คำถาม อยากทราบวิธีสังเกตว่าดินเป็นดินเค็ม และจะมีวิธีแก้ไขอย่างไรครับ
สุทธิรัตน์ เพียงอุดม
อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด
คำตอบ ดินเค็ม เป็นดินที่มีปริมาณเกลือที่ละลายน้ำได้มากพอที่จะทำอันตรายต่อพืชที่จะนำไปปลูก
วิธีการสังเกตพื้นที่ดินเค็ม โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
1.สังเกตเห็นขุยเกลือขึ้นตามผิวดินในฤดูแล้ง หรือถ้าไม่เห็นขุยเกลือขึ้น ก็จะเป็นที่ว่างเปล่าไม่มีพืชอื่นขึ้นได้ ถ้าเป็นฤดูฝนขุยเกลือจะถูกน้ำละลาย ไม่สามารถสังเกตเห็นได้
2.พืชพรรณธรรมชาติ จะพบวัชพืชทนเค็ม เช่น หนามแดง หนามปี หนามคอม และหญ้าขี้กราก เป็นต้น
3.บริเวณที่ใช้ปลูกข้าว สังเกตได้จากอาการของต้นข้าวในพื้นที่ดินเค็ม จะมีการเจริญเติบโตไม่สม่ำเสมอกัน ต้นแคระแกร็น ไม่แตกกอ ใบแสดงอาการซีดขาว แล้วไหม้ตายไปในที่สุด ปกติแล้ว จะพบข้าวตายเป็นหย่อม
การแบ่งพื้นที่ดินเค็มในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แบ่งได้ 4 พื้นที่ คือ
1.ดินเค็มมาก เป็นบริเวณที่พบคราบเกลือตามผิวดิน กระจัดกระจายอยู่ทั่วไปเป็นปริมาณมากกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่ส่วนใหญ่ พื้นที่นี้จะปลูกพืชไม่ค่อยได้ผล มักปล่อยทิ้งร้าง การปรับปรุงแก้ไขต้องลงทุนสูง
2.ดินเค็มปานกลาง เป็นบริเวณที่พบคราบเกลือกระจัดกระจายตามผิวดิน เป็นปริมาณ 1ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่ พื้นที่พอจะปลูกพืชได้ผลผลิตต่ำ
3.ดินเค็มน้อย เป็นบริเวณที่พบคราบเกลือกระจัดตามผิวดิน ประมาณน้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ น้ำใต้ดินเป็นน้ำกร่อย หรือน้ำเค็ม แต่จะลึกมากกว่า 2 เมตร จากผิวดิน บริเวณนี้ส่วนใหญ่ใช้ทำนา
4.พื้นที่ที่มีศักยภาพในการแพร่กระจายดินเค็ม เป็นบริเวณที่เป็นที่ดินที่เนิน มีการปลูกพืชไร่อยู่ ปัจจุบันจะไม่พบคราบเกลือตามผิวดิน แต่ภายใต้ดินมีดินมีหินเกลืออยู่ เมื่อมีฝนตกน้ำจากผิวดิน จะซึมผ่านชั้นหินเกลือ จะได้น้ำเค็ม ซึ่งจะไหลผ่านชั้นใต้ดินออกสู่ที่ลุ่มถัดไป
การจัดการดินเค็มภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพื่อปลูกพืชไร่และพืชสวน หลังการทำนาในเขตชลประทาน หรือบริเวณที่ใกล้แหล่งน้ำ เกษตรกรสามารถปลูกพืชไร่หรือพืชสวนในพื้นที่ดินเค็มได้ ก่อนปลูกพืชไร่หรือพืชสวนในดินเค็ม ควรทำการปรับปรุงดินเสียก่อน ซึ่งสามารถทำได้ดังนี้
1.การไถลึก ช่วยให้เกลือที่อยู่ในดินถูกชะล้างพ้นบริเวณรากพืชลงไป โดยทั่วไปจะไถลึก ประมาณ 40-50 เซนติเมตร(ขึ้นกับความลึกของชั้นดิน) เมื่อไถเสร็จ ควรปรับระดับพื้นที่
2.การทำให้ดินล่างแตกแยก โดยใช้ไถบุกเบิก หรือไถดินดานติดท้ายแทรกเตอร์ ให้ไถแต่ละอันห่างกัน ประมาณ 50-90 เซนติเมตร เมื่อลากไปแล้ว ทำให้เกิดร่องช่วยให้น้ำซึมลงได้สะดวก
3.การใช้สารเคมี โดยใช้ยิปซั่มคลุกเคล้ากับดินที่เป็นด่าง เพื่อช่วยสะเทินความเป็นด่าง แล้วใช้น้ำชะล้างเกลือโซเดียมออกนอกพื้นที่
4.การชะล้างเกลือจากดิน เพื่อลดปริมาณเกลือในดิน โดยการชะล้างเกลือที่สะสมในดินด้วยน้ำ และระบายน้ำที่ชะล้างเกลือนั้นออกไปจากพื้นที่ โดยไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม
การล้างดิน ทำได้ดังนี้ ให้กำจัดวัชพืชที่ขึ้นอยู่เสียก่อน ปรับผิวหน้าดินให้เรียบ ไถดินลึกมากกว่า 30 เซนติเมตร ทลายดินล่างให้เป็นร่อง แล้วปรับระดับดิน แบ่งแปลง ขนาดแปลงย่อย 1-5 ไร่ แต่ละแปลงมีคันดินกั้นโดยรอบทดน้ำเข้าแปลง ครั้งละ 250-300 ลูกบาศก์เมตร/ไร่ ค่อยๆ ไขน้ำเข้า อย่าใช้หมดเพียงครั้งเดียว น้ำจะซึมซาบลงดิน ละลายเกลือในดินและชะล้างลงสู่ดินล่าง ไขน้ำเข้าไปเพิ่มอีก250-300 ลูกบาศก์เมตร/ไร่ ทุก 2-3 วัน ให้สังเกตว่าน้ำที่มีอยู่เดิมได้ซึมซาบลงไปแล้ว และตรวจสอบความเข้มข้นของเกลือที่ระบายออกมา
นาย รัตวิ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี