“ผมเห็นว่าภาคประชาสังคมของเราไปค่อนข้างไกลในแง่ของการผลักดัน ผมอยากจะตั้งคำถามตัวโตๆ ในอาคารรัฐสภาแห่งนี้ ผู้แทนประชาชนทั้ง สส. และ สว. ได้ขยับหรือตามทันประเด็นที่ภาคประชาสังคมพยายามที่จะขับเคลื่อนแล้วหรือไม่ ในมุมผมคิดว่าไปช้ากว่าภาคประชาสังคม ปรากฏการณ์แบบนี้ในทางการเมืองอาจจะมองว่าแน่นอนกระแสสังคมมีความเป็นไปได้ที่จะไปไกลกว่าเสมอ เนื่องจากว่ามีความรวดเร็วของแนวความคิด
อย่างไรก็ตาม ความพยายามในการที่จะปลดล็อกปัญหาเกี่ยวกับการค้าประเวณีมันมีมานานมากๆ แล้วในสังคมไทย มันเลยทำให้เราต้องกลับมานั่งคิดและคงเป็นโอกาสอันดีที่จะมาพูดกันในอาคารรัฐสภาแห่งนี้ ว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่ สส. และ สว. จะหยิบนำเรื่องนี้มาคุยกันอย่างจริงๆ จังๆ กันเสียที”
รศ.ดร.อานนท์ มาเม้า อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในวงเสวนา “ประเด็นปัญหาการค้าประเวณีโดยสมัครใจกับขบวนการค้ามนุษย์” ที่อาคารรัฐสภา เมื่อเดือน มิ.ย. 2568 ที่ผ่านมา เปิดประเด็นถึงฝ่ายการเมืองทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) และสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ ชวนให้คิดว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่ต้องหยิบยกเรื่องของ “การขายบริการทางเพศ (Sex Worker)” มาพูดคุยกันอย่างจริงจัง
อาจารย์อานนท์ เริ่มต้นด้วยการตั้งข้อสังเกตว่า “เท่าที่รวบรวมข้อมูล ไม่พบข้อมูลเกี่ยวกับการขายบริการทางเพศที่จัดทำอย่างเป็นทางการโดยหน่วยงานของรัฐไทย” ซึ่งเป็นไปได้ว่า “ภาครัฐของไทยอาจเมองว่าเป็นข้อมูลอ่อนไหวหรือมีข้อขัดข้องในแง่กฎหมาย” ขณะที่ข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ เช่น International Union of Sex Worker (สหภาพผู้ให้บริการทางเพศสากล) ในปี 2566 พบว่า จากจำนวนผู้ให้บริการทางเพศ 52 ล้านคนทั่วโลก ไทยนั้นมีจำนวนอยู่ที่ราว 2.5 แสนคน อยู่ในอันดับ 8 ของโลก
จึงเป็นคำถามต่อไปว่า “ในขณะที่สังคมไทย (ส่วนหนึ่ง) พยายามสมาทานศีลธรรมอันดี แต่การขายบริการทางเพศก็เป็นปรากฏการณ์ที่มีอยู่จริงมานาน แล้วจะยอมรับได้มาก – น้อยเพียงใด?” ขณะที่มูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับบริการทางเพศทั่วโลกจะอยู่ที่ 1.8 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (เกือบ 6 ล้านล้านบาท) โดยตัวเลขนี้ครอบคลุมทั้งการให้บริการทางเพศโดยตรง (Prostitution หรือโสเภณี) สถานบริการ สื่อบันเทิงสำหรับผู้ใหญ่ ฯลฯ ส่วน 7 ประเทศที่มีผู้ให้บริการทางเพศมากว่าไทย คือ จีน อินเดีย สหรัฐอเมริกา ฟิลิปปินส์ เม็กซิโก เยอรมนีและบราซิล
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลชุดนี้ไม่ได้แยกว่าประเทศใดการขายบริการทางเพศถูกหรือผิดกฎหมาย สำหรับประเทศไทยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องเป็นหลักคือ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 แต่จะยกเลิกหรือแก้ไขเพียงกฎหมายนี้ก็ยังไม่เพียงพอ เพราะยังมีกฎหมายใกล้เคียง คือ ประมวลกฎหมายอาญา (ความผิดฐานเป็นธุระจัดหา) นอกจากนั้นยังมีแง่มุมอื่นๆ เช่น หากจะทำให้การขายบริการทางเพศเป็นอาชีพปกติมีกฎหมายคุ้มครอง ก็จะไปเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ.2509 หากจะทำให้มีสถานบริการประเภทนี้เกิดขึ้น
สมชาย หอมลออ ประธานมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) มองย้อนประวัติศาสตร์ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (ปี 2484 – 2488) หลายประเทศเผชิญปัญหาเศรษฐกิจที่เป็นผลกระทบจากสงคราม เป็นปัจจัยที่ทำให้การขายบริการทางเพศเพิ่มขึ้น เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ญี่ปุ่น แต่เมื่อประเทศมีการพัฒนามากขึ้น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ก็เปลี่ยนรูปแบบหรือลดลงไป แม้จะยังไม่ถึงขั้นหมดไปอย่างสิ้นเชิงก็ตาม
ประการต่อมา การขายบริการทางเพศถือเป็นแรงงานประเภทหนึ่ง ซึ่งน่าจะมีหลายแสนคนที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับธุรกิจประเภทนี้ แต่ทั้งกฎหมายและทัศนคติของสังคมได้ละเลยและตีตราให้เป็นความผิด แม้จะมีส่วนร่วมสร้างเศรษฐกิจของประเทศแต่ไม่ได้รับการคุ้มครอง อย่างในเดือน พ.ค. 2568 ตนไปร่วมประชุมกับมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING) ที่เมืองพัทยา จ.ชลบุรี มีเสียงสะท้อนจากผู้ขายบริการรวมถึงผู้ประกอบการสถานบริการที่เกี่ยวข้อง ว่าการมีกฎหมายกำหนดให้อาชีพนี้เป็นความผิด ก็ทำให้ตกเป็นเหยื่อของการถูกเอารัดเอาเปรียบ
“จะต้องปลดพันธนาการ ด่านแรกคือยกเลิก พ.ร.บ.ปรามการค้าประเวณี (พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539) ทำให้การให้บริการทางเพศเป็นสิ่งเป็นไม่บอกว่าถูกกฎหมายแต่ว่าไม่ผิดกฎหมาย ซึ่งจริงๆ แล้วโดยหลักกฎหมายอาญา การที่ไม่ผิดกฎหมายก็คือถูกกฎหมาย เพราะบุคคลจะทำอะไรก็ได้ยกเว้นที่กฎหมายห้าม เมื่อยกเลิกกฎหมายที่ห้ามเสียแล้วแน่นอนก็ย่อมมีสิทธิเสรีภาพในการที่จะประกอบอาชีพใช้แรงงานอย่างหนึ่ง ก็คือการให้บริการทางเพศได้” สมชาย ระบุ
ถึงกระนั้น ประธานมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ชวนให้คิดต่อไปว่า แม้ในอนาคตจะยกเลิกกฎหมายเอาผิดอาชีพขายบริการทางเพศได้จริง แต่ยังมีเรื่องของนิติกรรมสัญญาระหว่างผู้ขายบริการกับผู้ใช้บริการ (ที่อาจไม่จำเป็นต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษร) ซึ่งอาจถูกตีความว่าเป็นนิติกรรมสัญญาที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม จึงเป็นอีกประเด็นที่ต้องแก้ด้วยเพื่อไม่ให้นิติกรรมสัญญาประเภทนี้ถูกตีความเป็นโมฆะ เช่น ผู้ใช้บริการไม่ยอมจ่ายเงินค่าบริการตามที่ตกลงกันไว้ แต่ผู้ให้บริการกลับไม่สามารถฟ้องเป็นคดีความได้
อนึ่ง ในมิติด้านแรงงาน เคยมีความเห็นว่ารัฐไม่สามารถคุ้มครองผู้ให้บริการทางเพศได้เพราะยังเป็นอาชีพที่กฎหมายกำหนดให้เป็นความผิด จำเป็นต้องไปยกเลิกกฎหมายที่กำหนดความผิดนั้นเสียก่อน แต่ในความเป็นจริง “ผู้ให้บริการทางเพศนั้นมีกลุ่มย่อยหลายกลุ่มและไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับเพศสัมพันธ์โดยตรงเสมอไป” เช่น พนักงานต้อนรับและดูแลลูกค้าในสถานบริการ หรือในประเทศญี่ปุ่นที่มีอาชีพ “เพื่อนเที่ยว” ซึ่งอาชีพลักษณะนี้ผู้ให้บริการไม่ได้มีเพศสัมพันธ์กับผู้ใช้บริการ ก็น่าจะต้องได้รับความคุ้มครองให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
สุดท้ายคือคำถามสำคัญ “หากยกเลิกความผิดอาชีพขายบริการทางเพศจะทำให้มีคนตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์หรือไม่?” คำตอบคือ “ปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมาย พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 อยู่แล้ว” รวมถึงยังมีบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญา แต่ปัญหาอยู่ที่ 1.มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังหรือไม่? กับ 2.กฎหมายยังมีจุดบกพร่องต้องแก้ไขเพิ่มเติมหรือไม่?
อย่างไรก็ตาม “สิ่งที่ต้องระวังคือการกำหนดให้ผู้ขายบริการทางเพศต้องขึ้นทะเบียน” เพราะเคยมีบทเรียนจากประเทศสวีเดนมาแล้ว ที่ยอมรับว่าข้อกำหนดดังกล่าวเป็นความผิดพลาดและกลายเป็นตราบาปไปหลายชั่วอายุคนกับคนที่ไปขึ้นทะเบียน โดยปัจจุบันสวีเดนมีพิพิธภัณฑ์ที่จัดนิทรรศการให้ความรู้เรื่องนี้ และย้ำเตือนว่าประเทศอื่นไม่ควรมาเดินผิดพลาดซ้ำรอย
“แอนนา” ตัวแทนพนักงานบริการทางเพศ มองว่า “สังคมไทยยังเข้าใจผิดว่าการขายบริการทางเพศโดยสมัครใจกับการค้ามนุษย์เป็นเรื่องเดียวกัน” ซึ่งคนที่สมัครใจเข้ามาอยู่ในอาชีพนี้มีปัจจัยจาก 1.แรงกดดันทางเศรษฐกิจ 2.ภาระครอบครัวที่ต้องดูแล เมื่อทำแล้วได้ค่าตอบแทนเป็นเงินไปเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว ในขณะที่การค้ามนุษย์จะหมายถึงคนที่ถูกใช้ให้ทำงานโดยที่คนคนนั้นไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆ
“หลายคนชอบไปตีตราพนักงานบริการว่าเป็นอาชีพที่ต่ำ อาชีพที่ไม่ดี อาชีพที่ไม่มีใครอยากทำ แต่มันด้วยเหตุผลหลายๆ อย่างที่เขาจำเป็นจะต้องทำ แล้วก็ในด้านของเศรษฐกิจด้วย พนักงานบริการส่งเงินกลับบ้าน เลี้ยงดูครอบครัว ใช้หนี้ใช้สินให้ครอบครัว เชื่อว่าพนักงานบริการ 90 กว่าเปอร์เซ็นต์เลี้ยงดูครอบครัวและผู้ที่อยู่เบื้องหลัง ดังนั้นการค้ามนุษย์กับการทำงานบริการโดยสมัครใจมันคนละอันกัน” ตัวแทนพนักงานบริการทางเพศ กล่าว
นัยนา สุภาพึ่ง ที่ปรึกษามูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ ตั้งคำถามว่า “การมีเพศสัมพันธ์โดยสมัครใจใครเป็นผู้เสียหาย?” ซึ่งแตกต่างจากการข่มขืนกระทำชำเราที่ผู้ถูกกระทำจะมาให้การว่าตนเองไม่ยินยอม แต่การที่ไม่มีผู้ขายบริการทางเพศลุกขึ้นมาต่อสู้ก็เพราะมองว่ายอมเสียค่าปรับให้จบๆ ไป เพื่อจะได้รีบๆ ไปทำงานหารายได้มาชดเชยให้มากขึ้น นำไปสู่การตั้งข้อหาตามอำเภอใจของเจ้าหน้าที่ ซึ่งเคยพบข้อหาแปลกๆ ที่ระบุในใบเสร็จรับเงินค่าปรับ เช่น ค้าประเวณีในวันสำคัญทางศาสนาบ้าง ทำตัวไม่เป็นประโยชน์กับการท่องเที่ยวบ้าง เป็นต้น
“ปล่อยให้กฎหมายแบบนี้ออกมาทำร้ายร่างกายเราอย่างนี้ได้อย่างไร? มันเป็นความรุนแรงในเชิงโครงสร้าง ยืนอยู่เฉยๆ ก็โดนตบ มันเจ็บนะ” ที่ปรึกษามูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ กล่าว
SCOOP.NAEWNA@HOTMAIL.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี