ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า ได้สั่งให้หน่วยงานในสังกัด กยท. ทุกหน่วยงานตรวจสอบทรัพย์สินที่มีอยู่ทั้งหมดโดยเฉพาะสต๊อกยางในจังหวัดต่างๆ ว่า มีจำนวนที่แท้จริงเท่าไร พร้อมทั้งให้มีการสุ่มตรวจสอบคุณภาพของยางทุกโกดังที่เก็บด้วย เพราะต้องการรู้ว่า ยางคุณภาพดี และยางที่เสียแล้วมีจำนวนเท่าไร จะได้นำมาใช้ในการบริหารจัดการสต๊อกยางให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง
“ขณะนี้ฤดูเปิดกรีดยางในปีนี้ได้เริ่มต้นแล้ว กยท. จำเป็นจะต้องรู้สต็อกยางเก่าที่มีอยู่ทั้งหมด เพื่อที่จะบริหารสต๊อกยางเก่าไม่ให้กระทบต่อยางใหม่ที่กำลังจะออกสู่ตลาด โดยจะต้อง กยท.จังหวัดแต่ละจังหวัดตรวจสอบให้แล้วเสร็จทั้งปริมาณและคุณภาพยางให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2559 นี้”
ดร.ธีธัช กล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์ราคายางขณะนี้ ยางแผ่นรมควันชั้น 3 อยู่ประมาณ 60 บาทต่อกิโลกรัม และมีแนวโน้มทรงตัว เนื่องจากปริมาณความต้องการใช้ยางกับปริมาณผลผลิตใกล้เคียงกัน และเป็นราคาที่พึ่งพอใจทั้งเกษตรกร ผู้รับซื้อ และผู้แปรรูป ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากมาตรการของรัฐ โดยเฉพาะโครงการส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐที่รัฐบาลตั้งเป้ารับซื้อประมาณ 80,000-100,000 ตัน ในราคาชี้นำตลาดในช่วงนั้นคือกิโลกรัมละ 45 บาท และได้ตั้งงบประมาณในการรับซื้อไว้ทั้งสิ้น 5,000 ล้านบาท แต่่ปรากฏว่า ใช้งบประมาณไปเพียง 120 ล้านบาท ราคายางได้เพิ่มสูงขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 60 บาทแล้ว ทำให้ไม่ต้องใช้เงินในการรับซื้อยางตามโครงการดังกล่าวอีกต่อไป
อย่่างไรก็ตาม การกำหนดราคายางของไทยในปัจจุบัน ปัจจัยหลักยังขึ้นอยู่กับตลาดต่างประเทศเป็นผู้กำหนด และขึ้นกับภาวะเศรษฐกิิจของโลกด้วย หากเศรษฐกิจโลกยังเป็นเช่นนี้ ราคายางไม่น่าจะเพิ่มขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ปัจจุบันมากนัก ดังนั้น ถ้าจะให้ราคายางมีเสถียรภาพที่มั่นคง จะต้องเพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศ ลดการส่งออกวัตถุดิบ เพิ่มปริมาณการแปรรูป และส่งออกในรูปแบบผลิตภัณฑ์แทน
“ที่ผ่านมาผลผลิตยางของไทยมีประมาณปีละ 4.2 ล้านตัน นำไปแปรรูปใช้ในประเทศไทยและส่งออก 0.55 ล้านตัน แต่สร้างรายได้ถึง 270,000 ล้านบาท ขณะที่เหลืออีกร้อยละ 87 ส่งออกในรูปของยางดิบชนิดต่างๆ แต่มีมูลค่าน้อยกว่าคือ 250,000 ล้านบาท ดังนั้น กยท.ในฐานะที่เป็นองค์กรกลางที่รับผิดชอบดูแลบริหารจัดการยางพาราของประเทศทั้งระบบ จะต้องดำเนินการส่งเสริมให้มีการให้มีการใช้ยางในประเทศและส่งออกในรูปแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆ มากขึ้น ซึ่งจะทำให้ราคายางมีเสถียรภาพ ตลอดจนยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของเกษตรกรชาวสวนยางให้ดีขึ้น” ดร.ธีธัช กล่าว