ปัญหาของเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง นอกจากเรื่องโรคและแมลงระบาดทำลายผลผลิตแล้ว เรื่องท่อนพันธุ์ดีขาดแคลนก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ผลผลิตของเกษตรกรไม่มีคุณภาพมากเท่าที่ควร
นายสมพงษ์ กาทอง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรระยอง สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า พื้นที่ภาคตะวันออก มีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังมากกว่า 1.4 ล้านไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 4.8 ล้านตัน คิดเป็นผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ประมาณ 3.2 ตัน โดยเกษตรกรนิยมใช้มันสำปะหลังพันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 มากที่สุด คิดเป็น 40.8% รองลงมาเป็นพันธุ์ที่กรมวิชาการเกษตรรับรองคือพันธุ์ระยอง 5 คิดเป็น 34.4% และพันธุ์ระยอง 90 คิดเป็น 14.5%
แผนการผลิตท่อนพันธุ์มันสำปะหลังของสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 ในปีที่ผ่านมามีเพียง 2.8 ล้านท่อน สามารถปลูกได้เพียง 1,750 ไร่ หรือเท่ากับ 0.11% ด้วยข้อจำกัดในการผลิตท่อนพันธุ์มันสำปะหลังเพียงปีละ 2-3 ล้านท่อน จึงไม่สามารถตอบสนองความต้องการของเกษตรกรได้อย่างเพียงพอ
แม้ปัจจุบันกรมวิชาการเกษตรได้ให้การรับรองพันธุ์มันสำปะหลังพันธุ์ใหม่ เช่น ระยอง 11 ระยอง 9 และระยอง 86-13 เพื่อ
ทดแทนพันธุ์เดิม ก็คิดว่าการส่งเสริมการใช้พันธุ์ใหม่ทดแทนพันธุ์เก่าให้ทั่วถึงทั้งภาคตะวันออกคงต้องใช้เวลาอีกหลายปี แค่เพียงพื้นที่จังหวัดระยองและชลบุรีที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรระยอง รับผิดชอบอยู่มีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังรวมกันเกือบ 300,000 ไร่ ต้องใช้ท่อนพันธุ์จำนวนมากจึงจะเพียงพอกับความต้องการ
จากปัญหาดังกล่าว เกษตรกรส่วนใหญ่จึงต้องพึ่งพาตนเองด้วยการเก็บพันธุ์ไว้ปลูกต่อฤดูหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิต โดยจะเลือกพันธุ์จากต้นที่สมบูรณ์ มีอายุ 8-12 เดือนหรือตัดไว้ไม่เกิน 15-30 วัน ปลอดโรคและแมลง ไม่บอบช้ำเสียหายจากการตัดหรือเก็บเก็บรักษา ไม่ได้รับความเสียหายจากการใช้สารกำจัดวัชพืช และตัดท่อนยาวประมาณ 20 เซนติเมตร มีตาไม่น้อยกว่า 5-7 ตาต่อท่อนพันธุ์ เมื่อตัดท่อนพันธุ์ควรปลูกให้เสร็จภายใน 1-2 วัน เกษตรกรก็จะทำการปลูกมันสำปะหลังได้ต่อไป
สมพงษ์ กาทอง
แต่ในกรณีที่เกษตรกรมีการนำท่อนพันธุ์มาจากแหล่งที่เป็นโรค หรือแมลงศัตรูติดมา ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวเน่า หรือเพลี้ยแป้ง ล้วนส่งผลกระทบต่อผลผลิตของเกษตรกรทั้งสิ้น โดยเฉพาะหากมีการลักลอบนำเข้าท่อนพันธุ์จากประเทศเพื่อนบ้านที่ประสบปัญหาโรคใบด่างมันสำปะหลัง จะยิ่งสร้างความเสียหายรุนแรงไม่เพียงแต่ตัวเกษตรกรเท่านั้น ยังเป็นตัวการนำโรคอันตรายมาแพร่ขยายสู่แปลงเกษตรกรใกล้เคียง และลุกลามขยายวงกว้างได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะสร้างผลกระทบที่มหาศาลมาก
นายสมพงษ์กล่าวเพิ่มเติมว่า จากปัญหาทั้งท่อนพันธุ์ดีขาดแคลน รวมถึงโรคและแมลงระบาดทำลายผลผลิตบ่อยครั้ง ทำให้เกษตรกรส่วนหนึ่งหันไปปลูกพืชอื่นที่สร้างผลตอบแทนคุ้มค่ากว่าแทน เช่น ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ยางพาราราคาดีเกษตรกรก็เปลี่ยนไร่มันสำปะหลังไปปลูกยางพารา พอมาตอนนี้ยางพาราราคาตกต่ำก็หันมาปลูกไม้ผล อย่างสับปะรดแทน เมื่อพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังค่อยๆ ลดลงอย่างต่อเนื่อง ก็ส่งผลกระทบไปยังโรงแป้งหรือลานมันที่ไม่มีผลผลิตเข้าสู่โรงงานก็มีการย้ายฐานการผลิตไปที่อื่นบ้างแล้ว
เพื่อเป็นการรักษาพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังให้คงอยู่ ทางศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรระยอง จึงได้ทำแปลงต้นแบบการผลิตมันสำปะหลังพันธุ์ดี โดยให้เกษตรกรเข้ามาเป็นเครือข่าย ทางศูนย์สนับสนุนท่อนพันธุ์ ปัจจัยการผลิต และเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อให้เกษตรกรเข้ามาดำเนินการปลูกมันสำปะหลังตามหลักวิชาการ เพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต โดยผลผลิตที่ได้ก็จะมีการนำท่อนพันธุ์ไปขยายผลสู่เกษตรกรรายอื่นต่อไป แม้วิธีการดังกล่าวจะไม่สามารถแก้ปัญหาท่อนพันธุ์ขาดแคลนได้ทันท่วงที แต่อย่างน้อยก็ยังทำให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการได้ตระหนักถึงการใช้ท่อนพันธุ์ที่ดี ควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ก็จะช่วยลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น นำมาซึ่งสร้างรายได้ที่ดี โดยที่ไม่ต้องเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นตามกระแส
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี