สืบเนื่องจากการที่โครงการหลวงพัฒนาชาวเขา ได้มีโครงการวิจัยกาแฟอาราบิก้าเพื่อทดแทนการปลูกฝิ่นของชาวไทยภูเขาในภาคเหนือ เมื่อปี พ.ศ. 2518 โดยโครงการหลวงได้สั่งพันธุ์กาแฟอาราบิก้าลูกผสมที่ได้รับการปรับปรุงให้สามารถต้านทานโรคราสนิม จำนวน 28 สายพันธุ์ ภายใต้ความร่วมมือจากกองวิจัยโรคพืชและชีววิทยา สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร ดำเนินการคัดเลือกสายพันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่สูงของภาคเหนือ ประกอบกับมีการจัดตั้งโครงการปลูกพืชทดแทนและพัฒนาเศรษฐกิจของชาวไทยภูเขา ซึ่งเป็นโครงการร่วมมือระหว่างประเทศไทยและสหประชาชาติ เป็นระยะเวลาดำเนินงาน 10 ปี โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ให้คำปรึกษาและแนะนำพันธุ์กาแฟอาราบิก้า
ต่อมาในปี พ.ศ. 2525 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จทอดพระเนตรแปลงกาแฟที่ขุนวาง และทรงมีพระราชดำริให้กรมวิชาการเกษตรพัฒนาสายพันธุ์กาแฟที่เหมาะสมกับพื้นที่สูงของประเทศไทย เพื่อทดแทนการปลูกฝิ่น นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมากรมวิชาการเกษตรได้ศึกษาวิจัยอย่างจริงจัง โดยในปี พ.ศ. 2526 ได้มีการวิจัยและพัฒนากาแฟอาราบิก้าที่ต้านทานโรคราสนิม ได้นำพันธุ์กาแฟอาราบิก้าคาติมอร์ (Coffee Arabica cv. Catimor) จากศูนย์วิจัยโรคราสนิมกาแฟ ประเทศโปรตุเกส (Coffee Rust Research Centre) จำนวน 3 สายพันธุ์ คือ CIFC 7958 7962 และ 7963 โดยนำไปปลูกไว้ที่สถานีวิจัยกาแฟอาราบิก้า มูลนิธิโครงการหลวงแม่หลอด สถานีทดลองเกษตรหลวงขุนวาง จังหวัดเชียงใหม่ สถานีทดลองเกษตรที่สูงวาวี จังหวัดเชียงราย สถานีทดลองเกษตรที่สูงเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ และสถานีทดลองพืชสวนดอยมูเซอ จังหวัดตาก ทำการศึกษาวิจัยกาแฟอาราบิก้าที่ต้านทานโรคราสนิมสายพันธุ์คาติมอร์ CIFC 7963-13-28 จนได้พันธุ์กาแฟคาติมอร์ “เชียงใหม่ 80” ในปี พ.ศ. 2550 ที่มีการปลูกกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน
นายอุทัย นพคุณวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 1 (สวพ.1) กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า กาแฟอาราบิก้าพันธุ์เชียงใหม่ 80 ได้คัดเลือกจากการผสมพันธุ์ H.W. 26/5 กับพันธุ์ SL28 โดยศูนย์วิจัยโรคราสนิมกาแฟ ได้ลูกผสมชั่วที่ 1 ในปี พ.ศ. 2503 และได้ส่งไปปลูกคัดเลือกในประเทศต่างๆ ในแต่ละชั่ว และได้ดำเนินการคัดเลือกในประเทศไทยในลูกผสมชั่วที่ 6 และ 7 ในปี พ.ศ. 2527 จนถึงปี พ.ศ. 2544 ได้สายพันธุ์ดีเด่นและนำไปปลูกทดสอบในพื้นที่ปลูกกาแฟทางภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย น่าน และเพชรบูรณ์ จนกระทั่งได้รับพิจารณาเป็นพันธุ์รับรองของกรมวิชาการเกษตร เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2550 นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548-2553 กรมวิชาการเกษตรได้ผลิตตันกล้ากาแฟอาราบิก้าสายพันธุ์ดังกล่าว เพื่อแจกจ่ายให้แก่หน่วยงานต่างๆ ได้แก่ มูลนิธิโครงการหลวง โครงการพระราชดำริ กลุ่มเกษตรกร หน่วยงานราชการ และเอกชน จำนวน 2,258,212 ต้น ได้ใช้เวลานานนับ 10 ปี ในการวิจัยและพัฒนากาแฟ ถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีต่างๆ จนได้ผลผลิตกาแฟเป็นที่ยอมรับในระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์กาแฟดอยคำ ดอยตุง และโครงการพระราชดำริต่างๆ ที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ ได้มีพระเสาวนีย์ให้มีการปลูกตามดอย นอกจากนี้ยังมีแหล่งปลูกและผลิตที่สำคัญ ได้แก่ ดอยช้าง ปางขอน สันเจริญ และห้วยฮ่อม ซึ่งในปัจจุบันกาแฟดอยช้างและดอยตุงก็เป็นที่ยอมรับในเรื่องคุณภาพและเอกลักษณ์เฉพาะในระดับโลก และได้รับการยกระดับเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย (Geographical Indication : GI) และมีการขยายผลการดำเนินงานไปสู่โครงการพระราชดำริต่างๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างรายได้ที่มั่นคง
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรที่สูงเชียงราย สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 1 กรมวิชาการเกษตร ได้ดำเนินการ
ส่งเสริมการปลูกกาแฟ การดูแลรักษา การผลิตและแปรรูปแบบครบวงจร ภายในสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงบ้านปางขอนและขยายผลสู่แปลงเกษตรกร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตกาแฟอาราบิก้า โดยจัดเป็นแปลงต้นแบบการฟื้นฟูสภาพต้นกาแฟอาราบิก้าที่มีอายุมาก ส่งผลให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นตามลำดับ โดยพบว่าในปี พ.ศ. 2551 เกษตรกรบ้านปางขอนสามารถผลิตกาแฟได้ 103 ตัน และเพิ่มขึ้นเป็น 266 ตัน ในปี พ.ศ. 2557 คิดเป็นจำนวนเงินที่ขายสารกาแฟกว่า 30 ล้านบาท ทำให้มีรายได้เฉลี่ย 214,000 บาท/ครัวเรือน/ปี ซึ่งแต่เดิมก่อนที่เกษตรกรจะเข้าร่วมโครงการมีรายได้จากการขายกาแฟเพียง 50,000 บาท/ครัวเรือน/ปี เท่านั้น นับเป็นความสำเร็จของโครงการผลิตกาแฟอาราบิก้าโดยมีส่วนร่วมของเกษตรกรบ้านปางขอน ที่สามารถแก้ไขปัญหาในพื้นที่ เพื่อลดการทำลายป่า ทำไร่เลื่อนลอย ใช้พื้นที่ทำการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถดำรงชีพอยู่ได้ตามแนวพระราชดำริ “คนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน”
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี