ภายหลังจากที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ประกาศขึ้นทะเบียนโอ่งมังกรราชบุรีเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติประจำปี 2558 ด้านสาขางานช่างฝีมือดั้งเดิม ในฐานะที่จังหวัดราชบุรีได้ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองโอ่ง จังหวัดราชบุรีได้ร่วมกับสมาคมเครื่องเคลือบดินเผา (โรงโอ่ง) จังหวัดราชบุรี วัฒนธรรมจังหวัด และเทศบาลเมืองราชบุรี ดำเนินการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ โดยเฟ้นหาโอ่งมังกรที่มีความเก่าแก่ที่สุดอายุมากที่สุด รวมไปถึงลวดลายที่มีความสมบูรณ์ของรายมังกร เพื่อนำมาแสดงให้ประชาชนหรือนักเรียนนักศึกษาได้ศึกษาถึงประวัติความเป็นมาของการปั้นโอ่ง
นายสุรพล แสวงศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี กล่าวว่านอกจากจะมีพิพิธภัณฑ์โอ่งแล้ว ยังมีสวนโอ่งที่จะมีโอ่งลวดลายมังกร ฟื้นท่าเทียบโอ่ง ขนส่งสินค้าโอ่งมังกรไปทางเรือเพื่อนำไปขายยังจังหวัดต่างๆตามลำน้ำทางขนส่งสินค้าของประเทศและมีเรือที่ใช้ขนส่งสินค้ามาแสดงพร้อมกับโอ่งหลากสีสันที่นักท่องเที่ยวจะได้มาสัมผัสและสนุกกับการถ่ายภาพ และที่เป็นแลนด์มาร์คที่จะชวนให้นักท่องเที่ยวได้มาท่องเที่ยวคือ สวนสาธารณะแสงสีเสียงของน้ำพุโอ่งมังกรที่อยู่ใจกลางตลาดสนามหญ้าที่มีอายุเก่าแก่กว่า 200 ปี ด้านหน้าหอนาฬิกาบริเวณริมเขื่อนรัฐประชาพัฒนาแม่น้ำแม่กลอง อีกทั้งยังจะรณรงค์ให้ชาวราชบุรีหันมาใช้โอ่งมังกรให้มากขึ้นเพื่อเป็นการต่อลมหายใจให้อยู่คู่เมืองราชบุรีต่อไป
โอ่งมังกรราชบุรีเกิดขึ้นเมื่อช่วงหลังสงครามโลกครั้งนี้ 2 ปี พุทธศักราช 2475 โดย นายจือเหม็ง แซ่อึ้ง ชาวจีนโพ้นทะเลได้อพยพเข้ามาในประเทศไทยและชักชวนเพื่อนชาวจีนมาตั้งรกรากถิ่นฐานที่จังหวัดราชบุรี เริ่มประกอบการหัตถอุตสาหกรรมเครื่องปั้นดินเผา ซึ่งชิ้นแรกผลิตจำพวกไห กระปุกและโอ่ง ส่งต่อให้ชาวมอญราชบุรีใส่เรือไปเร่ขาย จนมีการพัฒนาตามยุคสมัย จากโอ่งเคลือบน้ำขี้เถ้า หรือโอ่งเลี่ยน (เคลือบด้วยน้ำ) และมีการพัฒนานำมังกรที่เป็นสัตว์สัญลักษณ์ของชาวจีน และเป็นสิ่งมงคลตามคติความเชื่อคนจีนมาวาดลงบนโอ่งมังกร มีการนำเข้า-จำหน่ายไปทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2537 จนถึงปัจจุบัน
นายสุรพล ยังกล่าวอีกว่า จังหวัดราชบุรีนับได้ว่ามีที่ดินที่เหมาะจะทำเครื่องปั้นดินเผา เพราะเนื้อดินดี สีสวย ทนไฟอยู่ที่ตำบลหลุมดิน และตำบลหนองกลางนา อำเภอเมืองจังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นดินเหนียวแห่งเดียวของประเทศไทย ที่นำมาปั้นโอ่งที่มีความคงทน น้ำไม่รั่วซึม ไม่เกิดตะไคร่ ทำความสะอาดง่าย โดยภายในพิพิธภัณฑ์จะมีการแสดงเรื่องราวความเป็นมาของกระบวนการปั้นโอ่งในรูปแบบสื่อมัลติมีเดีย นอกจากนี้ยังมีการสาธิตการปั้นโอ่งและการวาดลวดลายบนโอ่งของจริงให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสด้วย
ขณะที่นายพลการ โพธิพุทธประสิทธิ์ นายกสมาคมเครื่องเคลือบดินเผา (โรงโอ่ง) เปิดเผยว่า ในฐานะที่สมาคมโรงโอ่งได้มีการขับเคลื่อนมาตลอดมา จากยุคโอ่งแบบดั้งเดิมจนมาถึงโป่งร่วมสมัย โอ่งเคลือบดินเผา และเซรามิก เพื่อไม่ให้โอ่งมังกรสูญหายไป การที่จังหวัดราชบุรีมีแนวคิดที่สร้าง3 จุดแลนด์มาร์คฟื้นโอ่งมังกรให้กลับมามีชีวิต ให้คนรุ่นใหม่ๆ ได้ทราบถึงความเป็นมาของโอ่งมังกร และเป็นจุดท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัด เพราะราชบุรีเป็นเมืองที่มีชื่อที่มีความหมายว่า “เมืองพระราชา” แต่เราก็มักจะคุ้นเคยและเรียกราชบุรีว่า “เมืองโอ่ง” จนมาถึงปัจจุบันนี้ ทางสมาคมพร้อมที่จะสนับสนุนอย่างเต็มที่โดยหวังไว้ว่าจะสามารถทำให้จังหวัดราชบุรีเป็นเมืองที่เข้ามาแล้วต้องเห็นโอ่งเต็มบ้านเต็มเมือง
ด้านนางประนอม คลังทอง วัฒนธรรมจังหวัดราชบุรี กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรมได้นำโอ่งมังกรราชบุรี ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ด้านสาขางานช่างฝีมือดั้งเดิม และเป็นการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมเป็นภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมในท้องถิ่น เพื่อแสดงความเป็นเจ้าของหรือเป็น
ผู้สืบทอดในอาณาเขตประเทศไทย โดยวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรี ได้ทำการรวบรวมข้อมูลประวัติศาสตร์ของโอ่งมังกร โดยร่วมกับสมาคมเครื่องเคลือบดินเผา (โรงโอ่ง) และภาคเอกชน หอการค้าจังหวัด เพื่อหาข้อมูลที่แท้จริงและประวัติดั้งเดิมของโอ่งมังกรที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองโอ่ง และจะเก็บรวบรวมไว้ภายในพิพิธภัณฑ์ที่จะจัดสร้างขึ้น
“โอ่งมังกรราชบุรี” กับ 3 จุดแลนด์มาร์ค โปรเจกท์ใหญ่ของผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ที่จะฟื้นชีวิตของโอ่งมังกร และงานช่างฝีมือที่วาดลวดลายมังกร บนตัวโอ่งที่เคยสร้างรายได้จนเป็นที่ขึ้นชื่อของประเทศและส่งขายยังต่างประเทศ จนปัจจุบันแทบที่จะเลือนหายกลายเป็นตำนาน กับการร่วมแรงร่วมใจของทุกภาคส่วนที่จะเดินหน้าต่อยอดจนสำเร็จจนกลายเป็นเมืองต้นแบบที่ชูเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของจังหวัดให้เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวด้านภูมิปัญญา
สิริมงคล ไกรวงศ์วิชญ์
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี