จังหวัดนครพนม ช่วงนี้มีงานบุญเดือนหก เป็นประเพณีที่สำคัญของชาวอีสาน เพราะเป็นประเพณีเกี่ยวกับการขอฟ้าฝน อันมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิต ทั้งนี้ ส่วนใหญ่ชาวอีสานมีอาชีพด้านกสิกรรมเป็นหลัก การนำเอาดินประสิว (ขี้เจีย) มาโขกหรือบดผสมกับถ่านให้แหลกละเอียด เรียกว่าหมื่อ แล้วบรรจุลงในกระบอกไม้ไผ่ ปัจจุบันนิยมใช้ท่อพีวีซีโดยอัดให้แน่น แล้วเจาะรูที่หางเรียกว่าบั้งไฟ ชาวบ้านเชื่อกันว่าเป็นการขอฟ้าฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล หลังประสบปัญหาภัยแล้ง เป็นการสืบทอดประเพณีความเชื่อ อันดีงามของท้องถิ่นมายาวนาน รวมถึงเป็นการสร้างสีสัน ความสามัคคี ม่วนซื่นในชุมชน
เฉกเช่นชาวบ้านหนองดู่ หมู่ 8 ต.นาใน อ.โพนสวรรค์ จ.นครพนม ได้ร่วมกันจัดงานสืบสานประเพณีบุญบั้งไฟ เป็นการบูชาพญาแถน ขอฟ้าขอฝนตามความเชื่อ สืบทอดกันมาแต่บรรพบุรุษ แต่ที่นี่มีความน่าสนใจ ผิดแผกไปจากที่อื่น คือเป็นบั้งไฟจิ๋ว ผลิตจากภูมิปัญญาชาวบ้าน ใช้ท่อพีวีซีขนาด 2 นิ้ว ยาวประมาณ 1 เมตรอัดด้วยดินปืน ติดหางไม้ไผ่ยาว 4-5 เมตร ตามภูมิปัญญาเซียนบั้งไฟของแต่ละคุ้ม ก่อนที่จะนำมาจุดเพื่อสื่อสารไปหาพญาแถน โดยปีนี้จัดแข่งขันบั้งไฟจิ๋วกว่า 50 ลำ มีการแข่งขันระดับความสูง เพื่อเป็นการสร้างสีสันความสนุกสนาน ตื่นตาตื่นใจแก่ผู้เที่ยวชมงาน
นอกจากนี้ ดร.เดือน-มนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม และ ส.ส.นครพนม เขต 2 พรรคเพื่อไทย พร้อมด้วย นายอนุชิต หงษาดี นายก อบต. โพนสวรรค์ แกนนำครอบครัวเพื่อไทย รวมถึงผู้บริหารท้องถิ่น ร่วมมอบเงินสนับสนุนการจัดงานสืบสานประเพณีบุญบั้งไฟอีกด้วย
ส่วนไฮไลท์ของงานบุญเดือนหก ประเพณีบั้งไฟจิ๋ว นอกจากความม่วนซื่น ของกองเชียร์ ที่ลุ้นการพุ่งสูงของบั้งไฟ คนที่ทำงานหนักสุดน่าจะเป็นกรรมการบั้งไฟ เพราะต้องมีความเชี่ยวชาญในการตรวจสอบและจับเวลา ตั้งแต่บั้งไฟทะยานขึ้นฟ้า จนตกลงสู่พื้นดิน เพื่อเป็นการตัดสินว่าบั้งไฟของชุมชนไหน ใช้เวลาอยู่บนอากาศมากที่สุดถือเป็นผู้ชนะ
สอบถามหัวหน้าทีมกรรมการตัดสินการแข่งขัน คือ เซียนยาวเจ้าของทีมงานเรดาร์ อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร เดินสายเป็นกรรมการตัดสินบั้งไฟ เปิดเผยว่า มีทีมงานประมาณสามถึงสี่คน ทำหน้าที่ตรวจสอบระยะเวลาและความสูงของบั้งไฟแต่ละสนาม มีอุปกรณ์สำคัญคือกล้องส่องทางไกล นาฬิกาจับเวลา ทำหน้าที่เป็นเรดาร์ส่องบั้งไฟ ที่ทะยานขึ้นฟ้าจนถึงตกพื้นดิน พร้อมมีการพากย์ บรรยายเต็มไปด้วยเพื่อความสนุกสนาน
สำหรับกติกาจะวัดกันที่เวลาขึ้นของบั้งไฟจนถึงตกพื้น ใครมีเวลามากสุดถือว่าชนะเป็นอันดับหนึ่ง โดยบั้งไฟขนาด 2 นิ้วมีสถิติเวลาสูงสุดประมาณ 300-400 วินาที ใครใช้เวลาลอยอยู่ท้องฟ้านานสุด จะเป็นผู้ได้รับชัยชนะ เมื่อถามถึงค่าตัวกรรมการ ได้ยินแล้วอย่าตกใจ ค่าแรงประมาณวันละ 10,000 บาท บางคนคิดว่าแพง แต่สำหรับตนถือว่าคุ้มค่ามาก เพราะต้องตัดสินด้วยความชำนาญเฉพาะด้าน เฝ้าตัดสินทั้งวันตั้งแต่ลำแรกถึงลำสุดท้าย และช่วงนี้ถือว่าเป็นเทศกาลบุญบั้งไฟ มีงานรับคิวยาวไม่เว้นวัน เพราะกรรมการตัดสินหายาก และ เป็นความสามารถเฉพาะด้าน กว่าจะได้ค่าจ้างระดับนี้ ต้องสะสมประสบการณ์มาไม่น้อยกว่า 10 ปี
ทั้งนี้ บุญเดือนหกหรือบุญบั้งไฟ เกิดจากความเชื่อเล่าขานเป็นตำนานว่า พญาคันคาก(คางคก) ได้ทำสัญญาสงบศึกกับพญาแถน หลังต่อสู้กันแล้วพญาแถนแพ้ โดยสัญญาว่าจะส่งน้ำฝนลงมาให้ตามฤดูกาล ดังนั้น พอถึงเดือนหก คนในเมืองมนุษย์ก็จะจุดบั้งไฟขึ้นไปเตือนพญาแถนเป็นประจำทุกปี
บางท้องถิ่นถือว่าการจุดบั้งไฟ เป็นการเสี่ยงทายว่าฝนฟ้าปีนี้จะเป็นอย่างไร โดยการสังเกตจากบั้งไฟที่จุด หากบั้งไฟขึ้นดีไม่มีเหตุขัดข้อง ถือว่าฟ้าฝนปีนั้นดี ตรงกันข้ามถ้าบั้งไฟไม่ขึ้นหรือมีอุปสรรค ถือว่าฟ้าฝนปีนั้นไม่ค่อยดี จึงมักจะหามช่างทำบั้งไฟไปโยนลงบ่อโคลน เกี่ยวกับประเพณีความเชื่อนี้ ชาวอีสานยึดถือปฏิบัติเป็นประเพณีมาจนถึงปัจจุบัน - 003
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี