"รวยแน่! แค่กาเพื่อไทย มารวยไปพร้อมกันกับนโยบายสุดปังพรรคเพื่อไทย" นี่คือคำเชิญชวนให้พี่น้องประชาชนคนไทยเลือกพรรคเพื่อไทย นั้นคือการ "ขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำวันละ 600 บาท" โดยประกาศว่าจะทำให้ได้ภายในปี 2570 การชูนโยบายการขึ้นค่าแรงถูกหยิบยกขึ้นมาปราศรัยเพื่อให้พี่น้องประชาชนสนใจและจูงใจในการเลือกตั้ง
เมื่อถึงวันชีชะตา "วันเลือกตั้ง" 14 พ.ค. 2566 ประชาชนคนไทยพร้อมใจกันไปลงคะแนนเลือกตั้ง ซึ่งปรากฎว่า พรรคเพื่อไทยนั้น ได้จำนวน สส. น้อยกว่า พรรคก้าวไกล แต่มีเหตุให้พรรคก้าวไกลต้องพลาดเก้าอี้รัฐบาล เนื่องจากดื้อดันแก้ ม.112 ทำให้ สว.ไม่โหวตหนุน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ นั่งนายกฯ ทำให้พรรคเพื่อไทยที่มีจำนวน สส.อยู่ในมือเป็นอันดับ 2 จัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จในเวลาต่อมา
และเมื่อพรรคเพื่อไทยขึ้นมาเป็นรัฐบาล ก็มีคนทวงถามถึงนโยบายต่าง ๆ ที่ได้พูดไว้ตอนหาเสียง และนโยบายที่มีการถูกถามมากเป็นลำดับต้น ๆ นั้นก็ คือ การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 600 บาท/วัน โดยในปีแรกที่เข้ามาเป็นรัฐบาลได้บอกว่าจะปรับค่าแรงให้เป็น 400 บาท แต่ค่าแรงก็ขยับขึ้นมา 400 บาท เพียงไม่กี่จังหวัดเท่านั้น แน่นอนว่าเหลือเวลาอีกประมาณ 2 ปีกว่า ที่จะให้รัฐบาลเพื่อไทย ที่นำทัพโดย น.ส.แพทองธาร ได้โชว์ผลงานตามที่ได้หาเสียงเอาไว้ ซึ่งมีคนจับตามองอยู่ว่ารัฐบาลชุดนี้จะทำได้อย่างที่พูดไว้หรือไม่
แต่ก่อนอื่น... ตอนนี้ประเทศไทยเรานั้นค่าแรงในแต่ละจังหวัดเท่าไหร่กันบ้าง? โดยทางกระทรวงแรงงาน ได้ประกาศอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ตามประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 13) ซึ่งได้ประกาศให้มีผลใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 ดังนี้
400 บาท ได้แก่ ภูเก็ต, ฉะเชิงเทรา, ชลบุรีม ระยองม และเฉพาะ อ.เกาะสมุย สุราษฎร์ธานี
380 บาท ได้แก่ เฉพาะ อ.เมืองเชียงใหม่ เชียงใหม่, อุบลราชธานี, และเฉพาะ อ.หาดใหญ่ สงขลา
352 บาท ได้แก่ บุรีรัมย์, ประจวบคีรีขันธ์, พังงา, พิษณุโลก, มุกดาหาร, สกลนคร, สงขลายกเว้น อ.หาดใหญ่, สระแก้ว, สุราษฎร์ธานี ยกเว้น อ.เกาะสมุย
372 บาท ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, นครปฐม, นนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรปราการ, สมุทรสาคร
359 บาท ได้แก่ นครราชสีมา
358 บาท ได้แก่ สมุทรสงคราม
357 บาท ได้แก่ ขอนแก่น, เชียงใหม่ ยกเว้น อ.เมืองเชียงใหม่, ปราจีนบุรี, พระนครศรีอยุธยา, สระบุรี
356 บาท ได้แก่ ลพบุรี
355 บาท ได้แก่ นครนายก, สุพรรณบุรี, หนองคาย
354 บาท ได้แก่ กระบี่, ตราด
352 บาท ได้แก่ กาญจนบุรี, จันทบุรี, เชียงราย, ตาก, นครพนม,บุรีรัมย์, ประจวบคีรีขันธ์, พังงา, พิษณุโลก, มุกดาหาร, สกลนคร, สงขลา ยกเว้น อ.หาดใหญ่, สระแก้ว, สุราษฎร์ธานี ยกเว้น อ.เกาะสมุย, อุบลราชธานี
351 บาท ได้แก่ ชุมพร, เพชรบุรี, สุรินทร์
350 บาท ได้แก่ นครสวรรค์, ยโสธร, ลำพูน
349 บาท ได้แก่ กาฬสินธุ์, นครศรีธรรมราช,บึงกาฬ, เพชรบูรณ์, ร้อยเอ็ด
348 บาท ได้แก่ ชัยนาท, ชัยภูมิ, พัทลุง, สิงห์บุรี, อ่างทอง
347 บาท ได้แก่ กำแพงเพชร, พิจิตร, มหาสารคาม, แม่ฮ่องสอน, ระนอง, ราชบุรี, ลำปาง, เลย, ศรีสะเกษ, สตูล, สุโขทัย, หนองบัวลำภู, อำนาจเจริญ, อุดรธานี, อุตรดิตถ์, อุทัยธานี345 บาท ได้แก่ ตรัง, น่าน, พะเยา, แพร่
337 บาท ได้แก่ นราธิวาส, ปัตตานี, ยะลา
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 1 พ.ค. ที่ผ่านมา (วันแรงงานแห่งชาติ) ที่อิมแพ็คเมืองทอง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ปฏิเสธการให้สัมภาษณ์ ถึงกรณีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท เป็นข่าวดีให้กับแรงงาน เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ
ซึ่งผิดกับวันที่ น.ส.แพทองธาร ได้ปราศรัยในฐานะหัวหน้าครอบครัวเพื่อ เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2565 ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นการปราศรัยครั้งแรกของกิจกรรม "ครอบครัวเพื่อไทย" ในภาคใต้ โดย น.ส.แพทองธาร ได้ปราศรัยและยังคงย้ำถึงประเด็น "ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท/วัน” และมีหนึ่งประโยคที่ท่านนายกฯ พูดในวันนั้นว่า “หากเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์สามารถทำได้ ทำไมประเทศไทยจะทำไม่ได้?"
ขณะที่ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์ในวันแรงงานถึงการปรับค่าจ้างขั้นต่ำตามนโยบาย 400 บาททั่วประเทศว่า "จริงๆ ตนไม่อยากตอบเรื่องนี้ เพราะมีโรคเลื่อนมาตลอดเวลา ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 ด้วยเหตุผลของการประชุมร่วมกัน 3 ฝ่ายของคณะกรรมการค่าจ้าง หรือไตรภาคี บางครั้งฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้าง หรือฝ่ายภาครัฐก็ไม่เห็นด้วย"
และพูดอีกว่า "เมื่อการประชุมวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา คิดว่าควรจะจบได้เพราะอยากเอามาประกาศเพื่อเป็นของขวัญวันแรงงาน แต่สุดท้ายก็ยังไม่จบ แต่เรายังต้องเดินหน้าต่อไป ซึ่งผมไม่กล้าประกาศว่าเป็นวันไหน เวลาใด รู้สึกว่าหน้าตายับเยินหมดแล้ว เพราะรับปากแล้วทำไม่ได้" นายพิพัฒน์ กล่าว
และแล้วเรื่องราวของนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวันของพรรคเพื่อไทย ก็ยังคงเป็นประเด็นที่ลอยอยู่ในอากาศ เหมือนเงาที่คอยทอดตามรัฐบาลชุดนี้ไปทุกย่างก้าว
จากวันหาเสียงที่เคยสร้างความหวังและให้กับพี่น้องผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ มาจนถึงวันนี้ที่เข็มนาฬิกาเดินหน้าเข้าใกล้ปี 2570 มากขึ้น คำถามก็ยิ่งดังกระหึ่มขึ้น จึงเกิดคำถามว่า "ค่าแรง 600 บาทต่อวัน ฝันสลายนโยบายไม่ตรงปกหรือไม่?" ความฝันนั้น จะกลายเป็น "จริง" หรือจะกลายเป็นเพียงแค่ "ลมปาก" ที่พัดผ่านไป
สุดท้ายนี้ คงต้องปล่อยให้ "เวลา" เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า นโยบายที่เคยถูกชูเป็นธงนำในการหาเสียงนั้น จะสามารถแปรเปลี่ยนเป็นความจริงที่จับต้องได้ และสร้างรอยยิ้มให้กับพี่น้องแรงงานไทยได้หรือไม่ หรือจะเป็นเพียงแค่ "ฝันสลาย" ที่ทิ้งไว้แต่ความผิดหวังและคำถามที่ยังคงก้องกังวานต่อไป
ขอบคุณภาพจาก : พรรคเพื่อไทย
.-008
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี