1 กรกฎาคม 2568 กรมการแพทย์ โดยสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ห่วงใยในช่วงฤดูฝนและสภาพอากาศที่แปรปรวนส่งผลให้เด็กป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะโรคไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก และโรคโควิด-19 ที่ยังคงแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องในช่วงนี้ ถึงแม้อาการของโรคจะใกล้เคียงกัน แต่ควรเฝ้าระวัง และจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม
นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สาเหตุของโรคไข้หวัดใหญ่เกิดจากการติดเชื้ออินฟลูเอนซา ติดต่อโดยการหายใจเอาละอองน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะของผู้ป่วยที่ไอ หรือจาม เข้าไป สัมผัสสิ่งของที่ปนเปื้อนน้ำมูก น้ำลาย ของผู้ป่วย ทำให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่มีภูมิคุ้มกันยังไม่สมบูรณ์ อาการของไข้หวัดใหญ่ในเด็กมักเริ่มด้วยไข้สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ร่วมกับอาการไอ เจ็บคอ คัดจมูก น้ำมูกไหล และปวดเมื่อยตามตัว เด็กมักจะรู้สึกอ่อนเพลียและอาจมีอาการแทรกซ้อนหากไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสม โรคไข้เลือดออก เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกีโดยมียุงลายเป็นพาหะ เมื่อยุงลายกัดและถ่ายทอดเชื้อเข้าสู่กระแสเลือด จะทำให้เกิดโรคในช่วงประมาณ 2-7 วัน
โดยผู้ป่วยจะมีไข้สูงลอยอย่างต่อเนื่อง โดยทั่วไปจะไม่มีอาการไอหรือน้ำมูก แต่เด็กจะมีอาการซึม เบื่ออาหาร และปวดเมื่อยตามตัวอย่างรุนแรง บางรายอาจมีคลื่นไส้ อาเจียน หรือปวดท้อง ในช่วงที่ไข้ลดลงอาจพบผื่นขึ้น มีจุดเลือดออกใต้ผิวหนัง หรือเลือดกำเดาออก โรคโควิด-19 เกิดจากไวรัส SARS-CoV-2 ที่ติดต่อผ่านละอองฝอยน้ำลายจากการไอ จาม หรือการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ อาการในเด็กนั้นมีความหลากหลาย ตั้งแต่ไม่มีอาการเลย ไปจนถึงมีไข้ต่ำ ไอ เจ็บคอ จาม มีน้ำมูก และเหนื่อยหอบ ในบางรายอาจแสดงอาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่น ถ่ายเหลว และอาจมีผื่นขึ้นร่วมด้วยได้
นายแพทย์อาคม ชัยวีระวัฒนะ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า วิธีการดูแลรักษา โรคไข้หวัดใหญ่ในเด็กกลุ่มเสี่ยงสามารถใช้ยาต้านไวรัสได้ เช่น ยาโอเซลทามิเวียร์ หากให้ยาภายใน 48 ชั่วโมงหลังเริ่มมีอาการ จะช่วยลดระยะเวลาในการป่วยลงได้ โรคไข้เลือดออก ยังไม่มียาต้านไวรัสโดยตรง การรักษาจะเน้นไปที่การดูแลตามอาการ เด็กควรได้รับยาลดไข้เฉพาะพาราเซตามอลเท่านั้น ห้ามใช้ยาในกลุ่มแอสไพรินหรือยาลดอาการอักเสบที่อาจทำให้เลือดออกง่ายขึ้น ควรให้เด็กดื่มน้ำสะอาดมาก ๆ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ โรคโควิด-19 ส่วนใหญ่รักษาตามอาการที่บ้าน สามารถกินยาตามอาการได้ เช่น ยาแก้ปวด ยาลดไข้ ยาแก้ไอ โดยให้เด็กดื่มน้ำสะอาดและพักผ่อนให้เพียงพอ การป้องกันโรคสามารถทำได้โดยให้เด็กได้รับวัคซีนที่จำเป็นอย่างครบถ้วน ซึ่งสามารถลดความรุนแรงของโรคและป้องกันการแพร่กระจายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควรส่งเสริมให้เด็กสวมหน้ากากอนามัยเมื่อต้องอยู่ในที่แออัด หมั่นล้างมือบ่อย ๆ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ และพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง โดยผู้ปกครองสามารถใช้ชุดตรวจ ATK เพื่อช่วยวินิจฉัยเบื้องต้น ผู้ปกครองควรร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงภายในบ้านและบริเวณโดยรอบ เช่น คว่ำภาชนะที่อาจมีน้ำขัง เปลี่ยนน้ำในแจกันหรือถาดรองกระถางต้นไม้อย่างสม่ำเสมอ และให้เด็กสวมเสื้อผ้ามิดชิดเมื่อต้องอยู่ในพื้นที่ที่มียุงชุกชุม สิ่งสำคัญคือการรู้เท่าทันอาการของโรค และหมั่นสังเกตความเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยในร่างกายของเด็กอย่างใกล้ชิด หากพบอาการผิดปกติ ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที เพื่อลดความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อน
.012
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี