาพ-อาการป่วย) 4.จิตใจ (ความรู้สึก-จิตวิญญาณ-ความเชื่อ) 5.อิสรภาพ-ศักยภาพ (การทำงาน-การตัดสินใจ) 6.ความสัมพันธ์ทางสังคม (ความไว้ใจ-ความรู้สึกเป็นภาระ-ความรู้สึกอยากมีความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น) และ 7.สิ่งแวดล้อม (เศรษฐกิจ-การใช้ชีวิต-การศึกษา-การทำงาน) เป็นต้น สรุปเป็นคำถาม 5 ด้าน 17 ข้อ ดังนี้
“หมวดร่างกาย 3 ข้อ” 1.ท่านพอใจกับสุขภาพของท่านตอนนี้เพียงใด 2.ท่านสามารถเข้ารับการรักษาได้ตามอาการเจ็บป่วยมาก-น้อยเพียงใด 3.ท่านพักผ่อนเพียงพอมาก-น้อยเพียงใด “หมวดจิตใจ 3 ข้อ” 1.ท่านพึ่งพอใจในชีวิตมาก-น้อยเพียงใด (เช่น มีความสุข มีความหวัง) 2.ท่านพึงพอใจกับตนเองมาก-น้อยเพียงใด (เช่น หน้าตา ความสามารถ) 3.ท่านมีความรู้สึกไม่ดี (เช่น เศร้า สิ้นหวัง กังวล) บ่อยแค่ไหน
“หมวดศักยภาพ 2 ข้อ” 1.ท่านสามารถตัดสินใจได้อย่างอิสระด้วยตนเองได้มาก-น้อยเพียงใด 2.ท่านสามารถทำงานที่ได้รับมอบหมายได้มาก-น้อยเพียงใด “หมวดความสัมพันธ์ 3 ข้อ” 1.ท่านได้รับการสนับสนุนและความเข้าใจจากครอบครัวคนที่อยู่ด้วยมาก-น้อยเพียงใด 2.ท่านมีเพื่อนหรือคนรอบข้างที่ไว้ใจได้และให้การช่วยเหลือได้มาก-น้อยเพียงใด 3.ท่านรู้สึกชีวิตมีความมั่นคงปลอดภัยมาก-น้อยเพียงใด
“หมวดสิ่งแวดล้อม 5 ข้อ” 1.ท่านมีเงินพอใช้ตามความจำเป็นมาก-น้อยเพียงใด 2.ท่านสามารถเข้าถึงหรือมีงานที่ท่านอยากทำมาก-น้อยเพียงใด 3.รอบตัวท่านมีสภาพแวดล้อมที่ดีเหมาะสมต่อท่านมาก-น้อยเพียงใด 4.ท่านมีที่พักอาศัยที่ดี มีสภาพบ้านเรือนหรือที่อยู่อาศัยของท่านเหมาะสมเพียงใด และ 5.ท่านคิดว่าท่านสามารถเข้าเรียนเพิ่มทักษะด้านอาชีพหรือเรียนต่อหากต้องการได้มาก-น้อยเพียงใด และ “หมวดบทสรุป 1 ข้อ”1.ท่านมีระดับคุณภาพชีวิตเช่นไร โดยแต่ละข้อจะแบ่งเป็น 5 ระดับ (ไม่เลย-เล็กน้อย-ปานกลาง-มาก-มากที่สุด)
จากนั้นนำคำถามเหล่านี้ไปสำรวจกลุ่มตัวอย่างรวม 406 คนแบ่งเป็นผู้เคยเข้า “ระบบข้อมูลการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดของประเทศ (บสต.)” 337 คน และไม่เคยเข้าระบบ 69 คน มีข้อค้นพบดังนี้ 1.ด้านร่างกาย จิตใจ ศักยภาพและความสัมพันธ์ ส่วนใหญ่อยู่ในระดับปานกลาง กับ2.ผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดที่เคยผ่านกระบวนการ บสต. ค่อนข้างมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าผู้ที่ไม่ได้เข้ากระบวนการ
งานวิจัยยังมีการสัมภาษณ์เชิงลึกกลุ่มตัวอย่าง 50 คน แบ่งเป็นชาย 43 คน หญิง 7 คน อายุระหว่าง 16-66 ปี แบ่งกลุ่มเมือง-ชนบท และกลุ่มที่เข้ากับไม่เข้ากระบวนการ บสต. พบว่า 1.อายุของการเริ่มใช้ยาเสพติดต่ำสุดที่พบคือ 10 ปี สะท้อนอายุของผู้เริ่มเสพยาลดลง (และเป็นไปได้ที่ในความเป็นจริงอาจมีเด็กอายุน้อยกว่านี้ที่เริ่มเสพยา) 2.ปัจจัยส่วนบุคคลที่สำคัญที่สุดคือความอยากรู้อยากลอง แต่การแสวงหายามาเสพจะขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมรอบตัวด้วย เช่น มีเพื่อนหรือสมาชิกในครอบครัวใช้ยาเสพติดหรือไม่ ในชุมชนมีผู้ค้ายาเสพติดหรือไม่ เป็นต้น
“เคสสัมภาษณ์หลายเคสตอบเราว่าเพื่อนมาใช้ (ยาเสพติด)ที่ห้องบ่อยๆ ช่วงโควิด ไม่มีงานทำ แล้วเขาเป็นฟรีแลนซ์ ทำงานที่บ้าน เพื่อนมาใช้ที่ห้องตอนแรกไม่เคยยุ่งเกี่ยวเลย เพื่อนก็ชวนทุกวัน จนมีวันหนึ่งรู้สึก “ลองหน่อยเหอะ..ดูเพื่อนมันมีความสุขเหลือเกินกับการใช้ยา” ตั้งแต่นั้นมาก็ติดแล้วก็ใช้ยาต่อมาเลย” ศยามล ยกตัวอย่าง
3.ปัจจัยด้านวิถีชิวิตที่สำคัญที่สุดคือบุคคลใกล้ตัว เช่น คนรักใช้ยาเสพติดแล้วตนเองก็ใช้บ้าง หรือรุ่นพี่ใช้ยาเสพติด แม้รุ่นพี่จะเตือนว่าอย่าเสพอย่าลอง แต่รุ่นน้องเห็นว่ารุ่นพี่ใช้แล้วดูเท่ก็ลองเสพบ้าง 4.ปัจจัยด้านเครือข่ายสังคมและชุมชน หากในละแวกที่พักอาศัยยังมีแหล่งค้ายาเสพติดก็จะส่งผลต่อการกลับไปใช้ยาเสพติด 5.ปัจจัยการใช้ชีวิตและการทำงาน ทั้งโดยสภาพการทำงานที่หนัก หรือสภาพจิตใจที่ต้องการหลีกหนีจากชีวิตจริงที่เป็นอยู่
ซึ่งนอกจากยาเสพติดที่ผิดกฎหมายแล้ว ยังรวมถึงสารเสพติดที่ไม่ผิดกฎหมายอย่างเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบด้วย อย่างภาพที่เห็นกันจนคุ้นชินคือ “คนเครียดจะสูบบุหรี่และกินเหล้า” หลายคนทำงานแล้วรู้สึกเหนื่อย สุราคือเครื่องผ่อนคลายสำหรับเขา และถือเป็นจุดเริ่มต้นที่อาจนำไปสู่การใช้ยาเสพติดชนิดอื่นๆ ต่อไป และ 6.ปัจจัยด้านโครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจ ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด เริ่มตั้งแต่ “ผู้เสพ” ใช้เพื่อให้ทำงานได้มากขึ้น ก่อนกลายเป็น “ผู้ค้า” เพราะใช้อยู่แล้วและเกิดเหตุที่จำเป็นต้องใช้เงินมากขึ้น
ถึงกระนั้น “การใช้ยาเสพติดเพื่อให้ทำงานได้มากขึ้น ก็ไม่ใช่ว่าจะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น” มีกลุ่มตัวอย่างรายหนึ่งเล่าว่า ไปทำงานภาคเกษตรเป็นคนงานในสวน เริ่มเสพยาบ้าเพราะเพื่อนร่วมงานบอกว่าเสพแล้วช่วยในการทำงานได้ แต่ชีวิตก็ไม่ได้ดีขึ้นเพราะต้องมีค่าใช้จ่ายด้านยาเสพติด แถมเสพแล้วมีอารมณ์หงุดหงิดจนมีปัญหากับคนรอบข้าง แม้ยังไม่ถึงขั้นป่วยจิตเวชก็ตาม แต่หลังจากได้ไปทำงานอื่นที่ไม่ต้องใช้กำลังแรงกายมากนักและไม่มีเพื่อนร่วมงานมาชวนไปเสพยาอีก พบว่าแม้จะยังเสพอยู่ แต่ปริมาณการเสพลดลงกว่าช่วงที่ทำงานเดิม
“ช่วงต้นชีวิตเขามันจะอยู่ข้างบนหมดเลย มันแปลว่าคนเหล่านี้มีคุณภาพชีวิตที่ดีมาก่อนยุ่งกับยา วันที่ยุ่งกับยาคุณภาพชีวิตเขาตก แต่พอตกแล้วมันไปไหนนี่คือคำถามของงานเรา เพราะฉะนั้นพอใช้แบบวัดตรงนี้ไปวัดคนกลุ่มนี้ด้วย ก็ได้ผลว่าบางคนพอไม่ว่าเลิกหรือไม่เลิก มันมีกลุ่มที่เลิกแบบถาวร กับเลิกแล้วไปๆ มาๆ เหมือนแฟนเก่า ยังคงคบกันอยู่อย่างประปราย นัดเจอกัน ได้ของแล้วมา มีอยู่บ้าง เขาก็ยังมีชีวิตที่ดีขึ้นระดับหนึ่ง อาจจะไม่ได้เรียกว่าดีมาก แต่ดีขึ้นระดับหนึ่งจากการที่จัดการกับเรื่องการใช้ยาได้” ศยามล ระบุ
ท้ายที่สุดเมื่อวิเคราะห์ปัจจัยที่เอื้อต่อการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดและทางออก จะแบ่งเป็น “ปัจจัยสิ่งแวดล้อม (เศรษฐกิจ-สังคม-วัฒนธรรม)” ต้องลดความความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ-แก้ปัญหาความยากจน, “ปัจจัยการใช้ชีวิตและการทำงาน” ต้องแก้ปัญหาในที่ทำงาน สร้างอาชีพ รวมถึงเปลี่ยนทัศนคติของสังคม ซึ่งเป็นประเด็นท้าทาย เพราะใครที่ถูกตีตรา “ขี้ยา” เคยเสพยามาก่อน หรือ “ขี้คุก” เคยติดคุกมาก่อน (ไม่ว่าด้วยสาเหตุใด-ข้อหาใดก็ตาม) ก็มักไม่ได้รับโอกาสในการเริ่มต้นชีวิตใหม่ หางานทำไม่ได้ ท้ายที่สุดก็กลับไปเสพยาหรือทำผิดอีก,
“ปัจจัยเครือข่ายทางสังคม-ชุมชน” ต้องดึงชุมชนเข้ามาร่วมทำงาน ซึ่ง ป.ป.ส. ทำงานกับชุมชนอยู่แล้ว แต่ต้องไปค้นหาว่าอะไรเป็นอุปสรรคที่ทำให้ไม่เกิดผลมากอย่างที่คาดหวัง, “ปัจจัยวิถีชีวิต-พฤติกรรม” ต้องมีคนรอบข้างที่สนับสนุนการเปลี่ยนพฤติกรรม รวมถึงเปลี่ยนสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด เช่น หากยังชอบสังสรรค์กลางคืนแบบเต็มที่ หรือยังทำงานประเภทที่กดดันให้ต้องใช้ยาเสพติด ก็คงยากที่จะห้ามไม่ให้ใช้ยาเสพติดได้ และ “ปัจจัยส่วนบุคคล” ต้องมีกระบวนการบำบัดและแก้ปัญหาที่เหมาะสมเป็นรายบุคคล!!!
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี