ในการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ของสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) วันที่ 18 ก.ค. 2568 นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถึงการที่ตนเป็นผู้แทน กสม. เข้าร่วมประชุมระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกว่าด้วยสิทธิของผู้สูงอายุและการสูงวัย จัดโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมองโกเลีย ณ กรุงอูลานบาตอร์ ประเทศมองโกเลีย ระหว่างวันที่ 19 – 20 มิ.ย. 2568 ที่ผ่านมา ว่า งานดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย ผู้แทนจากสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ภาคประชาสังคม ภาครัฐ และนักปกป้องสิทธิมนุษยชน
ซึ่งได้มาร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการส่งเสริมคุ้มครองสิทธิของผู้สูงอายุ และผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนจากสถานการณ์โลกที่มีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการพิจารณาร่างคำประกาศเจตนารมณ์อูลานบาตอร์เพื่อยกระดับสิทธิผู้สูงอายุ (Ulaanbaatar Call For Action on Advancing the Human Rights of Older Persons) เพื่อให้เป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ของทุกภาคส่วนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่จะสนับสนุนการดำเนินงานตามข้อมติคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติที่ได้เห็นชอบให้มีตั้งคณะทำงานแบบเปิดระหว่างประเทศเพื่อยกร่างอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของผู้สูงอายุให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
โดยร่างคำประกาศเจตนารมณ์อูลานบาตอร์ฯ มีข้อเรียกร้องหลัก 10 ประการ สรุปได้ดังนี้ (1) ให้รัฐสมาชิกสหประชาชาติ สนับสนุนการจัดทำและรับรองสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ (2) เน้นย้ำบทบาทของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในการมีส่วนร่วมในเวทีระหว่างประเทศ ผลักดันการปฏิรูปกฎหมายในประเทศ ตรวจสอบและรายงานการละเมิดสิทธิของผู้สูงอายุ และส่งเสริมการบูรณาการเรื่องผู้สูงอายุในทุกภารกิจหลักขององค์กร
(3) เรียกร้องให้มีการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของผู้สูงอายุ โดยเฉพาะกลุ่มที่เผชิญการเลือกปฏิบัติซ้อน เช่น ผู้หญิงสูงอายุ ผู้สูงอายุในพื้นที่ชนบท คนพิการ และชนพื้นเมือง (4) เน้นย้ำช่องว่างในกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ที่ยังไม่ครอบคลุมประเด็นสำคัญ เช่น ความสามารถทางกฎหมาย การเข้าถึงการดูแลระยะยาว บริการสุขภาพที่เหมาะสมกับวัย ความรุนแรง การเข้าถึงเทคโนโลยี และความยุติธรรม (5) ผลกระทบของความไม่เสมอภาคทางเพศที่ทำให้ผู้หญิงสูงอายุและผู้มีความหลากหลายทางเพศตกอยู่ในความยากจน โดดเดี่ยว และเสี่ยงต่อความรุนแรง
(6) ให้รัฐบูรณาการสิทธิมนุษยชนของผู้สูงอายุในแผนพัฒนาประเทศ นโยบายสาธารณะ งบประมาณ และการจัดการภัยพิบัติ พร้อมส่งเสริมเศรษฐกิจผู้สูงวัย (7) ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนมุมมอง โดยมองผู้สูงอายุเป็น “ผู้มีสิทธิ” ไม่ใช่ “ผู้พึ่งพิง” พร้อมส่งเสริมการเรียนรู้ข้ามรุ่น และขจัดอคติทางอายุ (8) ยุติความขัดแย้งและคุ้มครองผู้สูงอายุ ตามหลักสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรมในช่วงวิกฤติและความขัดแย้ง
(9) สนับสนุนบทบาทของสหประชาชาติและเครือข่ายสิทธิมนุษยชนระดับภูมิภาค ในการให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการและการเงิน เพื่อขับเคลื่อนนโยบายสูงวัยที่ตั้งอยู่บนฐานสิทธิมนุษยชน และ (10) ขอให้กระบวนการจัดทำสนธิสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของผู้สูงอายุโดยคณะทำงานแบบเปิดระหว่างประเทศดำเนินไปอย่างโปร่งใส มีส่วนร่วม มีทรัพยากรเพียงพอ และมีกำหนดระยะเวลา เพื่อให้ได้สนธิสัญญาที่สะท้อนความเป็นจริงของผู้สูงอายุทั่วโลก
ทั้งนี้ ในการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นต่อร่างคำประกาศเจตนารมณ์ดังกล่าว กสม. ไทย มีข้อเสนอแนะให้คำประกาศเจตนารมณ์ฉบับนี้ครอบคลุมรวมสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทุกแห่งในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยไม่จำกัดเฉพาะสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่มีสถานะ A เท่านั้น จากนั้นเมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2568 ในการประชุมด้านบริหาร กสม. ได้มีมติรับรองร่างคำประกาศเจตนารมณ์อูลานบาร์ตอร์เพื่อยกระดับสิทธิผู้สูงอายุแล้ว
และให้สำนักงาน กสม. จัดทำแผนการดำเนินงานที่ชัดเจนในการขับเคลื่อนประเด็นดังกล่าว และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ เพื่อสร้างความตระหนักรู้และร่วมกันขับเคลื่อนการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของผู้สูงอายุร่วมกันอย่างเป็นระบบ รวมถึงกำหนดท่าทีของประเทศไทยต่อประเด็นนี้ในเวทีความร่วมมือระหว่างประเทศให้ไปในแนวทางเดียวกัน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี