เล่นเอาหวาดเสียวไปกันไปทั้งเมือง
โดยเฉพาะพื้นที่แถบ “ภาคอีสาน” พื้นที่รอยต่อ จ.มุกดาหาร เมื่อมีการตรวจพบ...
โรคแอนแทรกซ์ (Anthrax)!!!!
ในประเทศไทย จนถึงขั้นมีผู้เสียชีวิต กระทั่งภาครัฐ ออกมาย้ำเตือนให้ต้องตระหนัก ว่าโรคระบาดที่เคยเกิดขึ้นแล้ว ยังมีโอกาสกลับมาระบาดได้อีก หากการป้องกันและแก้ปัญหาไม่ถูกต้อง หรือไม่เกิดการปฏิบัติอย่างจริงจังในการควบคุมโรค
แม้ว่าจะเป็นกรณีที่พบได้น้อยในปัจจุบัน แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วนั่นย่อมส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร ด้านเศรษฐกิจ และด้านการสาธารณสุข โดยเฉพาะความเชื่อมั่นของประชาชน
กล่าวถึงปมปัญหาที่เป็นต้นเหตุของการแพร่ระบาดนั้น พบว่ามาจากหลายส่วน เช่น มีการนำเข้า-ส่งออกสัตว์ ในลักษณะลักลอบขนจากพื้นที่ซึ่งเกิดการแพร่ระบาด โดยไม่มีการตรวจสอบจากภาครัฐ เช่น
กรมปศุสัตว์ ที่จะสามารถระงับยับยั้งได้ เช่น การกักโรค ควบคุมด้วยวัคซีน
การจัดการซากสัตว์ที่ติดเชื้ออย่างไม่ถูกต้องตามกระบวนการ เช่น การฝังซากที่ไม่ลึกเพียงพอ
หรือทิ้งซากในพื้นที่สาธารณะ สภาพภูมิอากาศและดิน ที่ส่งผลให้เชื้อโรคอยู่ได้นานหลายสิบปี
ที่ผ่านมา กรมปศุสัตว์ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ออกมาตรการรับมือและป้องกัน เฝ้าระวังในพื้นที่เสี่ยง โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่พบการแพร่ระบาดโรคดังกล่าว มีการฉีดวัคซีนให้โค กระบือ แพะ หรือแกะ ฝึกอบรมให้เกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจในการตรวจสอบอาการของสัตว์ในเบื้องต้น และวิธีการจัดการกับซากสัตว์ การขนส่งสัตว์ที่เข้มงวด เพื่อระงับยับยังการแพร่ระบาด รวมถึงการงดการสัมผัส
งดบริโภคเนื้อสัตว์ที่ไม่ผ่านการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ
ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ผู้รับผิดชอบหลักด้านโรคในคน ต้องมีบทบาทสำคัญในการเฝ้าระวัง และวินิจฉัยโรคในคน เช่น สถาบันควบคุมโรคเขตร้อน และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบการเฝ้าระวังโรคแอนแทร็กซ์ในคน ต้องเร่งตรวจสอบหาสาเหตุการป่วยจากอาการทางผิวหนัง ทางเดินอาหาร หรือทางเดินหายใจ
ส่งตรวจเชื้อหากมีผู้ป่วยต้องสงสัย การรักษาผู้ป่วย โดยให้แนวทางเวชปฏิบัติสำหรับแพทย์ พยาบาล ในการรักษาผู้ป่วย จัดเตรียมยาปฏิชีวนะจำเป็น เช่น Ciprofloxacin หรือ Doxycycline สำหรับการรักษาในระยะเริ่มต้น การสอบสวนโรคและควบคุมการระบาด โดยร่วมกับกรมปศุสัตว์ ในการดำเนินการแบบ One Health หากพบผู้ป่วยในชุมชน
กักกันผู้ที่สัมผัสเสี่ยง และติดตามอาการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด
นอกจากนี้ ยังต้องสื่อสารต่อประชาชน แจ้งเตือน และให้ข้อมูลผ่านสื่อต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความตระหนักรู้ เมื่อเกิดการแพร่ระบาด รณรงค์ให้หลีกเลี่ยงการบริโภคเนื้อสัตว์จากแหล่งที่ไม่ปลอดภัย และเหนือสิ่งอื่นใด คือการให้ความสำคัญของทุกภาคส่วน เพื่อระงับยับยั้งการระบาดของโรค เพื่อไม่เป็นปัญหาที่ทำแบบวัวหายแล้วล้อมคอก อันเป็นเรื่องที่สังคมไทย ต้องมีบทเรียน จากปัญหาที่เคยเกิดขึ้นแล้วในอดีต ปัจจุบัน ที่ต้องไม่ยอมให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต
ทีมข่าวแนวหน้า
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี