“ป่าไม้” ถือเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสิ่งมีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือสัตว์ เพราะป่าไม้มีประโยชน์ทั้งการเป็นแหล่งวัตถุดิบของปัจจัยสี่ คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค และยังมีประโยชน์ในการรักษาสมดุลของสิ่งแวดล้อม ถ้าป่าไม้ถูกทำลายลงไปมากๆ ย่อมส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เช่นสัตว์ป่า ดิน น้ำ อากาศ หรือแม้กระทั่งมนุษย์เอง
จากกรณีที่กรมป่าไม้ได้มีการสำรวจพื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทย ในปี 2558 ที่ผ่านมา พบว่าพื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทยเหลือเพียง 102,120,417.98 ไร่ หรือร้อยละ 31.57 ของพื้นที่ประเทศไทยเท่านั้น ขณะที่พื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทยจากการสำรวจเดิมในปี 2551 มีอยู่ 108 ล้านไร่ หรือร้อยละ 33.8 ของพื้นที่ประเทศไทย หมายความว่าพื้นที่ป่าไม้ลดลงกว่า 6 ล้านไร่ หรือหายไปร้อยละ 2.37 ของพื้นที่ประเทศไทย หรือเฉลี่ยลดลงปีละกว่า 1 ล้านไร่ ซึ่งถือว่าอยู่ในขั้นวิกฤติ โดยมีสาเหตุหลักจากการบุกรุกทำลายป่าอย่างต่อเนื่อง
ในปัจจุบัน รัฐบาลโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญต่อการรักษาพื้นที่ป่าไม้ของประเทศในระดับต้นๆ ตามโรดแมปที่วางไว้ โดยมอบหมายให้กรมอุทยานแห่งชาติ และกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการตามนโยบาย “ทวงคืนผืนป่า” ที่ถูกบุกรุกในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ในพื้นที่ 62 จังหวัดทั่วประเทศ ตั้งเป้ายึดคืน 600,000 ไร่ ในปี 2558 และอีก 900,000 ไร่ ในปี 2559 เพื่อป้องกัน และปราบปราบกลุ่มนายทุนที่เข้ามาเสาะแสวงหาผลประโยชน์จากพื้นป่าโดยมิชอบ
แม้รัฐบาลมีความพยายามที่จะแก้ปัญหาการบุกรุกและทำลายป่าอย่างจริงจัง แต่ชาวบ้านจำนวนไม่น้อยที่อาศัยอยู่กับผืนป่ามาก่อน กลับได้รับผลกระทบไม่น้อย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐในระดับนโยบาย และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติต้องตระหนักและคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ด้วยเช่นกัน
เช่นเดียวกับปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ติดต่อกับ อุทยานแห่งชาติภูสิงห์ จ.บึงกาฬ ซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดภูงาม หรือ วัดป่าสิงหนาทบรรพต ซึ่งมี พระครูกันตธรรมสังวรหรือ หลวงตาน้อยพระนักอนุรักษ์ เป็นเจ้าอาวาส หลังกรมป่าไม้ระบุว่า พื้นที่บางส่วนที่หลวงตาน้อยดำเนินการปลูกป่ามากว่า 20 ปี มีการบุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูสิงห์ และเมื่อปลายปี 2558 ทางฝ่ายปกครองของ จ.บึงกาฬ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ทหาร ตำรวจ ได้เข้าตัดโค้นต้นยางพารา ในเขตพื้นที่บ้านคำภู หมู่ที่ 5 ต.ชัยพร อ.เมือง จ.บึงกาฬ จำนวน 2 แปลง รวมพื้นที่กว่า 290 ไร่
อดีต
หลวงตาน้อยกล่าวว่า อาตมาเข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าภูสิงห์ตั้งแต่ปี 2528 อาตมาและชาวบ้านก็ร่วมกันปลูกต้นไม้ เพื่อฟื้นฟูผืนป่าทรุดโทรมที่มีเพียงตอไม้ และต้นไม้ที่ยืนตายซากให้กลับมาอุดมสมบรูณ์อีกครั้ง ซึ่งก่อนการเข้าอยู่อาศัยได้มีการทำเรื่องขอเช่าที่จากกรมป่าไม้ เมื่อปี 2536 จำนวน 1,000 ไร่ อนุญาตให้เช่าได้ 350 ไร่ เป็นเวลานาน 30 ปี เสียค่าธรรมเนียมตั้งแต่ปีแรกที่เช่า และได้รับอนุญาตตั้งเป็นวัดภูงามถูกต้องตามระเบียบ เพื่อจัดสร้างเป็นพุทธอุทยาน
เจตจำนงดังกล่าว เกิดขึ้นจากอาตมารับคำสั่งจากพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ อดีตเจ้าอาวาสวัดภูทอกให้มาช่วยปลูกป่าภูสิงห์ แต่พอมาอยู่จริงกลับพบว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นเพียงป่าเสื่อมโทรม และป่ามันสำปะหลัง
เมื่อได้รับปากกับพระอาจารย์ไว้แล้ว จึงจำเป็นต้องลงมือปฏิบัติ โดยเริ่มจากการประสานความร่วมมือจากชาวบ้านในพื้นที่ จากการปลูกต้นไม้สารพัดอย่าง ต่อมาได้มีการปลูกยางพารา เนื่องจากเป็นไม้ที่โตเร็ว และให้ร่มไม้กับพืชอื่นๆ ได้ จึงปลูกแซมกับยางนา ตะเคียน ประดู่ มะค่า พะยูง ฯลฯ และเมื่อปลูกมากขึ้น ก็ได้ร่วมกับชาวบ้านทำการบวชป่า เพื่อเป็นการแก้ปัญหาการบุกรุกด้วยความเชื่อตามหลักศาสนา สร้างผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์เพื่ออนุรักษ์ และเป็นแหล่งเรียนรู้ให้ประชาชนสืบไป
“ที่ผ่านมา อาตมาใช้เวลากว่า 20 ปี ในการสร้างผืนป่าให้คืนกลับมาอุดมสมบูรณ์ โดยใช้ทุนใช้แรงของวัด ไม่มีงบประมาณจากทางราชการสนับสนุนแต่อย่างใด”
แต่จากเหตุการณ์ความไม่เข้าใจกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และประชาชน ถึงเจตจำนงของหลวงตาน้อย ผู้ฟูมฟักรักษาผืนป่าภูสิงห์มากว่า 20 ปี ทำให้ต้นไม้บางส่วนต้องถูกตัดโค่นไป
อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆ นี้ โครงการปลูกป่าพะยูง แทนคุณแผ่นดินเฉลิมพระเกียรติฯ โดยพลโทกรชัย เงินโสภา ประธานกรรมการบริหาร โครงการ และคุณภูเบศ ประพฤทธิ์ผลรองประธานกรรมการบริหารโครงการ ร่วมด้วยคณะสงฆ์ และชาวบ้าน ต.ชัยพร อ.เมือง จ.บึงกาฬ ร่วมทำพิธีบวชและปลูกต้นกล้าไม้พะยูง ภายในบริเวณพุทธอุทยาน ของวัดภูงามอีกครั้ง ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมปลูกป่าไม้พะยูง แทนคุณแผ่นดิน เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
“การปลูกป่าเป็นทุนสมบัติ เป็นธรรมชาติที่ทำให้เกิดความสมบูรณ์ในประเทศ ใครตัดไม้ทำลายป่าก็เท่ากับตัดชีวิต มีภูเขาต้องมีป่า ไม่รักษ์ป่าเท่ากับไม่รักชีวิต” หลวงตาน้อย กล่าว
การปลูกป่า การดูแลรักษาป่าของประเทศชาติ ไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง หรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่คือหน้าที่ของทุกๆ คน ทุกๆ หน่วยงาน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน เพราะผืนป่าไม่ได้เลือกให้คุณประโยชน์กับใครโดยเฉพาะ แต่คุณประโยชน์นั้นตกอยู่กับเราทุกคน การร่วมมือกัน สร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน ทั้งภาครัฐ ประชาชน จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี