องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้ “วันที่ 10 กันยายนของทุกปี” เป็น “วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก (World Suicide Prevention Day)” โดยเริ่มต้นขึ้นครั้งแรกในปี 2546 เพื่อสร้างความตระหนักกับภาคส่วนต่างๆ ในสังคมถึงผลกระทบของการฆ่าตัวตาย ที่ไม่ใช่เพียงจบแค่คนคนหนึ่งเสียชีวิตเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อจิตใจของคนรอบข้างของผู้ตายไปจนถึงผลในเชิงมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างมาก
ที่งานแถลงข่าวโครงการ “Happyland แดน (เคย) สุขใจ” เมื่อช่วงปลายเดือน ส.ค. 2567 นพ.จุมภฎ พรมสีดารองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า อัตราการฆ่าตัวตายในประชากรวัยรุ่นเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกไม่เฉพาะแต่ในประเทศไทย โดยสถิติในระดับโลก พบว่า การฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุการตายอันดับ 3 ของวัยรุ่นเป็นรองอุบัติเหตุบนท้องถนน ที่อยู่ในอันดับ 1 และโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ที่อยู่ในอันดับ 2
ขณะที่สถานการณ์การฆ่าตัวตายในประเทศไทยในภาพรวม พบว่า มีอัตราสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีงบประมาณ 2562 โดยในปีงบประมาณ 2561 อยู่ที่ 6.09
ต่อแสนประชากร จากนั้นปีงบประมาณ 2562 เพิ่มขึ้นเป็น 6.67 ต่อแสนประชากร ปีงบประมาณ 2563 อยู่ที่ 7.26 ต่อแสนประชากร ปีงบประมาณ 2564 อยู่ที่ 7.5
ต่อแสนประชากร ปีงบประมาณ 2565 อยู่ที่ 7.75 ต่อแสนประชากร และปีงบประมาณ 2566 อยู่ที่ 7.94 ต่อแสนประชากร ใกล้เคียงกับในช่วงที่ประเทศไทยเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี 2540
“เราโทษโควิดไม่ได้ เพราะตัวเลขในปี 2562 อัตราการฆ่าตัวตายกำลังเชิดหัวขึ้น ยังไม่เกิดโควิดด้วยซ้ำไป โควิดเกิด 2563 กรมสุขภาพจิตก็ประเมินว่าน่าจะเกิดจากปัญหาเศรษฐกิจ พอมาปี 2563 โควิดค่อยๆ ขยับขึ้นจนปี 2566 เราอยู่ที่ 7.94 ต่อแสนประชากร ก็ประมาณสัก 5,000 ฆ่าตัวตายสำเร็จประมาณ 5,000 รายต่อปี ใกล้เคียงกับต้มยำกุ้ง อัตราการฆ่าตัวตายเราประมาณ 8.9 ต่อแสน เป็นที่มาที่กรมสุขภาพจิตต้องมาทำโครงการป้องกันการฆ่าตัวตาย ตั้งแต่ปี 2541-2542 เป็นต้นมา” นพ.จุมภฎ กล่าว
รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อไปว่า การฆ่าตัวตายเป็นปัญหาที่น่าห่วงใย เพราะบางครั้งคนที่ฆ่าตัวตายบางคนไม่เคยเจ็บป่วยมาก่อน แต่ไม่สามารถทนกับความเครียดหรือแรงกดดันได้ และคนที่ฆ่าตัวตายสำเร็จนั้นมาจากการตัดสินใจโดยใช้วิธีที่รุนแรง ซึ่งสื่อก็มีส่วน อย่างน้อยก็ให้เห็นวิธีการว่ามีการฆ่าตัวตายเพราะอะไรบ้าง และนำไปสู่การเลียนแบบได้ ทั้งนี้ สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ซึ่งเชื่อมโยงต่อเนื่องกับปัญหาเศรษฐกิจ ส่งผลให้คนไทยมีปัญหาหนี้สิน ตกงาน และคนที่มีรายได้น้อยสุ่มเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย
พนิตพรรณ เอี่ยมนนท์ ฝ่ายสื่อสารองค์กร โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) หยิบยกงานวิจัย “Quality of Thai media reporting of suicidal behavior : Compliance against the World Health Organization media guidelines” มานำเสนอ โดยเก็บข้อมูลจากสื่อไทย 4 สำนัก ซึ่งพบว่าสื่อไทยยังรายงานสาเหตุการเสียชีวิตโดยระบุวิธีการฆ่าตัวตาย แจ้งสถานที่เกิดเหตุ
มีการบอกข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ชื่อจริง เพศ อายุ ภาพของผู้เสียชีวิต และไม่มีคำแนะนำสำหรับผู้รับสารว่าหากมีปัญหาสุขภาพจิตจะมีบริการให้ความช่วยเหลือที่ใดได้บ้างในขณะองค์การอนามัยโลก แนะนำว่า สื่อไม่ควรรายงานข่าวการฆ่าตัวตายในลักษณะชี้นำ เช่น การบอกว่าคนที่ฆ่าตัวตายสำเร็จใช้วิธีการใด อาจทำให้ผู้รับสารที่กำลังมีสภาวะจิตใจสุ่มเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ตัดสินใจลงมือในลักษณะเดียวกัน ไม่ควรเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ตาย
“และที่สำคัญเลย ไม่ว่าจะเป็นข่าวการฆ่าตัวตายหรือข่าวร้ายประเภทอื่นๆ คำแนะนำขององค์การอนามัยโลกเขาเน้นย้ำไว้เลยว่าไม่ควรใช้เป็นการพาดหัว หรือเป็นข่าวแรกหรือข่าวสุดท้ายเพื่อดึงความสนใจจากคนให้ได้มากที่สุด แม้ว่าเราจะอยากได้ความสนใจจากข่าวที่เรานำเสนอไป แต่มันมีผลกระทบและผลเสียกับสภาพจิตใจของคนเสพข่าวนั้นมากกว่า ดังนั้นแล้วการรายงานข่าวมันไม่ใช่แค่การรายงานข้อเท็จจริงหรือเราอยากจะเพิ่มเรตติ้งอย่างเดียว เราก็ต้องนึกถึงว่าเรารายงานรูปแบบนี้ไปแล้วมันจะเกิดผลเสียอย่างไรกลับมาด้วย” พนิตพรรณ กล่าว
เมื่อเจาะลงมาที่ “ปัญหาสุขภาพจิตของคนวัยทำงาน” ซึ่งเป็นช่วงวัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยเฉพาะ ผศ.ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยสำรวจกลุ่มตัวอย่างเล็กๆ ประมาณ 200 คน ซึ่งเป็นประชากรวัยทำงาน ว่าด้วย “ภาวะฝืนทำงานแม้จะมีการเจ็บป่วยทางกาย”
พบเหตุผลที่คนยอมฝืนทำงานแม้จะมีการเจ็บป่วยทางกาย พบว่า อันดับ 1 ไม่มีใครสามารถทำงานที่รับผิดชอบแทนได้ร้อยละ 22.2 รองลงมา มีงานด่วนหรือต้องทำงานสำคัญในวันนั้น ร้อยละ 20.6
อันดับ 3 มีความจำเป็นเรื่องเงินหรือกลัวได้รับผลกระทบต่อการประเมิน ร้อยละ 17.5 และอันดับ 4 ร้อยละ 14.3 มีเท่ากัน 2 เหตุผล คือ 4.1 เพราะความจำเป็นหรือเป็นภาระหน้าที่ที่ต้องไปทำงาน และ 4.2 รู้สึกว่ายังพอทนไหวหรือยังเป็นไม่มากพอถึงขั้นสมควรหยุดพัก แต่ก็พบว่า “คนไทยมีความตระหนักรู้พอสมควรว่าเมื่อมีปัญหาสุขภาพจิตแล้วต้องเริ่มดูแลตนเอง” สะท้อนจากกลุ่มตัวอย่าง 2 กลุ่ม คือประมาณร้อยละ 50 ระบุว่า ไม่เคยมีปัญหาสุขภาพจิตในระดับถึงขั้นต้องลางาน และอีกประมาณร้อยละ 15 ลางานทุกครั้งที่มีปัญหาสุขภาพจิต
ซึ่ง 2 กลุ่มนี้รวมกันถือเป็นกลุ่มใหญ่และน่าสนใจ เพราะในเมื่อปัญหามีเยอะ หากทำให้คนเหล่านี้ดูแลจิตใจตนเองได้ดี สามารถเข้าถึงการดูแลจิตใจได้ จึงควรพัฒนานโยบายต่างๆ เพื่อลดโอกาสที่ปัญหาจะยกระดับรุนแรงขึ้นไปถึงขั้นซึมเศร้าหรือฆ่าตัวตาย อนึ่ง การสำรวจนี้ยังพบบางองค์กรที่มีบริการด้านสุขภาพจิต เช่น มีจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยามาให้คำปรึกษา มีกิจกรรมอบรม มีการสำรวจสภาพจิตใจของพนักงานอย่างสม่ำเสมอ
และมีบางข้อเสนอจากกลุ่มตัวอย่างที่องค์กรสามารถทำได้โดยไม่เป็นภาระงบประมาณ เช่น ร้อยละ 13.1ระบุว่า ต้องการวันลาพักด้านจิตใจโดยไม่จำเป็นต้องมีใบรับรองแพทย์ เพราะในสังคมไทยยังมีการตีตราคนที่เข้ารับการรักษาสุขภาพจิตอยู่ การต้องขอใบรับรองแพทย์แล้วอาจรู้กันทั้งองค์กร ทำให้อาจลังเลขอรับความช่วยเหลือได้ หรือกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 11.3 ระบุว่า ต้องการพื้นที่ปลอดภัยให้สามารถสื่อสารหรือระบายปัญหาที่พบเจอได้ เป็นการส่งเสริมการพูดคุยที่รับฟังกันและกัน
อนึ่ง “ปัจจุบันหลายประเทศเริ่มให้ความสำคัญกับสิทธิที่จะไม่ติดต่องานนอกเวลางาน (Right to Disconnect)”เช่น แคนาดา มีกฎหมายระบุชัดเจนว่าลูกจ้างมีสิทธิที่จะไม่ติดต่อกลับหลังเวลาเลิกงาน แต่ถามคนในสังคมไทยว่า สมมุติเจ้านายหรือหัวหน้างานไลน์มาตอนสามทุ่ม บอกว่ามีเรื่องด่วนจะตอบหรือไม่? หรือบอกว่าขอสั่งงานไว้แล้วส่งวันหลังก็ได้ เราจะรู้สึกกดดันหรือไม่?
“แค่ 2.8% ของคนที่เราสำรวจ บอกว่าฉันมีสิทธิ์ปิดการสื่อสารหลังเวลาเลิกงาน คือตอนนี้ถ้าเรานั่งกัน 50 คนมีประมาณ 1 คนครึ่งที่รู้สึกว่าถ้าเกิดนายไลน์มาหลังเวลาเลิกงานฉันไม่ตอบได้ ถามว่าสิ่งนี้ส่งผลต่อคนอย่างไร? การที่เราต้อง Engage (ผูก) อยู่กับงานเป็นระยะเวลานานๆ ส่งผลต่อความเครียด ส่งผลต่อการที่เราไม่สามารถจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ” ผศ.ดร.ณัฐสุดา ระบุ
สมยศ เกียรติอร่ามกุล รองผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) เปิดเผยว่า ตนทำงานกับ ส.ส.ท. หรือ ThaiPBS มาตั้งแต่ต้น รวมแล้วประมาณ 16 ปี แม้จะกล้าพูดได้เต็มปากว่าที่นี่เป็นสถานที่ทำงานที่มีความสุข (Happy Workplace) จากการจัดสถานที่ จัดกระบวนการทำงาน การให้เกียรติพนักงานทุกคน แต่ก็ทราบข้อมูลจากฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ว่า มีพนักงานเฉลี่ย 20 คนต่อเดือน ต้องเข้ารับบริการให้คำปรึกษาด้านสภาพจิตใจ ด้านหนึ่งข้อมูลนี้ก็ทำให้ตกใจ แต่อีกด้านก็มองว่าเป็นโอกาส
“หมายถึงว่าคน ThaiPBS เปิดกว้างในการที่จะบอกว่าตัวเองเริ่มไม่ปกติแล้ว เริ่มมีความอ่อนแอทางจิตใจแล้ว เราควรจะหาตัวช่วย เราควรจะไปปรึกษาแพทย์ก่อนที่สภาพความอ่อนแอจะรุนแรงขึ้น ก่อนที่เราจะไม่สามารถดำรงชีวิตในการทำงานของเราได้อย่างปกติสุข เราไปหาคนที่ช่วยเราได้ ให้คำตอบเราได้ ให้แนวทางเราได้ คือจิตแพทย์หรือคนที่เป็นผู้ให้คำปรึกษาทางการแพทย์” สมยศ กล่าว
สรยุทธ รัตนพจนารถ ผู้อำนวยการร่วมธนาคารจิตอาสา กล่าวว่า ปัจจุบันผู้คนกำลังประสบปัญหาเรื่อง “การสื่อสาร” ที่ไม่ใช่เฉพาะระหว่างรุ่นหรือช่วงวัยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงในวัยเดียวกันด้วย เช่น เสียงสะท้อนจากอาจารย์มหาวิทยาลัยหลายท่าน เล่าว่า นักศึกษารุ่นใหม่ๆ แทบจะไม่มีเพื่อนสนิทแม้กระทั่งในรุ่นเดียวกัน หลายคนมาเรียนแล้วก็กลับบ้าน ซึ่งก็เข้าใจว่า ด้านหนึ่งมีความเคลื่อนไหวให้ยกเลิกกิจกรรมต่างๆ อาทิ รับน้อง กีฬาสี แต่อีกด้านหนึ่งก็มีคำถามว่า เมื่อยกเลิกไปแล้วจะมีอะไรมาทดแทนในการที่จะช่วยพาคนมาให้ได้อยู่ด้วยกันและรู้จักกัน
“ประเด็นสำคัญคือสังคมเรามีปัญหาความท้าทายเรื่องการคุย การสื่อสาร การรับฟัง มันเยอะมาก อันนี้ก็เลยเป็นหนึ่งในเรื่องหลักมากๆ เลยที่ธนาคารจิตอาสากำลังจะทำงาน” สรยุทธ กล่าว
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี