เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยปลัดกระทรวงเกษตรฯ ชวลิต ชูขจร ปฏิบัติราชการแทน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ชวนข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของกระทรวงฯ ทำบุญเลี้ยงพระเพื่อความเป็นสิริมงคล หลังจากขนของกลับจากปากเกร็ดเข้ามานั่งทำงานในห้องทำงานเดิมอีกครั้ง...หวังว่าจะไม่ต้องย้ายที่ทำงานหนีผู้ชุมนุมกันอีก...
เมื่อกลับมาสู่สภาพปกติของการทำงาน ในฐานะข้าราชการประจำที่ไม่มีนักการเมืองมากำกับ ประกอบกับ คสช. ส่งนายทหารชั้นผู้ใหญ่อย่าง พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คสช. และ พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ ที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจ คสช. มาดูแลงานของกระทรวงเกษตรฯ จึงมีการหยิบยกปัญหาของเกษตรกรที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขหรือยังแก้ไม่เสร็จ มาปัดฝุ่นดูกันอีกครั้ง
โครงการแก้ปัญหาของเกษตรกรที่เข้าตา คสช. มี 4 โครงการ คือ โครงการแก้ปัญหายางพารา โครงการแก้ปัญหาโรคกุ้งตายด่วน โครงการบริหารจัดการนมโรงเรียน และโครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยพิบัติ ทั้ง 4 โครงการ รวมงบประมาณต้องใช้กว่า 1 หมื่นล้านบาท
โครงการแก้ปัญหายางพารา ใช้งบประมาณ 6,159.99 ล้านบาท เป็นค่าปัจจัยการผลิตชดเชยให้ชาวสวนยางที่ประสบปัญหาราคายางตกต่ำตั้งแต่สมัยรัฐบาลชุดก่อน แต่ยังดำเนินการไม่เสร็จสิ้น มาถึงวันนี้จึงต้องดำเนินการต่อ เพราะเกษตรกรที่มาขึ้นทะเบียนไว้แล้วอีกจำนวนมากยังไม่ได้รับเงิน
โครงการแก้ปัญหาโรคกุ้ง เพื่อควบคุมและลดความสูญเสียของโรคกุ้งตายด่วน (EMS) 200 ล้านบาท จะมีการนำเข้าพ่อ-แม่พันธุ์กุ้งเพื่อผลิตลูกพันธุ์กุ้งที่มีคุณภาพ เพิ่มประสิทธิภาพระบบคัดกรอง ป้องกันและเฝ้าระวังเพื่อยับยั้งการระบาด เพิ่มศักยภาพการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์และเพิ่มศักยภาพเกษตรกร งานนี้อธิบดีกรมประมง นิวัติ สุธีมีชัยกุล คงต้องไว้ลายโชว์ฝีมือก่อนเกษียณอายุราชการในอีก 4 เดือนข้างหน้า
โครงการบริหารจัดการนมโรงเรียน ซึ่งครบกำหนดตามสัญญาเมื่อเดือนกันยายน 2556 จึงมีการเสนอ ครม. ขอขยายเวลาดำเนินการต่อ แต่มายุบสภาเสียก่อนจึงไม่มีการพิจารณา กระทั่งคสช.เข้ามา จึงเสนอขอขยายเวลาดำเนินการต่อไปอีก 2 ปี ใช้งบประมาณ 1,400 ล้านบาท ซึ่งจะต้องให้คสช.พิจารณาอีกครั้ง
โครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยพิบัติด้านการเกษตร ระหว่าง ปี 2555–2557 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุทกภัย รวมเกษตกรที่ได้รับความเสียหายกว่า 432,000 ราย วงเงิน 4,325.64 ล้านบาท
รวม 4 โครงการ ต้องใช้เงินมิใช่น้อย แต่ถือว่า จำเป็นและเร่งด่วน ยกเว้นโครงการนมโรงเรียน ซึ่งมิลค์ บอร์ดที่มีปลัดกระทรวงเกษตรฯ ชวลิต ชูขจร เป็นประธาน คงต้องพิจารณาอย่างละเอียดและรอบคอบว่าจะเดินหน้าต่ออย่างไร จึงจะไม่เกิดปัญหาอย่างที่ผ่านมา
นั่นคือ เรื่องราวของ คสช. ที่เข้ามาขับเคลื่อนกระทรวงเกษตรฯ พร้อมกันนี้ ได้รับทราบมาว่า อนันต์ ดาโลดม อดีตรองปลัดกระทรวงเกษตรฯ และอดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ร่วมกับอดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของกระทรวงเกษตรฯ อยากช่วย คสช. ขับเคลื่อน ด้วยการเสนอ นโยบาย ยุทธศาสตร์ มาตรการ เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาในการปฏิรูปการเกษตร
ส่วนจะมีโอกาสได้เข้าถึงผู้รับผิดชอบของ คสช. หรือไม่ ต้องคอยลุ้นกันต่อไป เพราะข่าวว่า บุคคลที่ คสช. มอบหมายมานั้น เข้าพบยาก ทุกอย่างต้องตามขั้นตอน ไม่มี Fast track........
แว่นขยาย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี