การลดต้นทุนการผลิตสำหรับเกษตรกรต่างได้รับการช่วยเหลือด้านวิชาการจากหน่วยงานของรัฐบาลหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการลดการใช้ปัจจัยการผลิต การเพิ่มมูลค่าของผลผลิตทางการเกษตร หรือ การเพิ่มผลผลิตโดยกลวิธีต่างๆ
กรมวิชาการเกษตร หนึ่งในหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ได้ทำการวิจัยและพัฒนา เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในการลดต้นทุนการผลิตทุกรูปแบบ ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์เป็นเทคโนโลยีหนึ่งที่ช่วยพี่น้องเกษตรกรลดต้นทุนการผลิตได้ ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์ (PGPR - Plant Growth Promoting Rhizocacteria)) มีคุณสมบัติในการตรึงไนโตรเจนสำหรับพืช ประกอบด้วยแบคทีเรียส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช ซึ่งสามารถตรึงไนโตรเจน ละลายธาตุอาหารพืชและสร้างสารกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืช และการที่แบคทีเรียมีบทบาทได้หลายอย่าง จึงทำให้แบคทีเรียสามารถช่วยให้ธาตุอาหารสำหรับส่งเสริมการเจริญเติบโตให้กับพืชได้ แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมของปัจจัยอื่นๆ ด้วย เช่น พันธุ์พืช และการจัดการสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการอยู่รอดของจุลินทรีย์
ภัชญภณ หมื่นแจ้ง
นายภัชญภณ หมื่นแจ้ง ผู้อำนวยการกองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ปุ๋ยชีวภาพ PGPR เป็นกลุ่มแบคทีเรียที่มีคุณสมบัติที่ดีต่อพืชใน 3 ประการ 1.เป็นปุ๋ยชีวภาพ (Biofertilizer) 2.เป็นผู้สร้างฮอร์โมนให้พืช (Phytostimulator) และ 3.เป็นผู้ควบคุมศัตรูพืช (Biopesticilde) จากการวิจัย PGPR มีความสามารถในการละลายฟอสเฟตที่ตกค้างอยู่ในดิน อีกทั้งสามารถตรึงไนโตรเจนได้ประมาณ 1-4 กิโลกรัมต่อไร่ โดย PGPR สามารถตรึงไนโตรเจนได้ดีกว่าพืชตระกูลถั่ว 1,000 เท่า และยังสามารถผลิตฮอร์โมนกลุ่ม ออกซิน (Auxin) จิบเบอเรลลิน (Gibbere llin) และไซโตไคนิน(Cytokinin)ได้ ซึ่งฮอร์โมนทั้ง 3 ชนิดนี้ เป็นกลุ่มของฮอร์โมนพืชที่กระตุ้นการเจริญเติบโตของพืช โดยเฉพาะรากพืชที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน โดยปัจจุบันมีผลงานวิจัย 42 ผลงานออกมายืนยันว่า PGPR นี้สามารถใช้ได้ผลในพืช 4 ชนิด คือ ข้าว ข้าวโพด อ้อยและมันสำปะหลัง
อย่างไรก็ตาม การที่เกษตรกรจะทราบได้ว่าดินในพื้นที่มีความสมบูรณ์ หรือ มีธาตุอาหารชนิดใดอยู่บ้าง จะต้องมีการวิเคราะห์ดิน ซึ่งจะทำให้ได้ผลคาดการณ์ที่แน่นอนในการเลือกปลูกพืช หรือ การใส่ธาตุอาหารให้พืชที่เกษตรกรต้องการปลูก โดยธาตุอาหารในดินที่พืชต้องการมีทั้งสิ้น 13 ชนิด แต่พืชต้องการธาตุอาหาร 16 ชนิด ส่วนแร่ธาตุอีก 3 ชนิดนั้น คือ คาร์บอน ไฮโดรเจน และออกซิเจน เป็นแร่ธาตุที่พืชสามารถดูดซึมได้ในน้ำในอากาศ เกษตรกรจึงจำเป็นที่จะต้องดูในกลุ่มของ N P K เป็นหลักว่ามีความสมดุลกันมากเพียงใด ซึ่งการวิเคราะห์ดินจึงมีความสำคัญกับการปลูกพืช เนื่องจากหากพบว่า ขาดธาตุอาหารชนิดใดจะต้องมีการเติมธาตุชนิดนั้นเข้าไป การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินก็เพื่อที่จะเติมในส่วนที่ขาด
นายภัชญภณกล่าวอีกว่า ขณะนี้กรมวิชาการเกษตรได้ผลิต PGPR ออกมา 3 ชนิดคือ PGPR1 / PGPR2 /และ PGPR3 โดย PGPR1 ใช้สำหรับข้าวโพด / PGPR2 ใช้สำหรับข้าว / และ PGPR3 ใช้สำหรับอ้อยและมันสำปะหลัง ปัจจุบันกรมวิชาการเกษตรสามารถผลิต PGPR ทั้งหมดได้เพียง 5 ตันต่อปี ซึ่งเป็นปริมาณที่ไม่เพียงพอกับความต้องการของเกษตรกร นอกจากนี้ PGPR ได้มีการทดสอบในนาข้าว 5 จังหวัด คือ เชียงราย ร้อยเอ็ด สุพรรณบุรี ชัยนาท และกาญจนบุรี ที่กำลังทดสอบอยู่ในพื้นที่นาปรังทั้งหมด พบว่า เกษตรกรที่เข้าร่วมมีความพึ่งพอใจ เนื่องจากข้าวมีการเจริญเติบโตที่ดี มีรากที่แข็งแรง อีกทั้งข้าวทนต่อสภาพแล้งได้ดีกว่ากลุ่มที่ไม่ใช้ PGPR เนื่องจากรากที่มากกว่าสามารถหาน้ำและแร่ธาตุได้ดีกว่า ตัวอย่างเช่น ปุ๋ยชีวภาพ PGPR1จะช่วยเพิ่มปริมาณรากประมาณร้อยละ 15 ช่วยลดการใช้ปุ๋ยเคมีประมาณร้อยละ 10 และช่วยเพิ่มผลผลิตพืชประมาณร้อยละ 5–10 เป็นต้น
เห็นได้ว่าการใช้ปุ๋ยชีวภาพ PGPR เป็นอีกทางเลือกหนึ่งโดยเฉพาะกับการเกษตรปัจจุบันที่เน้นความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่ง PGPR ต้องใช้ควบคู่กับปุ๋ยที่มีแร่ธาตุ 3 ชนิด แต่สามารถใช้ทดแทนปุ๋ยเคมีและยาปราบศัตรูพืชโดยเฉพาะในกลุ่มของเชื้อราที่มีภาวะดื้อยาสูงขึ้นในปัจจุบัน นอกจากนี้การใช้ PGPR ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น กลุ่มประเทศ EU หรือ สหรัฐอเมริกา ได้มีการพัฒนาขึ้นเป็นการค้าในรูปของ Bioinoculant หรือ จุลินทรีย์ชีวภาพ แล้ว เช่น กลุ่ม Rhizobium, Pseudomonas, Bacillus, Streptomyces เป็นต้นแต่อย่างไรก็ตามการประยุกต์ใช้ในสภาพจริงยังมีความจําเป็นต้องมีการศึกษาศักยภาพและประสิทธิภาพในพื้นที่แต่ละพื้นที่กับพืชแต่ละชนิดด้วย ซึ่งจากการวิจัยหลายๆ แห่ง พบว่า ประสิทธิภาพของแบคทีเรียชนิดเดียวกันจะต่างกันไปตามสภาพสิ่งแวดล้อมของดิน
สำหรับการใช้ ปุ๋ยชีวภาพ PGPR ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจกับการเกษตรของประเทศไทย ที่เริ่มมองถึงการลดต้นทุนการผลิต และการเกษตรแบบปลอดสาร เกษตรกรที่สนใจปุ๋ยชีวภาพ PGPR ติดต่อสอบถามได้ที่ กลุ่มงานวิจัยจุลินทรีย์ดิน กลุ่มวิจัยปฐพีวิทยา สำนักวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตรกรมวิชาการเกษตรโทรศัพท์ 0-2579-0056 หรือ 0-2579 -7522-3
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี