พาณิชย์-เกษตรฯอ่างทองลุยตรวจรับรอง GI "กระท้อนทองใบใหญ่บางเจ้าฉ่า" ดันเศรษฐกิจชุมชน
สำนักงานพาณิชย์จังหวัดอ่างทอง ร่วมกับสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดอ่างทอง นำคณะทำงานสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ลงพื้นที่ตำบลบางเจ้าฉ่า อำเภอโพธิ์ทอง เพื่อตรวจประเมินและพิจารณาคำขอใช้ตราสัญลักษณ์ GI ให้กับ "กระท้อนทองใบใหญ่บางเจ้าฉ่า" ซึ่งเป็นสินค้าขึ้นชื่อของจังหวัด พร้อมควบคุมและตรวจสอบระบบการผลิตและการจำหน่ายให้เป็นไปตามมาตรฐาน
เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2568 นางสาวสิการย์ เฟื่องฟุ้ง พาณิชย์จังหวัดอ่างทอง และนางวินดา เหลี่ยมสมบัติ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดอ่างทอง พร้อมคณะทำงาน GI ได้ลงพื้นที่เพื่อดำเนินการขับเคลื่อนสินค้า GI "กระท้อนทองใบใหญ่บางเจ้าฉ่า" โดยมีเป้าหมายในการประมวลข้อมูล จัดทำร่างคำขอขึ้นทะเบียน พิจารณารับคำขอ ตรวจสอบคุณสมบัติของเกษตรกรผู้ยื่นขอ รวมถึงติดตามและตรวจสอบคุณภาพสินค้าของผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์ GI ในครั้งนี้มีผู้ยื่นความประสงค์ขอใช้ตราสัญลักษณ์ GI จำนวน 19 ราย โดยการลงพื้นที่ตรวจประเมินและควบคุมตรวจสอบระบบการผลิตและจำหน่ายจะดำเนินการระหว่างวันที่ 19-20 พฤษภาคม 2568 ก่อนจะมีการออกใบอนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์ GI ต่อไป
"กระท้อนทองใบใหญ่บางเจ้าฉ่า" มีความผูกพันกับสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเสด็จพระราชดำเนินมาทรงปลูกต้นกระท้อนพันธุ์ "ทองใบใหญ่" ณ วัดยางทอง เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2550
ลักษณะเด่นของ "กระท้อนทองใบใหญ่บางเจ้าฉ่า" คือ ผลค่อนข้างกลม ขั้วผลนูนเล็กน้อย เปลือกบาง ผิวไม่เรียบ ผลสุกมีสีเหลืองทอง เนื้อหนานุ่มและฉ่ำน้ำ ปุยเมล็ดมีรสชาติหวานฉ่ำและมีกลิ่นหอมหวานอันเป็นเอกลักษณ์ ปัจจุบันมีการขยายพื้นที่เพาะปลูกไปทั่วอำเภอโพธิ์ทอง ซึ่งมีลักษณะทางภูมิศาสตร์เป็นที่ราบตะกอนน้ำพา ดินในชุดดินสิงห์บุรีอุดมไปด้วยธาตุโพแทสเซียมและฟอสฟอรัสสูง
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้กระท้อนมีรสชาติดีเยี่ยมคือ ภูมิปัญญาและองค์ความรู้ในการเพาะปลูกของเกษตรกรในพื้นที่ที่มีความชำนาญและประสบการณ์ยาวนาน ประกอบกับสภาพภูมิอากาศแบบร้อนชื้นและฝนตกชุกตามฤดูกาลจากอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ส่งผลให้กระท้อนเจริญเติบโตได้ดีและมีรสชาติหวานฉ่ำ จนเคยได้รับรางวัลชนะเลิศด้านรสชาติอันดับ 1 ของจังหวัดอ่างทอง นอกจากนี้ยังมีการจัดงาน "มหกรรมกระท้อนทองใบใหญ่ทรงปลูก" เพื่อประชาสัมพันธ์ผลผลิตให้เป็นที่รู้จักในตลาดวงกว้าง สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรในชุมชนได้มากกว่า 6 ล้านบาทต่อปี
นางสาวสิการย์ เฟื่องฟุ้ง พาณิชย์จังหวัดอ่างทอง กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงพาณิชย์มีนโยบายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากโดยใช้ประโยชน์จากการขึ้นทะเบียน GI เพื่อคุ้มครองสินค้าท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น สร้างมูลค่าเพิ่ม ตลอดจนส่งเสริมระบบควบคุมคุณภาพสินค้าเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภค และขยายช่องทางการตลาดอย่างต่อเนื่อง ทำให้สินค้า GI เป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบาย Soft Power ของรัฐบาล
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี