ผ่านพ้นไปแล้วสำหรับการเลือกตั้งนายกเทศมนตรี และสมาชิกสภาเทศบาล (สท.) เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2568 ที่ผ่านมา ซึ่งผลที่ออกมาก็ไม่เกินความตาดหมาย เมื่อบรรดา “บ้านใหญ่ – หน้าเดิม” ยังคงคว้าชัยชนะได้เสียเป็นส่วนมากจากทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม ในบางพื้นที่ก็มี “ดรามา” จากคดีอื้อฉาวเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งมีการไปปรามาสไว้ในช่วงก่อนเลือกตั้ง ว่าหากคนในพื้นที่นั้นยังคงเลือกผู้สมัครหน้าเดิมก็คงไม่ตางกับการ “กินหญ้า”
แต่เมื่อท้ายที่สุด ผู้สมัครหน้าเดิมนั้นคว้าชัยแบบยกชุด ก็ได้ทีออกมา “เกทับ” หลังถูก “คณะทัวร์” รุมถล่มมานาน ในทำนองว่า “คนที่นี่เขากินหญ้าหวาน” จุดชนวนความเดือดระลอกใหม่อีกครั้ง มีการตั้งคำถามว่า “เหมาะสมหรือไม่” กับการออกมาแสดงท่าทีแบบนี้ของคนที่เป็นนักการเมือง เพราะมองว่าไม่ว่าจะเป็นหญ้าชนิดใดก็ไม่ใช่อาหารสำหรับมนุษย์บริโภค
ซึ่งนั่นก็คือเรื่องของ “วิวาทะการเมือง” แต่จริงๆ แล้ว “หญ้าหวานเป็นพืชมีประโยชน์กว่าที่คิด” และยังถูกนำมาใช้เป็นส่วนประกอบอาหารของมนุษย์ด้วย
- หญ้าหวานคืออะไร? : ข้อมูลจาก สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า หญ้าหวาน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Stevia rebaudiana Bertoni จัดอยู่ในวงศ์ Astcraceac เป็นพืชล้มลุกอายุหลายปี มีลักษณะคล้ายต้นกะเพราหรือต้นแมงลัก มีสาร Stevioside ซึ่งเป็นสารให้ความหวานคล้ายคลึงกับน้ำตาลทรายมาก และมีความหวานประมาณ 300 เท่าของน้ำตาลซูโครส นอกจากนี้ ยังเป็นสารให้ความหวานที่มีแคลอรี่ต่ำมากเมื่อเทียบกับน้ำตาลทราย เนื่องจากไม่ถูกย่อยให้เกิดพลังงานในร่างกาย
จากคุณสมบัติของสารหวานดังกล่าว “ในปัจจุบันมีการนำมาใช้เป็นสารที่ให้ความหวานสำหรับอาหาร และเครื่องดื่มบางประเภท โดยใช้แทนน้ำตาลทรายบางส่วนหรือทั้งหมด” ซึ่งวัตถุประสงค์สำคัญคือลดปริมาณแคลอรี่ในอาหารและเครื่องดื่ม สำหรับผู้ที่ต้องการลดความอ้วนหรือผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน
- สรรพคุณ : แพทย์ผู้ใช้หลายคนยอมรับว่าหญ้าหวานช่วยย่อยอาหารป้องกันฟันผุและปริทนต์ รักษาบาดแผล มีดัชนีไกลซีมิก เท่ากับศูนย์ ดังนั้นจะไม่มีผลต่อระบบน้ำตาลในเลือด หลังจากบริโภคและยังช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด รักษาผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง อหิวาตกโรคและโรคท้องร่วงอื่นๆ และลดคอเลสเตอรอล
- สารสำคัญที่ทำให้มีรสหวานในหญ้าหวาน : เป็นสารประกอบพวกไดเทอร์พีนกลัยโคไซด์ ซึ่งมีอยู่หลายชนิด คือ steviol, steviolbioside, stevioside, rebaudioside A-F และ dulcoside A โดยพบว่า stevioside เป็นสารที่พบในปริมาณมากที่สุดคือประมาณร้อยละ 2.0-7.7 รองลงมาคือ rebaudioside ประมาณร้อยละ 0.8-2.9 ส่วนสารตัวอื่นจะพบในปริมาณน้อยกว่า นอกจากหญ้าหวานจะเป็นสารปรุงรสหวานอาหารและเครื่องดื่มที่มาจากธรรมชาติ มีรสขมเล็กน้อย ไม่ให้พลังงานและไขมัน ไม่เกิดการสะสมในร่างกายผู้บริโภค รวมทั้งไม่เกิดการดูดซึมในระบบการย่อย
ทำให้มีผลดีต่อผู้บริโภคที่ต้องการลดน้ำหนักและที่เป็นโรคเบาหวานประเภท 2 ทนความร้อนได้สูงถึง 200 องสาเซลเซียส ทนต่อภาวะความเป็นกรด-เบส ในช่วง 3-9 ให้ความหวานคงตัวตลอดกระบวนการผลิต ป้องกันการหมักท้าให้ไม่เกิดการเน่าบูด และเป็นสารต้านอนุมูลอิสระช่วยชะลอความแก่แล้ว ยังจัดเป็นโภชนาการบ้าบัดที่ดี เนื่องจากไม่มีความเป็นพิษทั้งแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรังต่อสัตว์ทดลอง ไม่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง รวมทั้งทางระบาดวิทยายังไม่เคยมีรายงานการป่วยหรือปัญหาต่อสุขภาพ ที่เกิดจากการบริโภคหญ้าหวานเป็นประจำแต่อย่างไร
- ข้อควรระวัง : ถึงแม้สารสตีเวียจะไม่ตกค้างในร่างกายก็ตาม การบริโภคใบหญ้าหวานหรือผลิตภัณฑ์ที่ได้เป็นจำนวนมาก จะเป็นการเพิ่มปริมาณนำตาลกลูโคส และอาจก่อให้เกิดผลเสียกับร่างกายได้เช่นกัน ดังนั้นควรบริโภคหญ้าหวานในปริมาณที่เหมาะสมเสมอ สำหรับปริมาณสารปรุงรสหวานในหญ้าหวานที่เหมาะสมในการบริโภคต่อวัน ได้แก่ 4 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักเป็นกิโลกรัมของผู้บริโภค
อ้างอิง
หญ้าหวาน (Stevia) : สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี