กิจกรรมอบรม "วิถีคล้า วิถีคน" ใช้ต้นคล้าสร้างประติมากรรมแห่งศรัทธา เชื่อมโยงตำนานพญานาค สู่การขับเคลื่อน Soft Power ด้านการท่องเที่ยว
วันที่ 2 พฤษภาคม 2568 ณ วิทยาลัยนวัตกรรมแห่งบึงกาฬ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ตำบลโนนสมบูรณ์ อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ ได้มีการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการภายใต้ชื่อ "การใช้ต้นคล้าในการสร้างสรรค์ประติมากรรมแห่งศรัทธา วิถีคล้า วิถีคน" ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดบึงกาฬ โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “ส่งเสริม Soft Power ด้านการท่องเที่ยว ให้เกิดการขับเคลื่อนในระดับพื้นที่” ภายใต้กิจกรรม "มหัศจรรย์ศิลป์คล้า เล่าขานตำนานพญานาค สู่อัตลักษณ์ท่องเที่ยวบึงกาฬ"
ภายในพิธีเปิด ได้รับเกียรติจาก นายขัตติยา ชัยมณี วัฒนธรรมจังหวัดบึงกาฬ เป็นประธานในพิธี และ นายณรงค์ศักดิ์ คุรุพันธ์ ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดบึงกาฬ กล่าวรายงานถึงความเป็นมาของโครงการ พร้อมด้วยนายเฉลิมเกียรติ แผนกิจเจริญ พัฒนาการจังหวัดบึงกาฬ นายนริศ อาจหาญ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบุ่งคล้า นายสันทัศน์ ทันนิธิ ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์และข้อมูลเพื่อการพัฒนาจังหวัดบึงกาฬ ผู้แทนจากชุมชน และผู้ประกอบการ ร่วมพิธี โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมอบรมกว่า 100 คน โดยกิจกรรมมุ่งเน้นการถ่ายทอดองค์ความรู้และการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นให้สามารถนำไปต่อยอดในเชิงอาชีพและเศรษฐกิจสร้างสรรค์
โครงการนี้มีเป้าหมายสำคัญในการ ส่งเสริมการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น และ การใช้ทรัพยากรพื้นบ้านอย่างต้นคล้า ซึ่งเป็นพืชพื้นถิ่นที่มีคุณสมบัติโดดเด่นในด้านความยืดหยุ่นและความคงทน มาใช้เป็นวัสดุหลักในการสร้างสรรค์ “ประติมากรรมแห่งศรัทธา” ที่เชื่อมโยงกับตำนานพญานาค ซึ่งเป็นความเชื่อสำคัญของประชาชนริมฝั่งแม่น้ำโขงและถือเป็นอัตลักษณ์สำคัญของจังหวัดบึงกาฬ
วัตถุประสงค์ของการอบรมในครั้งนี้ ได้แก่ เพื่อส่งเสริมและอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการใช้ต้นคล้าในการสร้างสรรค์ผลงาน เพื่อถ่ายทอดความรู้ในการออกแบบและเทคนิคการสร้างประติมากรรม เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ชุมชนเกิดความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ท้องถิ่น เพื่อพัฒนาอาชีพและต่อยอดผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมสู่ตลาดในอนาคต
ในการอบรมครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ 2 ท่าน ได้แก่ ดร.ธรรมศาสตร์ ศรีสารคาม อาจารย์ประจำสาขาทัศนศิลป์และการออกแบบ นายณัฐวัชร เดชมาลา อาจารย์จากสำนักวิชาศึกษาทั่วไป ทั้งสองท่านได้ร่วมถ่ายทอดทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติให้แก่ผู้เข้าอบรมอย่างเข้มข้น โดยเนื้อหาครอบคลุมการเลือกใช้วัสดุ เทคนิคการสร้างสรรค์งานศิลป์ การออกแบบรูปทรงที่สะท้อนความเชื่อทางวัฒนธรรม ตลอดจนแนวทางในการพัฒนาผลงานให้สามารถตอบโจทย์ตลาดด้านศิลปะและการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในอนาคต
กิจกรรมนี้ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของจังหวัดบึงกาฬในการขับเคลื่อน Soft Power ด้วยทุนทางวัฒนธรรมพื้นถิ่น สู่การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน พร้อมทั้งสร้างพื้นที่การเรียนรู้ร่วมกันระหว่างภาครัฐ นักวิชาการ และชุมชน อันนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างแท้จริง
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี