แก้กอริลล่า‘บัวน้อย’ปลุกให้ตื่น ด้วยสันติวิธี
22 กรกฎาคม 2568 จากกระแสเรียกร้องคืนอิสรภาพ ให้ “บัวน้อย” กอริลล่าเพศเมีย อายุประมาณ 38 ปี อยู่ในสวนสัตว์บนห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง มีการเรียกร้องร้อง เจรจาต่อร้อง และจัดกิจกรรมรณรงค์กันมายาวนานกว่า 10 ปี นำโดยคุณศิลจิรา อภัยทาน นักเคลื่อนไหวที่ นำธงการหาบ้านใหม่ให้ “บัวน้อย”
วันนี้ผู้สื่อข่าวได้มีการสอบถามความคิดเห็น ไปยัง ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล หนึ่งในคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ตาม พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 โดย ดร.สาธิต ได้แสดงความคิดเห็นส่วนตัวว่า เรื่องนี้ได้ติดตามข้อมูลมาอย่างใกล้ชิดและมีส่วนร่วมบ้างบางครั้ง และได้มีโอกาสสนทนากับคุณสินจิรา อภัยทาน ก่อนอื่นต้องขอยกย่องและชมเชยว่าตลอดระยะเวลาของการรณรงค์หาบ้านใหม่ให้ “บัวน้อย” มีเรื่องราวต่างๆ เกิดขึ้นมามากมายทั้งระดับกลุ่มเล็กๆ ขยายวงกว้างจนนานาอารยประเทศให้ความสนใจ เกี่ยวกับมาตรการการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ที่ทราบมาตลอดว่า หลายครั้งที่รัฐมนตรีกระทรวงของไทยไปประชุมระดับโลกที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ก็มักจะมีผู้นำของประเทศต่างๆ สอบถามถึงปัญหาดังกล่าว ด้วยความห่วงใยมาอย่างต่อเนื่อง
สำหรับกอริลล่า แม้เป็นสัตว์ แต่ก็เป็นเหมือนญาติสนิทของมนุษย์ เพราะนอกจากสรีระทางกายภาพที่คล้ายมนุษย์และการรับรู้ทางอารมณ์ถึงความรู้สึกรักสุข เกลียดทุกข์ หิว อิ่ม เจ็บปวด ดีใจ เสียใจ หงุดหงิด ก็คล้าย มนุษย์อย่างเราๆ เช่นกัน
หลายปีที่โดนขัง “บัวน้อย” ในพื้นที่จำกัด โดดเดียวไร้อิสรภาพ แม้จะกินได้นอนหลับ แต่ก็ไม่สามารถแสดงออกซึ่งอิสรภาพตามพฤติกรรรมตามธรรมชาติได้ หรือแม้แต่ไม่มีโอกาส ได้อยู่กับธรรมชาติบนพื้นดิน สายลม แสงแดดอันบริสุทธิ์ ซึ่งสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ มนุษย์ยังแสวงหา แล้วสัตว์ป่า อย่างกอริลล่า จะมีความต้องการมากเพียงใด
ที่ผ่านมา หลายฝ่ายก็พยายามหาทางออกร่วมกัน ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมถึงประชาชนผู้รักสัตว์จำนวนมาก จนถึงการเรียกร้องรวบรวมรายชื่อกันเป็นหมื่นเป็นแสน ของคนที่ต้องการหาทางออกที่เหมาะสมให้กับ กอริลล่า “บัวน้อย” ก็เคยมีมาแล้ว ล่าสุด คุณสินจิรา อภัยทาน ได้ทำหนังสือ ไปยังกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เกี่ยวกับมาตรการดูแลและเคลื่อนย้ายสัตว์ป่า ในกรณีเกิดภัยพิบัติในสถานที่ดูแล “บัวน้อย” ซึ่งทางกรมอุทยานฯ ตอบกลับมา ตามเลขหนังสือ ที่ ทส 0902.2/12980 ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2568 ลงนามโดยรองอธิบดีกรมอุทยานฯ ซึ่งมีประเด็นหลักๆ 4 ข้อ ส่วนใหญ่จะตอบข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกรมฯ และ อำนาจของเจ้าของในการดูแล กอริลล่า ดังกล่าว
แนวทางการช่วยเหลือเชื่อว่าตอนนี้ ทั้งภายในประเทศไทยและต่างประเทศมีการศึกษาวิจัยในเรื่องดังกล่าว พร้อมกับแนวทางมาตรการการช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะปัญหาใหญ่ที่หลายฝ่ายกังวล เช่น เมื่อย้าย “บัวน้อย” แล้วจะไปอยู่อาศัยใหม่ที่ไหน โรคภัยไข้เจ็บที่จะเกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร ย้ายแล้วถ้าเสียชีวิตจะคุ้มค่าไหม และจะมีสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ไหนจะพร้อมดูแล รวมทั้งค่าชดเชยให้กับเจ้าของในการขาดประโยชน์การทำมาหาได้ เป็นต้น
แน่นอน การแก้ปัญหาต้องยึดหลักกฎมายเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นบรรทัดฐาน การปฏิบัติ ที่ต้องอิงหลักกฎหมาย แต่หลายเรื่องในการแก้ไขปัญหา “มโนธรรมสำนึก” ก็เป็นเรื่องที่สำคัญ โดยเฉพาะในเรื่อง “ความจริง ความดี ความงาม” แม้หลายคนเชื่อว่าเรื่องนี้ย่อมมีความเห็นที่หลากหลาย ตามเป้าหมายและเจตนาเฉพาะตน แต่หลัก “วิญญูชน” ในการเมตตาและปฏิบัติต่อสัตว์ปัจจุบันก็เป็นกระแสที่ทั่วโลกยอมรับกันทั่วโลก ทั่วถึงกันอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการปฏิบัติต่อสัตว์ที่ขัดหลักสวัสดิภาพสัตว์สากล
วันนี้คงถึงเวลาที่ต้อง “ปลุกกันให้ตื่น” กันอีกครั้ง กับการร่วมหาทางออกที่เหมาะสมที่สุดสำหรับทุกฝ่าย เริ่มต้นจากการพูดคุยกันอย่าง “สันติวิธี” ดุจดั่งญาติมิตรที่ต้องมีความเมตตาธรรมต่อกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง อย่ารอให้ “บัวน้อย” จากไป บนตึกเพื่อทิ้งร่อยรอยคำถามเกี่ยวกับ “การจัดวัสดิภาพสัตว์ ในสวนสัตว์ บนห้างสรรพสินค้า” ของประเทศไทย เมื่อถึงเวลานั้นภาพลักษณ์อันดีงามคงไม่ย้อนกลับมา
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี