วันเสาร์ ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2568
แนวหน้า
  • แนวหน้า
  • หน้าแรก
  • คอลัมน์
    • คอลัมน์วันนี้
    • คอลัมน์ออนไลน์
    • คอลัมน์การเมือง
    • คอลัมน์ลงมือสู้โกง
    • โลกธุรกิจ
    • ผู้หญิง
    • บันเทิง
    • Like สาระ
    • ดูทั้งหมด
  • ข่าวเด่น
  • พระราชสำนัก
  • การเมือง
  • โลกธุรกิจ
  • อาชญากรรม
  • กทม.
  • ในประเทศ
  • เกษตร
  • ต่างประเทศ
  • กีฬา
  • ผู้หญิง
  • บันเทิง
  • ยานยนต์
  • Like สาระ
หน้าแรก / ข่าว Like สาระ
‘ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล’ เศรษฐกิจไทยถึงจุด‘ซึมเซา’ได้อย่างไร?  ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ใช่ทางออกหรือไม่?

‘ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล’ เศรษฐกิจไทยถึงจุด‘ซึมเซา’ได้อย่างไร? ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ใช่ทางออกหรือไม่?

วันเสาร์ ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2567, 07.22 น.
Tag : ธีระชัยภูวนาถนรานุบาล เศรษฐกิจไทย
  •  

หากถามว่า “ปัจจัยใดมีผลต่อเสถียรภาพทางการเมืองหรือการอยู่ในอำนาจของผู้ปกครองมากที่สุด?” เชื่อว่าคงหนีไม่พ้น “เศรษฐกิจ” เพราะนับตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน สิ่งที่ฝ่ายตรงข้ามผู้มีอำนาจมักหยิบยกมาใช้ “ปลุกเร้า-ปั่นกระแส” ในทำนอง “ถึงเวลาเปลี่ยนแปลง” จากผู้ปกครองคนเดิม-ขั้วดิม สู่คนใหม่-ขั้วใหม่ แล้วได้ผลมากที่สุด คือเรื่องของสภาพเศรษฐกิจที่ไม่ดี“ปากท้องลำบาก..ข้าวยากหมากแพง” ดังนั้นในทางกลับกัน ผู้ปกครองหรือรัฐบาลที่มีอำนาจอยู่ ณ ขณะนั้น ก็ต้องพยายามออกนโยบายหรือมาตรการที่ทำให้ประชาชนยังรู้สึกว่าอยู่ดีกินดี-กินอิ่มนอนหลับ

ดังสถานการณ์ทางการเมืองไทยในรอบหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งก่อนหน้านี้มีกระแส “เบื่อลุง” ที่หมายถึง “ลุงตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” หลังจากดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรียาวนานกว่า 9 ปี ตั้งแต่ยุครัฐบาลทหารในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ช่วงปี2557-2562 ต่อเนื่องในยุครัฐบาลหลังการเลือกตั้งที่มีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำ ช่วงปี 2562-2566 โดยเสียงสะท้อนของประชาชนผ่านโพลล์ทุกสำนัก แม้จะให้คะแนน พล.อ.ประยุทธ์ โดดเด่นในเรื่องประเด็นความมั่นคง แต่สอบตกในเรื่องเศรษฐกิจโดยเฉพาะปากท้องของประชากรระดับฐานราก


อย่างไรก็ตาม ในเวลาเกือบ 1 ปี ของการบริหารของรัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การนำของ “เสี่ยนิด-เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีที่ถูกเสนอชื่อโดย “พรรคเพื่อไทย” อันเป็นพรรคแกนนำรัฐบาล ประชาชนเริ่มตั้งคำถาม “ไหนว่าเลือกเศรษฐาแล้วจะได้เป็นเศรษฐี?” เพราะที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยมักประกาศด้วยความมั่นใจอย่างที่สุดว่า “แก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องต้องยกให้เรา” แต่เมื่อทำไม่ได้ตามที่คาดหวัง เสียงบ่น “นั่นก็แพง..นี่ก็ขึ้นราคา” ดังไปทั่วแผ่นดิน ก็ราวกับเป็น “ตลกร้าย” เพราะกลายเป็นเกิดกระแส “คิดถึงลุงตู่” ขึ้นมาเสียอย่างนั้น

รายการ “สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง” ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ในตอนที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2567 ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มาอธิบายความเป็นไปของเศรษฐกิจไทย ณ ปัจจุบัน ว่า หากไปถามพ่อค้า-แม่ค้า หรือคนทำธุรกิจ จะได้รับเสียงสะท้อนว่าขณะนี้ไม่ค่อยดีเท่าไร แต่ไม่ใช่ลักษณะการตกเหวดิ่งลงไป

กล่าวคือ เป็นการค่อยๆ เดินลงบันไดไปเรื่อยๆ แล้วยังมองไม่เห็นก้นเหว หรือเห็นแล้วแต่ยังลงไปอีก รวมถึงยังไม่รู้ว่าจะปีนกลับขึ้นมาได้อย่างไร หรือที่บางคนใช้คำว่า “ต้มกบ” ซึ่งจะแตกต่างจาก “ต้มยำกุ้ง” ที่เคยเจอในอดีต โดยต้มยำกุ้งเป็นวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นแบบฉับพลัน หลายคนก็อาจจะคาดไม่ถึง แตกต่างจากสถานการณ์ ณ เวลานี้ ที่แม้หลายคนจะเริ่มรู้สึกว่ากำลังลงไปแต่ก็เบรกไม่อยู่

ส่วนกระแสคิดถึงลุงตู่ ซึ่งมีที่มาจากการเปรียบเทียบภาวะเศรษฐกิจระหว่างสมัยรัฐบาลนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ กับรัฐบาลนายกฯ เศรษฐา เรื่องนี้หากมองย้อนไปสมัย พล.อ.ประยุทธ์ เจอวิกฤตใหญ่ของโลกอย่างการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะช่วงแรกๆ นั้นน่ากลัวมาก อย่างที่เห็นจำนวนผู้เสียชีวิตในหลายประเทศทางทวีปยุโรป ทำให้รัฐบาลหลายประเทศพยายามใช้เงินเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ให้ผ่านพ้นวิกฤตไปได้

ทั้งนี้ หากดูตัวเลขหนี้สาธารณะหรือหนี้ที่กู้ผ่านรัฐบาล ในช่วงก่อนหน้ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ที่ราว 5 ล้านล้านบาท แต่เมื่อผ่านมาถึงรัฐบาลนายเศรษฐายอดพุ่งขึ้นไปที่ 10 ล้านล้านบาทดังนั้นความเป็นอยู่ทั่วไปในยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ หลายประเทศแม้จะมีการใช้มาตรการล็อกดาวน์ มีความเครียดในความเป็นอยู่ แต่ยังไม่ถึงขั้นกระเบียดกระเสียรเพราะมีเงินก้อนเข้ามา แต่ก็เป็นการยืมเงินจากอนาคตเพื่อมาใช้ในปัจจุบัน แต่ปัญหาคือเมื่อหนี้สาธารณะเพิ่มมากขึ้นขนาดนี้ การจะก่อหนี้เพิ่มเติมไปมากกว่านี้อีกก็จะเกิดคำถามว่าเพิ่มเพื่อนำไปใช้ทำอะไร?

“อย่างกรณีของดิจิทัล วอลเล็ต มันก็จะมีคำถามว่าถ้าเปรียบเทียบการใช้ เพิ่มหนี้สาธารณะเพื่อไปอุดหนุนอุปโภค-บริโภค กับถ้าเราหาทางว่าเพิ่มหนี้สาธารณะก็จริงแต่เราไปสร้างอุปกรณ์ เครื่องมือ สภาพแวดล้อม ที่มันทำให้เรามีรายได้เพิ่มในอนาคต มันจะดีกว่าหรือไม่? ดังนั้นตรงนี้มันก็จะเกิดข้อถกเถียงกัน อันนั้นเป็นประการหนึ่งในเรื่องของความสามารถในการแข่งขันของประเทศมันก็เปลี่ยนไปอีกด้วย” ธีระชัย กล่าว

ธีระชัย ซึ่งเคยร่วมงานกับพรรคเพื่อไทย ในฐานะ “ขุนคลัง”ยุครัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อธิบายต่อไปว่า หากมองย้อนไปราวๆ 10-20 ปี ลักษณะของกิจกรรมทางธุรกิจในหลายๆ ประเทศ มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ประกอบการทำงานมากขึ้นทำให้ประเทศเหล่านั้นก้าวหน้าขึ้นมาในขณะที่ประเทศไทยยังไม่ค่อยมี ทำให้กระบวนการทำในบางอุตสาหกรรมเปลี่ยนไป

เช่น การผลิตฮาร์ดดิสก์สำหรับคอมพิวเตอร์ทั้งแบบตั้งโต๊ะและโน้ตบุ๊ก ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมส่งออกหลักของไทย แต่ระยะหลังๆ ผู้คนหันมาใช้งานคอมพิวเตอร์ผ่านโทรศัพท์มือถือมากขึ้น เป็นอุตสาหกรรมที่ซับซ้อนขึ้น คือมีขนาดเล็กลงแต่เทคโนโลยีเบียดกันแน่น ซึ่งกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมลักษณะนี้จำเป็นต้องใช้แรงงานที่มีทักษะหรือมีความรู้ด้านวิศวกรรมมากกว่าเดิม แต่ที่ผ่านมาไทยยังไม่มีการปูทักษะทั้งในส่วนของคนทำงานและของผู้ประกอบการ

ขณะที่อีกปัจจัยที่เข้ามากระทบคือสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ตนเคยเขียนไว้ในหนังสือ “Thailand Reset” วางแผงไปตั้งแต่ปี 2560 หรือเมื่อ 7 ปีก่อน โดยตนมองปัญหาในขณะนั้นว่า ขบวนการโลกาภิวัตน์ซึ่งแนวทางที่ไทยและอีกหลายชาติในทวีปเอเชีย ดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศ เรียกว่าห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) กล่าวคือ บริษัทจากโลกตะวันตกมาลงทุนแบบกระจายกันไปในหลายประเทศแถบเอเชีย ประเทศหนึ่งผลิตชิ้นส่วนหนึ่ง อีกประเทศก็ผลิตอีกชิ้นส่วน

รวมถึงมีประเทศที่ถูกวางไว้รวบรวมชิ้นส่วนเหล่านั้นมาเพิ่มมูลค่า เช่น ประเทศจีน มีการรวมศูนย์ชิ้นส่วนจากที่ต่างๆ มาไว้ด้วยกันเพื่อประกอบเป็นโทรศัพท์มือถือ แต่ตนมองว่าแนวทางแบบห่วงโซ่อุปทานดูเหมือนจะอ่อนกำลังลง แต่หลังจากหนังสือวางแผนไปแล้วก็เกิดสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา ก็ยิ่งทำให้ขบวนการโลกาภิวัตน์ถดถอย กลายเป็นการกีดกันทางการค้าระหว่าง 2 ชาติดังกล่าวมากขึ้น

“ตรงนี้เองจะทำให้โมเดลที่เราใช้ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ที่เป็นโมเดล Supply Chain มันจะไม่สดใสเท่าเดิมทั้งหมดนี้มันเท่ากับว่ามันมีปัญหา-อุปสรรคประดังกันมาหลายๆ อย่าง ทั้งเรื่องของโควิดแล้วทำให้เกิดปัญหา ทั้งเรื่องของนวัตกรรมของเราเองซึ่งเราก็ขาดทักษะ แล้วก็ในเรื่องของสงครามการค้าโลกด้วย” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุ

ส่วนคำถามเรื่องนโยบายดิจิทัล วอลเล็ต หรือการแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท จะสร้างพายุหมุนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ คุ้มค่ากับการต้องก่อหนี้เพิ่มขึ้นหรือไม่? ธีระชัย ให้ความเห็นว่า หลักทางเศรษฐศาสตร์ การกู้เพื่อใช้ในการอุปโภค-บริโภค ลองเทียบกับตัวเราเองก็ได้ เช่น การใช้บัตรเครดิตเพื่อกิน-ใช้ อย่างน้อยวันนี้เราอิ่ม อาจจะอิ่มเกินไปด้วยซ้ำ เราจะใช้กันอย่างชนิดที่สบายใจ แต่เมื่อถึงวันต้องชำระหนี้ก็จะเกิดปัญหา จึงเกิดข้อถกเถียงว่าแทนที่เราจะกู้เงินมาเพื่อใช้ ลองดูในมุมของบริษัท ที่เมื่อจะกู้เงินนั่นคือกู้มาเพื่อสร้างในสิ่งที่จะเป็นรายได้ให้กับบริษัทในอนาคต

ซึ่งการกิน-ใช้ หากเกิดผลก็ได้เพียงไตรมาสเดียวแม้จะเกิดผลเร็ว คือ แจกไตรมาสนี้ก็เกิดผลในไตรมาสนี้และไตรมาสหน้าเลย แต่การทำอะไรที่เป็นการลงทุนเพื่อเพิ่มความเก่งให้กับประชาชนก็จะใช้เวลานานขึ้นสักหน่อย แต่ทำแล้วก็จะอยู่กับเราไปอีกยาว การถกเถียงในปัจจุบันจึงอยู่บนคำถามที่ว่า หากหนี้สาธารณะยังไม่มากจะกู้เงินมาแจกบ้างก็ตงไม่เป็นไร แต่ตอนนี้หนี้สาธารณะเยอะแล้ว ควรนำเงินไปใช้อย่างอื่นจะไม่ดีกว่าหรือ?

ส่วนคำถามที่ว่าเหตุใดรัฐบาลไม่สามารถระบุตัวเลขให้ชัดเจนว่าโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ตนมองว่าคนที่คิดโครงการคงเห็นว่ากระตุ้นแล้วจะได้ผลเยอะ อย่างรัฐบาลที่บอกว่าดิจิทัลวอลเล็ต หากทำแล้วจะกลายเป็นพายุหมุน 3-4 ระดับ แต่องค์กรอื่นๆ เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) จะมองว่าไม่น่าจะได้ผลมากอย่างที่คิด

หรืออย่างที่ พิสิฐ ลี้อาธรรม อดีต สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ที่เคยอธิบายไว้แบบง่ายๆ ว่า สมมุติแหล่งที่มาของเงินสำหรับทำโครงการดิจิทัล วอลเล็ต นำมาจากงบประมาณของโครงการอื่นๆ แบบนี้เท่ากับงบประมาณของโครงการเหล่านั้นก็หมดไป หรือเปรียบเทียบกับการสูบเลือดจากแขนซ้ายแล้วมาฉีดเข้าแขนขวา และอย่าลืมว่าการใช้งบประมาณแบบเดิมก็เกิดผลอยู่แล้ว การนำงบฯ มาใช้แบบนี้แล้วคิดว่าจะเกิดผลมากขึ้น นายพิสิฐก็บอกว่าผลจะไม่เพิ่มขึ้น หรือโครงการเดิมอาจส่งผลระยะยาวมากกว่า

“ผมเข้าใจนะ ว่าอันนี้ทางพรรคเพื่อไทยที่เขาเสนอโครงการอันนี้ ผมคิดว่ามีความหวังดี ต้องการให้ประชาชนบรรเทาความเดือดร้อนและในแง่ของปัญหาฐานะค่าใช้จ่าย
ในการครองชีพ ก็คงจะช่วยได้ แต่มันมีปัญหาว่าในทางเศรษฐศาสตร์จริงๆ แล้วมันคุ้มค่าจริงหรือไม่? เพราะอย่าลืมว่าการใช้เงินตามงบประมาณมันมีอยู่เดิมอยู่แล้ว” ธีระชัย กล่าวย้ำ

ประการต่อมา “การดึงงบกลางมาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ก็อาจมีความเสี่ยง” เรื่องนี้เท่าที่ฟังความเห็นของศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ก็ต้องบอกว่ามีประเด็น เช่น งบกลางเป็นงบประมาณที่มีไว้ใช้หากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ดังนั้นหากนำมาใช้ในโครงการดิจิทัล วอลเล็ต หากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นงบส่วนนี้อาจมีไม่เพียงพอ หรือการก่อหนี้สาธารณะจนใกล้เต็มเพดานที่สามารถก่อได้ เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินก็อาจมีงบประมาณไม่เพียงพออีก ในเรื่องการใช้งบประมาณก็จะมีข้อพิจารณาในส่วนนี้

ต่อคำถามว่า “จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจรุนแรงเหมือนสมัยต้มยำกุ้ง ปี 2540 อีกหรือไม่?” อดีตขุนคลังท่านนี้ วิเคราะห์ว่า สำหรับภาคการท่องเที่ยวยังดีอยู่แม้จะไม่ได้บูมมากเหมือนในอดีต แต่ในส่วนของการลงทุนภาคเอกชน เรื่องนี้ต้องหาทางพูดคุยกับ ธปท. เพราะเมื่อเอกชนต้องการลงทุนเพิ่ม เช่น ซื้อเครื่องจักร พัฒนาด้านเทคโนโลยี เอกชนมีต้นทุนคือดอกเบี้ย ดังนั้นหากลดดอกเบี้ยลงก็จะช่วยได้

นอกจากนั้นยังต้องหาทางออกร่วมกับ ธปท. ในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนซึ่งปัจจุบันสูงมาก เริ่มเห็นการค้างดอกบี้ย สะท้อนกำลังใจการชำระหนี้ที่แผ่วลง และจำนวนลูกหนี้ที่เข้าข่ายหนี้เสียมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หากแก้เรื่องเหล่านี้ได้ สถานการณ์ก็ยังพอประคับประคองได้ในระดับหนึ่ง แต่การมองไปข้างหน้า ก็ต้องคิดวางแผนว่าทำอย่างไรจึงจะพร้อมสำหรับการดึงเม็ดเงินลงทุนใหม่ๆ จากต่างประเทศได้!!!

หมายเหตุ : สามารถรับชมรายการ “สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง” ดำเนินรายการโดย บุญระดม จิตรดอน ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ทุกวันอังคาร-พฤหัสบดี เวลา 11.00-12.00 น. โดยประมาณ

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน

โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น

1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี

3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี

  •  

Breaking News

‘วิสุทธิ์’ย้อนเกล็ด‘ภท’ สส.โหวตสวนเรียก‘งูเห่า’ ตอนย้ายคอกเข้าพรรคบอก‘อุดมการณ์’

เปิดสาเหตุ'แอร์อินเดีย'โหม่งโลก 'สวิตช์ควบคุมน้ำมัน'ถูกสับลง เสียงจากห้องนักบินเพิ่มเงื่อนงำ

'อ.ทองย้อย' ชี้ 'เสพกามคาจีวร' คือกามวิตถาร! ย้ำขาดความเป็นพระทันที เมื่อแตะต้องเมถุน

‘ไผ่ ลิกค์’คาดคุยโควตารองประธานสภา วงกินข้าวพรรคร่วมรัฐบาล 22 ก.ค.นี้

Back to Top

ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.naewna.com
webmaster นายปรเมษฐ์ ภู่โต
ดูแลรับผิดชอบข่าว/ภาพ/โฆษณา/ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับเว็บไซต์
กรรมการบริษัทฯ, กรรมการผู้มีอำนาจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าว/ภาพ/ข้อมูลใดๆในเว็บไซต์ทั้งสิ้น

Social Media

  • หน้าแรก |
  • เกี่ยวกับแนวหน้า |
  • โฆษณากับเรา |
  • ร่วมงานกับเรา |
  • ติดต่อแนวหน้า |
  • นโยบายข้อตกลง
Copyright © 2025 Naewna.com All right reserved