มันฝรั่งเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่ง ที่สามารถทำรายได้ให้เกษตรกรสูงถึง15,000-25,000 บาท/ไร่/ปี ปัจจุบันประเทศไทยมีแหล่งผลิตมันฝรั่งอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา ตาก และเพชรบูรณ์ และมีการขยายไปยังพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดเลย หนองคาย สกลนคร และนครพนม โดยมีการเพาะปลูกทั้งมันฝรั่งพันธุ์สปุนต้าซึ่งใช้บริโภคทั่วไป มีความต้องการ ประมาณ 10,000 ตัน/ปี และมันฝรั่งพันธุ์โรงงาน คือ พันธุ์แอตแลนติกใช้เป็นวัตถุดิบในการแปรรูป ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของอุตสาหกรรมมันฝรั่งที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการแปรรูปเป็นมันฝรั่งแผ่นทอดกรอบ(potato chip) ต้องการใช้มากถึง140,000 ตัน/ปี ผู้ประกอบการจึงต้องนำเข้ามันฝรั่งสดจากต่างประเทศปีละ34,000-35,000 ตัน นอกจากนี้ ยังมีการนำเข้าหัวพันธุ์มันฝรั่งสูงถึง 13,000ตัน/ปี มีมูลค่านับร้อยล้านบาท
นางสาวอรทัย วงค์เมธา นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า เนื่องจากหัวพันธุ์มันฝรั่งนำเข้ามีราคาแพง บางปีสูงถึง 35 บาท/กิโลกรัม ทำให้เกษตรกรมีต้นทุนการผลิตสูงขณะที่หัวพันธุ์มันฝรั่งที่เกษตรกรเก็บไว้ใช้เองไม่มีคุณภาพ และมีปัญหาเรื่องโรค ทำให้การผลิตหัวพันธุ์ใช้ภายในประเทศยังมีปริมาณน้อย และไม่เพียงพอต่อความต้องการ จากปัญหาดังกล่าวกรมวิชาการเกษตรจึงได้เร่งดำเนินการผลิตหัวพันธุ์มันฝรั่งหลัก (G0) ปีละ 500,000 หัว และหัวพันธุ์ขยาย (G1) ปีละ 50 ตัน จำหน่ายให้กับเกษตรกร เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการและลดการนำเข้าหัวพันธุ์บางส่วนจากต่างประเทศ พร้อมลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรด้วย
ขณะเดียวกันยังส่งเสริมให้เกษตรกรได้เรียนรู้เทคโนโลยีการผลิตหัวพันธุ์มันฝรั่งคุณภาพดี ให้มีผลผลิตส่งโรงงานแปรรูป ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของเกษตรกรในการเป็นผู้ผลิตหัวมันฝรั่งสด เพื่อการแปรรูปให้เพียงพอกับความต้องการของโรงงานแปรรูปในระยะยาว
ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ ได้พัฒนาขั้นตอนการผลิตหัวพันธุ์มันฝรั่งคุณภาพ เพื่อรองรับความต้องการของสหกรณ์และเกษตรกรผู้ปลูกมันฝรั่งที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยมี6 ขั้นตอน คือ 1.ผลิตต้นอ่อนปลอดเชื้อโดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อในอาหารแข็ง และการผลิตด้วยระบบไบโอรีแอคเตอร์จมชั่วคราว (TIB) 2.การผลิตต้นแม่พันธุ์ในโรงเรือน 3.การผลิตหัวพันธุ์มันฝรั่งหลัก G0ในระบบแอโรโปนิค (Aeroponic) หรือระบบรากลอยในอากาศ และวัสดุปลูกภายในโรงเรือนกันแมลง โดยจะเก็บเกี่ยวหัวพันธุ์เมื่อต้นมันฝรั่งอายุได้ 90 วัน4.การผลิตหัวพันธุ์ขยาย หรือ G1 ในแปลงปลูก ใช้ระยะเวลาปลูก90 วัน ก็เก็บเกี่ยวหัวพันธุ์คุณภาพจำหน่ายให้เกษตรกรได้ ราคากิโลกรัมละ 25 บาท ซึ่งต่ำกว่าหัวพันธุ์ที่นำเข้า 5.การผลิตหัวพันธุ์รับรอง หรือ G2-G3โดยกรมวิชาการเกษตรจะผลิตและจำหน่ายให้เกษตรกรหรือบริษัทเอกชนในราคาถูก ซึ่งหัวพันธุ์ G2 กิโลกรัมละ20 บาท และหัวพันธุ์ G3 ราคากิโลกรัมละ 18 บาท และ6.การตรวจสอบโรคไวรัสและแบคทีเรีย ซึ่งทุกขั้นตอนการผลิตหัวพันธุ์มันฝรั่งของกรมวิชาการเกษตรต้องดำเนินการตรวจสอบโรคไวรัสและแบคทีเรีย เพื่อให้ได้หัวพันธุ์คุณภาพ โดยหัวพันธุ์ทุกชุดที่ผ่านการตรวจแล้วจึงจะจำหน่ายให้เกษตรกร
ปีนี้ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ได้ร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเชียงใหม่ และศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย เร่งดำเนินการผลิตหัวพันธุ์มันฝรั่ง G1คุณภาพไม่น้อยกว่า 50 ตัน จำหน่ายให้กับสหกรณ์ผู้ปลูกมันฝรั่ง บริษัทเอกชน นำไปปลูกขยายเป็นหัวพันธุ์ G2 ป้อนให้เกษตรกรที่ผลิตมันฝรั่งสดป้อนโรงงานแปรรูป เป็นช่องทางหนึ่งที่จะเพิ่มปริมาณหัวพันธุ์คุณภาพให้เพียงพอ ช่วยลดปริมาณการนำเข้าจากประเทศ ที่สำคัญยังช่วยลดต้นทุนให้เกษตรกรได้
“หัวพันธุ์มันฝรั่งคุณภาพที่กรมวิชาการเกษตรผลิตได้นั้น มีขนาดหัวเล็กกว่าหัวพันธุ์ที่นำเข้า เมื่อนำไปปลูกเกษตรกรไม่ต้องผ่าหัว ทำให้ต้นมันฝรั่งมีความแข็งแรง ทนทานต่อโรคได้ดีกว่า เจริญเติบโตดี และให้ผลผลิตสูง เฉลี่ยอยู่ที่ 3.5 ตัน/ไร่ ขณะที่หัวพันธุ์นำเข้าจะมีขนาดใหญ่ เกษตรกรจะใช้วิธีผ่าหัวแล้วนำไปปลูก ทำให้ต้นมันฝรั่งไม่ค่อยแข็งแรงและให้ผลผลิตอยู่ที่ประมาณ 2-2.5 ตัน/ไร่” นางสาวอรทัยกล่าว
หากสนใจหรือต้องการ “หัวพันธุ์มันฝรั่งคุณภาพ” สามารถสอบถามได้ที่ ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ กรมวิชาการเกษตร โทร.0-5311-4133-36 และ 0-5311-4070-71 ในวันและเวลาราชการ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี